29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

January 24,2020

‘โคราช-บุรีรัมย์’ร่วมชิง ศูนย์ประชุมสัมมนา ‘มทส. • หัวรถไฟ •สนามช้าง’

‘ทีเส็บ’ จ้างธรรมศาสตร์ เสนอความเหมาะสมการก่อสร้างศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการ ภาคอีสานตอนล่าง ๑ เผยโคราชเหมาะสม ๒ แห่ง ที่ มทส.และหัวรถไฟ ด้านบุรีรัมย์เสนอสนามช้างท้าชิง “หัสดิน” มั่นใจโคราชพร้อมมากกว่า เกิดขึ้นแน่นอน 

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๓ ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณปริสุทโธ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานในการประชุมระดับกลุ่มจังหวัด เพื่อรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการ ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ โดยมีนางศุภวรรณ ตรีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือทีเส็บ นางสาวสุรัชสานุ์ ทองมี รักษาการผู้อำนวยการ ทีเส็บ ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นางอุบลรัตน์ บุญประสาทสุข รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สมาคมท่องเที่ยวจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โรงแรม และมหาวิทยาลัย ในพื้นที่นครชัยบุรินทร์ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เช่น นางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนายณัชอิสร์ ศรีสุขพรชัย ประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ เข้าร่วมประชุม

ภายในการประชุม ได้เปิดให้ทุกฝ่ายร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับทราบถึงผลการศึกษาเบื้องต้นของโครงการฯ และรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม รวมถึงแนวทางการพัฒนาศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดรองรับอุตสาหกรรมไมซ์ (Mice) ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งผลการศึกษามีบทสรุปความพร้อม ศักยภาพ ความน่าสนใจในรูปแบบการลงทุน ปัจจัยต่างๆ ในการสร้างศูนย์ประชุม ความเหมาะสมของพื้นที่แนวทางการบริหารจัดการ และการบริหารศูนย์ประชุมโดยไม่เป็นภาระกับภาครัฐ ทั้งนี้ คณะ สสปน.ได้เข้าพบ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรายงานความคืบหน้าโครงการขับเคลื่อนไมซ์ซิตี้ของจังหวัดนครราชสีมา แนวทางการพัฒนา ยกระดับและผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ในจังหวัดนครราชสีมาให้เติบโตเป็นหนึ่งในเมืองไมซ์ที่มีมาตรฐานอย่างยั่งยืน

เชื่อหัวรถไฟเหมาะสม

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๓ นางอุบลรัตน์ บุญประสาทสุข รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” เกี่ยวกับการประชุม โดยเปิดเผยว่า “โครงการนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ในเรื่องของความเหมาะสม สถานที่ตั้ง ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการออกมาอย่างแน่ชัด เบื้องต้นที่ประชุมมองว่า บริเวณหัวรถไฟ (สถานีรถไฟนครราชสีมา) เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างโครงการนี้ ซึ่งในที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะผู้วิจัยกลับไปศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติม ในส่วนของพื้นที่ยังไม่มีการพูดคุยกับการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย เรามองว่าขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก แต่คณะผู้วิจัยเห็นว่า โคราชคือเมืองที่เหมาะสมที่สุด ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมฯ ก็เห็นด้วยเช่นกัน โคราชจะมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นอีก และสภาอุตฯ ก็ยินดีที่จะส่งเสริมทุกๆ เรื่องที่เข้ามาช่วยพัฒนาเมืองโคราช ถึงจะไม่มีสายการบิน แต่ในความคิดเห็นส่วนตัวกลับมองว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวผลักดันและพัฒนาเมืองโคราชให้กลายเป็น Mice City ได้”

ศึกษาความเหมาะสม

นอกจากนี้ นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยเพิ่มเติมกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “เมื่อครั้งการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดบุรีรัมย์ ในปี ๒๕๖๑ นั้น จังหวัดนครราชสีมาได้เสนอจัดตั้งศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่ จากนั้น ทีเส็บจึงมอบหมายให้สถานศึกษา ไปศึกษาความเป็นไปได้ว่า จะมีจุดใดในภาคอีสานตอนล่าง ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้าง โดยปัจจัยก็ต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่า พื้นที่นั้นมีการจัดกิจกรรมมากน้อยเพียงใด ต้องเป็นพื้นที่ที่มีการจัดงานบ่อยครั้ง และต้องคุ้มค่าต่อการก่อสร้างด้วย ที่ผ่านมา ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติจังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์ประชุมที่มีขนาดใหญ่มาก แต่ปรากฏว่า มีผู้มาใช้งานไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น และอีกแห่งคือ ที่จังหวัดสงขลา ก็พอไปได้แต่ก็ไม่ได้ดีนัก จึงทำให้เกิดคำถามว่า โคราชมีความมั่นใจอย่างไร ถ้าจัดตั้งขึ้นมาแล้วจะมีงาน มีกิจกรรมต่างๆ รองรับหรือไม่ และในการจัดการประชุม ต้องมีการสู้กับเมืองอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา หรือสงขลา ซึ่งทุกแห่งก็มีความพร้อมอยู่แล้ว นอกจากนี้ เมื่อมาประชุมแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมจะเดินทางไปไหนต่อ มาแล้วต้องมีจุดดึงดูด โคราชสามารถขายวัฒนธรรมหรือของดีอะไรได้บ้าง เพื่อให้คนที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเลือกโคราช และจะทำอย่างไรให้เขามาอีก”

โคราชมีความพร้อม

นายหัสดิน กล่าวอีกว่า “สำหรับการประชุมเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคมที่ผ่านมา ผมไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ก็ทราบว่า มีการเสนอพื้นที่ในโคราชอยู่ ๒ แห่งคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ซึ่งตรงนี้ก็มีความคิดเห็นว่า ระยะทางไกลจากตัวเมือง ส่วนที่บริเวณหัวรถไฟ (สถานีรถไฟนครราชสีมา) เห็นว่าเหมาะสมที่สุด แต่ก็ต้องไปพูดคุยกับการรถไฟฯ ก่อนว่า จะยอมหรือไม่ และจังหวัดบุรีรัมย์ เขาก็ได้เสนอที่บริเวณสนามไอ-โมบาย (สนามช้างหรือช้างอรีน่า) แต่เป็นที่ของเอกชน สำหรับการที่จะมา สร้างศูนย์ประชุมที่โคราช ต้องดูว่าโคราชรองรับไหวหรือไม่ สมมติว่า ศูนย์ประชุมเรารองรับได้ ๕,๐๐๐ คน เราก็ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่เขาจะเข้ามา แต่ถ้าศูนย์ประชุมไปเกิดที่บุรีรัมย์ ต้องดูว่าเขามีโรงแรมให้คนที่จะมาประชุมเพียงพอหรือไม่ อย่างงานแข่งโมโตจีพี นักท่องเที่ยวยังต้องมาพักที่โคราช เพราะที่พักในจังหวัดบุรีรัมย์ไม่เพียงพอ แต่ถ้าเป็นการจัดงานประชุมขนาดใหญ่ ผู้ที่จะมาประชุมเขาจะมาพักที่โคราชไม่ได้ เพราะไม่มีความสะดวกสบายในการเดินทางไป-กลับ ถ้าเราไปเสนอตัวสร้างศูนย์ประชุม แล้วเราไปบอกว่าเรามีความพร้อม แต่ที่พักให้ไปพักอีกจังหวัดหนึ่ง ก็เท่ากับไม่มีความพร้อมแล้ว ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูง ที่ศูนย์การประชุมจะเกิดขึ้นในโคราช แต่ขณะนี้ยังต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อน”

“สำหรับการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ นั้น เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยข้อสรุปในที่ประชุมคือ เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับงบประมาณให้ทำการศึกษา และลงมาในพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของคนโคราช รวมถึงคนบุรีรัมย์ว่า มีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ ชี้ว่า บริเวณหัวรถไฟเหมาะสมที่สุดในการจัดตั้งศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ แต่เจ้าของพื้นที่ยังไม่ทราบเรื่อง ในที่ประชุมจึงให้มหาวิทยาลัยฯ กลับไปศึกษาเพิ่มเติมในสิ่งที่ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น”

“ส่วนการเสนอตัวเพื่อก่อสร้างศูนย์ประชุมนี้ เดิมเป็นแนวคิดของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพราะต้องการจะมีหอประชุมขนาดใหญ่ในมหาวิทยาลัย แต่การของบประมาณในการก่อสร้าง ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงที่ดูแลมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์การใช้งบประมาณ ในตอนเสนอโครงการไปนั้น รายละเอียดระบุว่า ในโครงการมีทั้งโรงแรม และศูนย์การค้า เดิมก็มีแนวคิดว่า จะเปิดให้มีการร่วมลงทุนของภาคเอกชนด้วย เนื่องจากถ้าภาครัฐทำเองอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในด้านการบริหารงาน ที่ต่อเนื่องมาจากการก่อสร้าง หากมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย ก็จะเป็นคนหากิจกรรม หางาน เพื่อให้ศูนย์ที่สร้างขึ้นมานั้นมีกำไรและอยู่ต่อได้” นายหัสดิน กล่าว

มั่นใจเกิดที่โคราช

นายหัสดิน กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในแง่ของผม มองว่า เรื่องนี้หากจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเกิดที่โคราช ทั้งนี้ คนโคราชต้องตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อจะทำข้อสรุปว่า ข้อดี ข้อเสีย หรือโครงการต่างๆ จะต้องบริหารจัดการอย่างไร อย่างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เอกชนเข้าไปบริหาร หากให้ภาครัฐทำ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก อีกทั้งต้องเป็นเรื่องของเอกชนที่จะรู้ว่ามีใครต้องการประชุมอย่างไร และเราก็ไปเสนอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่อยู่ๆ เขาจะมา เราต้องเป็นผู้เสนอว่า พื้นที่เรามีความเหมาะสมอย่างไร แต่ถามว่าความเป็นไปได้มีขนาดไหน ผมก็มองว่าสามารถเป็นไปได้ แต่เรื่องการบริหารจัดการต้องเป็นรูปแบบร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน”

บุรีรัมย์’มั่นใจสนามช้าง

ด้าน นายณัชอิสร์ ศรีสุขพรชัย ประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ไม่มีใครสามารถกำหนดว่า บริเวณใดที่เหมาะสมต่อการสร้างศูนย์ประชุมฯ แต่ผู้ที่กำหนดมาคือทีเส็บ ซึ่งของจังหวัดนครราชสีมาคือบริเวณหัวรถไฟหรือสถานีรถไฟความเร็วสูง แต่จังหวัดนครราชสีมานั้นต้องการให้อยู่ภายในบริเวณ มทส. ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่ที่เอื้อต่อการจัดสร้าง ทั้งของภาครัฐและเอกชนคือ บริเวณศาลากลางจังหวัดและสนามช้าง ซึ่งในการดำเนินการขั้นตอนต่อไป ทีเส็บมีข้อกำหนดว่า พื้นที่ที่จะจัดตั้งศูนย์ประชุมนั้น ต้องเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการจัดกิจกรรม และมีเรื่องอื่นๆ รองรับด้วย เช่น ใกล้เคียงที่พัก ใกล้พื้นที่การจัดกิจกรรมรองด้านอื่นๆ ซึ่งบุรีรัมย์มีการจัดกิจกรรมที่ต่อเนื่องตลอดทุกปี และยังเห็นว่าการตั้งศูนย์ประชุมฯ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ต้องมีความหลากหลายของพื้นที่ สามารถใช้สถานที่ในการจัดกีฬาในร่มได้ สมกับการเป็น Sport City ไม่ใช่เพียงสร้างมาเพื่อการจัดประชุมอย่างเดียวเท่านั้น” 

“ส่วนความเป็นห่วงที่ว่า จังหวัดบุรีรัมย์จะมีที่พักไม่เพียงพอ เพราะในช่วงที่ผ่านมา ในงานโมโตจีพี นักท่องเที่ยวต้องหาที่พักในจังหวัดใกล้เคียง เรื่องนี้ต้องชี้แจงว่า ปัจจุบันบุรีรัมย์มีห้องพักกว่า ๕,๐๐๐ ห้อง ซึ่งงานโมโตจีพี ถือเป็นงานใหญ่ระดับนานาชาติ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดกว่าหนึ่งแสนคน จึงทำให้เกิดการกระจายออกนอกเมือง และนักท่องเที่ยวยังสามารถพักได้ทุกที่ในประเทศ บางคนเดินทาง ๔๐-๕๐ กิโลเมตร จากจังหวัดสุรินทร์หรือจังหวัดนครราชสีมาก็มี ซึ่งการที่เมืองๆ หนึ่งมีห้องพักรองรับได้จำนวนมาก เช่น ๑๐,๐๐๐ ห้อง แต่เมื่อถึงเวลาการจัดประชุม แล้วมีผู้เข้าร่วมการประชุมมาจำนวนน้อย ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมนั้นเกิดความไม่คุ้มค่า ดังนั้นผมต้องขอยืนยันว่า พื้นที่บริเวณสนามช้างอารีน่านั้น มีความเป็นไปได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับนายเนวิน (ชิดชอบ) และต้องมีการพูดคุยในการประชุมระดับจังหวัดอย่างต่อเนื่องด้วย”

 

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๒ วันพุธที่ ๒๒ - วันอังคารที่ ๒๘ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 
 

771 1410