25thApril

25thApril

25thApril

 

February 27,2012

หอฯอุดรยิ้มหวาน ครม.ให้รถไฟถึงนค. ขก.เหนื่อยนิคมเขียว

aaaswe

ครม.สัญจรอีสานอนุมัติหลายโครงการในพื้นที่อุดรธานี ขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมาถึงหนองคาย ไม่เฉพาะแค่โคราช เดินหน้าสร้างถนนวงแหวน ๒ เส้น พร้อมสร้างศูนย์แสดงสินค้าประชุมและวัฒนธรรมภูมิภาค พร้อมให้พัฒนาสนามบินและตั้งมหาวิทยาลัยอุดรธานี รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่กลับเพิกเฉยเจียดงบศึกษาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ล่าสุดนายหน้าค้าที่ดินโผล่ปล่อยข่าวหวังผลประโยชน์ ทั้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุปจะสร้างบริเวณพื้นใด 

 

ครม.“ยิ่งลักษณ์”เทงบ ๑,๖๕๕ ล. 

หลังจากครม. “ยิ่งลักษณ์” สัญจรลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะโครงการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง พร้อมทั้งเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดนำเสนอโครงการพัฒนาพื้นที่ควรสนับสนุนให้ดำเนินการ ปรากฏว่า มีทั้งสิ้น ๑๙๐ โครงการ คิดเป็นวงเงิน ๕,๐๐๐ ล้านบาทเศษ ซึ่งที่ประชุมให้หลักเกณฑ์ว่า โครงการทั้งหมดที่เสนอต้องตรงกับนโยบายรัฐบาล สอดคล้องกับนโยบายพัฒนากลุ่มจังหวัดและแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ หลังจากพิจารณาแล้ว ครม.เห็นชอบเพียง ๒๙ โครงการ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ๑๒ จังหวัด ที่จะดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ ๒๕๕๕ คิดเป็นจำนวนเงิน ๑,๖๕๕ ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาศักยภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ปรับปรุงภูมิทัศน์ ฯลฯ

ขยายรถไฟความเร็วสูงถึงหนองคาย

โดยจังหวัดอุดรธานีได้รับวงเงินเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ทั้งสิ้น ๑๖๓ ล้านบาท ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการขอสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการผลักดันของหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเรื่องนี้นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “๕ โครงการที่ทางหอการค้าจังหวัดอุดรธานีดำเนินการผลักดันเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ได้รับการเห็นชอบทั้งหมด ได้แก่ ภาคเอกชนโดยหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้ครม.ทบทวนโครงการการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-หนองคาย ไม่ใช่วิ่งถึงแค่โคราชเท่านั้น รวมทั้งโครงการรถไฟทางคู่ถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งครม.ได้ทบทวนและเห็นชอบที่จะก่อสร้างในวงเงิน ๖ แสนกว่าล้านบาท ภายในปี ๒๕๕๖ และอนุมัติงบประมาณ ๒๕๐ ล้านบาท ก่อสร้างถนนวงแหวนอุดรธานี เส้นที่ ๑ ทางทิศเหนือ-ทิศใต้ บริเวณแยกขอนแก่นถึงหนองบัวลำภู ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ ๒๕๕๕-๒๕๕๖ พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณปี ๒๕๕๕ อีกจำนวน ๒๐ ล้านบาท ไปศึกษาโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนอุดรธานี เส้นที่ ๒ บริเวณแยกนาข่า-หนองหาน ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๑-๓ ได้

๒๕ ล.ศึกษาตั้งศูนย์แสดงสินค้าฯ

ส่วนโครงการก่อสร้างศูนย์แสดงสินค้าประชุมและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น นายสวาท กล่าวว่า “อนุมัติงบประมาณอีก ๒๕ ล้านบาท เพื่อศึกษาการจัดตั้งบริเวณหนองแด อำเภอเมืองอุดรธานี บนเนื้อที่ ๙๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ จากเดิมโครงการดังกล่าวเป็นดำริของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้แต่ละภูมิภาคมีศูนย์แสดงสินค้าและประชุมนานาชาติ โดยเมื่อปี ๒๕๔๙ แต่ละฝ่ายเห็นห้องกันว่าควรดำเนินการจัดตั้ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) จึงเป็นเจ้าภาพสำรวจ และเลือกจังหวัดอุดรธานีเป็นพื้นที่ก่อสร้างศูนย์ดังกล่าวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทั่งผ่านขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์แล้ว เหลือเพียงนำเสนอครม.เห็นชอบ แต่เนื่องจากเกิดการเหตุการณ์ทางการเมือง จึงทำให้โครงการนี้ถูกพับเก็บไป ทางหอการค้าจังหวัดอุดรธานีจึงผลักดันนำเสนอใหม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ จากข้อเสนอดังกล่าวเกิน ๕ ปีแล้ว อยากขอให้ทบทวนใหม่เพราะสภาพแวดล้อม ประชากร รวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวขึ้น สภาพัฒนาฯ จึงเห็นว่า ควรแปลงจากการเสนอของบประมาณก่อสร้าง เป็นของบประมาณศึกษาใหม่ หากศูนย์ดังกล่าวเกิดขึ้นจะสามารถรองรับการค้าการลงทุน ทั้งการจัดแสดงสินค้าต่างๆ ประชุมสัมมนา การจัดงานมอเตอร์โชว์ คอนเสิร์ต และเป็นศูนย์กลางแสดงสินค้าแห่งอาเซียนด้วย ซึ่งขณะนี้ที่ภาคเหนือ กำลังดำเนินการก่อสร้างในลักษณะเดียวกันที่จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในความดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนภาคใต้จะสร้างที่จังหวัดภูเก็ต”  

พัฒนาสนามบิน-ตั้งมหา’ลัยอุดรฯ

“นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ใช้งบประมาณ ๒๗๕ ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงและตบแต่งอาคารหลังเดิมและอาคารหลังใหม่ของท่าอากาศยานจังหวัดอุดรธานี โดยให้ทั้งสองอาคารเชื่อมเข้าหากันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเป็น DOMESTIC ASEAN มากขึ้น รองรับการเป็นศูนย์กลางการบินเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน และอนุมัติงบประมาณ ๓๐ ล้านบาท เพื่อศึกษาการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุดรธานี บนเนื้อที่ ๒,๘๐๐ ไร่ บริเวณบ้านหนองไฮ อำเภอเมืองอุดรธานี เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการศึกษา รองรับการเคลื่อนย้ายการศึกษาจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ซึ่งทั้ง ๕ โครงการจากการร่วมผลักดันของภาคเอกชนในพื้นที่ หอการค้าจังหวัดอุดรธานี และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผมพึงพอใจระดับหนึ่ง ทางหอการค้าจังหวัดอุดรธานีจะตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาติดตาม เพื่อให้โครงการต่างๆ เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้ได้ เพราะหลายโครงการที่ผ่านมาเมื่อเปลี่ยนการบริหารงานของข้าราชการระดับสูงจะไม่คืบหน้า” ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวด้วยความยินดี

 

sawat

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี

ครม.เฉยจัดงบศึกษานิคม’สีเขียว

และจากการประชุมครม.สัญจรครั้งนี้ เมื่อระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่จังหวัดอุดรธานี นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานฯ และคณะอนุกรรมการฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “หลังจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับองค์กรภาครัฐ-เอกชนในพื้นที่ ผลักดันนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวให้เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น เพราะเล็งเห็นว่าจังหวัดขอนแก่น และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมเปิดดำเนินการรองรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระทั่งนายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธาน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาอีก ๑ ชุด โดยมีรศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธาน ร่วมด้วยสภาอุตสาหกรรมจังหวัด, หอการค้าจังหวัด, ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๓ (บีโอไอ ขอนแก่น), ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นเลขาธิการ เพื่อศึกษาความเหมาะสมเรื่องพื้นที่และสถานที่ก่อสร้างให้ชัดเจน นำมาซึ่งการทำประชาพิจารณ์กับมวลชนในพื้นที่ที่จะก่อสร้างว่ามีความเห็นอย่างไร แต่เนื่องจากไม่มีงบประมาณศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว จึงนำเสนอของบประมาณจากรัฐบาล ในการประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดอุดรธานี โดยยื่นผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในนามคณะกรรมการร่วมรัฐ และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น”

“ผลจากการประชุมครม.สัญจรได้อนุมัติในหลักการให้ดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวที่จังหวัดขอนแก่น ส่วนเรื่องการขอสนับสนุนงบประมาณมาศึกษาเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวนั้น ปรากฏว่า ครม.สัญจรไม่มีการพูดถึงเรื่องงบประมาณ ในฐานะคณะทำงานฯ ผมจึงหารือกับรศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะรองประธานคณะทำงานฯ โดยจะนำมติครม.สัญจรที่เห็นชอบในหลักการมาหารือทั้งจังหวัดว่า สามารถใช้งบประมาณของจังหวัดได้หรือไม่ หากไม่มีงบประมาณสนับสนุนเราอาจจะไปพูดคุยกับกระทรวงอุตสาหกรรม หรือคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)” นายวิฑูรย์ กล่าว

นายหน้าค้าที่ดินหวังประโยชน์

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า จากการผลักดันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ขณะนี้มีข่าวเกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่นมากมายว่า นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวจะไปลงในพื้นที่ตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งกระแสข่าวนี้ผมเข้าใจว่าออกมาจากนายหน้าค้าที่ดิน ทำให้ขณะนี้ที่ดินในพื้นที่ขอนแก่นมีราคาสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะบริเวณที่รกร้างว่างเปล่ารอบนอกตัวเมืองมีข่าวเกิดขึ้นเยอะมาก ทราบมาว่านายหน้าค้าที่ดินถึงขั้น Confirm (รับรอง) ว่าจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวบริเวณนี้ และอ้างด้วยว่าได้ข่าวมาจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ซึ่งผมยังคงยืนยันว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น คือ ทิศตะวันตก บริเวณอำเภอหนองเรือ, อำเภอบ้านฝาง และอำเภอภูเวียง รวมทั้งทิศใต้ ระหว่างอำเภอบ้านแฮดกับอำเภอบ้านไผ่ แต่ยังไม่ได้ชี้จุดใดจุดหนึ่งว่าจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว เพราะอยู่ระหว่างประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ให้เสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ขณะนี้มีอบต. และเทศบาลหลายแห่ง นำเสนอพื้นที่ให้ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นรับทราบแล้ว ซึ่งจะนำเข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมการฯ ต่อไป ดังนั้น ข่าวที่แพร่สะพัดออกไป จึงเป็นข่าวปล่อยของผู้ที่ประสงค์จะหวังประโยชน์จากการค้าที่ดิน”

IMG_6327

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม และนายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น 

ปีหน้าต้องจัดตั้งเป็นรูปธรรม

“การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวขึ้นในจังหวัดขอนแก่น มีความชัดเจนในหลักการที่ทางครม.เห็นชอบให้ดำเนินการแล้ว จึงเป็นเรื่องที่คณะทำงานฯ จะต้องเร่งดำเนินการขอสนับสนุนงบประมาณมาศึกษาความเหมาะสมทุกด้านให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ และในปี ๒๕๕๖ นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวคงเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ทั้งนี้ จากที่ผมพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับมรว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนการประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดอุดรธานี รัฐมนตรีเห็นชอบหลักการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวในจังหวัดขอนแก่น แต่ฝากประเด็นให้คณะทำงานฯ พิจารณาเส้นทางโลจิสติกส์เป็นเกณฑ์สำคัญในการจัดตั้งเพื่อลดค่าใช้จ่าย เมื่อเกิดนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวและมีการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าของผู้ประกอบการ” นายวิฑูรย์ กล่าวย้ำ 

การ์เมนท์-แหอวนย้ายฐานผลิต

นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงภาวะการลงทุนภาคอุตสาหกรรมว่า ปัจจุบันจังหวัดขอนแก่นมีโรงงานอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าแห่ง เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เกือบ ๒๐ แห่ง นอกนั้นเป็นผู้ประกอบการ SMEs (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) เท่าที่สอบถามผู้ประกอบการยังคงเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานเหมือนเดิม ซึ่งหลังจากวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕ เป็นต้นไป ตามที่รัฐบาลมีนโยบายปรับค่าแรงงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๔๐ ขณะนี้มีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เลือกที่จะไปลงทุนตั้งฐานการผลิตที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและหนีปัญหาค่าแรงงานเพิ่มขึ้นแทน ส่วนฐานการผลิตที่ตั้งโรงงานอยู่ในพื้นที่ขอนแก่นนั้น ผู้ประกอบการยังไม่ได้ปิดโรงงานแต่จำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตลง ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเงินทุนที่จะย้ายฐานการผลิต เช่น บริษัท เอ็น ซี แอพพาเรล จำกัด และบริษัท เอ็น เค แอพพาเรล จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกการ์เมนท์รายใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ย้ายฐานการผลิตไปประเทศกัมพูชาและเวียดนาม รวมทั้งโรงานแหอวนรายใหญ่ เช่น บริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด ที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เพื่อย้ายฐานการผลิตไปเพิ่มกำลังการผลิตที่ประเทศเวียดนามทดแทน

หวังอานิสงส์แรงงานคืนถิ่น

“ผมคาดว่าแนวโน้มการลงทุนภาคอุตสาห กรรมช่วงไตรมาสแรกปีนี้ GPP (Gross Provincial Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดขอนแก่นน่าจะลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากตัวเลขการส่งออกจากเดิมที่มีค่อนข้างสูง ต้องลดลงจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงไปมาก เนื่องจากต้นทุนด้านค่าแรงงานภายในประเทศปรับสูงขึ้น ขณะที่ต่างประเทศก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อที่เคยมีเข้ามาลดลง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตรองเท้า และการ์เมนท์ อย่างไรก็ตาม หากค่าแรงงานปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ ในวันที่ ๑ มกราคมปีหน้า แน่นอนว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจะต้องได้รับผลกระทบ เพราะค่าแรงงานแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านถึง ๓ เท่า แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะทำให้แรงงานกลับคืนถิ่น เพราะค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด ซึ่งต้องรอดูว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างนี้หรือไม่” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวทิ้งท้าย


ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๒๐๗๐ วันจันทร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์-๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕


713 1348