28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

June 05,2020

ธุรกิจโลกจ้องขยายมา‘โคราช’ จี้ผู้ว่าฯจัดทีมพบนักลงทุน พัก‘เขมือบ-คอร์รัปชั่น’ซ้ำเติม

สภาอุตสาหกรรมโคราชยื่นข้อเสนอถึงรัฐ ช่วยเยียวยาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เหตุเศรษฐกิจไม่ดีซ้ำยังถูกพิษโควิด-๑๙ ซ้ำเดิม ส่งผลยอดขายเมษายนลด ๗๒% คาดมีโรงงานทยอยปิดตัวและเลิกจ้าง จัดสรรเงินกู้อย่าให้เหลื่อมล้ำ เพราะเดือดร้อนกันทั่ว ‘หัสดิน’ ระบุ ผู้ว่าฯ ต้องทำงานเชิงรุก จัดทีมพบนักลงทุน สร้างความเชื่อมั่น พร้อมเผยมีโรงงานใหญ่ระดับโลกเล็งลงทุนที่โคราช จ้างงานกว่า ๒๐,๐๐๐ คน วอนอย่าเพิ่งจ้องเขมือบและคอร์รัปชั่น ให้นำเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจก่อน

ตามที่เมื่อเวลา ๑๓.๓๐ น. วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ที่โรงแรมสีมาธานี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานจัดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือและแก้ปัญหา โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๕๐ แห่ง ชี้แจงผลกระทบทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งข้อเสนอแนะ โดยส่วนใหญ่ต้องการให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ปลดล็อกคำสั่งการเดินทางมาจากกลุ่ม ๑๐ จังหวัดเสี่ยง ต้องถูกกักตัว ๑๔ วัน การประกาศเคอร์ฟิวทำให้การเดินทางข้ามจังหวัดและการส่งมอบวัตถุดิบ การขนส่งชิ้นส่วนจากโรงงานผู้ผลิตประสบปัญหาและขอความช่วยเหลือ เยียวยาโดยปรับลดการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้อง ลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา รวมทั้งผ่อนผันมาตรการเข้าถึงและขยายวงเงินกู้ เพื่อประคับประคองกิจการ

ยอดขายลด ๗๒%

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดไปทั่วโลก ภาพรวมของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ๓๒ อำเภอ ของจังหวัดนครราชสีมา มีทั้งโรงงานผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ สัดส่วนส่งออกไปต่างประเทศประมาณ ๖๕% ได้รับผลกระทบในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กำลังการผลิตลดลงเฉลี่ย ๗๒% และแนวโน้มยอดสั่งซื้อสินค้าลดลงต่อเนื่อง หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อาจมีโรงงานบางแห่ง โดยเฉพาะโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องลดจำนวนลูกจ้างและปิดถาวร
ในขณะที่นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สิ่งที่ดำเนินการเร่งด่วนและอยู่ในอำนาจหน้าที่จะนำปัญหา อุปสรรคเข้าสู่การประชุมพิจารณาคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เพื่อประชุมพิจารณาการประกาศยกเลิกคำสั่งประชาชนเดินทางมาจากกลุ่ม ๑๐ จังหวัดเสี่ยง แต่ต้องมีมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น ทุกคนต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” หรือมีไทม์ไลน์ที่ชัดเจนในการเดินทางแต่ละสถานที่ ส่วนข้อเสนอแนะอื่นๆ ได้รวบรวมข้อมูล นำเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) หรือ ศบค. เพื่อให้พิจารณาช่วยเหลือเยียวยาตามความเหมาะสมต่อไป

สภาอุตสาหกรรมยื่นข้อเสนอรัฐ

ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓ นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นข้อเสนอจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรสโคโรนา Covid-19 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ที่นำเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยแยกเป็นข้อเสนอต่อจังหวัดนครราชสีมา ข้อเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ ข้อเสนอต่อกระทรวงการคลัง และข้อเสนออื่นๆ มีรายละเอียดดังนี้ 

ข้อเสนอต่อจังหวัดนครราชสีมา แยกออกเป็น ๒ ประเด็น ได้แก่ ๑.ขอให้หน่วยประสานงาน ที่สามารถอธิบายประกาศ/คำสั่งต่างๆ ของจังหวัด และสามารถรับเรื่องราวร้องทุกข์หรือข้อติดขัดในทางปฏิบัติของผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่ทุกอำเภอให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันได้ และ ๒.จัดทำคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการ ประกาศและคำสั่ง ของผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่อธิบายถึงวิธีการภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ โรงงาน ร้านค้าหรือการจัดประชุมนิทรรศการให้กับผู้ประกอบการได้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน

ข้อเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย ๑.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเจรจากับผู้ประกอบการแอปพลิเคชัน สั่งสินค้าและอาหาร ให้ลดค่าธรรมเนียมที่ติดจากร้านค้าลง เพื่อช่วยผู้ประกอบการได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ๒.ผลักดันให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า ให้มีช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และรณรงค์ให้ประชาชนใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ ๓.เพิ่มจำนวนร้านค้าในโครงการธงฟ้าประชารัฐให้ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนมากกว่าเดิม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ให้สามารถหาซื้อสินค้าธงฟ้าในชุมชนใกล้บ้านได้ โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปซื้อสินค้าตามร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

เรียกร้อง ก.คลังจัดงบสนับสนุน

ข้อเสนอต่อกระทรวงการคลัง ได้แก่ ๑.จัดสรรงบประมาณสนับสนุน/ช่วยเหลือ จากภาครัฐ ให้ผู้ประกอบการ โรงงานที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 เพื่อให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ๒.เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง มียอดการผลิตและการขายลดลงอันเนื่องมาจากมาตรการ Social Distancing ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการโรงงานเพิ่มสูงขึ้น เช่น มีการเว้นระยะห่างของพนักงานในการทำงาน, การเว้นการทำงานเครื่องจักรในสายการผลิต เป็นต้น ดังนั้น จึงขอให้ภาครัฐลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลลง ๒๐% เป็นอย่างต่ำ เป็นระยะเวลา ๑ ปี เพื่อให้สามารถประคับประคองกิจการต่อไปได้ ๓.ขอให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาโดยตรง ๔.ขอให้มีนโยบาย ช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้กับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมลง ๒๐% เป็นระยะเวลา ๑ ปี ๕.ขอให้มีมาตรการส่งเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ โดยให้สินเชื่อ soft loan ดอกเบี้ย ๒% ขั้นต่ำ ๑ ปี และจัดสรรวงเงินสินเชื่อให้กระจายไปครบทุกจังหวัดตามสัดส่วน 

๖.ขอให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้สินเชื่อ soft loan ของสถาบันการเงิน ที่ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ ๗.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการควบคุมความผันผวนของค่าเงินบาทให้มีความคงที่ของค่าเงินมากขึ้น ๘.ขอให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคมสามารถกู้เงินได้อย่างน้อย ๒๐% จากวงเงินสมทบที่ได้ส่งให้กับสำนักงานประกันสังคมไปแล้ว
สำหรับข้อเสนออื่นๆ ประกอบด้วย ๑.ขอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มมาตรการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุน ดังนี้ (๑) ขอให้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนโดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ขอรับการส่งเสริมรายใหม่ให้มากขึ้น (๒) ขอขยายระยะเวลาส่งเสริมการลงทุนของผู้ได้รับการส่งเสริมรายเดิม ต่ออีก ๑ ปี และ ๒.ขอให้สนับสนุนการัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ยังคงรักษาการค้าการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการค้าและการลงทุนใหม่ๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพิ่มขึ้น

แบงก์ชาติจัดเงินกู้ไม่เป็นธรรม

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๓ “โคราชคนอีสาน” สัมภาษณ์นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ในประเด็นนี้เพิ่มเติม ซึ่งได้รับการเปิดเผยว่า “ในวันศุกร์ที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๓ ผู้ว่าฯ (นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา) จะให้นำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.-แบงก์ชาติ) เสนอกับผู้ว่าแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย-ธปท.) ผ่าน Video Conference ประเด็นที่จะนำเสนอก็คือ ความเหลื่อมล้ำในการปล่อยเงินกู้ของแบงก์ชาติ ในรอบแรกคือ ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท รอบที่สอง ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เงินรอบแรกหมดไปแล้ว ส่วนรอบสองยังเหลืออยู่ จะเห็นว่าเงินกระจุก ไม่กระจายออกไปยังต่างจังหวัด เกิดเป็นจุดด้อย ทั้งที่ควรจะมีสัดส่วน ไม่ใช่แค่ที่โคราชที่เดียวแต่จังหวัดต่างๆ ก็ควรจะได้สัดส่วนในการจัดสรรอย่างเป็นธรรม เพราะขณะนี้เดือดร้อนกันไปหมด หากมีการปล่อยกู้แบบอิสระโดยไม่มีการควบคุมแบบนี้ ทางธนาคารพาณิชย์ก็จะไปปล่อย Soft Loan ให้ผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ส่วนกลาง วันศุกร์นี้จะเรียกร้องกับผู้ว่าแบงก์ชาติว่า ในการปล่อย Soft Loan ลักษณะนี้ควรจะมีสัดส่วนให้แต่ละพื้นที่ตามที่ได้รับผลกระทบ เช่น จากทั้งหมด ๗๖ จังหวัด อาจจะแบ่งสัดส่วนให้โคราชประมาณ ๕,๐๐๐ ล้าน คือประมาณ ๑% ซึ่งก็ไม่ได้เยอะ เงินจำนวนนี้ก็จะหมุนเวียนอยู่ในโคราช แต่หากเป็นอยู่เช่นในปัจจุบันก็ไม่รู้ว่าโคราชจะได้ถึง ๑๐๐ ล้านหรือเปล่า เรียกว่า ไม่มีการประเมินศักยภาพของแต่ละจังหวัดแล้วจัดสรรเงินกู้มาให้ กลับจะไปให้แค่ผู้ประกอบการที่เข้มแข็งที่จะได้รับประโยชน์จากเงินกู้นี้” นายหัสดิน กล่าว

หวังยอดขายจะดีขึ้นตามลำดับ

นายหัสดิน เปิดเผยว่า สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ นั้น มีตัวเลขจากการประเมินว่า บางโรงงานที่ทำอุตสาหกรรมอาหารยอดขายยังดีอยู่ บางโรงงานยอดขายเพิ่มขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่เฉลี่ย ๔๐-๕๐% ที่สภาฯ ทำการสำรวจเมื่อเดือนเมษายนแล้วพบว่ายอดขายลดลง และตกไป ๗๒% บางคนยอดขายดี บางคนขายไม่ได้เลย เช่น โรงงาน Casio หยุดผลิตไป ๑ เดือน เท่ากับว่าเป็นศูนย์ จากผลการสำรวจ ยอดขายเดือนเมษายนที่ผ่านมาหายไปเฉลี่ยประมาณ ๗๒% แต่ในเดือนพฤษภาคมฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง และคาดว่ายอดขายจะหายไปประมาณ ๕๐% ส่วนในเดือนมิถุนายนจะฟื้นตัวขึ้นมากกว่าเดิม และหวังว่า ยอดขายจะหายไปให้ต่ำกว่า ๔๐% ก็ยังดี เท่ากับว่าดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในส่วนของเดือนเมษายนนั้นน่าใจหายเพราะยอดขายหายไป ๗๒% ถือว่าเยอะมาก เพราะช่วงนั้นเกิดวิกฤตโควิด-๑๙ โรงงานบางแห่งต้องหยุด รวมทั้งรัฐคุมไม่ให้มีการเดินทางมาถึงกลางเดือนพฤษภาคม 

ประสบปัญหาด้านขนส่ง

ต่อข้อถามว่า จากเหตุการณ์โควิด รัฐเริ่มมีการผ่อนคลายระยะ ๒-๓ ออกมา จะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร? นายหัสดิน เปิดเผยว่า เมื่อรัฐเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายระยะ ๒-๓ ก็ดีขึ้น แต่ต้องคิดด้วยว่า ก่อนที่โควิด-๑๙ จะระบาดนั้น เศรษฐกิจก็ไม่ดีอยู่แล้ว บอกได้เลยว่า แม้จะผ่อนคลายระยะ ๓ หรือระยะ ๔ ตามมา แต่โรงงานที่หยุดกิจการชั่วคราว เอาคนงานออก ๑ ใน ๓ มันจะเกิดความเป็นจริงขึ้น คืออย่างต่ำส่วนใหญ่นั้นจะมีการลดจำนวนแรงงาน แต่ก็จะมีบางแห่งที่ต้องปิดกิจการ มีแน่ๆ และจะมีบางส่วนที่มีงานน้อยลงก็จะมีการจ้างงานน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งดูจากแนวโน้มแล้วจะมีโรงงานที่จ้างงานน้อยลงจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ เขาแย่มาก ในส่วนของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในโคราชก็แย่เหมือนกัน แต่เขาจะฟื้นตัวเร็ว เพราะขึ้นอยู่กับการขนส่งสินค้า อย่างกรณีโรงงานแห่งหนึ่งในโคราชเขาเคยใช้การขนส่งทางอากาศนำชิ้นส่วนมาจากมาเลเซีย เมื่อส่งของมาทางเครื่องบินไม่ได้ เพราะไม่มีไฟลท์มาลง เนื่องจากมีการจำกัดการขึ้น-ลงของเครื่องบิน เมื่อไม่มีผู้โดยสารเข้ามา เครื่องบินขนส่งก็จะน้อยลง จึงทำให้การผลิตชะงักงัน ขณะนี้มีการแก้ปัญหาโดยการขนส่งทางรถสิบล้อโดยไปขนตู้คอนเทนเนอร์มาจากมาเลเซียมาโคราช ในขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการโคราช เช่น ผู้ประกอบการดอกไม้สดที่เขาใหญ่ (ปากช่อง) เล่าให้ฟังว่า เดิมมีการขนส่งดอกไม้ทางเครื่องบินไปยังมาเลเซีย แต่ขณะนี้ส่งไม่ได้ เมื่อส่งไม่ได้ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นขนส่งทางรถยนต์ ซึ่งเขาก็มีการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่การขนส่งทางรถยนต์ก็มีต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะต้องใช้ตู้เย็น ซึ่งเมื่อวิ่งไปถึงมาเลเซียก็มีค่าใช้จ่ายเยอะ แต่ก็ต้องทนกันไป เพราะต้นทุนสูงขึ้น แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ขายของ ผู้ประกอบการเองก็พยายามปรับตัว ข้อสำคัญก็คือ เศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้ว แล้วยังถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-๑๙ จึงทำให้มีโรงงานที่จะหยุดกิจการแน่ๆ แต่ไม่อยากเอ่ยชื่อ

จัดทีมเข้าหานักลงทุน

“ในขณะเดียวกัน ในทุกวันนี้ เราพยายามเรียกร้องทางภาครัฐว่า ในกรณีของผู้ที่จะมาลงทุนใหม่ ที่มีการพิจารณาและรู้ว่าจะมีใครมาลงทุนใหม่ ต้องจัดทีมโคราชเข้าไปคุยกับเขาเลยว่า นักลงทุนอยากได้อะไร เขาอยากให้เราทำอะไรให้ คือบางครั้งเราจะนั่งอยู่เฉยๆ ให้เขามาลงทุนเอง มันยาก แม้ว่าเขาจะมาลงทุนอยู่แล้ว แต่เมื่อมาเจอโควิดเขาก็ต้องชะงักไว้ ดังนั้น จึงควรจัดทีมของโคราชเข้าไปพูดคุยกับผู้ประกอบการเหล่านี้ว่า โคราชยังพร้อมที่จะเปิดรับการลงทุน พร้อมที่จะตั้งโรงงานใหม่ และมีแรงงานเพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ผมเรียกร้องทางผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ให้จัดทีมเข้าไปเพื่อไปพูดคุยกับผู้ประกอบการ เหมือนเป็นการเชิญชวนเขามาลงทุน ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่า มีโรงงานไหนบ้างที่ยื่นของส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ในการจะมาลงทุนในโคราช เราต้องเข้าไปบอกเขาเลยว่า ให้มาเลย มาเร็วๆ เพราะว่าโรงงานบางแห่งอาจจะขอส่งเสริมการลงทุนไว้ แต่อาจจะขอดูสถานการณ์ต่างๆ ก่อนสักปีสองปีค่อยมาลงทุน ดังนั้น ในขณะนี้ เมื่อเรารู้อยู่แล้วว่า มีใครที่ไปขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอหรือไปติดต่อบีโอไอว่าจะลงทุน จึงต้องจัดทีมงานโคราช หากผู้ว่าฯ ไม่ไปก็ต้องจัดให้รองผู้ว่าฯ ไปคุยและเชิญชวนให้รีบมาลงทุน” ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าว

อย่าเพิ่งเขมือบ-คอร์รัปชั่น

นายหัสดิน เปิดเผยอีกว่า “ผมเรียกร้องจากทางภาครัฐ คนที่เดือดร้อนมีจำนวนมาก และมาตรการของภาครัฐที่ออกมาก็คือ การกู้เงิน ๑.๙ ล้านล้านบาท แม้จะมีรายละเอียดบอกว่าไม่ได้กู้จริง แต่เป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ถ้าเม็ดเงินเหล่านี้ลงมากระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง หมายถึงว่าไม่มีการรั่วไหลไปทางอื่น ไม่มีการคอร์รัปชั่น คือตอนนี้เราเรียกร้องว่า ผู้ที่จ้องจะเขมือบให้ชะลอไปก่อนได้ไหม เพราะคนเดือดร้อนเยอะ ให้เอาเงิน ๑.๙ ล้านล้านบาทมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นคนไทยจะตายกันหมด ขอว่า อย่าเอาโครงการนี้มาเพื่อเขมือบกัน เพราะว่าคนเดือดร้อนมีจำนวนมาก ซึ่งในภาวะปกติเราก็ไม่ต้องการให้มีการคอร์รัปชั่นอยู่แล้ว โดยเฉพาะโครงการลักษณะนี้ที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชาวบ้านที่กำลังแย่ จะต้องยับยั้งการคอร์รัปชั่น ช่วยกันนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เม็ดเงินมาสู่ประชาชนทั้งล้านล้านบาทจริงๆ ก็จะช่วยผู้ประกอบการได้มาก ช่วยคนงานได้เยอะ ผมขอเรียกร้องในเรื่องนี้ด้วย”

รง.ระดับโลกสนใจลงทุนโคราช

“ความจริงในวันนี้มีโรงงานระดับโลกแห่งหนึ่งสนใจที่จะมาลงทุนในจังหวัดนครราชสีมา ถ้าเขาจ้างงานเต็มอัตราก็จำนวนกว่า ๒๐,๐๐๐ คน แต่เบื้องต้นเขาจะจ้างงานประมาณ ๕,๐๐๐ คนหากมาตั้งโรงงานที่โคราช ซึ่งเรื่องนี้ต้องจัดทีมเข้าไปหานักลงทุนรายนี้แล้ว ให้เขารีบมา ถ้าเรามีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอะไรที่เขาขอ เช่น จาก ๕ ปีขอเป็น ๘ ปีได้ไหม เราก็ต้องมาเสนอมาตรการเลยว่า อีกแค่ ๓ ปีก็ให้เขาไปเถอะ ต้องทำงานเชิงรุก และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ส่งทีมโคราช ทั้งรองผู้ว่าฯ อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด บีโอไอ ไปหาเขา ไม่ต้องรอให้เขามาเอง” นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ กล่าวในท้ายสุด 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๐ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


774 1405