29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

June 20,2020

เตรียมเสนอ รมว.คมนาคม ขอทุบสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล ฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 20 มิถุนายน 2563 ที่บริเวณใต้สะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล เขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะแกนนำพรรคภูมิใจไทย รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะเดินทางมาตรวจพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เพื่อเตรียมนำเสนอข้อมูลการรื้อถอนสะพานหัวทะเล โดยมีนายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส เขต 2 จ.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา นายอภิชา  เลิศพชรกมล ส.ส เขต 9 จ.นครราชสีมา ภท. ในฐานะเจ้าของเขตพื้นที่ นายสุรวุฒิ  เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายเอกภพ  โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล อ.เมือง และเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 3 ร่วมให้การต้อนรับและชี้แจงข้อมูลกายภาพพื้นที่โดยด้านบนสะพานเป็นทางหลวงแผ่นดิน 224 ถนนราชสีมา-โชคชัย ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 1 ข้ามเส้นทางรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและตอนล่าง รวมทั้งความเป็นไปได้ตามหลักวิศวกรรม  

ต่อมานายสุรวุฒิ  เชิดชัยได้นำเอกสารรายชื่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดใช้งานสะพานเป็นเวลากว่า 30 ปี ส่งผลให้อาคารพาณิชย์ที่ตั้งอยู่ละแวกดังกล่าวประสบปัญหาการค้าซบเซาอย่างหนัก เนื่องจากไม่มียานพาหนะแล่นผ่านหลายรายต้องเซ้งกิจการและหาทำเลการค้าใหม่ มามอบให้นายวีรศักดิ์ รมช.พาณิชย์ เพื่อนำเสนอให้นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำไปพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เปิดเผยว่า แนวโน้มการทุบสะพานหัวทะเลมีความเป็นไปได้ 80 % ตนเป็นชาวโคราช จึงทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นดีและนายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม ก็เป็นคน ภท. ไม่น่าจะมีปัญหาในการเสนอให้พิจารณา หากทุบสะพานออกสามารถลดผลกระทบในอนาคตทุกมิติและการขยายตัวของเมืองด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม หากไม่ทำตอนนี้ ต่อไปก็จะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ตนพบปะ รมว.คมนาคม บ่อยครั้ง อีกไม่กี่ก็ต้องเจอกันอีก ก็จะเสนอให้ทราบทันที  

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีข้อสรุปในการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการออกแบบก่อสร้างทางลอดรถไฟทางคู่บริเวณสะพานข้ามทางรถไฟโรงแรมสีมาธานี ผ่านการประชุมทางไกลระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนายวิเชียร  จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม เห็นชอบให้ รฟท. ยกระดับทางรถไฟตั้งแต่ลอดสะพานถนนเลี่ยงเมืองและสิ้นสุดที่สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ รวมระยะทาง 5.4 กิโลเมตร เบื้องต้นเป็นรูปแบบก่อสร้างทางลอด (Underpass) ใต้ทางรถไฟ โดยลดระดับถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 144 เป็นทางระดับพื้นดิน มีถนนด้านข้างและจุดตัดทางรถไฟเป็นระบบวงเวียนเชื่อมโยงถนนมิตรภาพ ถนนสืบศิริ ถนนเลียบนคร พร้อมระบบระบายน้ำและไฟฟ้าแสงสว่าง ทาม์ไลน์เริ่มก่อสร้างเดือนธันวาคม ปี 2563 รวมระยะเวลาดำเนินจนแล้วเสร็จทั้งโครงการและเปิดใช้งานได้เต็มรูปแบบประมาณ 44 เดือน


772 1427