29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

June 27,2020

เปิดเวทีฟื้น‘ทางลอดบิ๊กซี’ ปฐมนิเทศ ๑๔ กรกฎานี้ นำเสนอผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ฟื้นทางลอดบิ๊กซีอีกครั้ง หลังมีประชาชนคัดค้านเมื่อหลายปีก่อน ล่าสุดกรมทางหลวง เรียกบริษัทที่ปรึกษาฯ เข้าหารือ เตรียมจัดปฐมนิเทศโครงการ เพื่อเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นคนโคราชอีก พร้อมศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ  EIA เริ่มนัดแรก ๑๔ กรกฎาคมนี้ ผู้ได้รับผลกระทบห้ามพลาด

เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๑.๐๐ น. สำนักแผนงาน กลุ่มงานสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวง เข้าพบนายไพรัช เสนามนตรี รองผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ ๑๐ ตำแหน่งที่ ๒ เพื่อชี้แจงข้อมูลโครงการ “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอุโมงค์บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (แยกนครราชสีมา)” โดยมีนายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ พร้อมด้วย ตัวแทนกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ได้แก่ บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ซิตี้ แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด เข้าร่วม ที่ห้องประชุมสำนักงานทางหลวงที่ ๑๐

นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “การประชุมครั้งนี้ คณะทำงานจากสำนักแผนงาน กลุ่มงานสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวง เดินทางมาเพื่อประชุมวางแผนหาแนวทางการจัดทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ของทางลอดแยกนครราชสีมา (แยกบิ๊กซี) ซึ่งรูปแบบของโครงการที่จะนำมาศึกษา เป็นรูปแบบเก่าที่เคยออกแบบไว้แล้ว และได้ให้โจทย์แก่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ ไปว่า ให้จัดทำรายละเอียดโครงการ ทั้งเรื่อง งบประมาณการก่อสร้าง แผนการก่อสร้าง และรูปแบบการก่อสร้าง โดยจะมีการนำเสนอในที่ประชุมปฐมนิเทศโครงการในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่โรงแรมซิตี้พาร์ค ส่วนเรื่องงบประมาณในการก่อสร้างขณะนี้ ยังไม่ได้ตั้งไว้ว่าจะต้องใช้เท่าไหร่ แต่งบประมาณในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ ศึกษารายละเอียดอยู่ที่ประมาณ ๙ ล้านบาท ก็ต้องรอดูว่า ศึกษามาแล้วรายละเอียดจะเป็นอย่างไร เพราะผมยังไม่สามารถระบุได้เช่นกัน”

จากนั้น “โคราชคนอีสาน” ติดต่อไปยัง บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อสอบถามความคืบหน้าในการจัดทำรายละเอียดโครงการ โดยได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า “ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายละเอียดของโครงการ ซึ่งต้องรอผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมชี้แจงในการประชุมปฐมนิเทศโครงการ โดยในวันนั้นจะมีข้อมูลครบทุกด้าน หากประชาชนหรือสื่อมวลชนมีข้อสงสัยอย่างไรก็สามารถตั้งคำถาม และถามได้ตลอด”

สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกนครราชสีมา (แยกบิ๊กซี) กรมทางหลวงมีการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ และเคยได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน ๔๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณปี ๒๕๕๐ ต่อเนื่องปี ๒๕๕๑ แต่มีเสียงคัดค้านอย่างหนัก จึงทำให้โครงการถูกระงับไป แต่ภายหลังมีการรื้อขึ้นมาศึกษาใหม่ โดยคาดว่าประมาณ ๘๐๐ ล้าน สำหรับตำแหน่งของโครงการอยู่ที่จุดตัดถนนหมายเลข ๒ (มิตรภาพ) กับถนนหมายเลข ๒๒๔ จากผลการศึกษาของกรมทางหลวง ได้ศึกษาปริมาณการจราจร และเลือกรูปแบบแก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดเพื่อลดการคับคั่งการจราจรบริเวณดังกล่าวทำเป็นทางลอด จากทิศทางขอนแก่นเลี้ยวขวาไปทางจังหวัดสระบุรีทางลอดขนาด ๒ ช่องจราจร โดยข้างบนของทางลอดมีช่องจราจรชิดทางลอดด้านสระบุรีที่จะตรงเข้าเมืองเลี้ยวซ้ายไปขอนแก่น มีจำนวนช่องจราจรเท่าเดิม โดยตรงเข้าเมือง ๓ ช่องจราจร เลี้ยวซ้าย ๒ ช่องจราจร ในขณะเดียวกัน ทิศทางจากจังหวัดขอนแก่นยังมีทิศทางที่สามารถเลี้ยวขวา เนื่องจากรถบางส่วนอยู่ชิดข้างทางบริเวณดังกล่าวที่ไม่ได้ลงทางลอด และยังสามารถเลี้ยวขวาไปขอนแก่นได้ ส่วนในเมืองก็ตรงไป ๓ ช่องจราจร เลี้ยวขวา ๒ ช่องจราจร ซึ่งเป็นรูปแบบการจราจรที่ศึกษาไว้ ความยาวของทางลอดทั้งหมดประมาณ ๙๓๐ เมตร บริเวณที่มีหลังคาติดประมาณ ๑๒๖ เมตร ตัวส่วนโครงสร้างจะมีการเจาะเป็นกำแพงลงไปในดิน แล้วจะมีการขุดดินภายหลัง

ทั้งนี้ จากการเปิดเวทีให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น การประชุมการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการก่อสร้างทางลอดบริเวณสามแยกนครราชสีมา (แยกบิ๊กซี) เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๐ ก็ยังมีเสียงคัดค้านเช่นเดิม  โดยระบุว่า ไม่คุ้มค่าที่จะก่อสร้าง เพราะการจราจรยังไม่วิกฤต ไม่มีผลกระทบ และเมื่อการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองแล้วเสร็จ รวมทั้งเมกะโปรเจกต์ เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางเบา รถที่จะวิ่งเข้าเขตเมืองก็จะมีปริมาณน้อยลงด้วย ส่วนงบประมาณควรนำไปขยายช่องจราจรถนนเส้นอื่น

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการคัดค้านอุโมงค์ทางลอดแยกนครราชสีมา (แยกบิ๊กซี) ไม่มีการพูดถึงโครงการอีก กระทั่งในประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ นายจรินทร์ เข็มประสิทธิ์ ผู้แทนจากสำนักงานทางหลวงที่ ๑๐ เปิดเผยสั้นๆ ว่า “อุโมงค์ลอดทางแยกนครราชสีมา (แยกบิ๊กซี) เคยได้รับงบประมาณปี ๒๕๕๐ วงเงิน ๔๐๐ ล้านบาท แต่มีผู้คัดค้านในการทำการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรองบเพื่อศึกษา EIA และอยู่ระหว่างเสนอขอรับงบประมาณปี ๒๕๖๔-๒๕๖๖”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๓ วันพุธที่ ๒๔ - วันอังคารที่ ๓๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 
 

784 1425