20thApril

20thApril

20thApril

 

July 11,2020

พาณิชย์ผลักดันสินค้า GI โคราช เพิ่มมูลค่า‘น้อยหน่า-มะขามเทศ’

รมช.พาณิชย์ ลงพื้นที่เยี่ยมชมสินค้าท้องถิ่น เตรียมขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่ของโคราช ทั้ง “น้อยหน่าปากช่อง” และ “มะขามเทศเพชรโนนไทย” พร้อมเปิดตลาดชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางทำเงิน  ให้เกษตรกร ย้ำผลักดันเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง พร้อมออกสู่ตลาดโลก

 

เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่วิสาหกิจชุมชนน้อยหน่าปากช่อง ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง นายวีรศักดิ์ (ป้อ) หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งเพาะปลูกและแหล่งผลิต “น้อยหน่าปากช่อง” พร้อมมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) “มะขามเทศเพชรโนนไทย” เผยเตรียมส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดให้เข้มแข็ง และพร้อมออกสู่ตลาดโลก

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า “วันนี้เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตสินค้าในท้องถิ่นที่เตรียมขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) รายการใหม่ของจังหวัดนครราชสีมา และร่วมหารือแนวทางการส่งเสริมและผลักดันของดีในชุมชน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดนครราชสีมาได้นำเสนอ “น้อยหน่าปากช่อง” ณ สวนน้อยหน่าเพชรปากช่อง บ้านหนองตาแก้ว ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีโอกาสได้รับการขึ้นทะเบียน GI เพราะถือเป็นของดี ของเด่นของชุมชน และอัตลักษณ์โดดเด่นกว่าน้อยหน่าที่อื่น ซึ่งหากได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว คาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ นอกจากน้อยหน่าปากช่องแล้ว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังได้ร่วมหารือเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ถึงความเป็นไปได้ในการส่งเสริมสินค้าใหม่ๆ อาทิ ทุเรียนปากช่อง เพื่อผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ในอนาคตต่อไป”

“สำหรับ น้อยหน่าปากช่อง ปลูกมากในพื้นที่อำเภอปากช่อง ซึ่งมีสภาพดินแดง เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกน้อยหน่ามากที่สุด มีฤดูกาลผลิตในช่วง เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ของทุกปี แบ่งออกเป็น ๓ สายพันธุ์ คือ ๑.สายพันธุ์น้อยหน่าฝ้าย มีลักษณะตาแคบ ร่องตาลึก รสหวาน เนื้อสีขาวละเอียดครีม กลิ่นหอม ๒.สายพันธุ์น้อยหน่าหนัง มีลักษณะตากว้าง ร่องตาตื้น เนื้อสีขาวละเอียดเหนียว เปลือกร่อนได้ง่าย และ๓.สายพันธุ์น้อยหน่าลูกผสม มีลักษณะผลใหญ่ รูปหัวใจ ผิวค่อนข้างเรียบ ร่องตาตื้น เปลือกบางลอกจากเนื้อได้ง่าย เนื้อเหนียว กลิ่นหอม รสชาติหวาน”

นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางไป ณ ศาลาประชาคมบ้านดอนสระจันทร์ ตำบลถนนโพธิ์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน GI สำหรับมะขามเทศเพชรโนนไทยของจังหวัดนครราชสีมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้รับมอบหนังสือรับรองฯ จึงทำให้ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุดในประเทศไทยเทียบเท่าจังหวัดเชียงราย ถึง ๖ รายการ

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า “ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI ทั้งการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายภายในประเทศ เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการและสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีโอกาสบริโภคสินค้าท้องถิ่นที่มีคุณภาพดี ของหายาก รวมทั้งขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ซึ่งจะต้องทำควบคู่กับการผลักดันการจดทะเบียนคุ้มครอง GI ในต่างประเทศ”

จากนั้น เวลา ๑๖.๐๐ น. นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายทศพล ทังสุบุต อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา นายรุจิเรศ นีรปัทมะ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และสรรหาที่ดิน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และนายเศรษฐวุฒิ ทัตสุระ ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ร่วมเปิดงาน “KORAT GREEN MARKET ตลาดชุมชนโคราช ครั้งที่ ๑” บริเวณชั้น ๑ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา โดยมีการจำหน่ายสินค้าผัก ผลไม้สดๆ จากไร่ คัดเกรดราคาไม่แพง อาทิ น้อยหน่าเพชรปากช่องเกรดส่งออก, อะโวคาโด, เมล่อน, ผักออร์แกนิกปลอดสารพิษ ฯลฯ รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน 

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกสล กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายมุ่งเน้นการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรในการจำหน่ายสินค้าเกษตร และส่งเสริมให้เศรษฐกิจชุมชนมีการขยายตัว สามารถสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น ซึ่งในเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นมา ผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ ออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างทุกพื้นที่ ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ตามสถานการณ์ปกติ ส่งผลกระทบต่อการตลาดผลไม้และราคาจำหน่ายอาจมีแนวโน้มต่ำลง ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประกอบการในการกระจายผลผลิต การจัดงานแสดงและจำหน่ายผลไม้และสินค้าชุมชนในครั้งนี้ มีการนำผลไม้ อันมีชื่อเสียงของจังหวัดนครราชสีมา สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และสินค้าชุมชนจำนวน ๓๐ ร้านเข้าร่วมงานฯ

“การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีสำหรับเกษตรกร และผู้ประกอบการ ในการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากผลไม้ สินค้าชุมชน ประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยให้ผู้บริโภคได้รู้จัก และบริโภคผลไม้ไทยมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นโอกาสดีของผู้บริโภคที่สามารถเลือกซื้อสินค้าราคาเป็นธรรมจากเกษตรกรโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สร้างการรับรู้ กระตุ้นการบริโภคผลไม้ และการใช้สินค้าไทยมากขึ้นด้วย” นายวีรศักดิ์ กล่าว

นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด จำนวน ๒๖๔,๙๖๔ ล้านบาท ภาคการเกษตร ๔๐,๒๕๗ ล้านบาท ภาคนอกเกษตรกรรม ๒๒๔,๗๐๗ ล้านบาท ด้านการเกษตรจังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ ๒๐.๔ ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๒.๘ ล้านไร่ พื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ๘.๓ ล้านไร่ ปีที่ผ่านมามีพื้นที่ปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น สวนผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ จำนวน ๓.๘ แสนไร่ โดยมีไม้ผลที่สำคัญและมีปริมาณมากในจังหวัด ได้แก่ น้อยหน่าเพชรปากช่อง มะม่วงน้ำดอกไม้ ทุเรียน มะขามเทศเพชรโนนไทย ขนุน และพุทรานมสด ปริมาณผลผลิตรวม ๑๒๗,๐๗๔ ตัน ด้านราคาซื้อผลไม้ส่วนใหญ่จะเป็นการขายส่งโดยซื้อหน้าสวน

ด้านนายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “KORAT GREEN MARKET ตลาดชุมชนโคราชครั้งที่ ๑ จัดขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากผลไม้และสินค้าชุมชนให้กับเกษตรกร รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยให้ผู้บริโภคได้รู้จักและบริโภคผลไม้ไทยมากขึ้น และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-๑๙ ทั้งนี้ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา พัฒนาชุมชนจังหวัดนครราชสีมา โดยมีสินค้าเข้าร่วมงาน เป็นสินค้าชุมชน สินค้า GI ผักและผลไม้ที่ปลูกในพื้นที่อำเภอต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ในช่วงนี้ผลไม้ที่มีผลผลิตออกปริมาณมาก ได้แก่ น้อยหน้า แก้วมังกรอินทผาลัม องุ่น มะม่วง เป็นต้น โดยโครงการนี้ฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์”

ทั้งนี้ “KORAT GREEN MARKET ตลาดชุมชนโคราชครั้งที่ ๑ จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) เกษตรกรและประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทุกพื้นที่ จึงจัดให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ได้มีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า หารายได้ให้กับครอบครัว อีกทั้งยังทำให้ประชาชนคนไทยเกิดการกระตุ้นหันมาบริโภคผลไม้ไทยที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ งานจัดขึ้นทั้งสิ้น ๕ ครั้ง ณ ลานกิจกรรมชั้น ๑ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา โดยแบ่งเป็นช่วงเวลาดังนี้ ครั้งที่ ๑ วันที่ ๓-๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓, ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๘-๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๓, ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๕-๒๗ กันยายน ๒๕๖๓, ครั้งที่ ๔ วันที่ ๓๐ ตุลาคม-๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ และครั้งที่ ๕ วันที่ ๒๕-๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๓

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๕ วันพุธที่ ๘ - วันอังคารที่ ๑๔ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 


826 1359