16thApril

16thApril

16thApril

 

July 24,2020

มทส.เก็บกัญชารุ่นแรก ส่งต่อ รพ.ใช้ทางการแพทย์ ผลักดันเกษตรกรปลูก

อบจ.โคราชชี้แจง เรื่องครุภัณฑ์ไม่ตรงคุณสมบัติ ทำให้ รพ.มหาราชฯ ไม่รับ พร้อมยืนยันดำเนินการถูกต้อง ไม่ขัดต่อระเบียบของกรมบัญชีกลาง ยืนยันจัดซื้อตรงตามความต้องการของโรงพยาบาล ไม่มียัดเยียด ใช้งบประมาณคุ้มค่า ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน  

เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตใบกัญชาพันธุ์ฝอยทองภูผายลเป็นครั้งแรก หลังจากย้ายต้นกล้าเข้าภายในโรงเรือนระบบปิดตามมาตรฐานสากล เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓ โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. เป็นประธานเก็บเกี่ยว พร้อมด้วย ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยหลักโครงการฯ และทีมงานผู้ร่วมวิจัย ณ สวนเกษตรเฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา บรมราชกุมารี ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการเร่งส่งเสริมเกษตรกรในการเพาะปลูก เพื่อยกระดับรายได้ให้เกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมา

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทย ขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมการผลิตกัญชาแพทย์แผนไทยตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อปลูกวัตถุดิบกัญชา การตรวจสอบคุณภาพ การใช้พื้นที่แปรรูป การวิจัยยาสมุนไพรที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีสำหรับทำยาสมุนไพร ที่ได้คุณภาพและถูกต้องตามมาตรฐานสากล ด้วยศักยภาพของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านพืชและพัฒนาสายพันธุ์ โครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภค และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง มหาวิทยาลัยจึงเริ่มโครงการวิจัยการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยมี ดร.นันทกร บุญเกิด เป็นนักวิจัยหลัก มีการวางแผนการผลิต แผนการจําหน่าย และแผนการใช้ประโยชน์ ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ ปัจจุบันถือได้ว่า มทส. เป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อการวิจัยใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนพื้นที่ ๑๕ ไร่ ภายในสวนเกษตรเฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา บรมราชกุมารี ได้รับอนุญาตปลูกจำนวน ๓,๓๖๐ ต้นต่อรอบการผลิต เก็บเกี่ยวผลผลิตสดรวมน้ำหนักกว่า ๒,๐๐๐ กิโลกรัม” 

“มทส.มุ่งหวังให้งานวิจัยเป็นคลัสเตอร์วิจัยที่สำคัญ มีส่วนผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์สาธารณสุข ให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาและสมุนไพรทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัย ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ในการเป็นแหล่งผลิต แหล่งศึกษาวิจัย และแหล่งสร้างองค์ความรู้ด้านกัญชา รวมถึงพืชสมุนไพรของประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์คุณภาพที่ให้ปริมาณสารสำคัญสูง การสกัดกลั่นสารสำคัญ การสร้างมาตรฐานการผลิต การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ การคิดค้นตำรับยา และผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย นอกจากการทำวิจัยขั้นสูงเพื่อสร้างผลกระทบต่อสังคมคือการได้ตัวยาคุณภาพ  ในอนาคตจะได้จะผลักดันให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เกิดการขับเคลื่อนให้มีแผนกแพทย์แผนไทยเพื่อนำผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์สู่การใช้ประโยชน์เพื่อการบำบัดรักษาโรคต่อไป” รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าว

ด้านศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยหลักโครงการฯ เปิดเผยว่า “นับจากดำเนินการย้ายต้นกล้ากัญชาสายพันธุ์ฝอยทองภูผายล สกลนคร เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เข้าภายในโรงเรือนเพื่อการปลูก ขนาด ๕ คูณ ๑๐๐ เมตร จำนวน ๒ โรง แบ่งออกเป็นโรงเรือนสำหรับปลูกในกระถาง ๑,๕๐๐ กระถาง และโรงเรือนสำหรับปลูกแบบลงดิน ๑,๘๖๐ ต้น รวมพื้นที่ในการปลูก ๓,๐๙๐ ตารางเมตร วางระบบน้ำหยด พร้อมระบบระบายอากาศ ตามหลักมาตรฐาน เข้าสู่สัปดาห์ที่ ๘ พบว่าต้นกัญชาเจริญเติบโตมีลำต้นและใบที่สมบูรณ์ มีความสูงเฉลี่ย ๑.๕ เมตร แม้ที่ผ่านมาจะพบอุปสรรคทางธรรมชาติ เช่น สภาพอากาศที่อุณหภูมิสูงกว่า ๔๐ องศา และพายุฝนเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา จากการดูแลอย่างใกล้ชิดภายในโรงเรือนระบบปิด สามารถควบคุมอุณหภูมิและระดับความชื้น ที่ส่งผลการกระทบต่อการเจริญเติบโตได้เป็นที่น่าพอใจ เป็นไปตามแผนการใช้ประโยชน์ และสามารถเก็บเกี่ยวใบกัญชาสดได้ตามกำหนด” 

“โดยรอบแรกจะเก็บใบสดที่สมบูรณ์ คือใบที่มีลักษณะ ๗ แฉก เป็นใบใต้กิ่งช่วงกลางลำต้น เรียกว่าใบเพสลาด ช่วงเวลาเก็บที่ดีที่สุดคือ ๐๓.๐๐-๐๖.๐๐ น. ซึ่งเป็นช่วงที่ให้สารออกฤทธิ์ทางยาคุณภาพดี การเก็บเกี่ยวในครั้งนี้เบื้องต้นจะเก็บจำนวน ๑,๐๐๐ กิโลกรัม ก่อนจะทำการผึ่งลมเพื่อให้ได้ใบกัญชาแห้งในรอบแรกที่น้ำหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม จากนั้นจะเป็นการเก็บเกี่ยวในส่วนของ ดอก กิ่ง และลำต้น ตามลำดับซึ่งจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนกันยายน ๒๕๖๓ เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โรงพยาบาลเครือข่ายกรมการแพทย์แผนไทย พัฒนาต่อยอดผลิตยาสมุนไพรไทยสู่เชิงพาณิชย์ จํานวน ๙ ตํารับ คือ ตำรับศุขไสยาศน์ ตำรับทำลายพระสุเมรุ ตำรับยาทาริดสีดวงทวาร และโรคผิวหนัง ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น ตำรับยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง ตำรับยาแก้ลมเนาวนารีวาโยตำรับยาไพสาลี ตำรับยาอไภยสาลี และตำรับยาแก้นอนไม่หลับ ยาแก้ไขผอมเหลือง เป็นไปตามแผนการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้คณะนักวิจัยจะได้รวบรวมองค์ความรู้ทางวิชาการด้านต่างๆ เพื่อเตรียมการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่วิสาหกิจชุมชน นับแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว รวมถึงการแปรรูปวัตถุดิบกัญชาคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน รวมถึงการเตรียมศึกษาวิจัยการพัฒนาแพลตฟอร์มกระบวนการผลิตสารสกัดจากกัญชา ให้มีความบริสุทธิ์สูงระดับโมเลกุลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป” ดร.นันทกร กล่าว

นางสุวิมล นิติเกตุโกศล เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป (ผู้ประสานงานโครงการ) เปิดเผยว่า “มทส. ร่วมมือกับกลุ่มทุนภาคเอกชน ส่งเสริมให้เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมาย ในพื้นที่บ้านโป่งแมลงวัน ตำบลโคกกรวด ให้เป็นพื้นที่นำร่องในจังหวัดนครราชสีมา ปลูกกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อยกระดับรายได้ ทั้งนี้ได้ประสานงานกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการขอใบอนุญาต ซึ่งจะนำเข้าเมล็ดกัญชงจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มาพัฒนาสายพันธุ์กับกัญชาโดยทีมงานนักวิจัยเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีค่าสาร CBD สูง (สารสำคัญ) ซึ่งเป็นสารที่เหมาะสำหรับใช้ในทางการแพทย์ เพราะมีสรรพคุณสามารถบำบัดรักษาโรคได้หลากหลาย เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วย โดยไม่สูญเสียการทำงาน เพราะไม่มีฤทธิ์ทำให้มึนเมา รวมถึงสามารถนำไปแปรรูปหรือเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง อาหารเสริม เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อได้รับใบอนุญาตจะเริ่มต้นการเพาะปลูกในพื้นที่ ๑๐ ไร่ ตามเงื่อนไขคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในเรื่องพื้นที่เพาะปลูก ระบบความปลอดภัย มีรั้วรอบขอบชิด ติดตั้งกล้องวงจรปิด ทั้งนี้ถ้าประสบความสำเร็จจะมีการขยายพื้นที่ปลูกต่อไปในอนาคต” 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๗ วันพุธที่ ๒๒ - วันอังคารที่ ๒๘ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 

 


878 1356