28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 20,2020

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องทุกข้อหา ‘สุนทร’ไม่ได้บุกรุก‘วังเณร’ ตามที่‘นอ.โน่’กล่าวหา

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง “สุนทร จันทร์รังสี” ทุกข้อหา ระบุไม่ได้มีเจตนาบุกรุกแก่งวังเณร(ลำตะคอง) ครอบครองตามโฉนดที่ซื้อจากเจ้าของเดิม ไม่มีระบุเป็นที่สาธารณะ ก่อนซื้อได้ตรวจพิจารณาอย่างระมัดระวัง และไม่ได้สั่งให้ย้ายหลักหมุดที่ดิน แค่ให้ย้ายรั้วมาในเขตครอบครอง

เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ ๔ ศาลจังหวัดสีคิ้ว นางลัทชยา สุนทรวรเชษฐ์ ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ความอาญา ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้ว โจทก์ กับนายสุนทร จันทร์รังสี จำเลย เรื่องทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน โดยในชั้นอุทธรณ์นี้ศาลพิพากษาให้ยกฟ้องในความผิดฐานทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ และฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และฐานก่อให้ผู้อื่นทําลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอดถอนหลักหมายเขตที่ดินหรือหมุดหลักฐานซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทําไว้เพื่อการแผนที่นั้นไปจากที่เดิมโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้น กับยกคําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับให้จําเลยและบริวารออกจากที่ดิน ซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครองนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น โดยในวันนี้นายสุนทร จันทร์รังสี เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง

เริ่มต้นจาก ‘นอ.โน่’ กล่าวหา

คดีดังกล่าวเริ่มต้นจากการที่นายณัชวันก์ (โน่) อัลภาชน์ เตชะเสน นายอำเภอสูงเนิน (ขณะนั้น) มีการกล่าวหาและแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นมีการฟ้องดำเนินคดีว่า ระหว่างวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑ จําเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเลียบลําน้ำลําตะคอง บริเวณแหล่งท่องเที่ยวแก่งวังเณร อันเป็นที่ดินของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยก่อสร้างรั้วตะแกรงเหล็ก น้ำตก บันไดบ้าน ห้องเก็บของ เทพื้นคอนกรีตและต่อเติมชายคาบ้านรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่สาธารณประโยชน์ รวมพื้นที่ประมาณ ๒๔๕ ตารางเมตร ทําให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหาย เสื่อมค่าเสื่อมสภาพที่ดินและไร้ประโยชน์ โดยจําเลยมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อระหว่างวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๐ จําเลยสั่งให้ผู้อื่นทําลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอดถอนหลักหมายเขตที่ดินหรือหมุดหลักฐานซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทําไว้เพื่อการแผนที่นั้นไปจากที่เดิมโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหลักหมายเขตที่ดินเป็นทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ด้วยการใช้ จ้าง วาน ยุยง ส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใดให้ลูกจ้างที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจําเลยไปถอดถอนหลักหมายเขตที่ดินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทําขึ้นเพื่อกําหนดแนวเขตที่ดินระหว่างที่ดินสาธารณะลําตะคองบริเวณแหล่งท่องเที่ยวแก่งวังเณร กับที่ดินโฉนดของจําเลยออก แล้วปักหลักหมายเขตที่ดินดังกล่าวไว้ภายในที่ดินสาธารณะลําตะคองบริเวณแหล่งท่องเที่ยวแก่งวังเณร อันเป็นการเคลื่อนย้ายหลักหมายเขตที่ดินให้ออกไปจากตําแหน่งเดิม โดยให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙, ๖๗, ๑๐๘ ทวิ, ๑๐๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๔, ๙๑, ๓๖๐ ให้จำเลย ผู้แทน คนงานและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือครอบครองและเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งสำหรับความผิดฐานก่อให้ผู้อื่นทำลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอดถอนหลักหมายเขตที่ดินหรือหมุดหลักฐานซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำไว้เพื่อการแผนที่นั้นไปจากที่เดิมโดยไม่ได้รับอนุญาต และก่อให้ผู้อื่นทำให้หลักหมายเขตซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เสียหาย ทำลาย เสื่อมค่า และไร้ประโยชน์ แต่นายสุนทร จันทร์รังสี ให้การปฏิเสธทุกข้อหา

ศาลชั้นต้นปรับ ๙ พัน/รอลงอาญา

วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๒ ศาลชั้นต้นพิพากษาตัดสินว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๐ ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙ (๑), ๖๗ ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๔, ๑๐๘ ทวิ วรรคสอง, ๑๐๙ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษ ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ ฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ กับฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๐ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๑ ปี และปรับ ๖,๐๐๐ บาท ฐานก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานทำลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอดถอน หลักหมายเขตที่ดินหรือหมุดหลักฐานซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำไว้เพื่อการแผนที่นั้นไปจากที่เดิมโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ ๒,๐๐๐ บาท เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๔ วรรคท้าย เป็นปรับ ๓,๐๐๐ บาท รวมจำคุก ๑ ปี และปรับ ๙,๐๐๐ บาท แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด ๑ ปี ซึ่งต่อมาทั้งจำเลยและโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวน

โดยศาลอุทธรณ์ภาค ๓ แผนกคดีสิ่งแวดล้อมตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินเลียบลําน้ำลําตะคองบริเวณแหล่งท่องเที่ยวแก่งวังเณร หมู่ที่ ๒ ตําบลมะเกลือเก่า อําเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๓ จําเลยซื้อที่ดิน เนื้อที่ตามโฉนดที่ดิน ๖ ไร่ ๒ งาน ๓๑ ตารางวา มาจากนางสายหยุด โตสูงเนิน ซึ่งตามรูปที่ดินในโฉนดที่ดินมีอาณาเขตด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดลําตะคอง ตามสําเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.๒๓ จําเลยปลูกสร้างบ้านพักในที่ดินและครอบครองที่ดินของตนต่อเนื่องจากนางสายหยุดตลอดมา ต่อมามีการรังวัดสอบเขตที่ดินสาธารณประโยชน์แหล่งท่องเที่ยวแก่งวังเณรและที่ดินของจําเลย เจ้าพนักงานเห็นว่าที่ดินที่จําเลยซื้อมาและครอบครองอยู่นั้น มีส่วนที่เป็นบริเวณริมลําตะคองเนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตร อยู่นอกเขตโฉนดที่ดินของจําเลยและเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ กับมีการเคลื่อนย้ายถอดถอนหลักหมุดโฉนดที่ดินเพื่อไม่ให้สิ่งปลูกสร้างและรั้วบ้านของจําเลยรุกล้ำที่สาธารณประโยชน์ นายอําเภอสูงเนินจึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีจําเลย คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจําเลยในประการแรกว่า จําเลยกระทำความผิดฐานทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๐ และฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๔ (๑) และ ๑๐๘ ทวิ วรรคสอง ตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่

จำเลยครอบครองตามเจ้าของเดิม

โดยทางนําสืบของโจทก์และจําเลยมีข้อเท็จจริงได้ความตรงกันว่า หลังจากซื้อที่ดินมาแล้ว เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๓ จําเลยมอบหมายให้นายรังสิต จันทร์รังสี ไปรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินแทน โดยมีตัวแทนจากกรมเจ้าท่าไปร่วมนําชี้ระวังแนวเขตที่ดินด้านที่ติดกับลําตะคองด้วย เจ้าพนักงานที่ดินได้จําลองรูปที่ดินที่ทําการรังวัดไว้ตรงกับรูปที่ดินในโฉนดที่ดินของจําเลย จําเลยปลูกสร้างบ้านพักสองชั้นลงในที่ดิน โดยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารจากองค์การบริหารส่วนตําบลมะเกลือเก่า และก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จในปลายปี ๒๕๔๓ จําเลยเข้าครอบครองที่ดินของตนรวมทั้งที่ดินในส่วนที่อยู่นอกเขตโฉนดที่ดินของตนเนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตร ดังกล่าวต่อจากนางสายหยุดตลอดมา โดยไม่มีหน่วยงานราชการใดโต้แย้งว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ กระทั่งมีผู้ร้องเรียนเรื่องการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์บริเวณแก่งวังเณรหลายราย โดยปรากฏตามภาพถ่ายลักษณะของการบุกรุกหมาย จ.๒ นายอําเภอสูงเนินจึงเข้าไปแก้ไขปัญหาโดยเรียกผู้บุกรุกทั้งหมดร่วมประชุมหาข้อยุติ และให้ทําการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินที่มีอาณาเขตติดลําน้ำลําตะคอง ผลการรังวัดชี้แนวเขตที่ดินพบว่า บริเวณริมลําตะคองเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ และมีราษฎรบุกรุกเข้าไปครอบครองหลายราย นายอําเภอสูงเนินจึงมีคําสั่งแจ้งให้ผู้ที่บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของตนออกไป และผัดผ่อนให้ผู้บุกรุกที่ดินขยายเวลารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของตนได้ จําเลยครอบครองที่ดินติดลําตะคองเนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตร ที่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์สําหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมีจําเลยเพียงรายเดียวที่ยังคงโต้แย้งคัดค้านว่าที่ดินเนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตรไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ เห็นว่า ทางนําสืบของโจทก์คงได้ความแต่เพียงว่า จําเลยเข้าไปครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันเนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตร และจําเลยขัดขืนไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปตามคําสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น

ไม่มีที่ดินสาธารณะติดลำตะคอง

แต่เมื่อพิจารณาสําเนาโฉนดที่ดิน เบื้องต้นจะเห็นได้ว่า ที่ดินของจําเลยด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวเขตติดลําตะคองโดยตรง มิได้ระบุว่า มีที่ดินสาธารณประโยชน์เนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตร คั่นอยู่แต่อย่างใด สอดคล้องกับข้อต่อสู้ของจําเลยที่ว่า ก่อนที่จะตกลงซื้อที่ดินจากนางสายหยุด เคยไปตรวจสอบสภาพที่ดินมาก่อนแล้ว พบว่าด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่ดินของนางสายหยุด อยู่ติดลําตะคองตรงกับรูปที่ดินในโฉนดที่ดินดังกล่าว และไม่พบว่ามีที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ติดลําตะคองนั้นด้วย

ในข้อนี้จําเลยยังได้นําสืบต่อไปว่า ในบริเวณที่ดินที่ติดลําน้ำลําตะคองมีไม้ยืนต้น เช่น ต้นมะพร้าว มะม่วงและกอไผ่ที่นางสายหยุดปลูกไว้ด้วย ขณะที่จําเลยนํารังวัดตรวจสอบตัว แทนของกรมเจ้าท่าไปชี้ระวังแนวเขต แต่ตัวแทนของกรมเจ้าท่าไม่เคยแจ้งให้จําเลยทราบว่า มีที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์ติดลําตะคองอยู่ในที่ดินของจําเลย ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ นายศักรินทร์ ทองนาคโคกกรวด เจ้าพนักงานที่ดินทําการรังวัดแนวเขตที่ดินแล้วยังคงจําลองรูปที่ดินไว้โดยมีรูปที่ดินตรงกับรูปที่ดินในสําเนาโฉนดที่ดินของจําเลย แม้นายกิตติพงษ์ ภิญโญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ ผู้ปกครองท้องที่ พยานโจทก์จะเบิกความว่า เดิมที่ดินบริเวณแก่งวังเณร มีสภาพเป็นป่าไผ่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านทั่วไปสามารถเดินผ่านทางเดินริมน้ำทั้งสองฝั่งเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ โดยมีความกว้างของทางเดินริมน้ำฝั่งละประมาณไม่เกิน ๒๕ เมตร แต่นายกิตติพงษ์ได้ตอบทนายจําเลยถามค้านรับว่า หลังจากนางสายหยุดขายที่ดินไปแล้ว ไม่มีชาวบ้านเดินผ่านที่ดินริมลําตะคองบริเวณหน้าบ้านของจําเลยอีก และในบริเวณที่ดินดังกล่าวไม่มีป้ายแสดงให้ทราบว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ถ้าหากไม่ใช่คนในพื้นที่เดิมมองด้วยตาเปล่าจะไม่ทราบแนวเขต คําเบิกความของนายกิตติพงษ์ดังกล่าวทําให้มีเหตุน่าเชื่อว่า ที่ชาวบ้านเดินผ่านที่ดินติดลําตะคองเพราะเห็นว่าเป็นที่ดินของนางสายหยุดคนในละแวกเดียวกันก็อาจเป็นได้ แต่เมื่อนางสายหยุดขายที่ดินให้จําเลยซึ่งเป็นคนต่างอําเภอไม่ใช่คนในละแวกเดียวกัน จึงไม่มีใครกล้าเดินผ่านอีก เพราะที่ดินเป็นของจําเลยไปแล้ว ตามพฤติการณ์ที่จําเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างอำเภอต่างพื้นที่

จำเลยระมัดระวังในการซื้อที่ดิน

ตามทางนําสืบของจําเลยจึงเชื่อว่า จําเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการไปตรวจสอบถึงแหล่งที่ตั้งและสภาพที่ดินที่จะซื้อด้วยตนเองแล้ว เมื่อจําเลยพบว่า ที่ดินของนางสายหยุดมีอาณาเขตที่ดินตรงกับรูปที่ดินในโฉนดที่ดิน และเห็นนางสายหยุดปลูกไม้ยืนต้นบริเวณที่ดินริมน้ำลําตะคองด้วย จึงมีเหตุทําให้จําเลยเชื่อโดยสุจริตใจว่า บริเวณที่ดินที่นางสายหยุดปลูกไม้ยืนต้นอยู่นั้นเป็นที่ดินของนางสายหยุดด้วย แม้ในเวลาต่อมาจําเลยจะขอรังวัดตรวจสอบเขตที่ดินอีกครั้ง แต่นายศักรินทร์เจ้าพนักงานที่ดินผู้ทําการรังวัดยังคงจําลองรูปที่ดินของจําเลยไว้ตรงกับรูปที่ดินที่ปรากฏอยู่ในโฉนดที่ดินของจําเลยอีก และตามรูปที่ดินในสําเนาโฉนดที่ดินของจําเลยนั้น มีอาณาเขตด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับลําตะคองจริง โดยยังไม่มีหน่วยงานราชการใดโต้แย้งด้วยว่า ที่ดินที่นางสายหยุดครอบครองปลูกไม้ยืนต้นไว้นั้นเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จึงมีเหตุอันควรที่จะทําให้จําเลยเชื่อว่า นางสายหยุดเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตร ที่นางสายหยุดครอบครองทําประโยชน์อยู่ในขณะนั้นด้วย การที่จําเลยเข้าครอบครองที่ดินเนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตรต่อจากนางสายหยุดตลอดมา โดยการหวงแหนเสมือนว่าจําเลยเป็นเจ้าของที่ดินนั้น

ศาลเชื่อจำเลยไม่มีเจตนา

พฤติการณ์ดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่า จําเลยไม่ได้มีเจตนาบุกรุกครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ในขณะนั้น แม้ต่อมาจะมีหน่วยงานของรัฐเข้าไปร่วมกันตรวจสอบที่ดินเนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตร ที่จําเลยครอบครองและแจ้งให้จําเลยทราบว่า เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ในภายหลังก็ตาม แต่ทางพิจารณาไม่พบว่า จําเลยได้กระทําการอันใดลงไปในที่ดินที่เนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตรขึ้นอีก แต่ในทางตรงกันข้ามถึงแม้จําเลยจะโต้แย้งว่า ที่ดินเนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตร เป็นที่ดินของจําเลยตลอดมา แต่จําเลยได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไปเกือบทั้งหมด ตามที่จําเลยอุทธรณ์ แม้จะยังคงเหลือสิ่งปลูกสร้างบางส่วนที่เจ้าพนักงานเห็นว่า รุกล้ำที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ก็ตาม แต่สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชายคาบ้านพักที่จําเลยปลูกสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ เท่านั้น เมื่อจําเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของตนออกไปจากที่ดินเนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตร ออกไป เกือบจะหมดสิ้นแล้ว และจําเลยไม่ได้กระทําการอันใดอันแสดงว่า จะกลับเข้าไปบุกรุกครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวใหม่อีก

จำเลยไม่ได้ทำให้เสียหาย

การที่จําเลยยังมีสิ่งปลูกสร้างบางส่วนอยู่ในที่ดินเนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตรนั้นก็ด้วยเจตนาเดียวกันตลอดมา ตั้งแต่แรกว่า จําเลยเชื่อว่าตนเองมีสิทธิครอบครองที่ดิน ซึ่งไม่อาจรับฟังได้แล้วว่าจําเลย มีเจตนาบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ ดังนั้น แม้จําเลยจะยังโต้แย้งคัดค้านแนวเขตที่ดินกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ และดื้อรั้นไม่ยอมรื้อถอนส่วนหนึ่งของชายคาบ้านออกไปจากที่ดินสาธารณประโยชน์ ก็เป็นการกระทําด้วยเจตนาเดิมที่รับฟังไม่ได้ว่าเป็นความผิดมาตั้งแต่แรก จึงถือไม่ได้ว่าจําเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่นายอําเภอสูงเนินแจ้งว่า เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์แล้ว

จําเลยจึงไม่ได้กระทําความผิดฐานทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ และฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาลงโทษจําเลย ในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ แผนกคดีสิ่งแวดล้อมไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจําเลยข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อจําเลยไม่ได้กระทําความผิดตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว คดีจึงไม่จําต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจําเลยเกี่ยวกับความผิดฐานดังกล่าวอีก เพราะไม่ทําให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

จ้างช่างให้ย้ายแค่รั้ว

คดียังมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และของจําเลย ซึ่งสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกันประการต่อไปว่า จําเลยกระทําความผิดฐานก่อให้ผู้อื่นทําลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอดถอนหลักหมายเขตที่ดินหรือหมุดหลักฐาน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทําไว้เพื่อการแผนที่นั้นไปจากที่เดิม โดยไม่ได้รับอนุญาตตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้น และฐานก่อให้ผู้อื่นทําให้หลักหมายเขตซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย ทําลาย เสื่อมค่า และไร้ประโยชน์ตามฟ้องหรือไม่
 

ทางนําสืบของโจทก์ได้ความว่า จําเลย ครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ที่พลเมือง ใช้ประโยชน์ร่วมกันเนื้อที่ ๒๔๕ ตารางเมตร โดยมีรั้วและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว จําเลย โต้แย้งในความเป็นเจ้าของที่ดินแต่ยอมรื้อถอนรั้วและสิ่งปลูกสร้างออกไป มีนายสุเทพ จันทากับพวกรับจ้างรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและก่อสร้างแนวรั้วให้ใหม่จนถึงชายคาบ้าน มีนายสาธิต ม้อยจังหาร ลูกจ้างของจําเลย ควบคุมการทํางาน หลังจากสร้างรั้วเสร็จนายสาธิตสั่งให้นายสุเทพย้ายหลักหมุดที่ดินหมายเลข ด ๓๑๖๖๑ จากจุด A เข้าไปในจุดที่ทําเสารั้วที่สร้างขึ้นมาใหม่ในจุด B ตามภาพถ่ายหมาย จ.๑๓ ภาพที่ ๓ อยู่ห่างจากจุดที่ปักหลักหมุดเดิมประมาณ ๕๐ เซนติเมตร จําเลยนําสืบว่า จําเลยจ้างให้นายไท ไม่ทราบชื่อตัวและชื่อสกุลจริง ผู้รับเหมาไปสร้างรั้วบ้านพักใหม่ โดยสั่งให้ทําตามแนวขนานบ้านไปตามแนวหลักหมุด หากแนวรั้วทับเกยบันไดให้ย้ายบันไดเข้าไปด้วย ต่อมานายสาธิตโทรศัพท์มาสอบถามว่า สั่งให้ช่างย้ายหลักหมุดด้วยหรือไม่ จํา เลยสั่งให้ย้ายแค่  รั้วบ้านตามแนวเขตเท่านั้น จึงบอกนายสาธิตไปว่าไม่ได้ให้ย้ายหลักหมุด หากช่างย้ายหลักหมุดไปขอให้ย้ายกลับคืน เห็นว่า จําเลยจ้างนายไทผู้รับเหมาให้ไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและก่อสร้างรั้วบ้านพักของตน                                                 

แต่นายไทได้ไปว่าจ้างนายสุเทพและพวกไปทํางานแทน โดยมีนายสาธิตลูกจ้างจําเลยทําหน้าที่พาช่าง ไปชี้แนวเขตและจุดที่จะก่อสร้างรั้ว แม้จําเลยจะสั่งนายไทให้ทํารั้วตรงตามแนวเขตที่ดินตรงตามหลักหมุดในตําแหน่ง A หากแนวรั้วทับเกยบันไดให้ย้ายบันไดด้วยก็ตาม แต่นายไทไม่ได้ไปดําเนินการเอง โดยไปว่าจ้างนายสุเทพและพวกไปย้ายสิ่งปลูกสร้างออกและสร้างรั้วใหม่แทน

ขณะเดียวกันจําเลยไม่ได้ไปควบคุมการทํางานด้วยตนเอง คงมีเพียงนายสาธิตที่ช่วยดูแลให้ความสะดวกในการทํางานแทนเท่านั้น เมื่อนายสุเทพกับพวกไปแสดงตัวขอเข้าไปทํางานกับนายสาธิต นายสาธิตจึงพานายสุเทพกับพวกไปชี้แนวให้ขยับรั้วไปจนถึงชายคาบ้านเท่านั้น โดยนายสาธิตไม่ได้พานายสุเทพกับพวกไปชี้ทํารั้วให้ตรงกับหลักหมุดที่ปักไว้ให้ตรงกับความเป็นจริง หลังจากนายสุเทพสร้างรั้วใหม่เสร็จแล้ว นายสาธิตพบว่ารั้วที่สร้างใหม่ไม่ตรงกับหลักหมุด จึงอาจเป็นนายสาธิตเองที่สั่งให้นายสุเทพย้ายหลักหมุดมาให้ตรงกับแนวรั้วตามที่นายสุเทพเบิกความไว้ นายสุเทพจึงอ้างว่า ขุดย้ายหลักหมุด ดังกล่าวตามคําสั่งของนายสาธิต ส่วนนายสาธิตจะได้รับคําสั่งมาจากจําเลยหรือไม่นั้น พยานโจทก์มีนางรําไพ เลิศครบุรี เบิกความยืนยันว่า นางรําไพเห็นมีการย้ายหลักหมุดจึงสอบถามว่า ย้ายทําไม นายสาธิตตอบว่า “นายสั่ง” ในทํานองว่า จําเลยสั่งให้นายสาธิตย้ายหลักหมุดที่ดินดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่พยานโจทก์ปากนายสาธิตกลับเบิกความว่า เมื่อนางรําไพมาสอบถามว่าใครสั่งให้ย้ายหลักหมุด นายสาธิตตอบนางรําไพว่า “ไม่ทราบ” แล้วรีบโทรศัพท์ติดต่อสอบถามไปยังจําเลยทันที โดยจําเลยตอบกลับมาว่าไม่ได้สั่งให้ช่างย้ายหลักหมุด ถ้าช่างย้ายกันเองให้ย้ายหลักหมุดกลับคืนไปที่เดิม โดยนายสาธิตไม่ได้ตอบนางรําไพไปว่า “นายสั่ง” ตามคําเบิกความของนางรําไพแต่ประการใด

ขณะเดียวกันจําเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดมา โดยนําสืบต่อสู้ว่า จําเลยให้นายไทไปรื้อถอนและสร้างรั้วใหม่ให้เท่านั้น โดยไม่ได้สั่งให้ย้ายหลักหมุดด้วย และขณะที่มีการย้ายหลักหมุดนั้นจําเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ดังนั้น การย้ายหลักหมุดจึงอาจจะเกิดขึ้นนอกเหนือจากเจตนาของจําเลยก็อาจเป็นไปได้ พยานหลักฐานของโจทก์ยังมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังได้อย่างแน่ชัดว่า จําเลยสั่งให้นายสาธิตย้ายหลักหมุดตามฟ้องโจทก์จริงหรือไม่ เห็นสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จําเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง

ไม่ได้ทำลายหลักเขตที่ดิน

สำหรับกรณีที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาลงโทษจําเลยฐานก่อให้ผู้อื่นทําลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอดถอนหลักหมายเขตที่ดิน หรือหมุดหลักฐานซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทําไว้ เพื่อการแผนที่นั้นไปจากที่เดิมโดยไม่ได้รับอนุญาตมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อรับฟังไม่ได้ว่าจําเลยกระทําการอันเป็นความผิดฐานดังกล่าวตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่จําต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จําเลยมีความผิดฐานก่อให้ผู้อื่นทําให้หลักหมายเขตที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย ทําลาย เสื่อมค่า และไร้ประโยชน์ตามฟ้อง ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า เป็นการกระทํากรรมเดียวกันกับความผิดฐาน ดังกล่าวอีกหรือไม่ เพราะไม่ทําให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป   และเมื่อฟังได้ว่าการกระทําของจําเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง จึงไม่อาจบังคับให้จําเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครองตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ อุทธรณ์ของจําเลยข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องทุกข้อหา

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ และฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันตามฟ้องข้อ (ก) และฐานก่อให้ผู้อื่นทําลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอดถอนหลักหมายเขตที่ดินหรือหมุดหลักฐานซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทําไว้เพื่อการแผนที่นั้นไปจากที่เดิมโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้นตามฟ้องข้อ (ข) เสียด้วย

กับยกคําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับให้จําเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น

--------------------------

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๑ วันพุธที่ ๑๙ - วันอังคารที่ ๒๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓


948 1626