29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 28,2020

ค้านทางยกระดับ‘นางรอง’ อ้างผลกระทบมากกว่าผลดี

ตัวแทนชาวอำเภอนางรอง รวมตัวคัดค้านยุติโครงการสำรวจออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๔ ชี้ส่งผลกระทบวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวมากกว่าผลดี ขอให้ผลักด้นการสร้างวงแหวนรอบเมืองแทน

 

ตามที่เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ ตัวแทนประชาชน ผู้ประกอบการ ในพื้นที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ในนาม “กลุ่มชาวนางรองร่วมใจไม่เอาทางยกระดับ” ประมาณ ๒๐ คน ได้รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวถือป้ายเรียกร้องคัดค้าน โครงการสำรวจออกแบบก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๓๔๘ กับทางหลวงหมายเลข ๒๐๓๗ (แยกนางรอง)  แต่อยากให้พิจารณาผลักดันก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง หรือวงแหวนรอบเมืองแทน โดยตัวแทนชาวบ้านผู้ประกอบการที่ออกมาคัดค้าน ให้เหตุผลว่าหากมีการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน  สร้างความเดือดร้อนเสียหายกับพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการ รวมถึงด้านการท่องเที่ยว ศาสนสถาน โบราณวัตถุ และแหล่งโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถเก่าแก่ พระประธานรูปปั้น และศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนางรอง ซึ่งหากมีการก่อสร้างผลกระทบที่เกิดขึ้นจะประมาณค่าความเสียหายไม่ได้  ทั้งจะกระทบทั้งด้านจิตใจ  เศรษฐกิจ และคุณค่าในศิลปะ วัฒนธรรมด้วย 

ทั้งนี้ ตัวแทนประชาชนยังได้ร่วมกันเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนางสาวเพชรรัตน์ ภูมาศ นายอำเภอนางรอง ที่ห้องประชุมชั้น ๒ ที่ว่าการอำเภอนางรอง เพื่อนำข้อเรียกร้องเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาทบทวนยุติโครงการสำรวจก่อสร้างทางแยกต่างระดับดังกล่าวด้วย และขอให้ช่วยผลักดันการสร้างทางเลี่ยงเมือง (วงแหวนรอบเมือง) ในระยะที่เหมาะสม ที่จะสามารถรองรับการขยายความเจริญของเมืองได้ในอนาคต

นายสุรศักดิ์ เพชรสว่าง ตัวแทนประชาชน เปิดเผยว่า วันนี้ชาวอำเภอนางรอง ส่วนใหญ่เห็นว่า จะมีหน่วยงานมาก่อสร้างทางต่างระดับ ซึ่งหากมีถนนต่างระดับขึ้นมา ชาวนางรองจะได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือน วัด โรงเรียนที่อยู่ใกล้ต่างก็ได้รับผลกระทบ พวกเราจึงไม่เห็นด้วย และทำหนังสือยื่นต่อนายอำเภอนางรอง เพื่อให้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบถึงความต้องการของชาวอำเภอนางรอง ซึ่งขณะนี้ทราบว่า มีการจ้างบริษัทเพื่อสำรวจ และใช้งบประมาณกว่า ๑๓ ล้านบาท จึงออกมาคัดค้านเพื่อขอให้ยุติ พวกเราชาวอำเภอนางรองต้องการถนนเลี่ยงเมือง เพราะหากมีถนนแล้วความเจริญก็จะตามมา อย่าให้มากระจุกอยู่เฉพาะในตัวอำเภอนางรอง ต้องการกระจายไปข้างนอกด้วย

ด้านนายสมคิด เอกอนันต์วงศ์ ชาวบ้านอำเภอนางรอง กล่าวว่า หากมีการก่อสร้างทางยกระดับ ความเจริญของเมืองจะไม่ขยายตัว เรื่องจากเส้นทางคมนาคมไม่ขยายตัวออกไปรอบนอกเมือง เศรษฐกิจทรุด และการค้าขายริมถนนทางหลวงหมายเลข ๒๔ ซบเซา เนื่องจากกำลังซื้อจะมีอยู่เฉพาะคนนางรองและอำเภออื่นใกล้เคียงเท่านั้น รายได้ในท้องถิ่นลดลง ทัศนียภาพและภูมิทัศน์จะเสียไปจากโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ จะส่งผลกระทบด้านสังคม เกิดความแตกแยกของประชาชนในอำเภอนางรอง ระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยและกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย จึงต้องการให้มีการทบทวนและพิจารณายุติโครงการสำรวจออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๓๔๘ (แยกนางรอง) และขอให้ช่วยผลักดันการสร้างทางเลี่ยงเมือง (วงแหวนรอบเมือง) ในระยะที่เหมาะสมที่จะสามารถรองรับการขยายความเจริญของเมืองได้ในอนาคต

ขณะที่นางสาวเพชรรัตน์ ภูมาศ นายอำเภอนางรอง กล่าวว่า หลังรับหนังสือจากประชาชน จะนำเรื่องรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ทราบถึงความต้องการของประชาชน เพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ส่วนในขั้นตอนของการสำรวจซึ่งบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการ ก็จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ประมาณเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะให้ประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาการจราจรของอำเภอนางรอง ที่เป็นเส้นทางผ่านไปหลายจังหวัด และมีการจราจรที่คับคั่ง ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาก็ต้องดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และดำเนินการสำรวจไปพร้อมๆ กัน

สำหรับโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๓๔๘ กับทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๓ (แยกนางรอง) กรมทางหลวงจัดเวทีปฐมนิเทศ (สัมมนาครั้งที่ ๑) เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ห้องประชุมโรงแรมพนมรุ้งปุรี อำเภอนางรอง เพื่อนำเสนอความเป็นมา วัตถุประสงค์ พื้นที่ศึกษา ขอบเขตการศึกษา และแนวคิดเบื้องต้นในการพัฒนาโครงการ ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ ตลอดทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ โดยมีผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูล ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการฯ กว่า ๑๐๐ คน 

โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๓๔๘ กับทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๓ (แยกนางรอง) ที่ตั้งโครงการปัจจุบันเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจรซึ่งทางแยกที่มีปริมาณการจราจร หนาแน่นเนื่องจากเป็นแนวเส้นทางการขนส่งสินค้ากรมทางหลวงจึงมีแผนการปรับปรุงบริเวณทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๓๔๘ และทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๓ (สามแยกนางรอง) ให้เป็นทางแยกต่างระดับ ซึ่งการศึกษาและออกแบบดังกล่าว จะช่วยให้การขนส่งสินค้าและการเดินทางมีความสะดวกปลอดภัยและมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ทางหลวงหมายเลข ๒๔ เป็นเส้นทางสายหลักที่ใช้ในการเชื่อมโยงระดับอำเภอเชื่อมอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา  และอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนทางหลวงหมายเลข ๓๔๘ เป็นเส้นทางสำคัญซึ่งเชื่อมโยงจังหวัดสระแก้วกับจังหวัดบุรีรัมย์ ในขณะที่ทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๓ เป็นเส้นทางสายรอง เชื่อมอำเภอนางรองกับอำเภอลำปลายมาศ บริเวณจุดตัดทางหลวงทั้ง ๓ เส้น เป็นจุดเชื่อมโครงข่ายทางหลวงที่สำคัญ สามารถเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข ๒, ทางหลวงหมายเลข ๒๒๖, ทางหลวงหมายเลข ๓๓ และยังเป็นเส้นทางการขนส่งและโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้

สำหรับการจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน จะดำเนินการทั้งหมด ๕ ครั้ง โดยในครั้งที่ ๑ เป็นเพียงการนำเสนอกรอบแนวคิด และขอบเขตการศึกษา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลและร่วมกันให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ให้กรมทางหลวงนำไปใช้ประกอบการศึกษาโครงการให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนมากที่สุด ส่วนในการประชุมครั้งที่ ๒ จะเป็นการประชุมเพื่อชี้แจงและพิจารณารูปแบบโครงการ จากนั้นจะประชุมสรุปผลการพิจารณา ประชุมเพื่อหารือมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุดท้าย คือการผลประชุมสรุปผลการศึกษาของโครงการ

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๒ วันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม - วันอังคารที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


973 1611