29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 12,2020

‘วิเชียร’กระตุ้นกำลังใจครู ต่อสู้ความจริงคดีฟุตซอล เตรียมเสนอ‘ลุงตู่’พิจารณา

ผู้ว่าฯ วิเชียรให้กำลังใจครูโคราช คดีทุจริตสนามฟุตซอล ๒๐๐ ล้านบาท ชี้คดียังไม่สิ้นสุด มีสิทธิ์เรียกร้องความเป็นธรรม เตรียมส่งต่อให้นายกฯ พิจารณา ด้านครูวอนตั้งคณะกรรมการกลางสอบสวนหาข้อเท็จจริง ชี้ในอดีต ป.ป.ช. ก็เคยชี้มูลความผิด ไม่จริง เตรียมหลักฐานให้ทบทวนมติตามมาตรา ๙๙ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 

เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่ห้องประชุมใหญ่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา ดร.ปิยะพัชร์ เดชจรรยา ประธานชมรมคนไม่ทนต่อการทุจริตเปิดโปงอย่างสร้างสรรค์ รักษาและผดุงไว้ซึ่งจริยธรรมคุณธรรมของสังคม พร้อมด้วยนายปฐมฤกษ์ มณีเนตร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๑ (สพป.นม.๑) ในฐานะประธานชมรมพิทักษ์ระบบคุณธรรมและสิทธิครูจังหวัดนครราชสีมา และคณะครู ๕๖ คน ทั้งหมดเป็นอดีตและข้าราชการครูในสังกัด สพป.นม., สพม.๓๑ นม. ซึ่งได้รับผลกระทบจากมติ ป.ป.ช. ตั้งข้อกล่าวหาฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๔ โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประชาชน นักเรียน กว่า ๕๐๐ คน ร่วมรับฟังและสร้างความเข้าใจกรณีโครงการปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอลโรงเรียน) ในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๕๕ ของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มูลความเสียหายประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท 

ผู้ว่าฯ ให้กำลังใจ

นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “วันนี้มาเพื่อให้กำลังใจ และนำข้อเท็จจริงส่งให้ ป.ป.ช.ดูรายละเอียดที่รวบรวมจากคณะครู เข้าใจถึงความรู้สึกในฐานะข้าราชการด้วยกัน จากมติ ป.ป.ช. ไม่ใช่ครูเพียงเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังทำให้ครอบครัวได้รับผลกระทบด้วย อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการต่อสู้ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าคำสั่งออกมา การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจะยากขึ้น ในวันนี้ต้องใช้หลายกระบวนการต่อสู้ เพื่อสะท้อนความจริงให้ ป.ป.ช.เข้าใจ และรับทราบข้อมูลที่เกิดขึ้นว่า ไม่ได้มีเจตนาทุจริต และทำอย่างไรจะอธิบายให้สังคมเข้าใจว่า เราไม่ใช่คนเลว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ยังไม่ได้เห็นรายละเอียดที่ทาง ป.ป.ช. สอบสวนไว้ ซึ่งมีระเบียบขั้นตอนทางกฎหมาย ขณะนี้ได้รับเอกสารจากคณะครู เพื่อนำเรียนถึงนายกรัฐมนตรีรับการพิจารณา ซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นตอนในการเรียกร้องขอความเป็นธรรม ส่วนหนังสือที่ได้ยื่นมารอบก่อนทางจังหวัดได้ส่งต่อไปยัง ป.ป.ช. และนายกรัฐมนตรีแล้ว ในเรื่องการตั้งคณะกรรมการกลางเข้ามาตรวจสอบ ไม่แนใจในเรื่องนี้ เพราะ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย ต้องไปดูว่า องค์กรอื่นหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบได้หรือไม่ ทั้งนี้อันดับแรกคือต้องทำตามข้อกฎหมายตาม ป.ป.ช.ก่อน ในส่วนของจังหวัดไม่ได้มีสิทธิ์ตั้งคณะกรรมการเพื่อเปลี่ยนโทษต่างๆ หรือตัดสิน อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่คำสั่งยังไม่ออกหรือคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเสนอข้อมูลและข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมได้”

ดร.ปิยะพัชร์ เดชจรรยา (อาจารย์ปู่) กล่าวว่า “การที่บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และประชาชนจะมารวมตัวกันจำนวนมากขนาดนี้ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เว้นแต่จะมีอุดมการณ์และความเห็นเดียวกัน ทั้งนี้ตามที่ได้ยื่นเอกสารต่อหน่วยงานต่างๆ เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๓ ได้รับหนังสือจากกองทัพแจ้งว่า ได้ประสานไปยัง ป.ป.ช. สอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และได้พิจารณาทบทวนมติตามมาตรา ๙๙ พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ภายใน ๓๐ วัน หากมีข้อมูลหลักฐานใหม่ ในส่วนของครู ๕๘ คน ในส่วนที่ถูกไล่ออกไปแล้ว ๗ คน อยู่ในกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย ในส่วนจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ยื่นหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีเสียงสะท้อนถึงความเห็นใจมาถึงคณะครู และเมื่อเช้าวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๓ มีเสียงตอบรับว่าได้ดูแลเรื่องนี้เป็นอย่างดีแล้ว และจะได้ข้อยุติในเร็ววันนี้ ขอให้คณะครูและผู้ที่เกี่ยวข้อง ไปยื่นหนังสือข้อมูลล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาล และจะรับพิจารณาโดยเร็วอีกครั้ง” 

กรณีศึกษา ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

“ทั้งนี้ ตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย หากมีคำสั่งไล่ออก กว่าจะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมาต้องใช้เวลายาวนาน ทั้งนี้เคยมีกรณีศึกษาผู้ได้รับผลกระทบจากการชี้มูลความผิดที่ผิดพลาดของ ป.ป.ช. มาแล้วในอดีต ในกรณีของอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลําปาง มีกรณีถูกกล่าวหาว่า ได้พิจารณาอนุมัติก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ๔ แห่ง โดยยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ เป็นเหตุให้ ป.ป.ช.เข้ามาไต่สวนข้อเท็จจริง วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ ลาออกจากราชการขณะดํารงตําแหน่ง ผวจ.ลําพูน วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๗ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานกระทําการอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง วันที่๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทยมีมติให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ ตามการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ กระทรวงมหาดไทยมีคําสั่งไล่ออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ (วันที่ลาออกจากราชการ) วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมวินิจฉัยยกอุทธรณ์ จึงได้นําเรื่องเข้าสู่กระบวนการของศาลปกครอง วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๓ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนคําสั่งไล่ออกจากราชการ รวมระยะเวลาที่ใช้ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมกว่าที่จะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา นับตั้งแต่วันที่ถูกไล่ออกจากราชการ วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ ถึงวันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคําพิพากษาให้เพิกถอน คําสั่งไล่ออกจากราชการ วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๓ เป็นเวลาทั้งสิ้น ๙ ปี ๑๑ เดือน ๒๓ วัน” ดร.ปิยะพัชร์ กล่าว

เปิดไทม์ไลน์คดีสนามฟุตซอล

จากนั้นมีการเสวนาสร้างความเข้าใจในกรณีโครงการปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอล) โดยนายปฐมฤกษ์ มณีเนตร ประธานชมรมฯ เปิดเผยถึงความเป็นมาในการทวงความยุติธรรมว่า “ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ สพฐ.ได้จัดสรร งบประมาณรายจ่ายเป็นงบประมาณปี งบแปรญัตติให้แก่โรงเรียนต่างๆ ในหลายพื้นที่การศึกษา เพื่อก่อสร้างปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ การดําเนินการต่างๆ เป็นไปตามกลไกระบบราชการตามปกติ สพฐ.จัดสรรไปยัง สพท. จัดสรรต่อไปยังโรงเรียน พร้อมโรงเรียนดําเนินการจัดหาผู้รับจ้างตามวิธีการที่ราชการกําหนด เมื่อผู้รับจ้างดําเนินการแล้วเสร็จก็ส่งมอบงานให้โรงเรียน จากนั้นโรงเรียนขออนุมัติเบิกจ่ายเงินมายัง สพท. เมื่อดูว่าโรงเรียนรับมอบงานถูกต้องแล้ว สพท.อนุมัติการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้าง เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการดําเนินการ ทั้งนี้ข้อเท็จจริงตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นงบประมาณที่เกิดจากการผลักดันของนักการเมืองคนสําคัญคนหนึ่ง ซึ่ง ป.ป.ช.ได้พิจารณาสํานวนการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ได้วินิจฉัยและมีมติชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และส่งเรื่องมายังเลขาธิการ กพฐ. เมื่อ สพฐ.ได้รับเรื่องจาก ป.ป.ช. แล้วพิจารณาดําเนินการออกคําสั่งไล่ออกจากราชการของบุคลากรทางการศึกษา ๘ ราย และจะมีคําสั่งไล่ออกจากราชการตามมาอีก ๕๖ ราย ในสังกัด สพม. เขต ๓๑ นครราชสีมา และ สพป.นครราชสีมา เขต ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ และเขต ๗”

“เมื่อบุคลากรทางการศึกษาระดับสูง ผู้อํานวยการเขตพื้นที่ฯ ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน พิจารณาทุกอย่างแล้วเห็นว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคําสั่งดังกล่าว จึงต่อสู้ดิ้นรนทุกอย่างซึ่งเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ต่อมาบุคลากรทางการศึกษาที่ถูกคําสั่งไล่ออกและที่กําลังจะถูกไล่ออก ได้รวมตัวกันต่อสู้เรื่องนี้ โดยได้ประสานกับชมรมคนไม่ทนต่อการทุจริตฯ ปรึกษาในการขับเคลื่อน ต่อมาเมื่อวันอังคารที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ ทั้งบุคลากรของชมรมคนไม่ทนต่อการทุจริต และบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา ได้ประชุมร่วมกัน ซึ่งได้ข้อยุติว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาจะต่อสู้ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะขอเรียกร้องเกียรติยศและศักดิ์ศรีของครูกลับคืนมา เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ชมรมพิทักษ์ระบบคุณธรรมและสิทธิครู ทั้งนี้ขอเรียกร้องผู้เกี่ยวข้อง โปรดพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเหมือนคดีบอส อยู่วิทยา และเปิดเผยให้สังคม ประชาชน ผู้เสียภาษีทั่วประเทศได้ทราบความจริง และหาตัวผู้กระทําความผิดที่แท้จริงมาลงโทษ จะเป็นคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อสังคม ต่อแผ่นดิน อย่างมากมายมหาศาล” ประธานชมรมฯ กล่าว

อดีต ผอ.ชี้ข้อผิดพลาด

ดร.ชูเกียรติ วิเศษเสนา อดีต ผอ.สพม.๓๑ นม. กล่าวว่า “ความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ของ สพฐ. เมื่อรับเอกสารการชี้มูลฯ จาก ป.ป.ช.แล้ว สั่งลงโทษไล่ออกตามการชี้มูลฯ ทันที โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กล่าวคือ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. มาตรา ๙๑ ปัญหาคือ ผู้บังคับบัญชากลัวว่าถ้าไม่สั่งลงโทษ ตนเองก็จะมีความผิดตามมาตรา ๑๐๐ ซึ่งไม่น่าจะกลัวเพราะว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้า ป.ป.ช.ไม่เห็นด้วยที่ไม่สั่งลงโทษ เขาก็เสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย นายกรัฐมนตรีก็จะต้องส่งไปขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากนั้น เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่ายังอย่างไร นายกรัฐมนตรีก็จะสั่งการให้ทําตามนั้น ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้ว่า ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการนั้น จะต้องมีองค์ประกอบในการทําความผิด ๓ ประการคือ ๑.ผู้กระทํามีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏิบัติ หากผู้กระทําไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ จะไม่มีความผิดฐานนี้ ๒.ผู้กระทําได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ ซึ่งหมายถึง มีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏิบัติแต่ไม่ปฏิบัติ หรืองดเว้นไม่กระทําตามหน้าที่โดยจงใจหรือเจตนาไม่ปฏิบัติ และ ๓.ผู้กระทํามีเจตนากระทําการหรือละเว้นกระทําการในหน้าที่ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ซึ่งหมายถึง ประโยชน์ที่ไม่มีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะได้รับ ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.แล้วจะเห็นได้ว่า ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงทําให้เกิดความผิดพลาดในการชี้มูลความผิดว่า คุณครูเป็นผู้ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ โดยขาดการพิจารณา วินิจฉัยข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ได้พิจารณาอย่างเที่ยงธรรมถึงเจตนาแห่งการกระทําที่เป็นองค์ประกอบสําคัญ ของความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงเป็นความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ” 

“การวินิจฉัยชี้มูลความผิดในมุมมอง ป.ป.ช. นั้น บุคลากรทางการศึกษาผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ เพียงเพราะว่า โรงเรียนจัดทําเอกสารตามแผ่นซีดีที่ได้รับแจกจากผู้ประสานงานของนักการเมือง เพื่อขออนุมัติการจัดสรรงบประมาณ จากสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา จัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ ไปตามขั้นตอนที่ได้รับการชี้แจงและแนะนํา จากผู้ประสานงาน โรงเรียนรับมอบ ส่งมอบหลักฐานการตรวจรับงาน เพื่อให้สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาอนุมัติเบิกจ่ายเงิน โดยไม่รู้ว่าจะเกิดความเสียหายตามมา” ดร.ชูเกียรติ กล่าว 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๔ วันอังคารที่ ๙ - วันพุธที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

976 1579