20thApril

20thApril

20thApril

 

September 16,2020

ปลดล็อกกัญชาไทยในรอบ ๔๐ ปี หวังเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต

“กัญชา” บ้างเชื่อว่ามันช่วยให้ผ่อนคลาย ทำให้อารมณ์ดี ยิ้มและหัวเราะได้ บ้างเชื่อว่ามันอันตรายเป็นยาเสพติด ทำให้ประสาทหลอนและคลุ้มคลั่ง จนเวลาล่วงเลยผ่านหลายทศวรรษ หลายประเทศออกกฎหมายให้ใช้ได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะใช้ทางสันทนาการเพื่อความรื่นเริง เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงใช้ทางการแพทย์ในการรักษาโรคต่างๆ เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่ได้ผ่อนปรนข้อกฎหมาย ให้ปลูกกัญชาสำหรับการวิจัยเพื่อใช้ทางการแพทย์ได้ หลังจากกัญชา หรือเฮมพ์ (Hemp) พืชในตระกูลกัญชง ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ 

กว่า ๔๐ ปี กัญชาได้กลับมาเป็นกระแสในสังคมไทยอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจากนโยบายใช้หาเสียงของพรรคการเมือง ทั้งนโยบายกัญชาเสรี การปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ หรือแม้แต่การให้ปลูกกัญชาบ้านละ ๖ ต้น มาจนถึงการผ่อนปรนกฎหมายจากภาครัฐในปัจจุบันที่ให้มหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ปลูกเพื่อใช้ทางการแพทย์ได้ “โคราชคนอีสาน” ฉบับพิเศษ จะพาไปพูดคุยกับ ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร.นันทกร บุญเกิดนักวิจัยหลัก โครงการผลิตกัญชาคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ถึงทิศทางกัญชาในประเทศไทยว่า เดินทางอยู่ตรงจุดไหนหลังจากมีการผ่อนปรนกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของงานวิจัย การปลูกเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจ ความต้องการของตลาด ไปจนถึงการใช้ในเชิงสันทนาการเพื่อความรื่นเริง

จุดเริ่มต้นงานวิจัยกัญชา 

ดร.นันทกร เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานวิจัยว่า หลังจากรัฐบาลออกระเบียบผ่อนปรนกฎหมายให้ทำการวิจัยกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ได้ปรึกษาอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ซึ่งกรมฯ มีความต้องการกัญชาสดสายพันธุ์ไทย ประมาณ ๒ ตันสดเพื่อใช้ในการทำยา จึงเสนอของบประมาณการสร้างโรงปลูกกัญชาแบบปิด จาก มทส. และได้รับอนุมัติจากอธิการบดี ให้ปลูกกัญชาในพื้นที่ ๒ ไร่ โดยระหว่างนี้มีการศึกษาวิจัยไปในบางส่วน แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนักเพราะเพิ่งเริ่มต้น และเน้นการปลูกเพื่อส่งให้กรมการแพทย์แผนไทยก่อน ทั้งนี้ประเทศไทยมีการรักษาโรคโดยใช้กัญชาแบบใต้ดินมาก่อนจำนวนมาก มีกลุ่มทดลองทำการรักษาที่โรงพยาบาลใน สปป.ลาว ยกตัวอย่างผู้ป่วยโรคมะเร็งมีค่ารักษาแพงเป็นหลักล้าน หากใช้กัญชาจะรักษาในราคาถูกกว่า มีการบันทึกการรักษาว่าสามารถหายจริงในหลายโรค ทั้งผื่นคัน พาร์กินสัน มะเร็ง รวมถึงการให้คีโมหรือการฉีดมอร์ฟีนที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดและทรมาน แต่เมื่อใช้กัญชาจะบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ ทั้งนี้กฎหมายของประเทศไทยกำลังค่อยๆ เปิด และจะมีการแก้ไขกฎหมาย เมื่อมีผลงานวิจัยต่างๆ ที่ชี้ได้ถึงประโยชน์ของกัญชาอย่างต่อเนื่อง 

กัญชากับสังคมไทยในอดีตมีประวัติมายาวนาน ชาวบ้านแต่ละท้องถิ่นใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร เพื่อเพิ่มรสชาติอาหารให้ดียิ่งขึ้นสามารถใช้แทนผงชูรสได้ รวมถึงการนำมาใช้ในตำรับยาหมอพื้นบ้าน อยู่ในตำราสมุนไพร แต่เนื่องจากมีกฎหมายควบคุม ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถปลูกเพื่อนำมาใช้ได้ งานวิจัยในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะนำกัญชามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในอนาคต ซึ่งกัญชาสามารถใช้ได้ทุกส่วนตั้งแต่ ราก ลำต้น กิ่ง ใบ และดอก ในการทำยาแผนไทย ๑๖ ตำรับ ซึ่งแต่ละตำรับจะใช้ส่วนที่แตกต่างกัน และเป็นยาที่ใช้ในการรักษาหลากหลาย เช่นนำเป็นยาเพื่อช่วยเรื่องการนอนให้ผู้ป่วยหลับง่ายขึ้น นำไปใช้ในโรงพยาบาลจิตเวช ทั้งนี้กัญชาสายพันธุ์ไทยมีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์หางกระรอก สายพันธุ์ฝอยทองภูผายล สกลนคร สายพันธุ์สุขไสยาสน์ เป็นต้น ในอนาคตจะมีการศึกษาวิจัยในสายพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย แยกพันธุกรรมของแต่ละสายพันธุ์ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูล และค่า CBD (สารสำคัญ) THC (สารเมา) ว่ามีปริมาณเท่าไหร่ เพื่อประโยชน์ในการนำมาใช้

กัญชาสายพันธุ์ไทย

หลังจากนำต้นกล้ากัญชาพันธุ์ฝอยทองภูผายล สกลนคร มาเพาะปลูกในโรงเรือนแบบปิดเป็นระยะเวลาประมาณ ๘ สัปดาห์ มทส.สามารถเก็บเกี่ยวใบกัญชาที่สมบูรณ์ในรอบแรกได้กว่า ๑ พันกิโลกรัม ทั้งนี้ด้วยสภาพดินฟ้าอากาศและภูมิประเทศ รวมถึงสายพันธุ์กัญชาในประเทศไทยที่มีพร้อมอยู่แล้ว บวกกับพื้นฐานประชาชนในประเทศส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม หากได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะสามารถส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกเป็นรายได้หลักหรือรายได้เสริม รวมถึงปลูกสลับหมุนเวียนกับพืชไร่อื่นๆ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกพืชเดิม เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในการแก้ไขกฎหมายในอนาคต

สายพันธุ์กัญชาไทยสามารถเพาะปลูกได้ทุกภาคตั้งแต่เหนือจรดใต้ ภาคใต้มีสายพันธุ์ตะนาวศรี ภาคเหนือมีสายพันธุ์ที่ทางโครงการหลวงได้ทำการเพาะปลูก และพันธุ์ท้องถิ่นอื่นๆ กระจายไปทั่วประเทศ หรือหากนำเข้าสายพันธุ์จากต่างประเทศที่ผ่านการวิจัย นำมาผสมกับสายพันธุ์ไทยเพื่อให้ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้ ซึ่งสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทยสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ในต่างประเทศแม้กลางวันจะมีแสงประมาณ ๑๖ ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลดีในการ เจริญเติบโตของกัญชา แต่สามารถปลูกได้เพียงฤดูร้อนเท่านั้น หากจะปลูกทั้งปีหรือในช่วงฤดูหนาวจำเป็นต้องปลูกในโรงเรือนซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องการเพาะปลูกและต้นทุน อย่างเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง หรือพืชไร่อื่นๆ สามารถปลูกกัญชาสลับหมุนเวียน หากได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

กัญชากับพืชเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการของตลาดสูงมากในต่างประเทศ จากรายงานเมื่อ ปี ๒๕๖๒ โดย Prohibition Partners ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ชั้นนำระดับโลก ระบุว่า ตลาดกัญชาทางการแพทย์ในเอเชียจะมีมูลค่าราว ๕.๘ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ๒๕๖๗ และมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอีก ๔ เท่าภายในปี ๒๕๗๐ หากประเทศสำคัญๆ ในเอเชียอนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

กัญชามีความต้องการสูงมากในตลาดโลก นอกจากใช้ทางการแพทย์ยังมีการใช้ด้านสันทนาการ ด้านความรื่นเริง ใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร เป็นส่วนผสมของเครื่องดื่ม และอื่นๆ อีกหลากหลาย แม้แต่น้ำดื่มยังมีแบรนด์ที่ใช้สารสกัด CBD เป็นส่วนผสม ช่วยในการรักษาโรคและทำให้ผ่อนคลายเพิ่มมูลค่าราคาให้สินค้า ๓-๔ เท่าได้ รวมถึงการนำกัญชาเข้าไปเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ เพื่อช่วยให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น เนื้อดีขึ้น เพราะว่าสาร CBD จะช่วยให้สัตว์รู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับสบาย ไม่เกิดความตระหนก รวมถึงใช้ในการรักษาโรคให้สัตว์อีกด้วย หากข้อกฎหมายสามารถผ่อนคลายให้ปลูกได้ กัญชาน่าจะเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรและประเทศ เพราะมีความต้องการของตลาดต่างประเทศสูง สามารถปลูกในต้นทุนที่ต่ำกว่าต่างประเทศ รวมถึงสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทย สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี

กัญชาเชิงสันทนาการ 

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มที่ฝันถึงการใช้ทางสันทนาการหรือใช้เพื่อความรื่นเริง เปรียบเสมือนดั่งเมืองอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงประเทศเนเธอแลนด์ ที่สามารถพกพากัญชาได้ไม่เกิน ๕ กรัม ต่อคน มีสถานบันเทิงให้บริการเข้าไปสูบกัญชาเพื่อความรื่นรมโดยไม่ผิดกฎหมาย และเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวสายเขียวทั่วโลกต้องการไปเยือนสักครั้ง ยังคงต้อรอคอยกันต่อไป เพราะในประเทศยังคงให้ใช้เพื่อทางการแพทย์เท่านั้น 

การใช้กัญชาในเชิงสันทนาการในประเทศต้องอยู่ในช่วงอีกระยะหนึ่ง เพราะตอนนี้ยังอยู่ในส่วนของงานวิจัย รวมทั้งความเข้าใจในสังคม อาจจะยังไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน หากทำการใช้กัญชาตัวที่มีสาร TSC เยอะ อาจจะมีการออกฤทธิ์ที่รุนแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ อีกทั้งบางตัวมีการออกฤทธิ์ช้าซึ่งจะออกอาการหลังสูบหลายชั่วโมง หากต้องขับรถอาจเป็นอันตรายได้ เพราะจะทำให้ซึมหรือง่วง การจะใช้เพื่อสันทนาการและความรื่นเริง จึงต้องมีมาตรฐานการควบคุมอย่างชัดเจน ทั้งผู้ใช้และบริษัทผู้ผลิต ยกตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการเปิดอย่างเสรี จะมีการกำหนดอย่างชัดเจนในผลิตภัณฑ์กัญชาแต่ละประเภท ว่ามีสาร THC และสาร CBD ปริมาณเท่าไรกำกับไว้ และออกฤทธิ์ต่อร่างกายอย่างไร ทั้งการใช้เพื่อสันทนาการหรือในเครื่องดื่มอาหาร ทั้งนี้ในเรื่องความเชื่อที่ว่าสูบแล้วทำให้ผ่อนคลายอารมณ์ดี ในส่วนนี้เป็นเรื่องของงานวิจัยที่จะบ่งชี้ได้ว่า กัญชาที่สูบไปนั้นมีสารแต่ละชนิดมากน้อยอย่างไร ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยสำหรับกัญชาสายพันธุ์ไทย

ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร.นันทกร บุญเกิดจบการศึกษาด้านจุลินทรีย์ดิน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี ๒๕๐๙ เริ่มต้นเข้าทำงานที่กรมวิชาการเกษตร ในด้านงานวิจัยดินและปุ๋ย ลงพื้นที่ทำงานทดลองร่วมกับเกษตรกรทั่วประเทศ จากนั้นได้ทำการศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ คอลเลจพาร์ก สหรัฐอเมริกา จบการศึกษาปี ๒๕๑๕ ด้านจุลินทรีย์ดินการเกษตร ก่อนกลับไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ที่มหาวิทยาลัยเทกซัสเอแอนด์เอ็ม สำเร็จการศึกษาปี ๒๕๒๔ ทางด้านเทคโลยีชีวภาพด้านการเกษตรดินและปุ๋ย เป็นผู้เชี่ยวชาญการผลิตปุ๋ยชีวภาพ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และการผลิตองุ่นและไวน์ 

เข้ามาทำงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในช่วงปี ๒๕๓๖ ในตำแหน่งนักวิจัยทางด้านสาขาเทคโนโลยีด้านการเกษตร รับผิดชอบในสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นหัวหน้าสถาบันวิจัยของสำนักวิชา ก่อนเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาจนกระทั่งเกษียณอายุ และได้รับการต่ออายุจากทางมหาวิทยาลัย หลังจากรัฐบาลได้ทำการผ่อนปนข้อกฎหมายการปลูกกัญชา โดยให้ทางมหาวิทยาลัยสามารถปลูกเพื่องานวิจัยทางการแพทย์ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานวิจัยโครงการกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ถึงปัจจุบัน

ภูมิวสันต์ สุวรรณรัตน์ / เขียน

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๔ วันอังคารที่ ๙ - วันพุธที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

714 1345