29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 14,2020

‘อนุทิน’อนุมัติ ๖๓๗ ล้าน ยกระดับ‘๓๐ บ.รักษาทุกที่’ ‘นครชัยบุรินทร์’นำร่อง

ประชุมผู้บริหาร สธ.กับเขตสุขภาพที่ ๙ ‘นครชัยบุรินทร์’ ตั้งเป้ายกระดับบริการผู้ป่วย โดยเฉพาะ ‘๓๐ บาทรักษาได้ทุกที่’ ด้าน ‘เสี่ยหนู’ อนุมัติงบประมาณ ๖๓๗ ล้านบาท เพื่อวงการแพทย์ไทย ปรับโฉมโรงพยาบาลในชุมชนให้ทันสมัย หวังสร้างความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่

เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสวนหม่อน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมสรุปผลการระดมความคิดและนำเสนอการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษด้านสุขภาพ เขตสุขภาพที่ ๙ โดยมีนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ ผู้แทนผู้บริการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลผู้อำนวยการศูนย์วิชาการ ผู้แทนเขตสุขภาพที่ ๙ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติในเขตที่ ๙ และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม กว่า ๓๕๖ คน 

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงานว่า “จังหวัดนครราชสีมามีประชากรทั้งสิ้น ๒,๖๔๖,๔๐๑ คน แบ่งการปกครองออกเป็น ๓๒ อำเภอ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าปลีกค้าส่ง รวมทั้งการบริการและอื่นๆ สำหรับหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย โรงพยาบาลศูนย์ ๑ แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป ๒ แห่ง โรงพยาบาลชุมชน ๓๐ แห่ง โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย ๑ แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม ๒ แห่ง โรงพยาบาลเฉพาะโรค ๒ แห่ง โรงพยาบาลเอกชน ๘ แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ๓๔๗ แห่ง”

จัดระบบสวัสดิการสุขภาพ

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “การประชุมสรุปผลการระดมความคิดและนำเสนอเป็นการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษด้านสุขภาพเขตสุขภาพที่ ๙ จัดขึ้นตามนโยบายที่สำคัญ เนื่องด้วยกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการจัดระบบสวัสดิการสุขภาพของประชาชนให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึง ครอบคลุมและมีคุณภาพในทุกพื้นที่ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้รับสุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาว ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ปราศจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งด้านความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ที่อยู่อาศัย ความเป็นสังคมรวม การเดินทางที่รวดเร็ว การประกอบอาชีพที่หลากหลาย รวมทั้งการมีชาวต่างประเทศเข้ามาอาศัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการดูแลสุขภาพของประชาชนในระดับพื้นที่ ประกอบด้วยหน่วยงาน ระบบองค์กรหลากหลาย เช่น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาคอื่นๆ และหน่วยงานภาคเอกชน รวมทั้งองค์กรภาคประชาชน การมีบทบาทในการดูแลสุขภาพประชาชนทั้งด้านการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการที่จะประสานให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน เนื่องจากในแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกัน ไม่สามารถใช้ระบบแบบพื้นที่ทั่วไปได้ อีกทั้งการบริหารของบุคลากร ระบบการดำเนินการ ซึ่งต้องอาศัยกลไกในการขับเคลื่อนเฉพาะบางพื้นที่ จึงให้กำหนดเขตพัฒนาพิเศษด้านสุขภาพขึ้น เพื่อสร้างกลไกในการบริหารรองรับสำหรับพื้นที่ ฉบับพิเศษด้านสุขภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่เป็นมาตรฐาน และเป็นธรรม ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น เพื่อให้มีการพัฒนาและการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขในเขตพื้นที่ด้านสุขภาพพิเศษมีกรอบและแนวทางที่ชัดเจน เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ สามารถตอบสนองต่อปัญหาให้ตรงจุด และส่งเสริมการรับสมัครหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถสนับสนุนขับเคลื่อนและพัฒนางาน บริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพไปในทิศทางเดียวกันของเขตสุขภาพที่ ๙ จึงจัดประชุมสรุปผลการระดมความคิดและจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษด้านสุขภาพในเขตสุขภาพที่ ๙ ขึ้น”

สรุปผลการระดมความคิด

ต่อมา นพ.รักเกียรติ ประสงค์ดี รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลบุรีรัมย์ และ พญ.สิรินรัตน์ แสงศิริลักษณ์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสุรินทร์ เป็นวิทยากรบรรยายสรุปผลการระดมความคิดและนำเสนอการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษด้านสุขภาพ เขตสุขภาพที่ ๙ ซึ่งมีรายละเอียดว่า แผนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษด้านสุขภาพ ประกอบด้วย ๑.ระบบบริการระดับปฐมภูมิ เน้นการจัดบริการตามนโยบาย ๓ หมอ พัฒนาการจัดบริการของหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ (Super รพ.สต. /Super PCC เขตเมือง) และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทีมหมอครอบครัว ๒.ระบบบริการระดับทุติยภูมิ เพิ่มเตียง Intermediate Care พัฒนาระบบ ER, EMS และ Ambulance ให้มีคุณภาพ ปรับโฉมโรงพยาบาลชุมชนให้เป็น Smart Hospital และยกระดับการบริการในโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย ๓.ระบบบริการระดับตติยภูมิ ลดความแออัด ยกระดับการบริการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ๔.ระบบเทคโนโลยี ระบบ Tele Medicine และเชื่อมฐานข้อมูล อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) เพื่อรองรับนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกที่ มีระบบ TeleHealth สนับสนุนการดูแลสุขภาพประชาชนทางไกลในชุมชน และระบบ R9Health Buddy Application สนับสนุนการเข้าถึงชุดข้อมูลสุขภาพของประชาชน โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชน (ID Card) ๕.บุคลากร ผลิตบุคลากรด้านกัญชาทางการแพทย์ ผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และศูนย์แพทยศาสตรศึกษา ๔ จังหวัด สามารถผลิตบุคลากร ทางการแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ และ ๖.การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ เพิ่มผลิตผลทางการเกษตรเพื่ออาหารปลอดภัย แหล่งผลิตกัญชาทางการแพทย์ การผลิตไพล/ขมิ้นชัน ต่อยอดนวัตกรรม สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และสร้าง Wellness Center ระดับจังหวัด

ยกระดับวงการแพทย์ไทย

สำหรับแผนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษด้านสุขภาพ ตั้งเป้ายกระดับการให้บริการ ดังนี้ ๑.บริการปฐมภูมิ มีขั้นตอนการทำงานโดยนโยบาย ๓ หมอ หรือการที่ผู้ป่วยติดเตียงได้รับบริการอย่างเป็นรูปธรรม จะดำเนินการภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ไตรมาส ๑-๒ ซึ่งพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิ Super รพ.สต. และ Super PCC เขตเมือง ดำเนินการภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ไตรมาสที่ ๓-๔ และท้ายสุดโครงการเพิ่มความเข้มแข็ง Family Care Team ดำเนินการในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ โดยโครงการ Super รพ.สต. ตั้งเป้าปรับโฉมให้เป็นศูนย์การแพทย์และสาธารณสุขตำบล (ศสต.) พร้อมยกระดับการให้บริการ อาทิ ER ช่วยชีวิต ทันตแพทย์ และกายภาพบำบัด และ Observe ward ๕-๑๐ เตียง 

๒.บริการด้านทุติยภูมิ จะมีการเพิ่มเตียง Intermediate Care เป็น ๕๐๐ เตียง เพื่อลดความแออัด รพศ. และรพท. ดำเนินการภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ไตรมาส ๑-๒ ปรับโฉม รพช. ให้เป็นโรงพยาบาลทันสมัย (Modern and Smart Hospital) ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ไตรมาสที่ ๓-๔ และยกระดับบริการใน รพช.Node ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ 

๓.บริการตติยภูมิ ลดแออัด Central Lab โดยให้รับยาที่ร้านขายยาได้ และส่งยาผู้ป่วย NCD ทางไปรษณีย์ ส่วนโรงพยาบาลนอกสังกัด สธ. มีระบบ IPD (เตียงสำรอง) โดยดำเนินการภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ไตรมาส ๑-๒ ยกระดับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยดำเนินการภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ไตรมาส ๓-๔ และยกระดับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เทียบเท่าโรงพยาบาลคณะแพทย์ และยกระดับ โรงพยาบาลชัยภูมิ ให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕

๔.ด้านไอที ปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ไตรมาส ๑-๒ ตั้งเป้าใช้ระบบ Tele Medicine (โทรเวชกรรม) นำร่องจังหวัดบุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยใช้งบประมาณจาก กสทช. เชื่อมฐานข้อมูล อสม. รพ.สต. รพช. รพท. และรพศ. เพื่อรองรับ ๓๐ บาทรักษาทุกที่ ส่วนไตรมาส ๓-๔ พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสนับสนุนการดูแลสุขภาพประชาชนทางไกลในชุมชน (TeleHealth) และในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ สร้าง R9Health Buddy Application สนับสนุนการเข้าถึงชุดข้อมูลสุขภาพประชาชน โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชน (ID Card) 

๕.ด้าน HR ปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ไตรมาส ๑-๒ ตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้านกัญชาทางการแพทย์ อาทิ ทีมแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย พยาบาลวิชาชีพ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยไตรมาส ๓-๔ ตั้งเป้าผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Fammed) โดยศูนย์แพทยศาสตรศึกษา ชั้นคลินิก ๔ จังหวัด พร้อมอบรมทีมระบาดวิทยาระยะสั้น (FEMT) ระดับเขต และในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ศูนย์แพทย์ฯ ๔ จังหวัด สามารถผลิตบุคลากรเฉพาะทางให้สอดคล้องกับบริบทเขตสุขภาพ

และ ๖.การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ โดยปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ไตรมาส ๑-๒ ตั้งเป้าให้มีอาหารปลอดภัย แหล่งปลูกของเกษตรกร เพิ่มงบการตรวจสารปนเปื้อน (Test Kit) เพิ่มการผลิตไพล/ขมิ้นชัน และสร้างแหล่งผลิตกัญชาทางการแพทย์แผน ปัจจุบันตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ โดยไตรมาส ๓-๔ ตั้งศูนย์สุขภาพระดับจังหวัด และในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ตั้งเป้า ต่อยอดนวัตกรรมสุขภาพสมุนไพร

ขออนุมัติงบ ๖๓๗ ล้านบาท

โดยตั้งงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบบริการ ซึ่งมีงบลงทุน ดังนี้ ๑.Super รพ.สต. สร้างอาคารบริการ แห่งละ ๒ ล้านบาท จำนวน ๘๘ แห่ง รวม ๑๗๖ ล้านบาท ซื้อครุภัณฑ์ แห่งละ ๔๐๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๘๘ แห่ง รวม ๓๕.๒ ล้านบาท ๒.PCC เขตเมือง สร้างอาคาร Smart PCC แห่งละ ๔๔ ล้านบาท จำนวน ๔ แห่ง รวม ๑๗๖ ล้านบาท โรงพยาบาลปากช่อง ๑๐ ล้านบาท รวม ๑๐ ล้านบาท ๓.โรงพยาบาลชุมชน Modern and Smart hospital แห่งละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๘๐ แห่ง รวม ๔๐ ล้านบาท และ ๔.โรงพยาบาลศูนย์ สนับสนุนใช้ Robotic surgery (หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด) งบประมาณ ๑๕๐ ล้านบาท สนับสนุน Intervention neuro medicine center (ศูนย์การแพทย์ระบบประสาท) งบประมาณ ๕๐ ล้านบาท รวมทั้งโครงการ ๖๓๗.๒ ล้านบาท โดยคาดว่า ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากนโยบาย ๓ หมอ และความเข้มแข็งของทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ประชาชนมีความพึงพอใจในการเข้าถึงบริการที่รวดเร็ว และทันสมัย ลดการส่งต่อออกนอกเขต โครงการ ๓๐ บาท รักษาทุกที่ มีข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยบริการทุกระดับ ด้วย IT ที่ทันสมัย ทำให้ประชาชนสะดวกและปลอดภัย เกษตรกรที่ผลิตวัตถุดิบให้แก่โรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ ๙ และเกษตรกรที่ผลิตสมุนไพร กัญชา และกัญชง มีรายได้ปีละ ๘๐–๑๐๐ ล้านบาท

เลือกเขตสุขภาพที่ ๙ นำร่อง

จากนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “สาเหตุที่เลือกเขต ๙ เป็นเขตพิเศษ เนื่องจากเป็นเขตที่คุ้นเคยและต้องการเป็นตัวอย่างที่ดี ในการนำร่องเพื่อเขตอื่นๆ หลักนโยบายง่ายๆ ที่ทำหลังจากได้รับตำแหน่ง เป็นการต่อยอดในสิ่งที่ทำไว้ให้มีประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่า ระบบสาธารณสุขมีฐานรากที่ดี ในขณะที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-๑๙ ที่ท้าทายความสามารถ ช่วงแรกมองว่า ๑-๒ เดือนอาจจะหายไป แต่ปรากฎว่ายิ่งทวีความรุนแรงอยู่รอบตัวเรา และคุกคามทั่วโลก แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่รองรับต่อสถานการณ์โควิค-๑๙ เป็นที่ยอมรับ เป็นเรื่องที่ดีในการทำงานร่วมกัน ทำให้ควบคุมสถานการณ์ การป้องกันและรักษาเป็นอย่างดี”

ตั้งใจทำ W.O.W ให้สำเร็จ

“ภารกิจหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข คือ การจัดทำ W.O.W ให้สำเร็จให้ได้ โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขสามารถพูดแล้วสังคมฟัง ประชาชนฟัง คณะผู้บริหารประเทศฟัง เนื่องจากมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ตั้งใจทำงาน ทำให้ปลอดภัย มีสุขภาวะที่ดี ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า ความสามารถของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้โรคระบาดไม่ทำร้ายคนในประเทศได้ ถือเป็นฝีมือของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน เป็นพื้นฐานที่ทำมาเป็นอย่างดี ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเป็นอิสระในการบริหารงานเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในรอบ ๒๐ ปีที่ไม่เคยเป็นเอกเทศ ซึ่งหากเข้าการเมืองในเวลาที่เหมาะสมบวกกับพื้นฐานและประสิทธิภาพ จะทำให้ใช้โอกาสในการพัฒนากระทรวงฯ ให้มากที่สุด การมีรัฐผสมจะช่วยให้สามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ ทำให้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน พัฒนาและบริหารประเทศร่วมกัน แสดงให้เห็นว่า กระทรวงฯ สร้างผลงานให้ประจักษ์ ทั่วโลกยอมรับ ประชาชนยอบรับ จะทำให้การของบประมาณเพื่อมาเสริมสร้างกำลังใจ หรือพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวต่อไปว่า “สิ่งที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินไปได้ด้วยดี เกิดจากการฟัง ฟังสิ่งที่ทำแล้วจะเป็นผลดี เพราะผมเป็นผู้บริหาร หน้าที่ของผมคือ การหางบประมาณมาสนับสนุนให้ภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขประสบผลสำเร็จ หากต่างคนต่างใช้ความสามารถที่ตนมี ความสำเร็จจะเป็นผลลัพธ์แน่นอน เชื่อว่ากระทรวงฯ จะสามารถผลักดันในหลายเรื่อง และสร้างฐานที่ดี เพราะจากนี้ไปสิ่งที่จะต้องทำเพิ่มขึ้น คือ การนำฐานรากต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ โดยมุ่งไปที่การให้บริการของประชาชน”

ผนึกกำลังเพื่อแก้ใขปัญหา

“การประชุมครั้งนี้ เป็นการเพิ่มการบริการให้กับประชาชน เนื่องจาก ขณะนี้มี ๓๐ บาทรักษาทุกโรคจึงปรึกษากับ สปสช. เกี่ยวกับความยากลำบากในการเดินทางมารับบริการของประชาชน หากพร้อมในด้านงบประมาณ ฐานข้อมูล หลักฐานและแพลตฟอร์ม อาจช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง นี่เป็นความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างศักยภาพที่ดี รวมถึง สปสช.ด้วย ที่จะมาสร้างประโยชน์ร่วมกัน ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งสปสช. มีส่วนในการช่วยแก้ปัญหาของกระทรวงในช่วงเวลาที่ผ่านมา หากกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ผนึกกำลังกันเพื่อแก้ไขปัญหา จะทำให้มีฐานที่สูงขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการโหวตที่จะทำให้การทำงานยากขึ้น แต่ความทุ่มเทของบุคลากรทำให้บุคคลภายนอกเห็นด้วย และให้ตัดสินใจด้านสุขภาพ แสดงให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขคุณภาพต้องไม่ลดลง ต้องแข็งแกร่ง และอนาคตกระทรวงสาธารณสุขจะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่เชื่อและไว้วางใจมากขึ้น”

พร้อมผลักดันนโยบายเต็มที่

“จากนโยบายที่นำเสนอและงบประมาณ ๖๓๗,๒๐๐,๐๐๐ บาทนั้น ต้องอนุมัติ ต้องผลักดันขึ้นมาให้เต็มที่ ซึ่งนโยบายเน้นการให้บริการ การลงทุนด้านสุขภาพ ลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และลงทุนบุคลากร เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี การบริการที่สะดวกสบาย หากทำโครงการสำเร็จก็จะสามารถลดความแออัดใน โรงพยาบาลได้ และพร้อมจะพัฒนาไปสู่การรักษาได้ทุกที่ ถือเป็นโจทย์ที่ต้องช่วยคิด แต่สิ่งที่ต้องทำคือ พัฒนา รพ.สต.ทุกพื้นที่ มีเครื่องมือที่พร้อมให้บริการ พัฒนาอสม.เพื่อลดความกดดันของแพทย์ที่จะได้รับ เนื่องจาก อสม.สามารถที่จะเข้าถึงคนในชุมชนได้ดีกว่า ส่วนปัญหาหมอขาดแคลนนั้น ควรส่งเสริมแพทย์ที่เกษียณอายุราชการเพื่อลดปัญหาและมีแพทย์เพียงพอต่อความต้องการ สาเหตุที่กล้าอนุมัติงบประมาณ เพราะช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ ใช้งบประมาณถึง ๓,๐๐๐ ล้านบาท เรายังเสียเลย เราจะต้องไม่เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียงง่าย ซึ่งนโยบายมีความยั่งยืน เมื่อลงทุนแล้วสามารถให้บริการประชาชนได้จริง” รมว.สาธารณสุข กล่าวท้ายสุด

รพ.มหาราช’บัตรทองพรีเมียม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ประกาศพร้อมเริ่ม ๔ นโยบายใหม่ โดยยกระดับบัตรทองให้เป็นบัตรทองพรีเมียม ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ได้แก่ ๑. นอนโรงพยาบาล             ไม่ต้องมีใบส่งตัว โดยการนอนโรงพยาบาลมี ๒ แบบ คือ แบบฉุกเฉิน และนัดมานอนโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา เช่น การผ่าตัด การส่องกล้อง หรือวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม มีข้อดีคือ ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ทำให้ประหยัดเวลาและได้รับการรักษาเร็วขึ้นโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องกลับไปเอาใบส่งตัว ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ในส่วนของข้อเสียนั้น อาจจะไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับประวัติการรักษาของผู้ป่วย เช่น โรคประจำตัว ผลเลือดหรือผลแล็บต่างๆ แต่ระบบของกระทรวงจะพัฒนาต่อไปในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยให้เรียบร้อย ซึ่งขณะนี้ จังหวัดนครราชสีมากำลังดำเนินการอยู่ในส่วนของการพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูล

๒.การรักษาต่างภูมิลำเนา (กรณีใช้สิทธิ์การรักษาต่างภูมิลำเนาครั้งแรก โดยปกติมักจะอนุโลม ๑ ครั้ง) มีข้อดีคือ ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวในการรับการรักษาแบบไม่ฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนสะดวกในการรับการรักษา กรณีเดินทางไปต่างจังหวัด หรือเกิดอาการเจ็บป่วยระหว่างเดินทาง แต่ข้อเสียคือ โรงพยาบาลใหญ่อาจจะมีผู้ป่วยเข้าไปใช้บริการเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เกิดความหนาแน่นและความแออัดได้ ซึ่งในประเด็นนี้ โรงพยาบาลทุกแห่งควรมีการจัดการเรื่องการเข้ารับบริการของผู้ป่วยให้ดีมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะพัฒนาระบบนัดผู้ป่วย รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์

๓.ผู้ป่วยมะเร็งสามารถรับการรักษาที่ไหนก็ได้ ปัจจุบันปัญหาที่เจอคือ ผู้ป่วยหลายรายจำเป็นต้องรับการวินิจฉัยโดยการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CT SCAN หรือ MRI รอคิวนาน ๑-๒ เดือน ทำให้เกิดความล่าช้าในการรักษาได้ เพราะฉะนั้นในจังหวัดนครราชสีมามีหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลพิมาย โรงพยาบาลเทพรัตน์ โรงพยาบาลปักธงชัย โรงพบาลปากช่อง โรงพยาบาลโชคชัย โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โรงพยาบาลค่ายสุรนารี ที่มีเครื่องมือในการวินิจฉัยโรคในระยะต่างๆ ของโรคมะเร็ง จากนโยบายนี้ทำให้ผู้ป่วยสามารถได้รับการวินิจฉัยได้เร็วขึ้น เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตและการปราศจากโรคได้ดียิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ ศูนย์มะเร็งและเครือข่ายที่ดูแลเรื่องมะเร็ง ควรมีการวางแผนจัดระบบการรับการตรวจและวินิจฉัยโรคมะเร็งให้ดีมากยิ่งขึ้น

และ ๔. การโอนย้ายสิทธิ์จาก ๑๕ วัน เหลือ ๑ วัน ซึ่งในอดีตการย้ายสิทธิ์การรักษาบัตรทอง ไม่สามารถทำผ่านระบบเทคโนโลยี และใช้เวลานานถึง ๑๕ วัน แต่ปัจจุบันประชาชนสามารถลงทะเบียนย้ายสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชันสปสช. และได้รับการอนุมัติภายใน ๑ วัน ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้เร็วและง่ายขึ้น

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๓ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

951 1583