29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

January 11,2021

โควิดระบาดรอบสองหนักหน่วง รัฐอย่าควบคุมครอบจักรวาล ต้องยอมเจ็บปวดบ้างหากจำเป็น

โควิด-๑๙ ระลอกใหม่หนักหน่วง ห้างสรรพสินค้าต้องเลื่อนเวลาปิด โรงแรมกระทบหนักถูกยกเลิกงานแทบทั้งหมด หลังสสจ. ไม่อนุญาตจัด วอนผ่อนปรนการจัดงานเพิ่มจำนวนคน ด้านเศรษฐกิจติดลบซ้ำซ้อน รัฐควรออกมาตรการให้เหมาะสม การขนส่งต้องไม่หยุดชะงัก ชี้บางครั้งต้องยอมเจ็บปวด ออกมาตรการให้ชัดเจนอย่าครอบจักรวาล

ตามที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ในการประชุมครั้งที่ ๑๖/๒๕๖๓ วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ มีมติให้เตรียมพร้อมในการป้องกันการระบาดใหม่ของโควิด-๑๙ โดยแบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์ออกเป็น ๑.พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ๒.พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ๓.พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) และ ๔. พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) โดยพื้นที่สีแดง หมายถึง พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและมีมากกว่า ๑ พื้นที่ (ย่อย) จากการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-๑๙ (ศบค.) เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๔ ได้แบ่งพื้นที่แต่ละจังหวัดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) มี ๒๘ จังหวัด ประกอบกับยังคงมีการแพร่ระบาดในประเทศ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ (COVID-19) จังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจังหวัดนครราชสีมา โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๗ (๑) ข้อ ๑๑ ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑) ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๓ และมาตรา ๒ (๑), (๗) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ ตามมติที่ประชุมครั้งที่ ๒๑/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ จึงออกมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค สำหรับบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด 

  หลังจากมีประกาศออกมานั้น ในส่วนของศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา ๓ แห่ง ได้แก่ เดอะมอลล์โคราช, เทอร์มินอล ๒๑ โคราช และเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ได้ประกาศปรับเวลาเปิด-ปิดบริการเป็นช่วงเวลา ๑๐.๐๐-๒๑.๐๐ น. 

ชะลอใช้จ่าย รอสถานการณ์ดีขึ้น

“โคราชคนอีสาน” ติดต่อสัมภาษณ์นายเศรษฐวุฒิ ทัตสุระ ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซานครราชสีมา (ปัจจุบันย้ายไปดำรงตำแหน่งที่เซ็นทรัลบีช พัทยา) ถึงการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวว่า “ยังดำเนินการตามมาตรการที่ตั้งไว้ทั้ง ๗๕ มาตรการ ส่งผลกระทบคล้ายกับครั้งแรกทำให้ลูกค้าชะลอการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ เพราะรอสถานการณ์ดีขึ้น อีกทั้งกิจกรรมต่างๆ ก็ถูกยกเลิกหมดแล้ว สำหรับแนวทางการดำเนินงานปี ๒๕๖๔ ต้องให้สถานการณ์คลี่คลายก่อน ซึ่งดำเนินการตามภาครัฐ เนื่องจากเป็นเรื่องของส่วนรวมและการช่วยเหลือสังคม เช่น การใส่หน้ากากอนามัย ๑๐๐% ในการเข้าพื้นที่ การวางจุดแอลกอฮอลล์ที่มีภาครัฐเข้ามาร่วมตรวจสอบ ส่วนการดำเนินการก็เป็นไปได้ด้วยดี และยังคงมาตรการเดิมที่มากกว่าที่ภาครัฐกำหนด”

ผ่อนปรนการจัดงาน

ด้าน นายธนวัฒน์ หาดี ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมเซ็นเตอร์พอยต์โคราช เผยว่า “โรงแรมดำเนินการรักษาระยะห่างและทำความสะอาดเข้มข้นทุกชั่วโมง ตามระเบียบของ ศบค. ส่วนลูกค้าที่จองออนไลน์ยังเป็นปกติ จากชื่อเสียงของเซ็นเตอร์พอยต์ทำให้ลูกค้ามั่นใจในบริการที่มีมาตรฐาน ส่วนการประชุมสัมมนาจะเป็นลูกค้าในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบมาก จาก ๒๑ งาน ถูกยกเลิกเหลือเพียง ๒ งานและรอผลว่า จะถูกยกเลิกหมดหรือไม่ในเดือนมกราคมนี้ มูลค่าประมาณ ๔-๕ ล้านบาท โดยอัตราการจองมีจำนวนมากแต่ขออนุญาตกับสาธารณสุขจังหวัดฯ ไม่ผ่านก็ต้องถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไป จึงคาดหวังว่าจะผ่อนปรนให้กับผู้จัดงานบ้าง จากระเบียบที่ตั้งไว้ ๑๐๐ คน สามารถขยายเป็น ๑๕๐-๒๐๐ คนได้หรือไม่ ต้องการให้มีการยืดหยุ่นมากขึ้น”

ขยายเพดานหนี้สาธารณะ

ในขณะที่นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ถึงสถานการณ์โควิด-๑๙ รอบใหม่ ในด้านเศรษฐกิจว่า ในครั้งนี้ถือว่าซ้ำกับครั้งแรก ระบบเศรษฐกิจเริ่มขยับตัวได้บ้าง แต่ผลกระทบจากครั้งแรกยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น หนี้สาธารณะ หนี้ส่วนบุคคล บริษัทที่มียอดขายลดลง อีกทั้งครั้งนี้หนักกว่าครั้งแรกมาก ฉะนั้นจะมีผลกระทบพอสมควร แต่โชคดีที่ระบบสาธารณสุขของไทยมีความเตรียมพร้อมมากกว่าครั้งแรก เช่น หน้ากากอนามัยไม่ขาดแคลน เจลแอลกอฮอลล์ อุปกรณ์ทำความสะอาดต่างๆ ที่ในครั้งแรกไม่มีให้ซื้อ แต่ครั้งนี้ก็มีเพียงพอ จึงไม่ควรที่จะตื่นตระหนกแต่ต้องป้องกันตัวเองให้ดี เนื่องจากครั้งนี้เป็นการแพร่ระบาดที่มากกว่าครั้งที่แล้วเยอะมาก รัฐบาลควรใช้วิธีกู้เงินหรือเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะให้มากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องนำเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อแก้ไข แม้ว่าหนี้ของรัฐบาลจะมีอยู่มากแล้วก็ตาม แต่หากไปนำเงินมาเพิ่มในระบบเศรษฐกิจอีกก็จะทำให้เพิ่มการแก้ไขปัญหาที่ยุ่งยากมากขึ้น รัฐบาลต้องยอมขาดทุนเพิ่มขึ้นจากงบประมาณที่เคยขอไว้ ส่วนหนี้สาธารณะก็ต้องขยายเพดานออกไปเช่นกัน 

เศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน

นายหัสดิน กล่าวต่อไปว่า “โควิด-๑๙ ทำให้เกิดคนจนยุคใหม่ เนื่องจากมีรายได้น้อยลง คนจนรากหญ้ามีกำลังซื้อลดน้อยลง ทำให้เห็นช่องว่างของคนรวยและคนจนมากขึ้น และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมา คือ การเดินทาง การท่องเที่ยวภายในประเทศที่เริ่มดีขึ้น กลับต้องทรุดลงไปอีก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็จะเพิ่มขึ้น เช่น หนังสือรับรองด้านสุขภาพ พาสปอร์ตที่ยืนยันการตรวจโรค และหนังสือเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ซึ่งทำให้การเดินทางขนส่งสินค้ายุ่งยากมากขึ้น ใช้ต้นทุนสูงขึ้น รวมทั้งระบบเศรษฐกิจจะเกิดการถดถอยซ้ำซ้อน จากที่ถดถอยอยู่แล้วในครั้งนี้จะซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก การแก้ปัญหาของรัฐบาลเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเขตหรืออื่นใด ต้องมีความกระจ่าง เช่น โรงงานผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ผลิตออกมาจะส่งสินค้าไปอย่างไร หากลูกค้าเป็นคนสมุทรสาคร จะสามารถส่งสินค้าไปได้หรือไม่ หากต้องเดินทางไปส่งสินค้าจากโคราชไปสมุทรสาคร กลับมาต้องกักตัว ๑๔ วันก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นต้องมีมาตรการในการขนส่งสินค้าว่า การขนส่งสินค้าที่ไม่ได้ไปค้างพักแรมในพื้นที่สีแดง ต้องมีมาตรการในการควบคุมดูแล แต่หากกลับมาแล้วต้องกักตัว ๑๔ วันอาจจะทำให้สินค้าในตลาดลดน้อยลงและทำให้เกิดความวุ่นวาย เช่น หากผลิตสินค้าที่โคราชแล้วต้องเดินทางไปส่งที่สมุทรสาคร แล้วต้องเดินทางกลับมากักตัว ๑๔ วัน ก็จะทำให้การขนส่งยุ่งยากมากขึ้น” 

การใช้แรงงานต่างด้าวชะลอตัว

“รัฐบาลจะควรดำเนินการดังนี้ ๑.การขนส่งต้องไม่หยุดชะงัก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันต้องปล่อยให้มีการขนส่ง มีมาตรการควบคุมดูแลให้รัดกุม แต่ไม่ใช่มาตรการที่กักตัว ๑๔ วันเช่นนี้ ๒.ต้องปล่อย Soft loan ให้เร็วขึ้น เพราะรอบแรกที่รัฐบาลปล่อยออกมานั้นยังปล่อยได้ไม่เต็มวงเงิน วงเงินมูลค่า ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังปล่อยได้ไม่มาก ฉะนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการเสริมว่าจะปล่อยเงินให้เข้ามาในระบบเศรษฐกิจให้ได้อย่างไร และผลกระทบอีกด้านคือ กลุ่มอาหารที่จะใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งได้รับผลกระทบแน่นอน เนื่องจากขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิด-๑๙ ในสัดส่วนที่สูงที่สุด ทำให้การใช้แรงงานต่างด้าวชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร โรงงานผลิตอาหารที่ใช้บริโภคภายในประเทศและการส่งออก ทำให้ต้องมีมาตรการดูแลในการผลิตสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอาหารเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยมีมาตรการดูแลให้อาหารมีความปลอดภัย” นายหัสดิน กล่าว

ล็อกดาวน์แบบมีเงื่อนไข

ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวอีกว่า “ส่วนการเดินทางภายในประเทศ หากใครเดินทางไปพื้นที่สีแดงกลับมาต้องกักตัว ๑๔ วัน อาจจะต้องกลับมาพิจารณา เพราะหากเกิดเช่นนี้ก็จะผิดแผนไปทั้งหมด หากผู้ที่เดินทางไปแต่มีมาตรการป้องกันตนเองที่เป็นมาตรฐานกำหนดขึ้นมารองรับด้วย เพราะหากหยุดการเดินทางก็จะยิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจแย่ลง แต่สิ่งที่ผมเห็นด้วย คือ การควบคุมดูแลการเดินทางบุคคลที่ไม่มีความจำเป็น เช่น บุคคลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องในการเดินทางไปส่งของ หรือผู้ที่เดินทางไปทำงาน ข้าราชการที่ต้องเดินทางไปที่กรุงเทพฯ อาจจะต้องงด ปรับเปลี่ยนเป็นการประชุมทางไกล หรือระบบต่างๆ ที่ต้องนำมาใช้อย่างเข้มงวด เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรคให้เร็วที่สุด บางครั้งต้องเจ็บปวดบ้างแต่ไม่ใช่การควบคุมแบบครอบจักรวาลเช่นนี้ บางส่วนมีความจำเป็นต้องขนส่งสินค้า ซึ่งหากหยุดจะทำให้ระบบเศรษฐกิจชะงัก ดังนั้นมาตรการที่จังหวัดออกมาต้องไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วน ต้องตรวจสอบว่าภาคส่วนไหนต้องควบคุมมากกว่าที่ประกาศด้วยซ้ำ ควรเจาะกลุ่มแต่ละภาคส่วน บางหน่วยงานที่ต้องเดินทางก็สามารถเดินทางได้ ส่วนหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็นก็งด คล้ายกับการล็อกดาวน์แต่เป็นการล็อกดาวน์แบบมีเงื่อนไข ผมต้องการเห็นมาตรการที่เข้มงวดจริงจังของภาครัฐโดยต้องแบ่งเป็นมาตรการของคนที่เดินทางและมาตรการสำหรับคนที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางและอยู่ในพื้นที่” 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๑ วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๒ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

 


936 1570