19thApril

19thApril

19thApril

 

February 06,2021

วิเชียร’นำอธิบดีบุกดงกัญชา หนุนพืชเศรษฐกิจเพื่อชีวิตดี

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เยี่ยมชมแปลงกัญชา มทส. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการศึกษาและการขยายพันธุ์กัญชาพื้นเมืองของไทย หวังนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พร้อมส่งเสริมและหาแนวทางที่เหมาะสม ให้เกษตรกรปลูกกัญชง-กัญชา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุมสารนิเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครรราชสีมา รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรม พร้อมด้วย ศ.ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญโครงการวิจัยและพัฒนากัญชาคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มทส. ร่วมให้การต้อนรับ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งนำคณะเดินทางเข้ารับฟังการบรรยายสรุปโครงการวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มทส. พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการศึกษา ขยายพันธุ์กัญชาพื้นเมืองของไทย

รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฯ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เริ่มปลูกกัญชาสายพันธุ์ฝอยทองภูผายล รุ่นที่ ๑ ประมาณ ๓,๓๖๐ ต้น เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ได้เก็บเกี่ยวและส่งมอบไปยังโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก เพื่อผลิตเป็นยาสมุนไพรสำหรับแจกจ่ายให้ผู้ป่วย ต่อมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปลูกเพิ่มเป็นรุ่นที่ ๒ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เก็บเกี่ยวและส่งมอบให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย มทส.มีความพร้อมอย่างมากในการปลูกกัญชา ตามอัตราการผลิตที่สามารถทำได้ มีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่”  

“ทั้งนี้ มทส.ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด การผลิตกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทยสู่เชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล มทส.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถผลิตกัญชาและอช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการแพทย์และด้านสาธารณสุข รวมถึงให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาและสมุนไพรทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัยโดยผ่านการรับรองมาตรฐาน และ มทส.ยังเป็นแหล่งศึกษาวิจัย สร้างองค์ความรู้ด้านกัญชา และองค์ความรู้สมุนไพรด้านอื่นๆ อีกด้วย มทส.มีความพร้อมด้านการวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ มีการศึกษา วิจัย และพัฒนาสายพันธุ์กัญชาที่สามารถให้ผลผลิตสูง มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสลัดสารสำคัญ มีระบบสมาร์ทฟาร์ม สร้างมาตรฐานการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอนาคต เพื่อรองรับอุตสาหกรรมด้านการแพทย์” รศ.ดร.อนันต์ กล่าว 

นายพิเชษฐ์ วิริยะหาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า “แนวทางส่งเสริมการปลูกกัญชา-กัญชง ตามแนวทางของกรมวิชาการเกษตรฯ ขณะนี้ได้เริ่มศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาและวิสาหกิจชุมชนหลายแห่ง เพื่อหาแนวทางสำหรับเกษตรกรในการปลูกกัญชา-กัญชง การดูแลเมล็ดพันธุ์ การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม การควบคุมและการกระจายพันธุ์ รวมถึงการรับรองขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ ทำอย่างไรจะถึงมือเกษตรกรและสามารถนำไปใช้ได้จริง สำหรับการนำคณะเข้าศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านกระบวนการผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐาน การคัดเลือกสายพันธุ์พื้นบ้านของไทย และการคัดสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการปลูก เพื่อให้ได้กัญชาที่มีคุณภาพ ได้สารออกฤทธิ์สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน ทั้งนี้ทราบว่า มทส. ผลิตสำเร็จไปแล้วหนึ่งรุ่น เป็นที่ยอมรับด้านคุณภาพ กระบวนการปลูกที่ได้มาตรฐาน มีสารออกฤทธิ์สูง และยังนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว การเข้าเยี่ยมชมโครงการในครั้งนี้ จึงเป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายและแนวทางการส่งเสริมกัญชา-กัญชง ของกรมวิชาการเกษตรฯ เพื่อส่งต่อถึงมือเกษตรกรชาวไทยที่สนใจ ซึ่งถือว่าในอนาคตจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของวิสาหกิจชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นต่อไป” 

จากนั้นเวลา ๑๑.๐๐ น. คณะเข้าเยี่ยมชมแปลงกัญชาตามโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตกัญชาคุณภาพ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ณ สวนเกษตรเฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษาบรมราชกุมารี มทส. โดยนายพิเชษฐ์ วิริยะหาหะ กล่าวว่า “กรมวิชาการเกษตรฯ มีนโยบายในการส่งเสริมเกษตรกรเกี่ยวกับกัญชง-กัญชา รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายเรื่องกัญชาทางการแพทย์ คือ ๑.ร่วมทำวิจัยกับสถาบันการศึกษา รวมถึงวิสหกิจชุมชนหลายแห่ง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมให้เกษตรกรในการปลูกกัญชา ๒.ดูแลเมล็ดพันธุ์ ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยนั้นมีหลากหลายมาก แต่ก็ยังหาจุดที่เหมาะสมไม่ได้ว่า เมล็ดพันธุ์ใดจะดีที่สุด เหมาะสมที่สุด กรมวิชาการเกษตรฯ พยายามเข้ามาดูแล ควบคุม และกระจายเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด และ ๓.กรมวิชาการเกษตรฯ มีบทบาทหน้าที่ในการจดทะเบียน รับรองพันธุ์พืช กัญชา-กัญชง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลเมล็ดพันธุ์ และการปลูกต่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างรายละเอียดข้อตกลงว่า จะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้กัญชาส่งเสริมเกษตกรโดยตรงและสามารถปลูกได้จริง”

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “มทส.เป็นแหล่งเรียนรู้พืชกัญชาไม่เฉพาะในจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น แต่คาดว่า จะเป็นแหล่งเรียนรู้ระดับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เพราะมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เกษตรกรสามารถดำเนินการได้ ถือเป็นจุดสำคัญในอนาคต ประชาชนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่สนใจการปลูกกัญชาต้องมีความรู้ประกอบด้วย ๒ ส่วน ๑.ข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีขั้นตอนที่รัดกุมและรอบคอบ รวมถึงมีข้อปฏิบัติจำนวนมาก และ ๒.องค์ความรู้ในการปลูกกัญชา-กัญชง เพราะต้องการกัญชาที่มีคุณภาพ เพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์ และด้านอาหารต้องไม่มีสารปนเปื้อน ต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ทั้ง ๒ ส่วน และคาดว่า ไม่ยากเกินความสามารถเกษตกรชาวโคราชและชาวไทย เพราะผ่านการปลูกพืชในโรงเรือนหลากหลายประเภท ผมคิดว่า กัญชาจะเป็นพืชที่มีอนาคตเช่นเดียวกับกัญชง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจะเป็นแหล่งความรู้ให้เกษตรมาศึกษาดูงานได้”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๔ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

997 1385