29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

February 06,2021

แปลกใจ ๓๐ ปีเพิ่งเคยเจอ จัดตั้ง‘อำเภอภูกระโดน’ เตือนอย่าใช้สภาเป็นข้ออ้าง

รองผู้ว่าฯ เข้าเสนอญัตติจัดตั้ง “อำเภอภูกระโดน” ต่อสภา อบจ.โคราช แม้ส.จ.ส่วนใหญ่ไม่ขัด แต่  แปลกใจ อยู่มากว่า ๓๐ ปีเพิ่งเคยเห็นเปิดสภาสมัยวิสามัญจัดตั้งอำเภอ เตือนระวังถูกครหา อย่าเอาสภาเป็นข้ออ้าง ก่อนยกมือต้องรอบคอบ เพราะไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์ทุกข้อ แต่วอนเห็นใจประชาชน ๓ ตำบลติดต่อราชการลำบาก 

 

หลังจากที่มีการเผยแพร่วาระการประชุมสภา อบจ.นครราชสีมา สมัยวิสามัญ สมัยที่ ๑ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ซึ่งมีการประชุมในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ ณ สำนักการช่าง อบจ.นครราชสีมา โดยมีญัตติการจัดตั้ง “อำเภอภูกระโดน” ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเป็นระยะ 

โดยการประชุมเริ่มขึ้นในเวลา ๑๔.๐๐ น. ของวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ทำหน้าที่ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา มีนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา พร้อมสมาชิกสภา ๔๓ คนเข้าร่วมประชุม (ขาดเพียง ๕ คนที่ กกต.ยังไม่ประกาศรับรอง) พร้อมด้วยผู้แทนจากอำเภอสีคิ้ว และ ๓ ตำบลที่ขอแยกไปจัดตั้งเป็นอำเภอภูกระโดน อาทิ นายชัยวัฒน์ เหล็กจันอัด ปลัดอำเภอสีคิ้ว นายอนันต์ สิทธิเสือ นายก อบต.หนองหญ้าขาว, นายกิจจา เขษมสุข ปลัด อบต.ดอนเมือง, นายณรงค์ฤทธิ์ บุญสุข นิติกร เทศบาลตำบลหนองน้ำใส และผู้นำชุมชน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจาก ๓ ตำบล เข้าร่วมรับฟัง โดยมีนายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้เสนอญัตติเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีสาระสำคัญ ดังนี้ 

  • ขอจัดตั้งอำเภอภูกระโดน

หลักการของญัตติเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ในการขอจัดตั้งอำเภอใหม่ ชื่อ ‘อำเภอภูกระโดน’ ประกอบด้วย ๓ ตำบลในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว คือ ตำบลหนองน้ำใส ตำบลหนองหญ้าขาว และตำบลดอนเมือง ซึ่งมีเหตุผลและความจำเป็นของประชาชนในพื้นที่ ๓ ตำบล ๔๙ หมู่บ้าน มีประชากรรวมทั้งสิ้น ๓๐,๙๒๗ คน ๑๑,๔๔๓ ครัวเรือน โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ กำหนดหลักเกณฑ์การจัดอำเภอไว้ว่า ๑.ได้รับการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี ๒.มีราษฎรไม่น้อยกว่า ๓๕,๐๐๐ คน และ ๓.ต้องได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมสภา อบจ. และที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด หากการพิจารณาการตั้งอำเภอไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์แต่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษทางภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครองหรือความมั่นคง เช่น พื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว มีปัญหาด้านความไม่สงบเรียบร้อย เป็นพื้นที่ชายแดน และเป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริ ฯลฯ ให้กระทรวงมหาดไทยเสนอ ครม.พิจารณาจัดตั้งเป็นกรณีไป

โดยอำเภอสีคิ้วพิจารณาว่า พื้นที่จัดตั้งอำเภอใหม่ อำเภอภูกระโดน เป็นพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร มีระยะทางหมู่บ้านไกลจากตัวอำเภอสีคิ้วประมาณ ๕๑ กิโลเมตร ประชาชนเดินทางไปติดต่อราชการและขอรับบริการจากภาครัฐไม่สะดวก สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายการเดินทาง เป็นพื้นที่ชายแดนติดต่อกับจังหวัดสระบุรีและลพบุรี และมีปัญหาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนปัญหายาเสพติด เนื่องจากห่างไกลสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานและการบริการประชาชน อำเภอสีคิ้วจึงพิจารณาขอจัดตั้งอำเภอใหม่ด้วยเหตุผลความจำเป็นพิเศษทางภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองหรือความมั่นคง

สำหรับการพิจารณาการจัดตั้งอำเภอภูกระโดนผ่านการเห็นชอบตามลำดับแล้ว ทั้งสภาเทศบาลตำบลหนองน้ำใสให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๒, สภาอบต.หนองหญ้าขาวให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ และสภาอบต.ดอนเมืองให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ส่วนที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการอำเภอสีคิ้วให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๓ ฉะนั้นเพื่อให้การพิจารณาจัดตั้งอำเภอใหม่เป็นไปตามมติ ครม. ทางจังหวัดนครราชสีมา จึงขอความเห็นชอบในการขอจัดตั้งอำเภอภูกระโดน จึงเสนอญัตติเพื่อให้สภาอบจ.นครราชสีมา พิจารณาให้ความเห็นชอบ

  • แปลกใจไม่เคยปรากฏห้วง ๓๐ ปี

จากนั้นประธานสภาฯ เปิดให้ สมาชิกสภาฯ อภิปรายญัตติ เรื่องการขอจัดตั้งอำเภอใหม่ อำเภอภูกระโดน ซึ่งนายโกวิทย์ เลาวัณย์ศิริ ส.อบจ.อำเภอบ้านเหลื่อม ลุกขึ้นอภิปรายว่า “ญัตติครั้งนี้ไม่ค่อยเห็นปรากฏในห้วง ๓๐ ปี เป็นญัตติเดียวที่ประธานสภาเรียกประชุม ซ้ำยังเป็นสมัยวิสามัญด้วย ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะหากไม่ใช่ความเดือดร้อนของประชาชน การเรียกประชุมสภา อบจ.จะไม่ดำเนินการเช่นนี้ การเสนอญัตตินั้น มี ๒ เรื่องที่ต้องระมัดระวัง คือ ๑.ต้อง save สภา และ ๒.ต้อง save คนที่เสนอญัตติ เพราะจะมีดราม่าอยู่เสมอว่า เป็นสภาตรายาง เคยได้ยินหรือไม่ และครั้งนี้รองผู้ว่าฯ เป็นผู้เสนอญัตติ ขอตั้งอำเภอใหม่ คืออำเภอภูกระโดน ผมเข้าใจในฐานะนักการเมืองท้องถิ่น สิ่งใดที่ประชาชนต้องการก็นำเสนอให้ แต่ในฐานะสมาชิกสภา การตั้งกิ่งอำเภอนั้น ไม่ได้รับการจัดตั้งมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว เพราะเกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มี อบต. เทศบาล และอบจ. ฉะนั้นเมื่อมีอปท.แล้ว ในส่วนของหน่วยงานราชการภูมิภาคซึ่งดูแลจังหวัดและอำเภอ จะต้องหยุด เป็นหน้าที่ของอปท. โดยเฉพาะอบจ. ส่วนตัวไม่ติดใจ หากรัฐบาลกลางเห็นด้วย รัฐบาลกลางต้องตอบสังคมให้ได้ว่า เกิดอะไรขึ้น นครราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่ กำลังถูกจับตามองว่าทำอะไร จังหวัดอื่นก็จะนำไปเป็นแบบอย่างเช่นกัน แล้วรัฐบาลกลางจะตอบสังคมนี้ได้ว่าจะพัฒนาอย่างไร ระหว่างส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น” 

  • ไม่ต้องการเป็นสภาตรายาง

  “เมื่อดูกฎเกณฑ์พบว่า มีข้อหนึ่งที่ไม่ครบ คือ ๔ ตำบล แต่นำเสนอแค่ ๓ ตำบล ซึ่งตอนแรกได้ยิน ๔ ตำบล แต่นำเสนอเข้าสภาเพียง ๓ ตำบล ไม่ครบตามหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะการตั้งกิ่งอำเภอนั้นใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้เป็นอำเภอ โดยเฉพาะกิ่งอำเภอบ้านเหลื่อมที่เป็นกิ่งมากกว่า ๑๐ ปี เนื่องจากไม่เข้ากฎเกณฑ์ จึงต้องการให้ดูนโยบายของรัฐบาล อย่าใช้สภาเป็นข้ออ้าง ยิ่งถูกปรามาสว่าเป็นสภาตรายาง ไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น จึงควรตรวจสอบและพิจารณาให้ดี แม้แต่การตั้งกิ่งบางกิ่ง ตัวอย่างที่อำเภอวังน้ำเขียว ปี ๒๕๓๕ ผมร่วมเป็นคณะกรรมการพบปัญหาหลายด้าน แต่อาจจะเป็นอีก ๑ ประเด็น ซึ่งข้อมูลที่ได้ยินครั้งแรกคือ ๔ ตำบล แต่มานำเข้าสภาเพียง ๓ ตำบล จึงเป็นข้อสงสัยส่วนตัว ขอให้ประธานคิดทำวิธีไหนให้ประชาชน และข้อมูลหลังสุดคือ ในตำบล ๓ ตำบลนั้น มี ๒ บ้านที่ไม่ต้องการซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ จึงต้องการให้ประธานสภาฯ ช่วยไตร่ตรองและพิจารณา เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่” นายโกวิทย์ กล่าว

  • ไม่มีโอกาสคิดก่อนรับรอง

นายสมพร จินตนามณีรัตน์ ส.อบจ.อำเภอโนนสูง เขต ๒ และรองประธานสภา อบจ. คนที่ ๑ อภิปรายว่า “รู้สึกดีใจที่จังหวัดนครราชสีมาจะมีอำเภอเพิ่มขึ้นเป็น ๓๓ อำเภอ ชื่อว่า ภูกระโดน คู่แข่งกับภูกระดึงหรือไม่ สมัยหนุ่มผมเคยไปอยู่ที่เขากระโดน หลังเขื่อนลำตะคอง สมัยเรียนที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยก็ไปพักแรม จากที่รองผู้ว่าฯ เสนอญัตติเรื่องการจัดตั้งอำเภอมา เสียดายที่นายก อบจ. เพิ่งแถลงนโยบายไปได้เพียง ๓ วัน ครั้งนี้เป็นญัตติที่เสนอเข้ามา โดยที่ ส.อบจ. ไม่ทราบล่วงหน้า จากสมาชิก ๔๘ ยังไม่รับรอง ๕ คน เหลือเพียง ๔๓ คน เป็นสภาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีหลายคนไม่ทราบ เพิ่งทราบเมื่อแถลงญัตติ หากประธานสภาฯ จะนำแถลงญัตติยื่นให้สมาชิกร่วมรับรอง ทำให้ถูกต้องและถูกใจ แต่สมาชิกสภาไม่มีโอกาสได้คิด หรือเห็นหลักฐานบรรยายที่สรุปว่า ชื่ออำเภอเขากระโดนครั้งแรก แล้วมาเปลี่ยนเป็นอำเภอภูกระโดนเพื่อความไพเราะ จากการทราบญัตติเพียงครึ่งชั่วโมง จะให้สภาแห่งนี้เป็นสภาอันทรงเกียรติได้อย่างไร เพราะต้องยกมือโดยไม่ทราบรายละเอียด ส่วนนี้เป็นการหารือประธานสภา ไม่ได้ต่อว่า อาจจะเป็นภาระเร่งด่วนของจังหวัดหรือประชาชนชาวอำเภอภูกระโดน จะต้องรีบดำเนินการแก้ไข”

  • กรณีเดียวกับขอแยกจังหวัด

  “จากที่ ประธานสภาฯ และ ส.อบจ.กล่าวไปนั้น ก็เคยประสบปัญหาเช่นนี้ เมื่อ ๖-๗ ปีที่ผ่านมา จังหวัดนครราชสีมามี ๓๒ อำเภอ ขอแบ่งแยกจังหวัด โดยมีอำเภอบัวใหญ่ ประทาย โนนแดง และคง ขอตั้งเป็นจังหวัดปทุมทองหรือปทุมรัตน์ พร้อมทั้งนำประชาชนและผู้นำมานั่งเหมือนเช่นขณะนี้ เพียงแต่ไม่มีญัตติเข้าสภา และจะขออนุมัติสภาแห่งนี้ ในการแบ่งแยกจังหวัด ครั้งนั้นสภาแห่งนี้ใช้หลักการและเหตุผลเช่นเดียวกัน ซึ่งผมอภิปรายว่า เรื่องดังกล่าวผ่านกระบวนการเห็นชอบ เช่นเดียวกับที่เมื่อสักครู่รองผู้ว่าฯ แถลงญัตติอย่างถูกต้อง แต่ครั้งนั้นอำเภอประทายไม่มีการทำประชาคมตั้งแต่ต้น ซึ่งในแต่ละอำเภอมีความเห็นไม่ตรงกัน หลายคนไม่ต้องการแบ่งแยกจังหวัดอันมีที่เคารพสักการะทุกอำเภอ นั่นคือ ท้าวสุรนารี จากวันนั้นผลการแบ่งแยกจังหวัดจึงตกไป กรณีนี้ก็เช่นกัน” 

  • ต้องรอบคอบ

โดยนายสมพร อภิปรายอีกว่า “ตามคำแถลงญัตตินั้น เห็นด้วยกับความลำบากของประชาชน แต่สภาแห่งนี้เป็นสภาศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะยกมือตัดสินใจอะไรไป ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า ถูกต้องและไม่ถูกใจ ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง หรือถูกต้องและถูกใจ ซึ่งความเหมาะสมในการจัดตั้งอำเภอภูกระโดนนั้น ไม่ขัดข้อง แต่ระเบียบของกฎหมายในการจัดตั้งจะเป็นบรรทัดฐานต่ออำเภออื่น เช่น อำเภอโนนสูง มีประชากร ๒๐๐,๐๐๐ คน มี ส.อบจ. ๒ คน มีพื้นที่รองจากอำเภอเมือง หากในอนาคตเกิดการชุมนุมนำ ๓-๔ ตำบลเข้าในระเบียบที่ต้องมีไม่น้อยกว่า ๔ ตำบล ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดแต่ต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว หรืออื่นๆ เช่น ความเหมาะสมด้านภูมิประเทศ และมีประชากรไม่น้อยกว่า ๓๕,๐๐๐ คน เกิดอำเภอโนนสูงมีกิ่งอำเภอยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ ทำตามขั้นตอนถูกต้อง จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ประชากรทำไมต้อง ๓๕,๐๐๐ คน ปรับเป็น ๓๐,๐๐๑ คนได้หรือไม่ สามารถใช้ข้ออื่นมาประกอบและสามารถแก้ไขปัญหาได้ แน่นอนว่า สภาพความห่างไกล ๒๐ กิโลเมตร เช่นที่บัวใหญ่เสนอมา ซึ่งขณะนี้บัวใหญ่มาถึงนครราชสีมา รวมกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร จึงต้องการให้สภาพิจารณาก่อน ผมเห็นด้วยที่จะจัดตั้งอำเภอเพื่อความสะดวกเรียบร้อย สงบสุข ด้านความจำเป็นพิเศษ ภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคง ที่กล่าวมาว่าติดกับจังหวัดสระบุรี หรือจังหวัดข้างเคียงที่กล่าวมานั้นเป็นปัญหาสำคัญ” 

  • ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณา

นายสมพร อภิปรายอีกว่า “การตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญ จึงควรมีเวลาให้เพื่อนสมาชิก อบจ. ทราบข้อเท็จจริงและข้อหักล้าง โดยให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณา แต่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่มีใครคัดค้านแน่นอน เพราะใจของ ส.อบจ. เข้ามาเป็นตัวแทนจากประชาชน ยึดประชาชนเป็นหลัก ตามนโยบายนายก อบจ. กับโคราชโฉมใหม่ ต้องการเห็นความเจริญรุ่งเรืองในทุกอำเภอ และไม่ต้องการเห็นความเดือดร้อนของประชาชนทั้ง ๓๒ อำเภอ คิดว่าจากการที่จะต้องมาลงมติ โดยไม่มีระยะเวลาศึกษาญัตติเลยก็อาจจะเกิดประเด็น หากสภาแห่งนี้กระทำผิดในข้อใดข้อหนึ่ง และมีหนังสือทักท้วงเข้ามาอาจจะเป็นที่ครหาได้ว่า สภาแห่งนี้สั่งอย่างไร ได้อย่างนั้น ผมไม่ต้องการเห็นสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้มีคำครหาเช่นนั้น อย่างน้อยเรื่องสำคัญเช่นการสร้างอำเภอ ทั้งการตั้งสถานที่ บุคลากร ซึ่งไม่ใช่กิ่งอำเภอ แต่เป็นอำเภอที่เป็นแบบอย่างด้วย จึงขออนุญาตโปรดพิจารณาการตั้งคณะกรรมการ รักษาระยะเวลา และท้ายที่สุด อำเภอภูกระโดนก็จะเป็นคู่แข่งอำเภอภูกระดึงแน่นอน”

  • เสนอญัตติช่วงเลือกตั้ง อบจ.

นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภาฯ กล่าวชี้แจงว่า “จังหวัดดำเนินการเสนอญัตตินี้มาตั้งแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เป็นช่วงที่ อบจ.จัดการเลือกตั้ง และขณะนี้มีการจัดตั้งสภาเรียบร้อยแล้ว จึงเสนอญัตติขึ้นมา โดยประชาชนทั้ง ๓ ตำบลนั้นเห็นชอบในการขอแยกและจัดตั้งอำเภอ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นว่าระยะเวลาในช่วงนี้ เป็นช่วงที่เปิดประชุมสมัยวิสามัญอยู่ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๔ มีระยะเวลา ๗ วัน สิ่งหนึ่งที่ประชาชนในเขตที่จะขอแบ่งแยกนั้น ดำเนินการมาพอสมควร ขณะเดียวกัน อบจ.ก็มีช่วงเวลาที่สามารถดำเนินการประชุมได้ หากต้องรอการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๑ ก็ต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง ฉะนั้น จึงนำญัตติเข้าประชุมในวันนี้ ซึ่งต้องมีระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสารประมาณ ๓ วัน ตามกติกา คิดว่าทำได้ จึงดำเนินการนำญัตติเข้ามา.ให้สภาพิจารณา”

  • พื้นที่ไม่ได้รับการพัฒนา

นายธวัฒน์ ศิริปริญญานันท์ ส.อบจ.ด่านขุนทด เขต ๒ อภิปรายว่า “อำเภอด่านขุนทดเมื่อก่อนใหญ่กว่านี้มาก เพราะเทพารักษ์ยังไม่ได้เป็นกิ่งอำเภอ ก่อนที่จะเป็นกิ่งอำเภอเทพารักษ์เป็นกิ่งสำนักตะคร้อ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ บอกว่า เพื่อความเป็นสิริมงคลจึงให้ชื่อว่า เทพารักษ์ และยกฐานะเป็นอำเภอเทพารักษ์ การขอตั้งอำเภอใหม่นั้น อำเภอสีคิ้วมีหลายตำบล ด่านขุนทดก็จะขอตั้งเป็นอำเภอใหม่เช่นเดียวกัน เพราะหลายอำเภอมีเงื่อนไขเรื่องประชากร ซึ่งอำเภอที่จะตั้งขึ้นใหม่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ ความเดือดร้อนกรณีเจ็บป่วย ต้องเดินทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ประการที่ ๒ การติดต่อราชการที่บางครั้งอาจต้องใช้ระยะเวลา อำเภอภูกระโดนที่จะขอตั้งขึ้นใหม่นั้น ผมลงพื้นที่ทั้ง ๓ ตำบลพบว่า เหมือนอำเภอที่ไม่ได้รับการพัฒนา รู้ว่าหลักเกณฑ์ของการตั้งเกิดจากกระทรวงมหาดไทย มีมติเห็นชอบ สามารถที่จะแต่งตั้งเป็นอำเภอใหม่ได้” 

  • ต้องลงพื้นที่ศึกษารายละเอียด

“ถามว่าส่วนตัวผมเห็นชอบหรือไม่ ผมเห็นชอบ ที่กล่าวถึงด่านขุนทดที่จะขอตั้งอำเภอใหม่ คือ ๑.ตำบลหินดาด ๒.ตำบลห้วยบง อยู่ด้านทิศตะวันตกของอำเภอด่านขุนทด ด้านทิศใต้ของตำบลนี้เป็นพื้นที่อำเภอสีคิ้ว ได้แก่ ตำบลกฤษณา และตำบลวังโรงใหญ่ มีแนวเขตติดต่อกับอำเภอด่านขุนทด ซึ่งตำบลกฤษณาและตำบลวังโรงใหญ่ต้องการมาแต่ไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสม ด้านทิศตะวันตกที่สุดก็คือ ตำบลห้วยบง มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการที่จะตั้งเป็นอำเภอ แต่ตำบลหินดาด อยู่ด้านทิศตะวันออกของตำบลห้วยบง ซึ่งมองว่า หากสร้างบริเวณนั้น ตำบลหินดาดมาฝั่งด่านขุนทดดีกว่า ตำบลหินดาดมีที่ดินแต่คงไม่มา จึงต้องทำด้วยตนเอง มีปัญหาในเรื่องที่ดิน ทุกคนทราบดีว่า การจัดตั้งอำเภอใหม่หรืออำเภอใดๆ ก็ตาม เช่น อำเภอเทพารักษ์ ที่ขณะนี้มีโรงพยาบาล ทั้งที่เมื่อก่อนกันดาร ถนนไม่มีเลน มีเพียงถนนที่ไปมาหาสู่กันได้บ้าง โดยเฉพาะเวลาเจ็บป่วย เมื่อตั้งเป็นอำเภอเทพารักษ์จากกิ่งอำเภอแล้ว ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โรงพยาบาล สาธารณูปโภคต่างๆ ก็ตามมา หากต้องการเห็นความเจริญของบ้านเมืองต้องกระจาย โดยการขยายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น ถามว่าเห็นชอบหรือไม่ ผมเห็นชอบ แต่ต้องดูรายละเอียดของระเบียบที่จะขอมติตั้งอำเภอใหม่ให้รอบคอบก่อน” นายธวัฒน์ กล่าว

  • ตั้งอำเภอความเจริญเข้ามาแน่

นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ส.อบจ.อำเภอวังน้ำเขียว อภิปรายว่า “แสดงความยินดีกับว่าที่อำเภอภูกระโดน แต่สมาชิกเป็นห่วงรายละเอียดที่ยังขาดตกบกพร่อง จึงควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เมื่อเห็นชอบก็ไม่มีปัญหา โดยเฉพาะการตั้งอำเภอใหม่ ซึ่งอำเภอวังน้ำเขียวถูกตั้งเมื่อปี ๒๕๓๕ มีอยู่ ๓ ตำบล เมื่อตั้งเสร็จจึงแยกตำบลเพิ่มเป็นตำบลไทยสามัคคี การมีอำเภอนั้นเจริญแน่นอน ที่เห็นชัดเจนคือการมีโรงพยาบาลแห่งใหม่ ความปลอดภัยมีแน่นอน การจัดการต่างๆ ก็จะดีมากขึ้น เพราะมีเพียง ๓ ตำบล ที่สำคัญคือการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับความรู้มากขึ้น และด้านการปกครอง เช่น พัฒนาการเกษตร กศน. และอื่นๆ เพิ่มขึ้น เป็นอำเภอไม่ใหญ่นัก แต่ได้รับความรู้จากหน่วยงานราชการมากขึ้น” 

  • หนุนตั้งอำเภอภูกระโดน

“นโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เกี่ยวกับการตั้งอำเภอ ๔ อำเภอ คือ ๑.อำเภอเขาใหญ่ ซึ่งจะนำตำบลระเริง (อำเภอวังน้ำเขียว) ไปด้วยแต่ไม่ยอมไป เนื่องจาก กสจ. (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ) ดูแลไม่ดีจึงไม่ไป อำเภอเขาใหญ่จึงตกไป ๒.อำเภอสุรนารี ๓.อำเภอห้วยบง และ ๔.อำเภอภูกระโดน อย่างน้อย ๔ อำเภอที่จะตั้งใหม่นั้น มี ๑ อำเภอ ถือว่าดี ขอบคุณรองผู้ว่าฯ ที่เข้ามาชี้แจง การมีอำเภอใหม่ก็จะก่อให้เกิดการสร้างงานให้มากขึ้น โดยเฉพาะการตั้งอำเภอและกิ่งอำเภอ แนวเขตจะต้องชัดเจน ซึ่งขณะนี้แนวเขตของอำเภอวังน้ำเขียวยังไม่ชัดเจน จึงต้องการให้ดำเนินการวางแนวเขตให้ชัดเจน ส่วนทั้ง ๓ ตำบล เมื่อได้รับเป็นอำเภอแล้วจะแยกอีก ๑ ตำบลได้ ไม่ต้องการให้ประชาชนที่เดินทางมาวันนี้ฝังใจ เชื่อว่าสมาชิกในที่ประชุมทุกคนตั้งใจจะให้มีการจัดตั้งอยู่แล้ว โดยเฉพาะรองผู้ว่าฯ ที่ต้องการให้มีการจัดตั้งเพิ่ม ๑ อำเภอ ถือว่าเป็นความต้องการของประชาชนที่จะพัฒนาให้รวดเร็วมากขึ้น ด้วยขณะนี้ อบจ.นครราชสีมา มีนายกฯ ใหม่ ควรตั้งอำเภอและขอคะแนนความเห็นชอบกับการตั้งอำเภอใหม่ภูกระโดนในครั้งนี้ด้วย” นายชุณห์ กล่าว

  • ย้ายที่ตั้งอำเภอภูกระโดน

นายเจษฎา พิทยาภรณ์ ส.อบจ.อำเภอด่านขุนทด เขต ๑ อภิปรายว่า “จากสภาพภูมิประเทศอำเภอสีคิ้ว ตำบลดอนเมืองเป็นตำบลที่ห่างไกลจากศูนย์ราชการอำเภอสีคิ้ว เนื่องจากพื้นที่เป็นหุบเขา ห่างจากอำเภอสีคิ้วประมาณ ๕๑ กิโลเมตร จากเอกสารพบว่า ที่ตั้งอำเภอภูกระโดน ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองน้ำใส ผมมองว่าจากสภาพภูมิประเทศ ตำบลกฤษณา ก็ห่างไกลจากศูนย์ราชการเช่นกัน แต่การที่ตำบลกฤษณาไม่ได้มาขอตั้งอำเภอใหม่ด้วย อาจจะเป็นสาเหตุหลักในการขอจัดตั้งอำเภอของอำเภอภูกระโดน ซึ่งการเดินทางจากตำบลกฤษณามาตำบลหนองน้ำใสนั้นลำบากเช่นกัน หากมองถึงข้อดีและข้อเสียในการเลือกที่ตั้งอำเภอภูกระโดนให้มาตั้งอยู่ที่ตำบลหนองหญ้าขาว ตำบลกฤษณาอาจจะต้องการเข้าร่วมการจัดตั้งอำเภอภูกระโดน ถ้าหากตำบลกฤษณาเข้าร่วมหลักเกณฑ์ทุกประการก็จะครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้จังหวัดพิจารณาตำบลกฤษณา ลองสอบถามตำบลกฤษณาอีกครั้ง หากย้ายที่ตั้งอำเภอจากตำบลหนองน้ำใส เป็นตำบลหนองหญ้าขาวจะสนใจหรือไม่”      

  • ไม่กระทบอำนาจหน้าที่เดิม

นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ชี้แจงต่อสภาฯ ว่า “สมาชิกสภาฯ กล่าวถึงการขยายภูมิภาค ที่จะไปกระทบกับท้องถิ่น เชื่อว่าผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคน ต้องเห็นข้อเท็จจริง สมมุติตั้งอำเภอภูกระโดนขึ้นมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง ๓ แห่งในอำเภอภูกระโดน ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จะมีข้อดีคือ ไม่ต้องเดินทางมาติดต่อราชการถึงอำเภอสีคิ้วแต่สามารถติดต่อราชการที่อำเภอได้ ฉะนั้นไม่ได้รับผลกระทบใดๆ อำนาจหน้าที่เหมือนเดิม ไม่ใช่เมื่อตั้งอำเภอขึ้นมาแล้ว ฝั่งนายก อบจ. ต้องลดบทบาทลง ต้องลดอำนาจลง ๒ ข้อ จาก ๘ ข้อก็ไม่ใช่ ฉะนั้นประเด็นเรื่องท้องถิ่นกับภูมิภาคนั้น ไม่กระทบท้องถิ่น รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด การตั้งอำเภอขึ้นมาก็ไม่ได้กระทบอำนาจหน้าที่ลงแต่อย่างใด ส่วนการขยายภูมิภาค การจัดตั้งอำเภอไม่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น แต่เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลเหมือนที่หลายรัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว คือ แบ่งมอบว่าอะไรที่เป็นภารกิจหน้าที่ของท้องถิ่น อะไรที่เป็นหน้าที่พันธกิจของรัฐบาล และมีการบริหารจัดการร่วมกันตามที่ทราบ จึงเรียนเพื่อทราบให้ที่ประชุมพิจารณา ประเด็นที่ ๒ ระบบที่ใช้อยู่ปัจจุบันมีสมาชิกหลายคนอภิปรายไปบ้างแล้วว่า การบริหารจัดการในปัจจุบันนั้น ถ้าจัดตั้งเป็นอำเภอจะต้องมีอะไรบ้าง ที่อภิปรายมีโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ ส่วนราชการต่างๆ ที่จะตั้งอยู่ในระดับอำเภอ นั่นคือสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้นหากมีการตั้งอำเภอขึ้นมา ประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์ในสิ่งที่สมาชิกอภิปรายมา เพราะระบบปัจจุบันก็เป็นเช่นนี้” 

  • ไม่จำเป็นต้องเป็นกิ่งอำเภอก่อน

“ส่วนเรื่องที่สมาชิกอภิปรายมาว่าจะต้องเป็นกิ่งอำเภอก่อนหรือไม่ จึงจะเป็นอำเภอได้ ตามเกณฑ์ระเบียบวาระที่แถลง ข้อ ๑ ต้องเป็นกิ่งอำเภอมาไม่น้อยกว่า ๕ ปี เชื่อว่าทุกคนรู้จักอำเภอกัลยาณิวัฒนา ที่สร้างอำเภอขึ้นมาโดยไม่เคยเป็นกิ่งอำเภอมาก่อน ฉะนั้นข้อเท็จจริงเชิงปฏิบัติชัดเจนว่าตั้งเป็นอำเภอไม่จำเป็นต้องเป็นกิ่งอำเภอ แต่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนตามที่กำหนด ขั้นตอนหนึ่งคือการที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ฉะนั้นเคยเป็นกิ่งหรือไม่เคยเป็นกิ่งนั้นไม่ต้องกังวล ส่วนเกณฑ์ที่กล่าวว่า ต้องมีกี่ตำบล เป็นเกณฑ์ข้อหนึ่ง แต่สาเหตุที่ต้องให้จังหวัดเสนอเข้ามาว่า ขอตั้งอำเภอภูกระโดนที่มีแค่ ๓ ตำบล เนื่องจากหลักเกณฑ์ข้อที่ ๓ การจัดตั้งกิ่งอำเภอและอำเภอ กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ ๑ และ ๒ ความหมายคือไม่จำเป็นต้องตามหลักเกณฑ์ข้อ ๑ และ ๒ ซึ่งไม่เป็นก็ได้ แต่ต้องเข้าตามข้อ ๓ ฉะนั้นไม่ต้องกังวล ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์บอกแล้ว เช่น การตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนาที่ไม่เคยเป็นกิ่งอำเภอมาก่อน ส่วนประเด็นที่เสนอว่าจะให้มีตำบลอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยนั้น สิ่งที่เป็นสาระสำคัญในการจัดตั้งอำเภอก็คือ ต้องได้รับความเห็นชอบประชาชน ต้องเป็นความต้องการของประชาชน เพราะหากไม่ประสงค์ ก็คงไม่ผ่านกระบวนการประชาคมก่อนที่จะขอความเห็นชอบจากสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของแต่ละตำบลก็คงไม่ผ่าน”

  • หัวใจส.อบจ.คือประชาชน

นายกรกต กล่าวอีกว่า “ผมรับราชการมานาน จากที่ไม่เคยเข้ามาประชุมร่วมกับสภา อบจ.นครราชสีมา ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ตั้งแต่รับราชการมา เมื่อเห็นบรรยากาศการประชุมแล้ว อยากเสียภาษีให้กับ อบจ. เพราะเห็นการหารือด้วยเหตุและผล ให้ความสำคัญกับเรื่องที่สภาจะต้องพิจารณา แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผมเชื่อว่า สมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา ทุกคน หัวใจคือประชาชน แม้ไม่ใช่ประชาชนในเขตเลือกตั้ง แต่ชาวโคราชทุกคนอยู่ในใจอยู่แล้ว เชื่อว่าสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน สมาชิกสภาฯ จะพิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรม ฉะนั้น ด้วยความเชื่อมั่นจากที่เห็นการหารือ ในฐานะคนโคราชที่มีรถเติมน้ำมันอยู่ ก็เชื่อว่าจะเสียภาษีให้ อบจ. ภูมิใจที่มีสภา อบจ.ที่เข้มแข็ง ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ส่วนเรื่องเงื่อนเวลาตามที่มีสมาชิกอภิปรายมานั้น จังหวัดไม่ได้ขัดข้อง เพราะทุกเรื่องจำเป็นต้องมีข้อมูล ความรอบคอบเป็นเรื่องที่ดี ฉะนั้นให้เป็นดุลพินิจของสภา แต่ในมุมมองของผู้เสนอญัตติ ประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนในการจัดตั้งอำเภอนั้น ไม่ได้จบที่ สภา อบจ. ต้องผ่านที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด ต้องผ่านความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จึงจะจัดตั้งอำเภอได้ ยังมีอีกหลายขั้นตอน ส่วนอีกหลายสถานที่ที่ยังไม่นำเสนอสภา เพราะยังไม่ลงตัว มีเข้าเกณฑ์นำเสนอสภาเพียงแห่งเดียว จึงขอให้สภาพิจารณา” 

  • ส.จ.สีคิ้วยืนยันคุณสมบัติครบ

นายเลิศชัย ธนประศาสน์ ส.อบจ.อำเภอสีคิ้ว เขต ๒ อภิปรายว่า “ขอเสริมที่รองผู้ว่าฯ ชี้แจง หลักเกณฑ์การตั้งกิ่งอำเภอหรืออำเภอนั้น โดยบริบทจะอยู่ในข้อที่ ๓ หากการพิจารณาตั้งกิ่งอำเภอหรืออำเภอไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ ๑ และ ๒ ด้วยเหตุผลความจำเป็นพิเศษทางภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครองหรือความมั่นคง เช่น ๑.พื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ตำบลหนองน้ำใส มีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นผาสวยงาม ดูดาวตก และมีผาอีกหลายแห่ง ตำบลดอนเมืองก็มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งเช่นกัน จึงเป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความไม่สงบเรียบร้อยและพื้นที่ชายแดน เพราะ ๒ ใน ๓ ตำบลนี้ ติดกับจังหวัดสระบุรีและลพบุรี การเดินทางไกล บางตำบลติดจังหวัดลพบุรี เดินทางมาสีคิ้วระยะทางประมาณ ๘๐ กิโลเมตร หลักเกณฑ์จึงเข้ากับบริบทพื้นที่ ต่อมาเป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริ เนื่องจากตำบลหนองน้ำใสทำโครงการพระราชดำริ รวมทั้งอยู่ในนโยบายของนายก อบจ. ที่แถลงต่อสภาแห่งนี้ในนโยบาย ๔ ข้อ คือข้อ ๑ นโยบายโครงการตามแนวพระราชดำริ ส่งเสริมสนับสนุนบริหารจัดการน้ำเพื่อการแก้ไขและการป้องกันปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยทั้ง ๓ ตำบล มีอ่างน้ำขนาดใหญ่ ที่รองรับน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ ๗ แห่ง และแหล่งน้ำที่ไหลมาอีกถึง ๗๓ แห่งในเขต ๓ ตำบล ฉะนั้น การทำโครงการพระราชดำริสามารถทำได้แน่นอน รวมทั้งนโยบายข้อ ๒ ด้านคุณภาพชีวิต จะเป็นการส่งเสริมด้านสาธารณสุข พัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้สูงอายุ เด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส หากเป็นอำเภอ อันดับแรกของนโยบายข้อ ๒ คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมสาธารณสุข หมายถึงโรงพยาบาล ที่ขณะนี้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทำเรื่องขอจัดตั้งโรงพยาบาลประจำอำเภอแล้ว เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตรงกับนโยบายของ นายก อบจ.”

“หากตั้งอำเภอและมีโรงเรียนประจำอำเภอ ๑ แห่ง จะอยู่ในสังกัด อบจ. คือโรงเรียนสีคิ้วหนองหญ้าขาว รวมทั้งโรงเรียนในสังกัด สพป.เขต ๔ อีก ๑๗ แห่ง และการศึกษานอกระบบ ๓ แห่ง มีวัด ๔๗ แห่ง มีสำนักสงฆ์ ๑๖ แห่ง หากเป็นอำเภอจะมีสถานีตำรวจ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยของประชาชน และสถานที่ตั้งอำเภอใหม่ จะขยายตัวเป็นศูนย์รวมด้านเศรษฐกิจและสังคม ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การสร้างเสถียรภาพในพื้นที่ เกิดการพัฒนาระบบขนส่ง และระบบอุปโภคด้านต่างๆ ซึ่งมีถนนถ่ายโอนของ อบจ. มีถนนที่เชื่อมตำบลที่ อบจ. ได้ดำเนินการแล้ว เชื่อมต่อกับ ๓ ตำบล การพัฒนาด้านขนส่งต่างๆ จะสะดวกยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุด นโยบายข้อที่ ๔ ด้านการพัฒนาเมือง มีการประสานความร่วมมือกับอปท.อื่นๆ ครบทุกองค์ประกอบ” นายเลิศชัย กล่าว

  • เป็นหน้าเป็นตาของสภา

นายเลิศชัย กล่าวปิดท้ายว่า “พวกเราในฐานะที่เป็นผู้ร่วม โดยมีผู้นำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกฯ และสมาชิกสภาเทศบาล สมาชิก อบต. มาร่วมฟังความคิดเห็น ต้องการความคิดเห็นและกำลังใจกับ ส.อบจ. ทุกคน ที่เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนถ้าอำเภอภูกระโดนถูกจัดตั้งขึ้นในสมัยนางยลดา เป็นนายก อบจ. จะทำให้เป็นหน้าเป็นตา และเป็นเกียรติต่อสภา ไม่ใช่เฉพาะ ส.อบจ.อำเภอสีคิ้วเขตเดียว แต่เป็นหน้าเป็นตาของสภา อบจ. ว่า ส.อบจ. ทั้ง ๔๘ คน เล็งเห็นถึงความสำคัญของประชาชน ต้องการเห็นความเจริญในบ้านเมืองของเรา ตรงกับนโยบาย ๔ ข้อที่นายกฯ แถลงต่อสภาไปแล้ว ผมในนามตัวแทนของอำเภอสีคิ้ว ร่วมกับนายศิริพงศ์ มกรพงศ์ (ส.อบจ.สีคิ้ว เขต ๑) ขอขอบคุณสมาชิกทุกคน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกจะเห็นถึงความสำคัญของประชาชนอำเภอสีคิ้วและยินดีที่จะร่วมนำเสนอสิ่งต่างๆ ต่อไป”   

เมื่อสมาชิกสภาฯ อภิปรายเสร็จสิ้น นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภาฯ กล่าวขอมติสภาฯ เนื่องจากมีความคิดเห็นแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือให้จัดตั้งกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษารายละเอียดการจัดตั้งอำเภอภูกระโดน และอีกส่วนต้องการให้เห็นชอบในวันนี้ จึงขอให้สมาชิกระบุว่า จะดำเนินการอย่างไร

  • ตั้งคณะกรรมการศึกษา

นายชวาล พัฒนกำชัย เสนอว่า “ขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาการจัดตั้งอำเภอใหม่ อำเภอภูกระโดน ๗ คน พร้อมกำหนดระยะเวลาให้เสร็จสิ้นภายใน ๒๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป” ซึ่งมีสมาชิกสภาฯ ยกมือรับรองข้อเสนอตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ โดยคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาการจัดตั้งอำเภอใหม่ อำเภอภูกระโดน ได้แก่ ๑.นายโกวิทย์ เลาวัณย์ศิริ ๒.นายเลิศชัย ธนประศาสน์ ๓.นายสมพร จินตนามณีรัตน์ ๔.นายเจษฎา พิทยาภรณ์ ๕.นายทวีศิลป์ เสนามา ผู้แทนจังหวัดนครราชสีมา ๖.นายชัยวัฒน์ เหล็กจันอัด ปลัดอาวุโสอำเภอสีคิ้ว และ ๗.นางสาวนงค์รักษ์ พวกจันทึก ปลัดอำเภอสีคิ้ว 

  • ปลัดจังหวัดชี้เหลืออีกหลายขั้น

ต่อมาวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์กับ ‘โคราชคนอีสาน’ เกี่ยวกับการจัดตั้งอำเภอใหม่ อำเภอภูกระโดนว่า “การจัดตั้งอำเภอใหม่ในขณะนี้มีเพียง ๑ อำเภอ คือ อำเภอภูกระโดน ซึ่งอยู่ในขั้นการเสนอผ่านสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมส่วนราชการ เสนอส่วนกลาง และอีกหลายขั้นตอน โดยจะต้องผ่านครบทุกขั้นตอน หากขั้นตอนใดไม่ผ่านก็ตกไป การเสนอจัดตั้งอำเภอจะต้องเป็นความต้องการของประชาชน ซึ่งมีขั้นตอนตามมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้อย่างชัดเจน” 

ทั้งนี้ สถานที่ก่อตั้งศูนย์ราชการอำเภอภูกระโดนเป็นที่ราชพัสดุ ตั้งอยู่ที่บ้านทรัพย์ทวี หมู่ที่ ๑๘ ตำบลหนองน้ำใส อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จำนวนเนื้อที่ ๑๐๘ ไร่ ๒ งาน ๕๘ ตารางวา และอยู่ห่างจากอำเภอสีคิ้ว ๓๗ กิโลเมตร   

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๔ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

958 1634