29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

February 11,2021

‘มันไฟว์’ขนมมันสำปะหลังไทย ทะยานไกลสู่อินเตอร์ สร้างรายได้ คืนกำไรสู่ท้องถิ่น

 

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทอดกรอบ ‘มันไฟว์’ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เป็นการส่งเสริมความรู้ของเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนและต่อยอดธุรกิจมันสำปะหลังในอนาคต ตั้งเป้าทะยานไกลสู่อินเตอร์ หลังจีนและสหรัฐฯ สนใจ หวังช่วยสร้างรายได้และคืนกำไรสู่ท้องถิ่น

 


เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังภาคอีสานต้องเผชิญปัญหาที่ไม่แน่นอนด้านการเพาะปลูกในทุกๆ ปี ตั้งแต่ลักษณะสภาพดินที่เค็มและไม่อุ้มน้ำ ซ้ำร้ายในบางปีฝนฟ้าอากาศก็ไม่ตกตามฤดูกาล ทั้งปัญหาผลผลิตล้นตลาดและสภาวะราคามันสำปะหลังตกต่ำลง (ข้อมูลจากสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยระบุว่า ราคามันสำปะหลังในปี ๒๕๖๔ ตกเพียงกิโลกรัมละ ๒-๒.๗ บาทเท่านั้น) และนอกจากนี้ยังมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ต้องการจะเพิ่มมูลค่าให้แก่มันสำปะหลัง แต่ยังขาดองค์ความรู้ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น

 

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแผ่นทอดกรอบภายใต้แบรนด์ ‘มันไฟว์ (Munfive)’ ได้เติบโตขึ้น โดยนายชนวีร์ สุดโตตระกูล ต้องการที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่มันสำปะหลัง จึงลองนำมันสำปะหลังมาทอดและแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยว พร้อมบรรจุลงในถุงห่อใสจำหน่ายภายในชุมชน โดยนายชนวีร์เผยว่า “ผมลาออกจากงานประจำ กลับมาอยู่บ้านกับแม่ ที่อำเภอบ้านไผ่ แม่เป็นเกษตรกรที่ปลูกทุกอย่าง รวมทั้งมันสำปะหลัง พอดีไปเห็นสินค้าของต่างประเทศที่ใช้มันสำปะหลังชนิดหวานทำ และที่บ้านมีก็เลยลองแปรรูปดูจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ”

อย่างไรก็ตาม มันไฟว์ก็ยังประสบปัญหาอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอต่อตลาดใหญ่ ปัญหาการขาดทุนในตลาดเล็ก และปัญหาที่ไม่สามารถตีตลาดไทยแตก เนื่องจากปัจจัยคนไทยยังนิยมบริโภคมันฝรั่งมากกว่า จนสุดท้ายได้มีโอกาสไปออกบูทที่งาน THAIFEX-Anuga Asia มีลูกค้าจากจีนและสหรัฐฯ สนใจในผลิตภัณฑ์ นั่นจึงทำให้คุณชนวีร์เลือกที่จะพาธุรกิจมันไฟว์เดินต่อด้วยช่องทางใหม่ คือ การส่งออกนอกประเทศ โดยคุณชนวีร์ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า “การส่งออกไปจีนได้มีการขอ อย. และทำการส่งออกเอง ส่วนของสหรัฐฯ มีมาตรฐานค่อนข้างสูงจึงเป็นการส่งผ่านตัวแทน (Trade) แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องแข่งกับ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน” ทั้งนี้ การเติบโตของธุรกิจมันไฟว์ นอกจากจะส่งผลดีต่อเจ้าของธุรกิจ ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะมีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่ และถือเป็นการยกระดับความรู้เกษตรกรอีกด้วย โดยในปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ได้พาเกษตรกรมาศึกษาดูงานที่ บริษัทบุญทัน ฟูดส์ ซึ่งการมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ ส่งผลให้เกษตรกรเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาศักยภาพในการผลิตมันสำปะหลังของตนเองต่อไปได้

 

นอกจากนี้ นายชนวีร์ยังกล่าวถึงหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่า “ผมเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการกับทางอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มจากพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์กับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี และศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีตัวสินค้าเป็นตัวซองสีส้มและสีดำ แต่ก่อนทำตามความคิด แต่ว่าการทำธุรกิจต้องมีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสินค้า ๑ ชิ้นขึ้นมา เพื่อจะให้ออกตลาดต้องอาศัยความรู้หลายๆ ด้าน เช่น การออกแบบ อย่างผมก็มีสูตรในการทำขนมอยู่แล้วจะทำอย่างไรให้สินค้าเรามีรูปลักษณ์ภายนอกสามารถที่จะแข่งขันในตลาดได้ ก็เลย walk-in เข้าไปที่หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น”

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทอดกรอบ ‘มันไฟว์’ เรียกได้ว่า นอกจากจะประสบความสำเร็จในทางธุรกิจแล้ว ยังประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอีกด้วย นับว่าเป็นการช่วยกระจายรายได้และคืนกำไรสู่ท้องถิ่น อีกทั้งเป็นฐานความรู้ที่ช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ให้สามารถขับเคลื่อนและต่อยอดธุรกิจมันสำปะหลังต่อไปได้ในอนาคต

 

ปัจจุบัน นายชนวีร์ สุดโตตระกูล เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท บุญทันฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ขนมมันสำปะหลังชนิดหวานทอดกรอบ ภายใต้แบรนด์ “มันไฟว์” (Munfive) และ “คาสโต” (Casto) ซึ่งเคยเข้าร่วมแผนงานบ่มเพาะธุรกิจฯ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี ๒๕๕๗ โดยได้รับการสนับสนุนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการออกบูทเชื่อมโยงธุรกิจ ที่เดิมทีเป็นเพียงธุรกิจครอบครัว แต่ปัจจุบันได้ขยายฐานการผลิตเพื่อการส่งออก และรับจ้างผลิตให้แบรนด์ดังๆ มากมาย

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๖ วันพุธที่ ๑๐ - วันอังคารที่ ๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

740 1392