28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

February 20,2021

โคราชประสาน ๔๗ องค์กร ยกระดับศักยภาพเมืองไมซ์ พัฒนาก้าวสู่ระดับนานาชาติ

โคราชจัดงาน “Korat MICE City Moving Forward” ผนึกเครือข่ายไมซ์ ๔๗ องค์กรในจังหวัด ลงนามร่วมกับทีเส็บ เพื่อพัฒนาความเป็นเมืองไมซ์ ยกระดับศักยภาพของเมืองและอุตสาหกรรมไมซ์สู่นานาชาติ “ผู้ว่าวิเชียร” มั่นใจ การลงนามไม่ใช่แค่กระดาษแขวนไว้ แต่เป็นสัญญาเดินหน้าไปพร้อมกัน

 

ตามที่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (TCEB) รับรองให้จังหวัดนครราชสีมา เป็น MICE City จังหวัดที่ ๖ ของประเทศไทย ต่อจาก จังหวัดภูเก็ต จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดชลบุรี (พัทยา) และกรุงเทพมหานคร โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รับโล่การเป็น MICE City จากนายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายในงาน Thailand’s MICE United เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๓ นั้น

เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ที่เทอร์มินอลฮอลล์ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ ทีเส็บ รวมทั้ง ศูนย์ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการและการท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (NCEC) และภาคีเครือข่าย จัดงาน KORAT MICE CITY Moving Forward and Collaboration เพื่อลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาโคราชเมืองไมซ์ ระหว่างทีเส็บ กับภาคีเครือข่ายอุตสาหกรรมไมซ์จังหวัดนครราชสีมา ๔๗ องค์กร เพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองไมซ์มรดกโลก ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ พร้อมด้วยนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนสถาบันการศึกษาและอุดมศึกษา ภาคเอกชน และสื่อมวลชน อาทิ สมาคมสมาพันธ์สื่อมวลชนพันธมิตรนครราชสีมา ร่วมลงนาม โดยพิธีลงนามครั้งนี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโคราชไมซ์ซิตี้ และยกระดับศักยภาพของเมืองและอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) 

สนับสนุนโคราชไมซ์ซิตี้

นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล กล่าวว่า “ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม ไมซ์ ในฐานะอุตสาหกรรมที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงของประเทศไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชั้นสูง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเล็งเห็นว่าเมืองไมซ์ซิตี้ จะส่งผลให้โคราช และกลุ่มนครชัยบุรินทร์ ในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ ตลอดการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ให้กับภาคส่วนต่างๆ ตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือกับระหว่างเมืองนครราชสีมา กับเครือข่ายและสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ที่เริ่มไปแล้ว ได้แก่ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์โคราชเมืองไมซ์ ทำให้โคราชมีวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองไมซ์ คือ เมืองไมซ์มรดกโลก ศูนย์กลางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อส่งเสริมให้สถานที่ประชุมและสถานที่จัดงานในโคราช ได้รับมาตรฐานที่เรียกว่า TMVS (Thailand MICE Venue Standard) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของโคราชอยู่ในฐานข้อมูล MICE Connect และศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ขึ้นในจังหวัด รวมถึงกิจกรรมการส่งเสริมการตลาดโคราชเมืองไมซ์ รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ระดับนานาชาติให้กับจังหวัดนครราชสีมา คือ มหกรรมพืชสวนโลก ในปี พ.ศ.๒๕๗๒” 

ขับเคลื่อนไมซ์อย่างยั่งยืน

  “สำหรับจังหวัดและภาคีเครือข่ายอุตสาหกรรมไมซ์ในโคราช มีแนวทางและกลไกการขับเคลื่อนเมืองไมซ์ให้มีความยั่งยืนและต่อเนื่อง โดยการกำหนดให้มีคณะกรรมการโคราชเมืองไมซ์ที่จะวางแผนการพัฒนาเมืองอย่างมีทิศทาง สำหรับงาน Korat MICE moving forward and collaboration ที่จังหวัดจัดขึ้นในวันนี้ เพื่อนามความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการของโคราช ร่วมกับภาคีเครือข่ายอุตสาหกรรมไมซ์จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือทีเส็บ หน่วยงานสำคัญที่ให้คำปรึกษา และส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ให้กับโคราชตลอดมา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรอบความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงนี้ จะนำไปสู่กิจกรรม โครงการศึกษาวิจัย กิจกรรมการจัดงานเทศกาล งานประชุม งานนิทรรศการ ที่เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางของชาวโคราชต่อไป” นายจรัสชัย กล่าว

ไมซ์ทำให้เกิดการค้าและการลงทุน

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวว่า “ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่พบกับผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดที่ทำงานร่วมกันมา อาทิ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ประธานสภาอุตสาหกรรม และภาคีเครือข่ายอุตสาหกรรม ไมซ์จังหวัดนครราชสีมา ทุกคนถามเสมอว่า เป็นไมซ์ซิตี้แล้วดีอย่างไร สิ่งที่ทำมาทั้งหมด หากนับได้ก็ประมาณ ๑๐ ปี ตั้งแต่ช่วงที่ชาวต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ซึ่งขณะนี้ก็เช่นกัน เพราะความไม่แน่นอน ทำให้ทีเส็บ ซึ่งเดิมมีภารกิจดึงงานต่างประเทศเข้ามาในส่วนของไมซ์ หรือเรียกว่าเป็นการจัดประชุมสัมมนา การจัดประชุมนานาชาติ เป็นการจัดประชุมที่มีชาวต่างชาติเข้ามามากกว่า ๓-๔ ประเทศ จนถึงระดับโลก มีผู้เข้าร่วมกว่า ๑๐๐ ประเทศ รวมไปถึงการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อทำให้เกิดการค้า และการลงทุนในประเทศไทย” 

๔๗ องค์กรความร่วมมือที่สำคัญ

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวอีกว่า “ผมมีโอกาสร่วมงานกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา จัดงาน Northeast TECH Thailand ซึ่งสนับสนุนตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา และเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เกี่ยวกับเครื่องจักรต่างๆ เพื่อพัฒนาให้เป็นงาน Business to Business มากขึ้น งานนี้มีฝ่ายเมกะอีเว้นท์อยู่ ๒ ส่วน คือการสร้างงานจากในพื้นที่ ซึ่งกำลังทำวิจัยกับสมาคม เกี่ยวกับการนำเรื่องของดินที่เป็นเอกลักษณ์ ในการนำมาพัฒนางานต่างๆ ที่เป็นงานด้านอีเว้นท์และนำต่างชาติเข้ามาดูงาน ผมมีโอกาสพบกลุ่มวัฒนธรรม และพูดคุยกับสถานศึกษา การลงนามความร่วมมือจะไม่ประสบความสำเร็จเลย ทั้ง ๔๗ หน่วยงาน ถือเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมมือกัน ใช้วิธีการระเบิดจากข้างใน การยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ก่อนที่ต่างชาติจะเข้ามาหาเรา ต้องเตรียมการในการดึงงานพืชสวนโลก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ก็จะนำทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไปที่ Inter Continental ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เพื่อนำเสนอ ขอเป็นเจ้าภาพระดับเอ”

ไม่เป็นกระดาษที่แขวนไว้

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นอัตลักษณ์ เป็นวัฒนธรรม โดยจะมีงานมหกรรมศิลปนานาชาติที่จะเกิดขึ้น เป็นเรื่องไมซ์ทั้งสิ้น ฉะนั้น ไมซ์เป็นกลไก ทีเส็บทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และเป็นผู้สนับสนุน ให้ข้อมูลด้านมาตรฐาน การอบรม สนับสนุนงบประมาณ และกำลัง ที่จะทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นด้วยตัวเอง เชื่ออย่างยิ่งว่า การลงนามความร่วมมือนี้ จะไม่เป็นกระดาษแค่แขวนไว้ เช่นที่นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวไปเมื่อวานกับผมด้วยตัวเอง แต่การลงนาม ๔๗ หน่วยงาน จะเป็นสัญลักษณ์ จะเป็นสัญญาที่จะเดินหน้าโคราชไปด้วยกัน ทั้งนี้ ต้องขอบคุณที่ทำให้มีโอกาสพูดคุยกับทุกภาคส่วนจริงๆ เราเป็นเพียงหน่วยงานเล็กๆ ที่จะมาเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้เดินหน้าด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ และดีใจอย่างยิ่งที่บ่ายนี้จะมีศูนย์ประสานไมซ์ ถึงแม้สำนักงานต่างจังหวัดจะอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่ไม่ได้แปลว่ารักขอนแก่นมากกว่าโคราช ครั้งนี้ขอนแก่นก็มา บุรีรัมย์ก็มา พวกเราต้องร่วมกัน” ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าว

เสวนาทิศทางโคราชเมืองไมซ์

จากนั้น ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ ทิศทาง “โคราชเมืองไมซ์ Korat MICE City Moving Forward” โดยมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม ทีเส็บ นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ และนายนิมิตร พิพิธกุล ประธานมูลนิธิหุ่นสายเสมาศิลปะเพื่อสังคม เสมาลัย ในฐานะผู้แทนภาคประชาชน ร่วมการเสวนา

ไมซ์ดึงเอกลักษณ์เมืองโคราช

นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล กล่าวว่า “โคราชได้รับประกาศและรับโล่อย่างเป็นทางการจากรองนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๓ ในงาน Thailand MICE United ที่กรุงเทพมหานคร ดังนั้น ความเป็น Mice City ส่งผลให้โคราช และจังหวัดใกล้เคียง เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจ การสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น และที่สำคัญสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ภาคส่วนต่างๆ ในโคราช เพื่อที่จะได้เกิดการเดินทางเพื่อแลกเปลี่ยนเวทีการประชุม และการแสดงสินค้าต่างๆ ที่จะจัดขึ้นตามมาในอนาคตอันใกล้ ตลอดจนเป็นทิศทางในการดึงเอกลักษณ์ของเมืองโคราชยกระดับสู่ระดับชาติและนานาชาติต่อไป”

“ซึ่งที่ต้องดำเนินการเป็นรูปธรรมไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ โคราชเมืองไมซ์ เพื่อให้โคราช มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองไมซ์ ตามวิสัยทัศน์ เมืองไมซ์มรดกโลก ศูนย์กลางเศรษฐกิจท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งเสริมสถานที่ประชุมและจัดงานในจังหวัดให้ได้รับมาตรฐาน ที่เรียกว่า TMVS ต้องมีศูนย์ข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของโคราชได้อยู่ในฐานข้อมูลดังกล่าว การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการสร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ในโคราช ส่งเสริมการตลาดของโคราชเมืองไมซ์ รวมทั้งสนับสนุนมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยความตั้งใจของทุกภาคส่วนในโคราช” 

ไมซ์สร้างรายได้กว่า ๒ แสนล้านบาท

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ กล่าวว่า “ภาพรวมของอุตสาหกรรมไมซ์ โดยปกติแล้วหากไม่เกิดวิกฤตโควิด-๑๙ จะสร้างรายได้ให้การขับเคลื่อนประเทศชาติกว่าสองแสนล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นการดึงนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาทำกิจกรรมไมซ์ประมาณหนึ่งแสนล้านบาท และอีกหนึ่งแสนล้านบาทเกิดจากคนไทยจัดกิจกรรม และการเดินทางเพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นจากวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นทำให้สถานการณ์ของไมซ์ต่ำลงเกือบ ๗๐% อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและผู้อำนวยการทีเส็บ ได้ขับเคลื่อนให้ภายในประเทศยืนอยู่ได้โดยการจัดงานภายในประเทศ ขณะนี้ได้ขับเคลื่อนร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ ประกอบด้วย สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ, สมาคมงานแสดงสินค้า, สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์ รวมถึง สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย ในการร่วมออกแบบและสร้างงานเทศกาลที่เหมาะสมให้กับเมือง สู่การเป็นเมืองไมซ์ที่ได้มาตรฐาน”

จัดเสวนาความรู้ผ่านอุตสาหกรรม 

 นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๖๑ อยู่ที่ ๑๖.๓ ล้านล้านบาท อยู่ที่ภาคอีสาน ๑๐% ประมาณ ๑.๕-๑.๖ ล้านล้านบาท อยู่ที่โคราช ๒๐% ประมาณ ๓ แสนล้านบาท ที่ประชากร ๒.๕ ล้านคน หมายความว่า ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อคนประมาณ ๑ แสนกว่าบาทต่อปี ในผลิตภัณฑ์มวลรวม ๓ แสนล้านบาทต่อปีนั้น อยู่ในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ๑,๘๓๙ แห่ง ประมาณ ๑ แสนกว่าล้าน ได้แก่ ๑.อุตสาหกรรมเครื่องกลและชิ้นส่วนยานยนต์ ๒.ด้านพลังงาน ๓.ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ๔.ด้านอาหาร และ ๕.ด้านเกษตร  เมืองไมซ์ซิตี้ต้องมีเรื่องราว (Story) เช่น โคราชเป็นเมืองมันสำปะหลังของประเทศไทย กำลังการผลิตคิดเป็น ๓๐% หรือ ๑ ใน ๓ ของภาคอีสาน สามารถที่จะจัดงานหรือชักชวนให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศเข้ามาจัดเสวนาหรือจัดงาน รวมถึงเข้ามาชมโรงงานการผลิตในโคราชได้ ซึ่งเดิมมีการจัดทำอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีรูปแบบอย่างเป็นทางการให้บุคคลภายนอกรับรู้เท่านั้น”

“การได้รับความร่วมมือจากทีเส็บในการจัดงาน มหกรรมเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Northeast Tech) เพื่อทำให้เกิดความรับรู้ เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ให้โคราชยกระดับ หวังว่า จะได้จัดงานดีๆ ให้คนโคราช นครชัยบุรินทร์ และภาคอีสาน สู่งานระดับนานาชาติต่อไป สำหรับยอดขายของบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และซีพีเอฟ ไม่ได้อยู่ใน GPP โคราช แม้จะตั้งอยู่ในพื้นที่ของโคราช แต่กลับไปลงบัญชีที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งซีเกท มียอดขายกว่า ๑ แสนล้านบาท และซีพีเอฟ มียอดขายกว่า ๔ แสนล้านบาท หากจะสร้างเรื่องราวว่า ฮาร์ดดิสก์ภายในโลกนี้มากกว่า ๓๕% ผลิตโดยโรงงานซีเกท ที่ตั้งอยู่ในโคราช จะเป็นไปได้หรือไม่ หากซีเกทจะจัดให้ลูกค้าที่มีอยู่ทั่วโลก มาเยี่ยมชมโรงงานการผลิต ที่ทันสมัย แม้การคมนาคมขณะนี้จะไม่เอื้ออำนวย แต่ในอนาคตคาดว่า โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะจัดเสวนาดีๆ นำลูกค้าต่างชาติเข้ามาสู่โคราช เพื่อสร้างการรับรู้ได้” นายหัสดิน กล่าว

สถาบันพร้อมรองรับการจัดกิจกรรม

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ กล่าวว่า “การท่องเที่ยวและจัดประชุม สัมมนา เป็นเรื่องที่ไปด้วยกัน หมายความว่า เมื่อมีการจัดประชุมระดับโลก ผู้ร่วมประชุม จะต้องไปท่องเที่ยวเพื่อก่อให้เกิดรายได้ให้คนในประเทศนั้น เมื่อมีงานเกิดขึ้น ทีเส็บต้องเป็นผู้ดำเนินงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เตรียมงาน และต้องไปหางาน ดึงดูดงานจากต่างประเทศเข้ามาด้วย หรือส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชน ช่วยส่งเสริมให้ดึงดูดงานใหญ่ๆ เข้ามา ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศ สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในโคราช มีอาคาร สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวก ผ่านการประเมินจากทีเส็บ มหาวิทยาลัยหลายแห่งเตรียมพร้อมในการจัดกิจกรรม ส่วนการพัฒนาบุคลากร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา รับอาสาเป็นศูนย์กลางในเรื่องการพัฒนาบุคลากร มิใช่เพียงหลักสูตรที่ได้รับปริญญา แต่ต้องจัดเป็นหลักสูตรโมดูล เพื่อรองรับอุตสาหกรรมไมซ์ด้วย” 

สร้างการเปลี่ยนแปลงทางความคิด

นายนิมิตร พิพิธกุล กล่าวว่า “เมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๔ ผมมีโอกาสทำเทศกาลหุ่นโลกซึ่งผู้สนับสนุนคือทีเส็บ ทำให้เกิดความเป็นนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลก ผมเป็นประชาชนเล็กๆ คนหนึ่ง รู้จักศิลปะคือหุ่น แต่กลับไปในระดับโลกและสร้างมูลค่าให้กับประเทศมหาศาล ไมซ์เกี่ยวข้องกับตัวเรามาก หัวใจสำคัญคือ เรากำลังทำอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Circular Economy หรือเรียกว่าวงจรเศรษฐกิจที่เชี่ยมโยงกันอยู่ ซึ่งจะเกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงจะไม่ได้เปลี่ยนเพียงการจับมือระหว่างองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเปลี่ยนชุดความคิดของประชาชน ดั่งในหนังสือ ‘โลกปรับ คนเปลี่ยน’ ที่กล่าวว่า สิ่งที่เรากำลังจะต้องเปลี่ยน คือ การสร้างวุฒิปัญญา หรือ Collective Wisdoms ที่ทำให้ต้องแก้ปัญหา เช่น เมื่อเกิดโควิด-๑๙ จะใช้เงินเปลี่ยนไม่ได้ และในอนาคตที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ที่เงินไม่สามารถแก้ได้ ต้องใช้คนที่มีปัญญามาร่วมกันแก้”

กระตุ้นความเป็นโคราชให้มากที่สุด 

“เราไม่ได้นำไมซ์มาแก้เฉพาะเศรษฐกิจเข้าสู่ประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ใช้ไมซ์ในการพัฒนาพลเมืองได้ M คือ Meeting ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการประชุมของคนที่อยู่ในบ้านเรา ให้เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนมุมความรู้ที่แตกต่าง หลากหลาย ซึ่งมี ๔๗ องค์กรในครั้งนี้ ทำให้ประชาชนทราบเพียงหน่วยงานเดียว แต่ไม่ทราบเลยว่า องค์กรแต่ละโครงสร้างขับเคลื่อนอย่างไร มีนโยบาย หรือยุทธศาสตร์อย่างไร หากผลัดกันเรียนรู้เพื่อให้ปัญญาถูกถ่ายทอดไปสู่ความรู้ที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้ หากประชาชนรู้ก็จะรู้ว่าจะขับเคลื่อนไปอย่างไร โดยที่ไม่ทำในสิ่งที่ตนรู้และทำได้ การประชุมจะทำให้เพิ่มการเรียนรู้ เพื่มความเฉลียวฉลาดของคนให้มากขึ้นเรื่อยๆ ภาพของนักท่องเที่ยวจีนและชาวโคราช มีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันคือมีจำนวนประชากรมาก ผมเคยคุยกับคนจีนโดยถามว่า ทำอย่างไรให้มีนักท่องเที่ยวจีนเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ทั่วโลกต้องการ จะทำอย่างไรให้ชาวโคราชเป็นพลเมืองที่ประชาชนโหยหา นักท่องเที่ยวจากโคราชหรือผู้ที่มีความรู้ หรือนักท่องเที่ยวจากโคราช หรือผู้เชี่ยวชาญจากโคราช และแรงงานจากโคราช สิ่งเหล่านี้คือทรัพยากรที่มีปริมาณมากที่สุด แต่ประเทศจีนใช้กลวิธี คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น จะนำงบประมาณให้นักท่องเที่ยวจีน ไปเที่ยวกันเองภายในประเทศจีน กระจายนักท่องเที่ยวให้เข้าถึงพื้นที่เล็กๆ ทั้งหมด เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ รวมทั้งการกระจายความรู้ ทำให้พื้นที่ที่รู้ว่ากระบวนการที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับใหญ่จนถึงเล็ก ทำให้รู้จักใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยว ทำให้หลายประเทศต้องการนักท่องเที่ยวประเทศจีนมากที่สุด หากกระตุ้นให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้ความเป็นโคราชให้มากที่สุด หลากหลายที่สุด ตั้งแต่เบื้องบน จนถึงรากหญ้า จะทำให้มีไกด์ของชุมชนโดยธรรมชาติ มีกระบอกเสียง เพราะคนจีนทำแบบนั้น”

ความร่วมมือจะสร้างมูลค่าความสำเร็จ

  “I หรือ Incentive จะไม่ใช่เพียงทัวร์อย่างเดียว ก่อนหน้านี้จุดประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวเป็นหัวใจหลัก แต่เมื่อวิกฤตโควิด-๑๙ เกิดขึ้น ภูเก็ต พัทยา หรือจังหวัดที่กำลังจะชูเรื่องท่องเที่ยวต่างล้มทั้งหมด การท่องเที่ยวไม่ใช่การไปเยี่ยม หรือไปถ่ายภาพ หรือไปรู้จักสถานที่เหล่านั้น แต่เป็นการท่องเพื่อเรียนรู้โลก จะนำปัญญามาเป็นจุดสำคัญของการท่องโลกอย่างไร ซึ่งอยู่ในคลื่นลูกที่ ๕ คือ ปัญญา เพราะในอนาคตหากขาดปัญญาในการคิด วิเคราะห์เหตุผล และแก้ไข ปัญหาของโลกจะเข้ามาอีกมากมาย จึงต้องท่องเที่ยวด้วยปัญญา รางวัลของการทำงาน คือ การสร้างงานให้ผู้อื่น การท่องเที่ยวคือเที่ยวอิสระและเที่ยวกลุ่ม กระจายความหลากหลายทุกที่ต้องเที่ยวได้ ต่อมา คือ C หรือ Conferences เป็นการสร้างงานสัมมนาให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดชุมนุมสร้างสรรค์ ทำให้ทุกพื้นที่เป็นหอประชุม เกิดความรู้ที่ไม่เคยรู้ สร้างกลุ่มติดตาม ขยายจำนวน เมื่อความรู้มา สัมมนามา แต่ไม่ขยายหรือต่อยอด ก็จะหยุดเพียงเท่านั้น จำนวนผู้เข้าร่วมจะเน้นการสื่อสารโดยไม่เน้นปริมาณ เพื่อกระจายองค์ความรู้และได้ประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน ส่วน E หรือ Event หมายถึงช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่มองผลระยะยาว เรากำลังทำให้ระดับโลกกับระดับท้องถิ่นมาเจอกัน สร้างมูลค่าให้เกี่ยวพันกัน ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้ ต้องร่วมมือทั้งหมดจึงจะสร้างมูลค่าความสำเร็จได้” นายนิมิตร กล่าว

ทั้งนี้ เมืองไมซ์มีทั้งหมด ๑๐ เมือง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่  ภูเก็ต พัทยา ขอนแก่น นคร ราชสีมา หาดใหญ่-สงขลา อุดรธานี อุบลราชธานี พิษณุโลก นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เชียงราย กาญจนบุรี และชะอำ-หัวหิน โดยทีเส็บจะทำหน้าที่หลักสำคัญในการพัฒนา ส่งเสริมการจัดงานให้เกิดขึ้นในเมือง และการสร้างมาตรฐานและศักยภาพของเมืองในการรองรับนักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ

 

 ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๗ วันพุธที่ ๑๗ - วันอังคารที่ ๒๓ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

963 1609