29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

March 06,2021

ยกระดับเครื่องประดับอีสาน ตั้งเป้าก้าวไกลไปตลาดโลก

เสริมศักยภาพโครงการพัฒนาเครื่องประดับชนเผ่า เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งดินแดน ๕ จังหวัดอีสานใต้ คิกออฟโคราชแห่งแรก พร้อมนำผู้ประกอบการออกแบบและให้ความรู้ เพื่อต่อยอด ‘อีสานมอร์เดิ้น’ ก้าวไกลสู่ตลาดโลก

เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๓๐ น. ที่ห้องอรพิม โรงแรมสีมาธานี นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจ โกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน), นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมเปิดโครงการพัฒนาอัตลักษณ์ ยกระดับเครื่องประดับอีสานใต้ ก้าวไกลโกอินเตอร์ (ESAN More Dern) โดยมีบรรยายความรู้เกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เครื่องประดับอัตลักษณ์อีสานใต้ ทั้งการพัฒนารูปแบบ คุณภาพ และมาตรฐานสินค้า รวมทั้งขยายโอกาสทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการเครื่องประดับ และยกระดับสินค้าให้ได้รับการยอมรับทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ พร้อมจัดแสดงนิทรรศการเครื่องประดับชนเผ่าดินแดนอีสานใต้ และมอบของที่ระลึกให้กับผู้ร่วมงาน

นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล่าวว่า “จังหวัดนครราชสีมามีชื่อเสียงด้านหัตถกรรม ทั้งงานตีเหล็ก งานหล่อทองเหลือง งานทอผ้า งานจักสาน เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน และการผลิตเครื่องประดับในชุมชนต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และชุมชนทวารวดี การที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เลือกจังหวัดนครราชสีมาเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาอัตลักษณ์ เพื่อยกระดับเครื่องประดับอีสานใต้ ก้าวไกลโกอินเตอร์ ที่จะมีการอบรมความรู้ด้านการออกแบบเครื่องประดับและบรรจุภัณฑ์อย่างมีเอกลักษณ์ ความรู้ด้านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตเครื่องประดับที่ทันสมัย เพื่อนำไปสู่การจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ กระทั่งนำไปสู่การออกแบบเครื่องประดับที่มีกลิ่นอายของอัตลักษณ์ท้องถิ่น สำหรับจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในจังหวัด เพราะจะทำให้เกิดการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้ชุมชนมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน”

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ รายงานว่า “อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย โดยเป็นสินค้าซึ่งติดอันดับหนึ่งในสามรายการสินค้าส่งออกหลักที่นำรายได้เข้าประเทศ ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเกือบ ๓๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ ๑ ล้านล้านบาท) ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็น SMEs กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศกว่า ๑๒,๕๐๐ แห่ง ยังไม่รวมกิจการในครัวเรือนอีกจำนวนมาก มีการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทานนับล้านคน รวมแรงงานทั้งในและนอกระบบ นอกจากนี้ ยังมีส่วนในการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างและกระจายรายได้ให้แก่ช่างฝีมือและผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอยู่ไม่น้อย”

“ในปีที่ผ่านมาสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในพื้นที่บริเวณอีสานตอนใต้ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี โดยได้มีการฝึกอบรมพัฒนาทั้งรูปแบบสินค้า เทคนิคการผลิต และการตลาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เครื่องประดับ นำเอกลักษณ์ของภูมิภาคที่สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย และได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ จึงนำมาสู่การขยายผลเป็นโครงการพัฒนาอัตลักษณ์ ยกระดับเครื่องประดับอีสานใต้ ก้าวไกลโกอินเตอร์ ซึ่งมีเป้าหมายต่อยอดด้านเทคนิคการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างแบรนด์ รวมถึงเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนและสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว”

นายสุเมธ กล่าวว่า “สำหรับปี ๒๕๖๔ โครงการพัฒนาอัตลักษณ์ ยกระดับเครื่องประดับอีสานใต้ ก้าวไกลโกอินเตอร์ นอกจากจะดำเนินการพัฒนารูปแบบและคุณภาพของเครื่องประดับเอกลักษณ์ของอีสานใต้ แก่ผู้เข้าร่วมโครการแล้ว ยังจะได้ต่อยอดไปถึงความรู้ด้านการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เครื่องประดับอัตลักษณ์อีสานใต้ ขยายโอกาสทางการตลาด กระจายรายได้ ความมั่งคั่งยั่งยืนแก่ผู้ประกอบการพร้อมยกระดับสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการจัดฝึกอบรมในวันนี้ถือเป็นการเริ่มคิกออฟเปิดตัวโครงการพัฒนาอัตลักษณ์ ยกระดับเครื่องประดับอีสานใต้ ก้าวไกลโกอินเตอร์ อย่างเป็นทางการในจังหวัดนครราชสีมา และในท้ายที่สุดจะได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบเครื่องประดับอัตลักษณ์อีสานใต้ ไปจัดแสดงและจำหน่ายภายใต้นิทรรศการ Gems Treasure ภายในงานบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ ในเดือนกันยายน ๒๕๖๔” นายสุเมธ กล่าว

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า “โครงการพัฒนาอัตลักษณ์ ยกระดับเครื่องประดับอีสานใต้ ก้าวไกลโกอินเตอร์ ในวันนี้ ได้เห็นผู้ประกอบการ นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ให้ความสนใจ และเข้าร่วม เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ใหม่ๆ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ และนักออกแบบมืออาชีพ ในการพัฒนารูปแบบ คุณภาพ และมาตรฐานสินค้า และเพื่อขยายโอกาสทางการตลาดให้ก้าวไกลสู่ตลาดโลก”

“กิจกรรมจัดขึ้นเพื่อต้องการให้ทุกคนทราบว่า งานฝีมือของอีสานใต้ มีจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ดินด่านเกวียนจากนครราชสีมา เครื่องเงินจากอุบลราชธานีและศรีสะเกษ รวมทั้งเส้นไหมจากบุรีรัมย์ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้บุคลากร ผู้ประกอบการ และแรงงานมากขึ้น ประกอบทั้งคนต่างประเทศที่ชื่นชอบจะได้เห็นการออกแบบที่หลากหลาย มีความสวยงาม ทำให้เป็นจุดแข็งของอีสานใต้ และร่วมผลักดันในอนาคต โดยหลังจากโควิด-๑๙ ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น เพราะอัตราการท่องเที่ยวในอดีตมีมากถึง ๒ ล้านล้าน เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งจะมาช้อปและใช้ในถิ่นอีสานใต้ที่เรามี จึงคาดว่า อีสานใต้ จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมหลังโควิด-๑๙ สำหรับอัญมณีและ GI ต้องไปด้วยกัน ซึ่งประเทศไทยเหลือเพียงจังหวัดอ่างทอง ในอนาคตจะต้องผลักดันให้จังหวัดอ่างทองมี GI ส่วนอุปสรรค คือ จากสถานการณ์โควิด-๑๙ ทำให้อัญมณีลดลงถึง ๘๐% รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องขาดสภาพคล่อง จึงต้องการนำภูมิปัญญาของไทยเข้ามาเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่ามากขึ้น” นายวีรศักดิ์ กล่าว

สำหรับโครงการพัฒนาอัตลักษณ์ยกระดับเครื่องประดับอีสานใต้ ก้าวไกลโกอินเตอร์ หรือ อีสาน มอร์เดิ้น (ESAN More Dern) จัดขึ้น ๕ จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ได้แก่ วันที่ ๑-๒ มีนาคม ๒๕๖๔ โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา, วันที่ ๒-๓ มีนาคม ๒๕๖๔ โรงแรมโซริน บูทีค จังหวัดสุรินทร์, วันที่ ๓-๔ มีนาคม ๒๕๖๔ โรงแรมเรย์ โฮเทล จังหวัดบุรีรัมย์, วันที่ ๔-๕ มีนาคม ๒๕๖๔ โรงแรมศรีลำดวน จังหวัดศรีสะเกษ และวันที่ ๕-๖ มีนาคม ๒๕๖๔ โรงแรมนาถสิริ จังหวัดอุบลราชธานี

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๙ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

945 1586