29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

March 20,2021

สร้าง‘เมืองใหม่โคราช’ชาติหน้า เสนอย้ายศูนย์ราชการไม่สำเร็จ สลับที่ตั้ง‘กองบิน’กับ‘สนามบิน’

ระดมสมองศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่โคราช ที่ปรึกษาเสนอพื้นที่ ๔ แห่ง ในอำเภอเมือง บัวใหญ่ และปากช่อง ด้านประชาชนแนะย้ายศูนย์ราชการ และกองบิน ๑ ออกจากเขตเมือง ส่วนหนึ่งต้องการขยายความเจริญสู่บัวใหญ่ ยกระดับศักยภาพเป็นเมืองขนส่ง-อุตสาหกรรม ลั่นโครงการทำเพื่อใช้ชาติหน้า

สืบเนื่องจาก สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ว่าจ้างบริษัท แพลนเนอร์ ๒๖ จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา เพื่อสร้างภาพอนาคตพัฒนาเมืองใหม่ใน ๒๐ ปีข้างหน้า ซึ่งมีระยะเวลาศึกษา ๖๐๐ วัน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นมา และ ‘โคราชคนอีสาน’ เสนอความเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โคราช กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย คณะทํางานกรมโยธาธิการและผังเมือง และบริษัทที่ปรึกษา โครงการ นําโดยบริษัท แพลนเนอร์ ๒๖ จํากัด จัดการประชุม “ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ ๑” ในโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา โดยมีนายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา ประธานการประชุม  พร้อมด้วย ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ คณบดีคณะศิลปกรรมและการออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นายวีรพล จงเจริญใจ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา นายคมกฤช เสริฐนวลแสง อดีตผู้อำนวยการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมรับฟังบรรยายข้อมูลจาก นายธนิชา นิยมวัน ผู้จัดการโครงการฯ

นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราช สีมา กล่าวว่า “โครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา ดําเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง และสํานักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาที่กําลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ มีเป้าหมายศึกษาและวางแผนพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเมืองใหม่ ซึ่งความคิดเห็นของประชาชนในการประชุมครั้งนี้มีความสําคัญอย่างมากในการนําไปพิจารณา ควบคู่กับทางวิชาการเพื่อคัดเลือกพื้นที่พัฒนาเมืองใหม่ต่อไป”

ศึกษาเมืองใหม่โคราช

นายธนิชา นิยมวัน ผู้จัดการโครงการฯ นำเสนอโครงการว่า “ขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงานแบ่งออกเป็น ๕ ขั้นตอน คือ ๑.INCEPTION REPORT การทบทวนการศึกษานโยบาย กฎหมาย และกรณีศึกษา ๒.PROGRESS REPORT 1 รวบรวมและวิเคราะห์พื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาในพื้นที่ศึกษาเพื่อจัดทาแผนแม่บทเมืองใหม่ และการคัดเลือกและกาหนดพื้นที่ศักยภาพเพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบผังแม่บทการพัฒนาเมืองใหม่ ๓ แห่ง ๓.INTERIM REPORT การวางผังออกแบบชุมชนเมืองและคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบการจัดทาผังแม่บทการพัฒนาโครงการเมืองใหม่เพื่อดาเนินการออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะ ปัจจุบันดำเนินการถึงขั้นตอนนี้ โดยจะใช้เวลาดำเนินการ ๒๒๕ วัน ๔.PROGRESS REPORT 2 ศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ต้นแบบการจัดทำผังแม่บทการพัฒนาโครงการเมืองใหม่เพื่อดาเนินการออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะ และการออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะบริเวณพื้นที่โครงการ และ ๕.DRAFT & FINAL REPORT จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan Plan) เสนอแนะแผนการลงทุนและการบริหารจัดการเบื้องต้น และการศึกษามาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางผังเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”

หาพื้นที่ศักยภาพเหมาะสม

“ในการจัดทำโครงการนี้ เพื่อศึกษาวิเคระห์ ค้นหาพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสมในโคราช ที่สามารถส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เมืองใหม่ พิจารณาเลือกพื้นที่พัฒนาเมืองใหม่โดยนำหลักและกระบวนการของการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) และข้อเสนอแนะหลักการป้องกันและเฝ้าระวังไว้ล่วงหน้า (Precautionary Principle) และการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนมาประยุกต์ใช้ในการศึกษา จากนั้นระบุพื้นที่และเสนอแนะแนวทางการจัดทำผังเมืองเฉพาะ (Specific Plan) ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นกรอบชี้นำการพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ศึกษา วิเคราะห์ รวมถึงรายละเอียด แผนการลงทุน การบริหารจัดการ และความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาเมืองใหม่ โดยจะจัดทำผังปฏิบัติการโครงการพัฒนาเมืองใหม่ เพื่อออกแบบเบื้องต้นโครงการพัฒนาที่สามารถนำไปเสนอของบประมาณค่าออกแบบก่อสร้างหรือปรับปรุงพื้นที่ในเบื้องต้น และเพื่อจัดทำกรอบการพัฒนาประกอบด้วยแผนงาน แผนงบประมาณ และแผนการบริหารจัดการในการพัฒนาเมืองใหม่”

ศักยภาพเมืองใหม่

นายธนิชา นำเสนออีกว่า “แผนแม่บทเมืองใหม่จะช่วยชี้ทิศทางการเติบโตของแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจนจากบทบาทเดิมใน (ร่าง) ผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา ฉบับปรับปรุง ดังนี้ อำเภอเมืองนครราชสีมา จะเป็นศูนย์กลางสำคัญด้านนวัตกรรมที่สนับสนุนการเกษตร การผลิตรายย่อย ธุรกิจรายย่อย เน้นไปที่การพัฒนาหน่วยวิจัยและพัฒนาที่อ้างอิงกับมหาวิทยาลัย, อำเภอสีคิ้ว-สูงเนิน เป็นเมืองรองมีศักยภาพเป็นที่พักอาศัยและเกษตรกรรมรูปแบบใหม่ สนับสนุนเมืองหลัก, อำเภอด่านขุนทดและพื้นที่โดยรอบ เป็นเมืองรองอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและพลังงานทางเลือกสนับสนุนเมืองหลักด้านอุตสาหกรรมและบริการ อำเภอบัวใหญ่และพื้นที่โดยรอบ เมืองหลักอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าและพื้นที่แปลงเกษตรผสมผสาน, อำเภอพิมายและพื้นที่โดยรอบ เป็นเมืองรองเกษตรกรรมพื้นที่ลุ่มและอุตสาหกรรมแปรรูปขนาดเล็ก, อำเภอโนนสูง เมืองรองขนาดเล็กมีศัยกภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมและแปรรูปเกษตร, อำเภอโชคชัยและปักธงชัย เมืองรองมีศักยภาพรองรับการค้าและบริการสมัยใหม่ตามสภาพอนาคต และอำเภอปากช่องและวังน้ำเขียว ถือเป็นเมืองหลักเทคโนโลยีเกษตรและป่าไม้และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์”

เลือก ๔ พื้นที่ใน ๓ อำเภอ

“สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่มีศักยภาพในการพัฒนาเมืองใหม่ ในระดับพื้นที่ยุทธศาสตร์ เกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณา คือ เป็นพื้นที่ศักยภาพเชื่อมต่อกับพื้นที่เมืองเดิมหรือสอดคล้องกับพื้นที่ส่วนต่อขยายของเมือง พื้นที่มีการกระจุกตัวหรือรวมกลุ่มของพื้นที่ มากกว่า ๒๕-๓๐ ตร.กม.ต่อเนื่องกัน อยู่บนพื้นที่ที่มีการสะสมทุนช่วยส่งเสริมความยั่งยืนของเมืองใหม่ อยู่บนพื้นที่ที่มีความหลากหลายของการถือครองที่ดิน ประกอบด้วยที่ของรัฐที่สามารถสร้างความร่วมมือและขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ รวมถึงพื้นที่ของเอกชนด้วย ในขอบเขตพื้นที่การศึกษาของโครงการฯ ขั้นตอนแรกเราเลือกขอบเขตทั้งจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงคัดเลือกพื้นที่มา ๓ แห่ง ตามกฎ TOR แต่ขณะนี้คัดเลือกมาไว้ ๔ แห่ง และเมื่อศึกษาแล้วก็จะนำไปลงในรายละเอียด เพื่อจัดทำแบบก่อสร้างและพัฒนาซึ่งประกอบด้วยแผนการบริหารจัดการ งบประมาณ และการลงทุน” นายธนิชา กล่าว

ต้นแบบเมืองใหม่โคราช

“การใช้เทคนิคการมองภาพอนาคต (Foresight technique) ที่ได้จากการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ ๙ และ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๓ ร่วมกับการวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์สารสนเทศ โดยให้ประชาชนเป็นเครื่องมือช่วยในการออกแบบและวางผังยุทธศาสตร์ ให้มีความแม่นยําและยืดหยุ่น สามารถรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนในอนาคตได้ ทําให้เกิดปัญหา ร่วมนําไปสู่ข้อเสนอในการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันเป็นเครื่องมือที่หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกใช้สําหรับจัดทําแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองในระยะยาว ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า มีพื้นที่ศักยภาพ ๔ พื้นที่ ใน ๓ อําเภอ ที่สามารถคัดเลือกเป็นพื้นที่ต้นแบบพัฒนาเมืองใหม่ ได้แก่ อําเภอบัวใหญ่ มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ของภูมิภาค อําเภอเมือง มี ๒ แห่ง มีศักยภาพพัฒนาเป็นพื้นที่ศูนย์กลางเรียนรู้และสร้างสรรค์การวิจัยนวัตกรรมของภูมิภาค โดยพื้นที่ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกมีศักยภาพพัฒนาเป็นพื้นที่เมือง สนามบินศูนย์กลางธุรกิจและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้นวัตกรรมระดับนานาชาติ และอำเภอปากช่อง มีศักยภาพพัฒนาเป็นพื้นที่นิเวศนวัตกรรมชีวภาพและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ”

นายธนิชา กล่าวท้ายสุดว่า “การดำเนินงานขั้นต่อไปจะเป็นการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ ๒ เพื่อนำเสนอร่างผังพื้นที่เฉพาะ ตลอดจนการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความต้องการจากทุกภาคส่วน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หน่วยงานระดับจังหวัดและท้องถิ่น ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และประชาชนทั่วไป จำนวนอย่างน้อย ๑๕๐ คน คาดว่าจะจัดขึ้นประมาณเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔”

ย้ายศูนย์ราชการ-สนามบิน

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้แสดงความคิดเห็น โดยนายคมกฤช เสริฐนวลแสง อดีตผู้อำนวยการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ผมอยู่โคราชมา ๓๐-๔๐ ปี เห็นการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ ทั้งด้านดีและด้านที่ยังมีปัญหา ผมมีข้อเสนอแนะ ๔ เรื่อง คือ โคราชมีศักยภาพในด้านพื้นที่อย่างมาก แต่ขาดการนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ เช่น พื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว นักลงทุนไม่กล้าลงทุน เพราะกลัวมีข่าวการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งนักท่องเที่ยวก็ไม่กล้าไป ทั้งที่ มีภูมิประเทศสวยงามมาก มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ ผมคิดว่า ควรนำอำเภอวังน้ำเขียวมาศึกษาเพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับคนในพื้นที่ โดยการสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้เชื่อมโยงกับเขาใหญ่ ขอให้ที่ปรึกษานำเรื่องนี้ไปศึกษาด้วย ประเด็นต่อมา คือ เรื่องน้ำ โคราชขาดแคลนน้ำอย่างมาก แต่ในปีที่ผ่านมาถือว่าโชคดีที่ฝนตกมาก ซึ่งการหาแหล่งน้ำดิบเพิ่ม ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรจะทำ เช่น สูบน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เข้ามาที่ลำตะคอง หาแหล่งน้ำใต้ดินเพิ่มเติม ซึ่งโคราชยังไม่มีการศึกษาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องสายการบิน ผมเสนอว่า ปัจจุบันเมืองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ล้อมรอบพื้นที่ทหารหมดแล้วดังนั้น สนามบินกองบิน ๑ น่าจะย้ายออกไปใช้พื้นที่ของท่าอากาศยานนครราชสีมา แล้วย้ายท่าอากาศฯ มาที่กองบิน ๑ เพื่อเปิดสายการบินพาณิชย์ ส่วนการฝึกก็จะได้อยู่ห่างตัวเมืองออกไป ๒๐ กิโลเมตร ช่วยให้ปลอดต่อมลภาวะทางเสียงและอุบัติเหตุจากการซ้อมบินได้ และเรื่องสุดท้าย ขอเสนอให้ย้ายศูนย์ราชการออกไปจากเขตตัวเมือง ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยพูดคุยประเด็นนี้กับผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่าน แต่ก็ยังไม่เป็นผล หากย้ายไปก็ไม่ลำบาก เพราะการคมนาคมปัจุบันของโคราชสะดวกมาก ส่วนพื้นที่ศูนย์ราชการเก่าในเขตเมืองนั้น ให้เปลี่ยนเป็นป่าในเมือง เป็นเสมือนปอดของคนเมือง ช่วยลดได้ทั้งมลภาวะทางอากาศ เรื่องฝุ่น PM2.5 อีกทั้งจะช่วยให้เป็นสเน่ห์ของเมือง เพิ่มความสวยงามให้เมือง นักท่องเที่ยว เข้ามาก็จะได้ชื่นชม ส่งผลให้เศรษฐกิจในเมืองดีขึ้นตามมาด้วย”

นายธนิชา นิยมวัน ตอบว่า “ในข้อเสนอแนะทั้ง ๔ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศูนย์ราชการหรือการใช้ประโยชน์ที่ดินของกองทัพ หลักการเหล่านี้สามารถเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเมืองใหม่ได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่เราก็มีข้อจำกัดในการศึกษามากพอสมควร ซึ่งผมขอรับข้อเสนอแนะทั้งหมดเอาไว้ และจะลองดูว่า บทบาทของเมืองใหม่ในภาคการเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการในส่วนของศูนย์ราชการใหม่ จะสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างไร”

เสนอเมืองใหม่แถว มทส.

นายวีรพล จงเจริญใจ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน กล่าวว่า “ใน ๔ พื้นที่ ที่นำเสนอมา ผมพยายามฟังและคิดตาม ซึ่งสรุปได้ว่า ทุนของที่ดินรัฐมีหรือไม่ ส่วนทุนของการเงินก็น่าจะมีเท่ากันทุกพื้นที่ แต่ที่สำคัญคือ ทุนมนุษย์ หากทำแล้วคนไม่ย้ายไปก็อาจจะเจ๊งได้ แต่ผมเชื่อว่า การศึกษาวันนี้มีประโยชน์มาก ซึ่งใน ๔ พื้นที่นั้น ผมขอเลือกอำเภอบัวใหญ่ เพราะความเจริญในโคราชมักจะกระจุกอยู่ทางทิศใต้ของเมือง เช่น เขาใหญ่ ดังนั้นอำเภอบัวใหญ่จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่เมื่อคิดถึงทุนด้านที่ดิน พื้นที่นั้นก็ไม่ได้มีมากนัก จึงยังมีปัญหาอยู่ ส่วนพื้นที่ที่น่าสนใจรองลงมา คือ พื้นที่ตะวันตกและตะวันออกของเมือง โดยเฉพาะตรงท่าอากาศยานนครราชสีมา เพราะเมื่อมีรถไฟความเร็วสูงและทางคู่มา การที่จะดันสายการบินก็คงเป็นเรื่องยาก จึงยังมีปัญหาอยู่เช่นกัน ดังนั้น ผมขอเชียร์พื้นที่แถว มทส. จะมีครบทั้งทุนที่ดิน ทุนโครงสร้างพื้นฐาน และทุนมนุษย์ ต้องยอมรับว่า โคราชโตด้วยเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรม แต่แรงงานอยู่ในภาคการเกษตรมาก ดังนั้นจุดนี้จึงเป็นจุดที่จะสร้างประโยชน์ได้มากขึ้น”

ทำเพื่อใช้ชาติหน้า

ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ กล่าวว่า “ที่เรามาพูดคุยภาพรวมในการพัฒนาเมืองใหม่ เป็นเพราะเราแก้ปัญหาบางเรื่องในเมืองเก่าไม่ได้ จึงต้องหาแนวทางการพัฒนาเมืองใหม่ขึ้นมา แต่เวลาที่เรานำเสนอสิ่งเหล่านี้ออกมาเปรียบเทียบว่า โคราชเหมือนบ้านหลังหนึ่ง มีพี่น้องอยู่ ๓ คน คือ ๑.คนที่มีทุกอย่างหรืออำเภอเมือง ๒.คนที่มีแต่มีไม่มากและมีอนาคตไกลหรืออำเภอปากช่อง และ ๓.คนที่เคยมีหรืออำเภอบัวใหญ่ และในวันหนึ่งบ้านหลังนี้ถูกหวย ๖ ล้านบาท ใครจะเป็นคนได้เงิน เป็นคุณจะเลือกใคร นี่เป็นประเด็นซึ่งที่ปรึกษาต้องกลับไปทำการบ้าน ส่วนเมืองใหม่นั้น เราทำวันนี้เพื่อใช้ชาติหน้า ที่ดินบริเวณ มทส. มทร.อีสาน และอำเภอปากช่อง เดิมมีคนคิดและทำอยู่แล้ว แต่ที่อำเภอบัวใหญ่ ไม่มีอะไรเลย หากทำแล้วจะได้อะไร ทุกวันนี้เขาบอกไม่ไหวแล้ว จะขอแยกตัวออกไป เราก็บอกว่าไม่ได้ เดี๋ยวไม่ใช่หลานย่าโม ดังนั้น ขอฝากไว้ประมาณนี้ ในรายละเอียดที่ปรึกษาคงคิดได้แน่นอน”

ทั้งนี้ โครงการเมืองใหม่นครราชสีมา เกิดขึ้นในสมัยนางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ เป็นประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ประมาณปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ จึงมีการพูดคุยกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา แต่การศึกษามีปัจจัยหลายอย่าง เช่น งบประมาณ ความเห็นชอบจากส่วนกลาง และคำว่า เมืองหลวงใหม่ในสมัยนั้น ยังเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อประชาชน จึงทำให้ต้องเปลี่ยนจากคำว่า ‘เมืองหลวงใหม่’ เหลือเพียง ‘เมืองใหม่’ คือ เป็นเมืองใหม่ในเรื่องของการส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งมีการผลักดันเรื่อยมา แต่ด้วยงบประมาณไม่เพียงพอที่จะทำอย่างจริงจัง โครงการจึงไม่คืบหน้าเท่าที่ควร จากนั้น เมื่อครั้ง ครม.สัญจรที่จังหวัดบุรีรัมย์ ปี ๒๕๖๑ หอการค้าจังหวัดฯ และหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เสนอโครงการนี้ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบประมาณให้ทำการศึกษา โดยนำงบประมาณ ๔๐ ล้านบาท ว่าจ้างที่ปรึกษามาศึกษาโครงการดังกล่าว

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๐ วันพุธที่ ๑๐ - วันอังคารที่ ๑๖ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


940 1597