29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 14,2021

วัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่มีให้ฉีด

ช่วงนี้รัฐบาลเปิดให้ประชาชนจองฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ผ่านไลน์ที่ชื่อว่า“หมอพร้อม” ในกลุ่มผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปและผู้ป่วย ๗ กลุ่มเรื้อรัง มาตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ และจะเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๔

ปรากฎว่าผ่านไป ๑ สัปดาห์ มีผู้มาลงทะเบียนจองคิวสะสมเพียงแค่ ๑.๕ ล้านคน จากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ๑๖ ล้านคน แบ่งเป็นจองคิวผ่านไลน์หมอพร้อม ๑.๒ ล้านคน จองคิวผ่านโรงพยาบาล รพ.สต. และ อสม. ประมาณ ๒๙๐,๐๐๐ คน

ส่วนข้อมูลฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ตามรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-๑๙ (ศบค.) พบว่า ยอดสะสมฉีดวัคซีนเข็มแรกประมาณ ๑.๑ ล้านคน ส่วนยอดสะสมเข็มที่ ๒ ประมาณ ๔๓๐,๐๐๐ คนเท่านั้น

ความพยายามในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ซึ่งเป็นความหวังที่จะนำไปสู่การคลายล็อกประเทศ คลายล็อกกิจการ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวดูเหมือนว่าจะเลือนลางและริบหรี่ลงเต็มที 

ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งไม่ไว้วางใจ ไม่กล้าขอรับการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลัวผลข้างเคียง อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักการเมืองและสื่อบางกลุ่ม นำเรื่องวัคซีนไปโยงกับเรื่องการเมืองจนอีรุงตุงนัง

ทำเอาประชาชนส่วนหนึ่ง ไม่ไว้วางใจวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาให้ อย่างวัคซีนซิโนแวค และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า อ้างว่าหากได้วัคซีนที่เชื่อว่าดีกว่า อย่างวัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันก็จะยอมฉีด

บางทีก็น่าปวดหัวที่คนบางกลุ่มเล่นการเมืองกับเรื่องสุขภาพของประชาชน บางคนไม่กล้าฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาให้ เช่น เวลาที่ตัวเองได้วัคซีนซิโนแวค มักจะคิดในใจแล้วว่าเป็นวัคซีนที่ห่วย และหวาดกลัวเรื่องผลข้างเคียง

อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องโทษรัฐบาลที่ปล่อยให้นักการเมืองโจมตี โดยไม่ใช้มาตรการเด็ดขาดมากพอ หนำซ้ำยังปล่อยให้เกิดเฟกนิวส์ในสื่อโซเชียล ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและหวาดกลัวจนไม่กล้าฉีดวัคซีนอย่างที่เห็น

ทั้งๆ ที่วัคซีนหลายตัวในโลกก็มีผลข้างเคียงกันทั้งนั้น คนที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็มีผลข้างเคียง ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ปวดเมื่อย เวลาผ่านไปเพียงวันสองวันก็หาย เพียงแต่คนไปวาดภาพให้ผลข้างเคียงดูน่ากลัวถึงตาย

ครั้นจะเอาบุคลากรทางการแพทย์อย่างอาจารย์หมอมาอธิบาย คนพวกนี้ก็จะมีคำถาม มีการตั้งแง่ ลามไปถึงการขุดเรื่องส่วนตัวมาโจมตี ทั้งๆ ที่เจตนาของอาจารย์หมอคือปรารถนาดี ต้องการสื่อสารข้อมูลไปในทางที่ถูกต้อง

กลายเป็นว่าประชาชนไม่เชื่ออาจารย์หมอ ไม่เชื่อหมอ เชื่อแต่นักการเมือง ดาราอินฟลูเอนเซอร์ และคอมเมนต์จากชาวเน็ตบางคนที่รู้ดีกว่าหมอ พยายามโต้แย้งในสิ่งที่หมอพูด เชื่อในความคิดของตัวเอง มาจากความรู้ที่แท้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้

การเมืองเรื่องวัคซีน กลายเป็นการเอาชนะคะคานกัน บนความพินาศฉิบหายของประชาชน
ขออนุญาตนำแถลงการณ์ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย นำโดย พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ที่แถลงจุดยืน เรื่องวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ มีดังนี้

๑. วัคซีนโควิด-๑๙ ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศไทยเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยการพิจารณาอย่างรอบคอบของผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาถึงผลดีผลเสียแล้ว อาการไม่พึงประสงค์จากวัคชีนโควิด-๑๙ ส่วนใหญ่มีความรุนแรงน้อย หรือปานกลาง และพบอาการรุนแรงจากวัคซีนโควิด-๑๙ น้อยกว่า ๑๐ รายต่อการรับ ๑ ล้านเข็ม แต่วัคซีนโควิด-๑๙ ทุกชนิดมีศักยภาพลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง ลดการนอนโรงพยาบาลและลดการเสียชีวิต ซึ่งจะช่วยทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศยังคงประสิทธิภาพไว้ใด้อย่างเหมาะสม รวมทั้งจะทำให้ประเทศไทยเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ซึ่งนับเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่จะทำให้ประเทศหยุดยั้งการระบาดของโควิด-๑๙ และสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน

๒. วัคซีนโควิด-๑๙ ที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ท่านสามารถได้รับการฉีดเร็วที่สุด ไม่ควรรอคอยวัคซีนเฉพาะบางชนิด ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ไม่เนะนำให้รับการฉีดวัดซีนโควิด-๑๙ ชนิดหนึ่งชนิดใดเป็นการจำเพาะ รายงานประสิทธิผลของวัคชีนแต่ละชนิดในการป้องกันโควิด-๑๙ ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากทำการศึกษาในประชากรที่แตกต่างกัน ในภาวะความรุนแรงของการระบาดที่ไม่เหมือนกัน และคำจำกัดความของการป้องกันโควิด-๑๙ ของแต่ละการศึกษาก็ไม่เหมือนกันด้วย

๓. ราชวิทยาลัยอายุรเพทย์ฯ สนับสนุนให้สมาชิกของราชวิทยาสัยอายุรแพทย์ฯ ทุกท่านรับการฉีดวัคชีนโควิด-๑๙ เพื่อลดการเจ็บป่วยและลดการกักตัว อันจะทำให้ประสิทธิภาพของระบบการรักษาพยาบาลลดลงและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับแพทย์สาขาอื่น บุคลากรทางการแพทย์ผู้ป่วย รวมทั้งประชาชนในการยอมรับการรับวัคซีนโควิด-๑๙

๔. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ สนับสนุนให้กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว ๗ โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และผู้มีอายุเกิน ๖๐ ปี ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโควิด-๑๙ ที่รุนแรงเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้สูงรับการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ในกรณีที่ไม่แน่ใจเรื่องข้อห้ามหรือข้อระมัดระวังบางประการของการรับวัคซีน ให้ปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาท่าน

๕. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ สนับสนุนให้ประชาชนทุกท่านรับการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ เพื่อร่วมกันทำให้ประเทศไทยเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการระบาดของโควิด-๑๙ ได้อย่างยั่งยืน

แถลงการณ์ฉบับนี้ ถ้าอธิบายเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ “วัคซีนที่ดี คือวัคซีนที่มีให้ฉีด”

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งขณะนั้นเกิดการแพร่ระบาดจากคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้ง และรัฐบาลกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เมื่อวัคซีนซิโนแวคจากจีนเดินทางมาถึงประเทศไทย และให้ประชาชนฉีด ก็ไปฉีด

แม้ผลข้างเคียงที่สังเกตได้จะมีอาการปวดบวมที่ฉีด ตามมาด้วยอาการคล้ายจะอาเจียน วิงเวียนศีรษะเล็กน้อย พอเข็มที่สองก็จะเกิดอาการคล้ายคนที่กำลังง่วงนอน ต้องพักผ่อนบ่อยครั้ง แต่ทั้งสองเข็มก็เกิดขึ้นไม่นานมากนัก

สิ่งที่สังเกตได้ก็คือ ช่วงแรกๆ ที่วัคซีนมาถึง คนสมุทรสาครไม่กล้าไปฉีด คนที่ลงทะเบียนไปแล้วเกิดเปลี่ยนใจไม่ไปฉีด พอคนโน้นคนนี้ไปฉีดแล้วไม่เป็นอะไร หนึ่งในนั้นคือผู้เขียน ก็มีผู้คนแห่แหนไปฉีดวัคซีนจนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรหมดเกลี้ยง

ไม่มีวัคซีนไหนในโลกใบนี้ที่สมบูรณ์แบบ หมอจริงๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงถึงขนาดเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ยังบอกเลยว่า “วัคซีนทุกตัวไม่ได้เพอร์เฟค” เพราะยังอยู่ในขั้นตอนวิจัย วิธีวิจัย ประชากร สภาพประชากร พฤติกรรมเสี่ยงต่อการระบาด 

เมื่อประเทศที่ไปทดลองก็ต่างกัน การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ก็ต่างกัน ประสิทธิภาพของวัคซีนก็ย่อมต่างกันเช่นกัน ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วย บางคนก็มีแค่อาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ แต่ไม่มีปอดบวมและไม่ตาย

สิ่งเดียวที่ทุกวัคซีนมีเหมือนกันหมด และสื่อไม่เคยนำเสนอ คือ ประสิทธิภาพในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลจากโควิด-๑๙ และในการป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-๑๙ แทบทุกตัวอยู่ที่ ๘๐-๑๐๐% 

“หมายความว่า ไม่ว่าคุณจะได้รับวัคซีนใดก็ตาม เวลาคุณติดเชื้อ มันจะลดความรุนแรงของโรคได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลและไม่ตาย บางครั้ง การเลือกที่จะไม่รับการป้องกัน อาจแลกมาด้วยชีวิต”

ฟังจากที่หมอพูดแล้ว นึกถึงคำว่า “ฉีดกันตาย ไม่ได้ฉีดกันติด”

คุณผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเชื่อที่ผู้เขียนนำมาบอกกล่าวทั้งหมด แต่อยากให้ถามใจตัวเองว่า จะเชื่อหมอหรือจะเชื่อใคร ก่อนจะตัดสินใจฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน เพราะเท่ากับว่าได้เลือกทางเดินชีวิตและสุขภาพของตัวเองแล้ว

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๘ วันพุธที่ ๑๒ - วันอังคารที่ ๑๘ เดือนพฤษภาคม  พุทธศักราช ๒๕๖๔


963 1599