29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 14,2021

ลงทุนไตรมาสแรกปี’๖๔ กว่า ๑.๒ แสนล้าน บีโอไอชี้“การแพทย์-อิเล็กทรอนิกส์”เติบโต

บีโอไอเผยภาวะการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๔ ยอดขอรับส่งเสริมรวมกว่า  ๑.๒ แสนล้านบาท เติบโตจากไตรมาสแรกปีก่อนมากถึงร้อยละ ๘๐ พบกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ และอิเล็กทรอนิกส์เติบโตท่ามกลางสถานการณ์โควิด ขณะที่ EEC ยังคงเนื้อหอมเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของนักลงทุน 

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า การลงทุนในช่วงไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ปี ๒๕๖๔ มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน ๔๐๑ โครงการ มูลค่าลงทุนรวม ๑๒๓,๓๖๐ ล้านบาท มีอัตราเติบโตทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๓ โดยจำนวนโครงการเติบโตร้อยละ ๑๔ และมูลค่าเติบโตร้อยละ ๘๐

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น ๗๔,๘๓๐ ล้านบาท โดย ๒ อันดับแรกที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด ได้แก่ ๑) อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่า ๑๘,๔๓๐ ล้านบาท เติบโตขึ้นมากกว่า ๑๐๐ เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ๒) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ๑๗,๔๑๐ ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ ๖๔ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าในหมวดการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุตสาหกรรมในกลุ่ม S-Curve ขยายตัวต่อเนื่องจากผลของ Work From Home ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการทำงานในยุคเชื้อโควิดระบาด และการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ยังมีอย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการบีโอไอ กล่าว

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน ๑๙๑ โครงการ มูลค่าลงทุน ๖๑,๙๗๙ ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๔๓ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยอันดับประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่ามากที่สุด ๓ อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดการลงทุนใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การลงทุนของเกาหลีใต้ปรับสูงขึ้นในไตรมาสนี้เนื่องจากมีการร่วมทุนในโครงการขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์

สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่า ๖๔,๔๑๐ ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ ๓๙ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็น จังหวัดระยอง มูลค่าลงทุน ๒๙,๔๓๐ ล้านบาท จังหวัดชลบุรี ๒๔,๙๗๐ ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา ๑๐,๐๑๐ ล้านบาท

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก โดยมีจำนวน ๓๙ โครงการ เงินลงทุน ๘,๔๐๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ ๖ เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแบ่งเป็นมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน ๒๑ โครงการ เงินลงทุน ๕,๖๓๐ ล้านบาท มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จำนวน ๑๖ โครงการ เงินลงทุน ๒,๔๗๐ ล้านบาท และมาตรการวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน ๒ โครงการ เงินลงทุน ๓๐๐ ล้านบาท

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๘ วันพุธที่ ๑๒ - วันอังคารที่ ๑๘ เดือนพฤษภาคม  พุทธศักราช ๒๕๖๔

 


695 1336