28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

June 04,2021

คําแถลงนโยบาย ของ นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา

คําแถลงนโยบาย
ของ นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา
แถลงต่อสภาเทศบาลนครนครราชสีมา ณ ห้องประชุมกาญจนาภิเษก ชั้น 5 อาคารฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี
วันที่ 4 มิถุนายน 2564

 

เรียน ท่านประธานสภาเทศบาลและท่านสมาชิกสภาเทศบาลนครนครราชสีมา ที่เคารพ

ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีประกาศลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เรื่องผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ประกาศให้กระผมนายประเสริฐ บุญชัยสุข เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมานั้น

เพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 48 ทศ แห่ง พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2546 ซึ่งได้กําหนดให้นายกเทศมนตรี แถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งกระผมได้กําหนดนโยบายในการบริหารงานและพัฒนาเทศบาลนครนครราชสีมา สําหรับช่วง ระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อดําเนินงานตามอํานาจหน้าที่ของเทศบาลภายใต้ระเบียบข้อ กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยยึดถือนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ และกรอบยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (พ.ศ.2560-2569) และ ยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดนครราชสีมา เป็นหลักในการกําหนดนโยบายบริหารและพัฒนา ที่สอดคล้องกับปัญหาในเขตพื้นที่ รวมทั้งความต้องการของประชาชนในทุก ๆ ด้าน โดยสานต่อภารกิจต่างๆ ที่ได้ดําเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว และพร้อมที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการดําเนินงานให้มี ประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและพัฒนาเมืองให้เจริญก้าวหน้า เติมเต็มสิ่งที่ยังขาดอยู่ให้สมบูรณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเขตเทศบาลนคร นครราชสีมาให้สูงขึ้น ด้วยการแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เทศบาลนครนครราชสีมา ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชน เพื่อรวมพลังกันขับเคลื่อนเทศบาลนครนครราชสีมา ให้บรรลุสู่เป้าหมายร่วมกัน โดย ยึดชาวโคราชเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

ท่านประธานสภาเทศบาลและท่านสมาชิกสภาเทศบาลนครนครราชสีมา ที่เคารพ

กระผมจึงขอแถลงนโยบายดังกล่าวต่อที่ประชุมสภาเทศบาลนครนครราชสีมา ที่มุ่งมั่นในการแก้ไข ปัญหา และพัฒนาสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นแก่เมืองนครราชสีมาของเรา เพื่อประโยชน์สุขของคนเมืองทุกคน โดยกําหนดนโยบายในการบริหารงานไว้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ นโยบายเร่งด่วน 7 ด้าน และนโยบาย หลัก 5 ด้าน ดังนี้

 

นโยบายเร่งด่วน

1. ควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้น

เร่งรัดดําเนินการในทุกวิถีทางภายใต้กรอบบทบาทหน้าที่ของเทศบาลนคร ในการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ประสบผลสําเร็จอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ด้วยการจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ ยา วัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จําเป็น ให้แก่ศูนย์บริการสาธารณสุขให้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน และการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข อสม. และกรรมการชุมชน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน เกี่ยวกับการปฏิบัติตนเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ดําเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังเหตุการณ์ (Eventbased surveillance) และจัดทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (Surveillance and Rapid Response Team ; SRRT) ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขอื่นที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการสอบสวนทางระบาดวิทยา ควบคุมการระบาดโรค ค้นหาผู้ป่วยรายแรก และค้นหาผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรค รายงานสถานการณ์ความรุนแรง และแนวทางการแก้ปัญหาตามมาตรการสาธารณสุข ตรวจประเมินและให้คําแนะนําหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ในการจัดกิจกรรมใดๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจัดกิจกรรม ขณะจัดกิจกรรม และติดตามประเมินผล ภายหลังการจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ตรวจประเมินสถานประกอบการต่างๆ ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ดําเนินการรับส่งต่อผู้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ต่อการเกิดโรคติดต่อเข้าสถานที่กักกัน ค้นหาและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อในประชากรกลุ่มต่างๆ รวมถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าว ตลอดจนติดตามการกักตัวของกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งการรณรงค์และอํานวย ความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างกว้างขวาง

2. ปรับปรุงซ่อมแซมผิวจราจรในเขตเมือง

เร่งรัดดําเนินการปรับปรุงซ่อมแซมผิวจราจรในเขตเมือง ที่ชํารุดทรุดโทรมจากอายุการใช้งาน และจากการก่อสร้างของโครงการต่างๆ ให้อยู่ในสภาพตามมาตรฐานที่สามารถใช้การได้ดี เพื่อให้ ประชาชนสามารถใช้รถใช้ถนนสัญจรไปมาได้โดยสะดวก และลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมือง

3. ปรับปรุงซ่อมแซมทางเท้าและติดตั้งระบบไฟฟ้าสาธารณะและระบบไฟสัญญาณจราจร

เร่งรัดดําเนินการปรับปรุงซ่อมแซมทางเท้า ให้สวยงามอยู่ในสภาพที่สามารถใช้การได้ดี โดย มีการออกแบบตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Designs) สําหรับทางเท้าที่สามารถดําเนินการได้ พร้อม ทั้งติดตั้งระบบไฟฟ้าสาธารณะและระบบไฟสัญญาณจราจรขึ้นใหม่ ทดแทนของเดิมที่ชํารุดและที่ต้องรื้อถอน ออกไปให้เสร็จสมบูรณ์

4. บริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน

เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ รองรับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น ตามอัตราการเติบโตของเทศบาลนครนครราชสีมา จากการมีปริมาณขยะวันละ 230 ตันเป็นวันละ 500 ตัน โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การแปรขยะเป็นกระแสไฟฟ้า โดยการจัดหาเอกชนมาเป็นผู้ลงทุน เพื่อลดภาระการลงทุนของเทศบาลนครนครราชสีมา รวมทั้งดําเนินมาตรการต่างๆ ในการลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะ เพื่อความสะอาดเรียบร้อยของเมือง

5. ควบคุมคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย

เร่งรัดดําเนินมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมและป้องกันการปล่อยมลพิษทางอากาศจาก แหล่งกําเนิด ทั้งจากท่อไอเสียรถยนต์ เมรุเผาศพ การก่อสร้าง และอื่นๆ พร้อมทั้งจัดให้มีระบบเฝ้าระวัง คุณภาพอากาศ เพื่อตรวจวัดค่าของฝุ่นละอองในบรรยากาศอยู่ตลอดเวลา เพื่อควบคุมไม่ให้ฝุ่นละออง แขวนลอยขนาดเล็กมาก (PM 2.5) มีระดับสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัย และจัดให้มีมาตรการใน การแก้ไขและป้องกันปัญหามลพิษทางอากาศที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล


6. แก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองอย่างถาวร

เร่งรัดผลักดันและดําเนินมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจําในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ในบริเวณถนนมิตรภาพย่านตลาดเซฟวัน ชุมชนมหาชัย ชุมชนคลองโพธิ์ และพื้นที่อื่นๆ ด้วยการก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำและรางระบายน้ำขนาดใหญ่ เพื่อระบายน้ำจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังลงสู่ลํา น้ำสาธารณะอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว รวมทั้งการบูรณาการกับส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สํานักงานอุตุนิยมวิทยานครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา กองทัพภาคที่ 2 สํานักงานชลประทานที่ 8 กรมเจ้าท่า สํานักงานทางหลวงที่ 10 การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เพื่อการ พยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี และแต่ละช่วงเวลา การวางแผนการพร่องน้ำ และการบริหารจัดการ ระบายน้ำท่วมขังอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว

7. ฟื้นฟูเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากวิกฤติด้านโควิด-19

ดําเนินการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ว่างงาน ผู้ประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบใน ทุกๆ ด้าน ด้วยมาตรการเร่งด่วน เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อให้สามารถดํารงชีพได้

 

ท่านประธานสภาเทศบาลและท่านสมาชิกสภาเทศบาลนครนครราชสีมา ที่เคารพ
ในส่วนของนโยบายหลักที่จะดําเนินการในช่วงระยะเวลา 4 ปี ของกระผมมีดังนี้

นโยบายหลัก

1. เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน (Sustainable Livability City)

1.1 พัฒนาสองฝั่งลําตะคอง

เร่งรัดผลักดันโครงการปรับปรุงและพัฒนาภูมิทัศน์สองฟากฝั่งของลําตะคองช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมาให้สวยงาม เพื่อรื้อฟื้นวิถีชุมชนคนริมน้ำให้กับคนเมืองโคราช เปลี่ยนหลังบ้านเป็นหน้าบ้าน สร้างวิสาหกิจชุมชนใหม่ และสร้างแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมือง รวมทั้งเพิ่มพื้นที่นันทนาการและออกกําลัง กายให้กับคนเมือง ตลอดจนเป็นการป้องกันน้ำท่วมเมือง ด้วยการเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ และป้องกันน้ำเสียไหลลงลําตะคอง ด้วยการวางท่อระบายน้ำเสียสองฝั่งลําตะคองไปยังบ่อบําบัดน้ำเสียรวมหัวทะเล โดยขอความร่วมมือและขอรับการสนับสนุนช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมชลประทาน

1.2 อนุรักษ์และปรับปรุงคูเมืองให้สวยงาม

ปรับปรุงคูเมืองและพื้นที่โดยรอบ ให้มีความสะอาด ร่มรื่น และสวยงาม เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ เป็นที่นันทนาการ ที่ออกกําลังกาย และที่จัดกิจกรรมเชิง ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของเมือง ไว้ให้อนุชนรุ่น หลังสืบไป ตลอดจนเป็นสถานที่รองรับนักท่องเที่ยว

1.3 เพิ่มปอดของเมืองให้มากขึ้น

ดําเนินการฟื้นฟูและปรับปรุงสวนสาธารณะเก่าที่มีอยู่แล้วให้สวยงามยิ่งขึ้น และสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้เป็นสถานที่ออกกําลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ และนันทนาการ ให้ เพียงพอต่อจํานวนประชากรสองแสนคนเศษในเขตเมือง ตลอดจนเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่เมือง ด้วยการเพิ่มการปลูกไม้ดอกไม้ประดับและไม้ยืนต้นในพื้นที่ว่าง และบริเวณถนนสายต่างๆ เพื่อเป็นปอดให้แก่เมือง ช่วย ดูดซับฝุ่นละอองและสารมลพิษ คายก๊าซออกซิเจนสู่บรรยากาศ ลดอุณหภูมิให้แก่เมือง บรรเทาปัญหามลพิษ ทางเสียงและสายตา และช่วยลดภาวะความตึงเครียดและเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีของคนเมือง

1.4 แก้ปัญหาการจราจรติดขัด

เร่งรัดดําเนินการประสานงานและผลักดันโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณสี่แยกประโดก และดําเนินการก่อสร้างถนนสายต่างๆเพิ่มขึ้น เพื่อเอื้ออํานวยต่อการสัญจรไปมาในเขตเมือง ให้ เกิดความคล่องตัว และมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมือง

1.5 ขยายความครอบคลุมการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิแก่ประชาชนในเขตเมืองเพิ่มขึ้น

ดําเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสาธารณสุข 6 ในเขตพื้นที่เขต 4 เทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนที่มีภูมิลําเนาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพปฐม ภูมิได้ด้วยความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งจัดให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาต่างๆ ที่ยังขาดอยู่ มาให้บริการ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆเพิ่มขึ้น

1.6 ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครราชสีมาให้สูงขึ้น

สนับสนุนส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนครราชสีมา ได้ดําเนินการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของตนให้สูงขึ้น ไม่ด้อยกว่าคุณภาพและมาตรฐาน การศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยคํานึงถึงความถนัดและความพร้อมของนักเรียนเป็นหลัก

1.7. เพิ่มศักยภาพการจัดหาน้ำดิบและการบริหารจัดการน้ำประปาอย่างมีประสิทธิภาพครบวงจร

1.7.1 โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า จากแหล่งน้ำลํา ตะคองมายังโรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่าโดยระบบท่อแห่งใหม่ เพิ่มเติมจากระบบส่งท่อน้ำดิบที่มีอยู่เดิม ซึ่งหมดอายุการใช้งานมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี และมักเกิดปัญหาการแตกรั่วอยู่เป็นประจํา ส่งผลให้เกิดการ สูญเสียทั้งน้ำดิบ และค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอยู่ตลอดมา อันเป็นการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจเป็นอันมาก

1.7.2 โครงการปรับปรุงขยายกําลังการผลิตของโรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาและปริมณฑล อันเนื่องมาจากระบบ กรองน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน หมดอายุการใช้งานแล้ว ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทํางานลดลงเป็นอย่างมาก และไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้เพียงพอต่อความต้องการ

1.7.3 โครงการบริหารจัดการลดปริมาณน้ำสูญเสียที่เกิดขึ้นในระบบจําหน่าย โดย ปรับเปลี่ยนท่อเมนประปาใหม่จากเดิมที่เป็นท่อ A/C เป็นท่อ HDPE และเปลี่ยนมาตรวัดน้ำใหม่ทดแทน มาตรวัดเดิม ที่มีอายุเกินอายุการใช้งานแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการตรวจวัดปริมาตรน้ำ

1.7.4 โครงการบริหารจัดการระบบควบคุมน้ำสูญเสีย (District Metering Area -DMA) เพื่อบูรณาการงานด้านบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน

1.7.5 โครงการพัฒนาโปรแกรมระบบบริหารงานประปาด้านการจัดเก็บรายได้ เพื่อให้ การจัดเก็บรายได้ เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

1.8 เร่งรัดก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transportation)

เร่งรัดและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดําเนินการพัฒนาโครงการ ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างตัวเมืองกับปริมณฑล ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงต่อเวลา รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาการจราจรติดขัด โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัย ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้า รองรับการเติบโตของ เมือง ในทุกเส้นทางทั้งเส้นทางสายสีเขียว สีม่วง และสีแสด ตามที่ได้มีการศึกษาไว้แล้ว

1.9 ปฏิรูปการบริหารงานเทศบาลผ่านระบบดิจิทัล (e-municipality)

เร่งรัดดําเนินการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในระบบการบริหารงานของเทศบาลนครนครราชสีมา และการให้บริการประชาชน เพื่อให้ระบบการบริหารงานและการให้บริการ ประชาชน ของเทศบาลนครนครราชสีมา เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ มี ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

2. เมืองศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง

เร่งรัดดําเนินการประสานงานและผลักดันโครงการพัฒนาความพร้อมด้านโครงสร้างต่างๆ ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อรองรับระบบโครงสร้างพื้นฐานจากส่วนกลางที่ผ่านเข้าสู่เมืองโคราช ทั้ง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับการลงทุน การ ท่องเที่ยว และธุรกิจการค้า ที่จะมีการขยายตัวต่อไปในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อให้โคราชเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง และเปิดประตูสู่อินโดจีน

3. เมืองท่องเที่ยว

3.1 แปรกิจกรรมประเพณีของโคราชและอีสานเป็นตลาดเฉพาะสําหรับการท่องเที่ยว

สนับสนุนส่งเสริมและเชิดชูงานเทศกาลประเพณีที่สําคัญของโคราชและอีสานให้ยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างตลาดเฉพาะ (Niche Market) ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวสู่โคราช อาทิ งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา งานประเพณีสงกรานต์ งานประเพณีลอยกระทง งานผ้าไหมโคราช งานมวยโคราช งานขนมจีนโคราช งาน กินเจ และงานอื่นๆ เป็นต้น

3.2 ผลักดันโคราชสู่การเป็นเมืองเพื่อการจัดประชุมและแสดงสินค้า (MICE City)

สนับสนุนส่งเสริมเมืองนครราชสีมา ให้เป็นเมืองเพื่อการจัดประชุมและแสดงสินค้า (MICE City) เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ ด้านเทคโนโลยี ด้านธุรกิจต่างๆ ส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยว ในโคราช

3.3 ร่วมขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์คสู่จีโอพาร์คโลกยูเนสโก

สนับสนุนส่งเสริมและให้ความร่วมมือร่วมเป็นเจ้าภาพ ในการขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์ค (KHORAT GEOPARO สู่จีโอพาร์คโลกที่รับรองโดยยูเนสโก (UNESCO Global Geopark) หรืออุทยานธรณี โลก เพื่อให้โคราชเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาสู่โคราชให้มากขึ้น

3.4 สร้างเศรษฐกิจชุมชนในเมือง

สนับสนุนส่งเสริมให้มีร้านอาหารริมถนน (Street Food) และตลาดกลางคืน (Night Market) เพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการจ้างงาน ให้เกิดขึ้นในเขตเมือง

 

4. เมืองกีฬา

4.1 ส่งเสริมการพัฒนากีฬาทุกมิติ

สนับสนุนส่งเสริมและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการสํารงรักษาความ เป็นเมืองกีฬาของจังหวัดนครราชสีมาไว้ให้ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาของโคราชประเภทต่างๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมเศรษฐกิจของโคราช รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างความสุข ให้กับประชาชน ตลอดจนการพัฒนาและส่งเสริมโรงเรียนกีฬาของเทศบาลนครนครราชสีมา ที่มีอยู่แล้วให้ เติบโตเข้มแข็งยิ่งขึ้น

4.2 ส่งเสริมทีมสโมสรกีฬา

สนับสนุนส่งเสริมและให้ความร่วมมือกับทีมสโมสรกีฬาประเภทต่างๆของโคราช ให้ประสบ ผลสําเร็จ ตามศักยภาพของเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนในการเล่นกีฬา และเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ และความสุขให้แก่ชาวโคราชทั้งมวล อาทิ ทีมฟุตบอล วอลเล่ย์บอล ฟุตซอล แบตมินตัน เทควันโด และกีฬาประเภทอื่นๆ เป็นต้น

4.3 ฟื้นฟูศิลปะมวยไทยโคราช

ดําเนินการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการฟื้นฟูศิลปะมวลไทยโคราชให้ กลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม เพื่อความภาคภูมิใจของคนโคราช และเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

4.4 เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา

สนับสนุนส่งเสริมให้เทศบาลนครนครราชสีมา เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬา ระดับประเทศและระดับสากล เพื่อกระตุ้นวงการกีฬาของโคราชให้เกิดความตื่นตัว และเพื่อประโยชน์ด้าน การท่องเที่ยวของโคราช

4.5 พัฒนากิจกรรมถนนกีฬา

ดําเนินการจัดให้มีกิจกรรมการเล่นและการแข่งขันกีฬา ทั้งกีฬาเชิงสุขภาพ กีฬาขั้นพื้นฐาน กีฬามวลชน กีฬาผู้อาวุโส และกีฬาประเภทอื่นๆ เป็นประจําอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ถนนหรือสถานที่อื่นเป็น สถานที่จัดกิจกรรม

5. เมืองอัจฉริยะ (Smart City)

มุ่งเน้นขับเคลื่อนพัฒนาเมืองนครราชสีมาให้ก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อสร้างการเติบโตของเมืองนครราชสีมาอย่างยั่งยืน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนเมือง ด้วยการนํา เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการด้านต่างๆ โดยดําเนินการในลักษณะเป็นขั้นตอนตามความ พร้อมและความเหมาะสม อาทิ

-Smart Mobility การพัฒนาการขนส่ง เคลื่อนย้าย
-Smart Community การพัฒนาชุมชน
-Smart Environment การพัฒนาระบบสิ่งแวดล้อม
-Smart Economy การใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาการทําธุรกิจ
- Smart Building การสร้างอาคารสีเขียว ประหยัดพลังงาน
-Smart Governance การนําระบบการบริหารจัดการที่ดีมาใช้

ท่านประธานสภาเทศบาลและท่านสมาชิกสภาเทศบาลนครนครราชสีมา ที่เคารพ

กระผมขอยืนยันกับสภาเทศบาลนครนครราชสีมาว่า การกําหนดนโยบายดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และที่พึงจะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นนโยบายที่สามารถนําไปปฏิบัติให้บังเกิดผลสําเร็จได้ ตามภารกิจของเทศบาลนครนครราชสีมา ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นของเราให้ เจริญเติบโตก้าวหน้า ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และกรณีที่มีความจําเป็นจะต้องแก้ไข ปรับปรุงนโยบาย อันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบ จากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 กระผมจะรายงานให้สภาเทศบาลนครนครราชสีมาทราบต่อไป

กระผมให้ความเชื่อมั่นต่อสภาเทศบาลนครนครราชสีมาว่า จะบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ภายใต้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนเมือง ทุกคนดีขึ้น

ขอบคุณครับ

 


991 1605