29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 29,2021

‘สายไฟฟ้าลงดิน’เสร็จปีนี้ จัดการหม้อแปลงขวางทาง รอ ‘เทศบาลนคร’ ซ่อมถนน

กฟภ.โคราชเผยความคืบหน้าสายไฟฟ้าลงดิน งานบนถนนเสร็จหมดแล้ว เหลือเพียงงานระบบไฟฟ้า แก้ปัญหาตู้หม้อแปลงไฟฟ้าขวางทางเท้าแล้ว ปัญหาถนนพัง เทศบาลนครฯ สามารถคืนผิวถนนได้เลยไม่ต้องรอ ย้ำปัจจุบันกำลังล้มเสาล็อตที่ ๒ ถนนสุรนารี และจะล้มเสาล็อตที่ ๓ ถนนโพธิ์กลาง ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ต่อเนื่อง รวมดำเนินการทั้ง ๖ ล็อต เสร็จในปีนี้

ตามที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเมืองใหญ่ระยะที่ ๑ (คพญ.๑) โดยดำเนินการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน ในพื้นที่ดำเนินการ ๔ แห่ง วงเงินลงทุน ๑๑,๖๖๘.๕๖ ล้านบาท ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เมืองพัทยา เทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลนครนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจ่ายกระแสไฟฟ้าในเมืองใหญ่ รองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับทัศนียภาพที่สวยงาม มีความเป็นเมืองที่ทันสมัย ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ที่ดำเนินโครงการนั้น

ในส่วนของพื้นที่เขตเทศบาลนครนครราช สีมา แบ่งโครงการฯ ออกเป็น ๖ ล็อต โดยดำเนินการบนถนน ๒๑ สาย ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น ๒,๔๓๓ ล้านบาท ซึ่งดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๖๒ ปัจจุบันงานด้านโยธาก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด แต่มีการคืนพื้นผิวถนนเพียง ๑ ล็อต คือ ล็อตที่ ๑ ถนนราชดำเนิน ระยะทาง ๑.๖๖ กิโลเมตร โดยล็อตอื่นผิวถนนยังเป็นหลุมเป็นบ่อและขรุขระ จากการดำเนินงานของผู้รับเหมา นอกจากนี้ ประชาชนยังร้องเรียนปัญหาถนนขรุขระ ท่อระบายน้ำชำรุด ฝาปิดบ่อพักสายเสียงดังเวลารถผ่าน ขอบทางเท้าไม่เรียบและไม่เหมือนเดิม และตู้หม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ติดตั้งบนทางเท้า ทำให้กีดขวางการสัญจรไปมา โดยเฉพาะคนพิการ

ความคืบหน้าในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่ห้องประชุมชั้น ๒ สำนักงานเทศบาลนครนครราชสีมา นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา พร้อมด้วยนายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรี และคณะผู้บริหารเทศบาลฯ เจ้าหน้าที่สำนักการช่าง สำนักการประปา ประชุมร่วมกับผู้แทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดนครราชสีมา และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ TOT เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการดำเนินโครงการการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ (คพญ.) ระยะที่ ๑ ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ น. นายประสิทธื์ จันทร์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและบริการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) นครราชสีมา นำทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ดำเนินการรื้อถอนเสาไฟฟ้า ล็อตที่ ๒ บริเวณถนนสุรนารี ฝั่งด้านวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา จากอู่นายอ้วนถึงถนนราชดำเนิน และถนนบุรินทร์ มีปริมาณงานรื้อถอนเสาไฟฟ้าขนาด ๑๒ เมตร จำนวน ๖๑ ต้น และเสาไฟฟ้าขนาด ๘-๙ เมตร จำนวน ๑๒ ต้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ เปิดเผยทางโทรศัพท์กับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “ตั้งแต่นายประเสริฐ บุญชัยสุข เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ได้เชิญผมไปร่วมประชุมหารือ ๒ ครั้ง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ซึ่งมีผลกระทบต่อทางเท้าและถนน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือด้วย เช่น องค์การโทรศัพท์ (NT) หรือชื่อเดิม TOT และสำนักประปาเทศบาลฯ รวมถึงการไฟฟ้าฯ ถือเป็น ๓ หน่วยงานหลักที่จะต้องทำงานอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อรองรับการแก้ปัญหาในช่วงฤดูฝนที่กำลังเกิดขึ้น โดยทุกหน่วยงานจะต้องช่วยกันซ่อมแซมถนนจุดที่ชำรุดและอาจจะก่อให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งจะเร่งทำให้เสร็จโดยเร็ว นอกจากนี้ นายประเสริฐ บุญชัยสุข ยังได้ตั้งกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อหารือและติดตามงานตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการทำงานและลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที”

“ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ได้พูดถึงปัญหาท่อระบายน้ำชำรุด จุดไหนที่พบว่าชำรุด ทุกหน่วยงานก็จะลงพื้นที่ไปดูด้วยกัน พร้อมกับสำรวจ ตรวจสอบ และแก้ไขทันที หากตรวจสอบแล้วพบว่า หน่วยงานใดเป็นคนทำให้เกิดการชำรุด หน่วยงานนั้นจะต้องรับผิดชอบ โดยก่อนที่เทศบาลฯ จะทำการปูพื้นถนนใหม่ทั้งหมด จะต้องแก้ไขปัญหาท่อระบายน้ำก่อน ซึ่งนายประเสริฐ บุญชัยสุข วางแผนไว้ ๒ แนวทาง คือ ระยะสั้น ต้องแก้ไขและซ่อมแซมจุดชำรุดต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน หลังจากนั้นจะเริ่มทำตามแผนระยะยาว คือ การใช้งบประมาณเทศบาลฯ เพื่อปูพื้นถนนใหม่ หรือที่เรียกว่า Overlay แต่เทศบาลฯ อาจจะทำให้ถนนมีคุณภาพดีกว่าการ Overlay เพราะการเทพื้นถนนไม่ได้ใช้ยางร้อนเหมือนกับที่วางแผนไว้แต่แรก แต่จะใช้ปูนแทน”

ล้มเสาถนนสุรนารี

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า “อีกปัญหาหนึ่ง คือ หม้อแปลงไฟฟ้า ที่ตั้งอยู่บนทางเท้า ซึ่ง กฟภ.อ้างอิง พ.ร.บ.คนพิการฯ ที่ว่า ต้องมีที่ว่างเหลือไว้ ๙๐ เซนติเมตร เพื่อให้รถวีลแชร์วิ่งผ่านไปได้ ซึ่งหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีปัญหามีอยู่ ๖ จุด ด้วยความร่วมมือกับเทศบาลฯ จึงทำการแก้ไขไปแล้ว ๔ จุด โดยการเพิ่มขอบทางเท้าหรือขยายทางเท้าในพื้นที่เอกชน ส่วนอีก ๒ จุดที่เหลือ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของทหารและตำรวจ กฟภ.ทำหนังสือชี้แจงไปยังแม่ทัพภาคที่ ๒ และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดฯ ซึ่งการตอบรับมีแนวโน้มที่ดี และขอเท้าความไปถึงการล้มเสาบริเวณถนนสุรนารี จุดหน้าวิทยาลัยเทคนิคฯ เมื่อนำเสาไฟฟ้าออกไปแล้ว เสาที่อยู่ใกล้กับหม้อแปลงไฟฟ้าหายไป ก็ทำให้เพิ่มช่องว่างและความสะดวกของทางเท้ามากขึ้น ซึ่งการล้มเสาล็อตที่ ๒ ถนนสุรนารี ขณะนี้ทำไปแล้วประมาณร้อยละ ๖๐-๗๐ เหลือเพียงฝั่งเดียว เนื่องจากไฟจราจรและสายสื่อสารยังไม่เรียบร้อย แต่หลังจากนี้จะทำการรื้อสายสื่อสารต่อ แต่ในส่วนของสายไฟจราจรก็ต้องรอเทศบาลฯ ทำให้เรียบร้อยก่อน ถ้าผ่านไปถนนสุรนารีช่วงนี้ จะพบว่าฝั่งที่รื้อเสาออกแล้ว ดูโล่ง สวยงาม และปลอดภัย ไม่รกรุงรังเหมือนเมื่อก่อน เหลือเพียงหม้อแปลงไฟฟ้า เหมือนกับรอบลานย่าโม ซึ่งหลังจากนี้ กฟภ.จะเริ่มดำเนินการรื้อเสาล็อตที่ ๓ ภายใน ๒-๓ เดือนนี้”

ทำถนนได้เลยไม่ต้องรอ

“ในส่วนความคืบหน้างานในความรับผิดชอบของ กฟภ. ขณะนี้ทั้ง ๖ ล็อต เสร็จเรียบร้อยแล้ว ๒ ล็อต คือ ล็อตที่ ๑ รอบลานย่าโม และล็อตที่ ๒ ถนนสุรนารี ซึ่งกำลังรื้อเสาไฟฟ้า ส่วนล็อตอื่น งานด้านโยธาเสร็จแล้ว เหลือเพียงการติดตั้งระบบไฟฟ้า ซึ่งตามแผนตั้งเป้าว่า จะต้องเสร็จทุกล็อตภายในปีนี้ โดยเทศบาลฯ สามารถซ่อมถนนได้เลย เพราะ กฟภ. ประปา และหน่วยงานสายสื่อสาร ไม่ได้ทำบนถนนแล้ว ดังนั้น การซ่อมถนนไม่ต้องรอแล้ว ทุกหน่วยงานทำงานบนถนนเสร็จหมดแล้ว และโชคดีที่ขณะนี้ กฟภ.ทำงานด้านโยธาเสร็จแล้ว ไม่อย่างนั้นอาจจะต้องติดปัญหาช่วงโควิด-๑๙ ระบาดหนัก ซึ่งขณะนี้ กฟภ.คนงานน้อยลง เพราะเหลือแค่งานด้านไฟฟ้า เช่น การเดินสายไฟฟ้า แต่คนงานก็มีแคมป์อยู่ สสจ.จึงต้องเข้าไปตรวจคัดกรองทุก ๗ วัน ส่วนการสั่งของ อุปกรณ์บางชิ้นต้องสั่งจากต่างประเทศ ทำให้เกิดผลกระทบในการขนส่ง เพราะบางแห่งต้องปิดโรงงาน ทำให้ส่งมาไม่ทันตามกำหนด ตามแผนจะต้องเสร็จภายในปีนี้ก็อาจจะต้องขยายระยะเวลาออกไปช่วงหนึ่ง และขณะนี้ กฟภ.เหลืองานบนทางเท้าเท่านั้น เป็นการติดตั้งระบบไฟฟ้า ซึ่งจากที่ประชุมร่วมกับเทศบาลฯ ได้หารือกันว่า ถนนจะซ่อมแซมในจุดที่อันตรายก่อน โดยเฉพาะบริเวณท่อน้ำที่อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วม จากนั้นจึงจะทำถนนใหม่ให้ดีขึ้น ซึ่งวันนี้ไม่มีผลกระทบต่อการก่อสร้างแล้ว” นายประสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า “กฟภ.และเทศบาลฯ มีข้อตกลงในการทำงานร่วมกันเพิ่มเติมหรือไม่” นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ ตอบว่า “ก่อนที่จะเริ่มดำเนินโครงการการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ (คพญ.) ระยะที่ ๑ กฟภ.กับเทศบาลฯ ในสมัยนายสุรวุฒิ เชิดชัย เป็นนายกเทศมนตรีฯ ได้ทำ MOU ร่วมกัน ซึ่งเทศบาลฯ ยินดีให้ กฟภ.เข้ามาดำเนินโครงการฯ โดยเทศบาลฯ จะทำในส่วนของไฟฟ้าส่องสว่าง ไฟจราจร และการซ่อมถนน เมื่อนายประเสริฐ บุญชัยสุข เป็นนายกเทศมนตรีฯ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรใน MOU ทุกภาคส่วนจึงยังดำเนินโครงการต่อไป”

นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ กล่าวท้ายสุดว่า “กฟภ.มีความตั้งใจที่จะพัฒนาเมืองโคราชให้มีความสวยงามและปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย หากทำเสร็จทั้ง ๖ ล็อต ผมการันตีว่า เมืองโคราชจะสวยงาม เป็นที่เชิดหน้าชูตา เพราะโคราชเป็นจังหวัดแรกที่ดำเนินโครงการ คพญ.๑ สมบูรณ์ที่สุดในประเทศ จากทั้งหมด ๔ เมือง ได้แก่ หาดใหญ่ พัทยา เชียงใหม่ และโคราช ซึ่งมีเพียงโคราชเท่านั้นที่กำลังจะเสร็จ ส่วนเมืองอื่นต้องชะลอโครงการไป โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ ซึ่งติดปัญหาเมืองเก่า ทำให้ดำเนินการต่อไม่ได้”

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ (คพญ.๑) ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา แบ่งออกเป็น ๘ ล็อต ได้แก่ ล็อต ๑ ถนนชุมพล และถนนราชดำเนิน ระยะทาง ๑.๖๖ กิโลเมตร วงเงิน ๑๖๐.๐๑๘ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ, ล็อต ๒ ถนนสุรนารี, ถนนบุรินทร์, ถนนพิบูลละเอียด, ถนนจอมสุรางค์ยาตร์, และถนนโพธิ์กลาง ระยะทาง ๒.๕๘ กิโลเมตร วงเงิน ๒๓๕.๕ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท RSS 2016 จำกัด

ล็อต ๓ ถนนจอมสุรางค์ยาตร์, ถนนบัวรอง, ถนนโพธิ์กลาง และถนนโยธา ระยะทาง ๓.๑ กิโลเมตร วงเงิน ๒๗๗.๘ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน), ล็อต ๔ ถนนราชดำเนิน, ถนนราชนิกูล, ถนนไชยณรงค์, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย และถนนสรรพสิทธิ์ ระยะทาง ๔.๘ กิโลเมตร วงเงิน ๓๑๔ ล้านบาท ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า ศรีชลธร และโปรเอ็น (บริษัท ศรีชลธร จำกัด และ บริษัท โปรอิมเมจ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด)

ล็อต ๕ ถนนมนัส, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย และถนนสรรพสิทธิ์ ระยะทาง ๒.๖ กิโลเมตร วงเงิน ๑๘๗ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท ธนวรรณ อีเล็คทริค คอนสตรัคชั่น จำกัด ล็อต ๖ ถนนจักรี, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย, ถนนสรรพสิทธิ์ และถนนกำแหงสงคราม ระยะทาง ๒.๖๓ กิโลเมตร วงเงิน ๑๘๓.๗๕ ล้านบาท ผู้รับจ้างบริษัท ฟิวเจอร์อีเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด 

ส่วนในล็อตที่ ๗ เป็นงานจ้างเหมาก่อสร้างสายส่ง ๑๑๕ เควี เคเบิลใต้ดินช่วงโรงแรมสีมาธานีถึงสถานีไฟฟ้านครราชสีมา ๖ (บริเวณสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา) ระยะทาง ๒.๒ กิโลเมตร วงเงิน ๓๐๘.๔ ล้านบาท ผู้รับจ้าง กลุ่ม Consortium FEC & ETE และล็อตที่ ๘ เป็นงานก่อสร้าง “สถานีไฟฟ้านครราชสีมา ๖” วงเงิน ๑๖๒ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท พรีไซซ ซิสเท็ม แอนด์ โปรเจ็ค จำกัด

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๙ วันพุธที่ ๒๘ กรกฎาคม - วันอังคารที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


1008 1609