29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 06,2021

คุมเข้มโควิดทุกโรงงาน ไม่ร่วมมือพร้อมสั่งปิด ไม่รู้จะสาปแช่งยังไง?

คุมเข้มคลัสเตอร์โรงงาน หลังพบระบาดหลายแห่ง “ผู้ว่ากอบชัย” ลั่นโรงงานไหนไม่ร่วมมือ พร้อมสั่งปิดทันทีบ่นโรงงานสระบุรี ระบาดหนักแต่ไม่แจ้ง ปล่อยให้เกิดคลัสเตอร์ที่ด่านขุนทด เดือด “ไม่รู้จะสาปแช่งอย่างไร” เร่งขอรายชื่อพนักงานและดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งนายเกษมสันต์ เครือเจริญ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เสนอการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ในสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรม

นายเกษมสันต์ เครือเจริญ กล่าวว่า “ในกรณีที่สถานประกอบการและโรงงานพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งความพร้อมของโรงพยาบาลค่อนข้างมีความพร้อมจำกัด นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงมีนโยบายจะให้สถานประกอบการและโรงงาน มีส่วนในการดูแลพนักงานของตัวเอง เมื่อพบการติดเชื้อหรือการระบาดในสถานที่ของตัวเอง โดยมีข้อสรุปว่า จะใช้แนวคิดเหมือนกับที่จังหวัดสมุทรสาคร จัดทำระบบ Factory Isolution กำหนดกลุ่มเป้าหมายพนักงานที่พบการติดเชื้อ ให้ผู้ประกอบการจัดเตรียมสถานที่ ห้องน้ำ ระบบสิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิตประจำวันของพนักงานที่กักตัว ส่วนเจ้าหน้าที่ HR และพยาบาลประจำโรงงานต่างๆ ทำหน้าที่ประเมินผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายไม่มีอาการ แนะนำการปฏิบัติตัวในการกักตัว โดยให้รวบรวมข้อมูลพนักงานทั้งหมด ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ และโรงพยาบาลในพื้นที่”

“ปัจจุบันมีบางโรงงานพบการติดเชื้อ และให้พนักงานกลับไปกักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งในโคราชมีโรงงานที่มีพนักงาน ๑๐๐ คนขึ้นไป ๓๘๔ แห่ง ลูกจ้างรวมกันประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน โรงงานที่มีพนักงาน ๒๐๐ คน ขึ้นไป ๑๑๙ แห่ง ลูกจ้างประมาณ ๑๑๓,๐๐๐ คน ดังนั้น ทำอย่างไรสถานประกอบการและโรงงานจะมีระบบดูแล โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงการประกอบกิจการ เมื่อพบว่ามีคนติดเชื้อ จึงจะขอให้มีประกาศหรือคำสั่งจังหวัดในประเด็นต่อไปนี้ ๑.ให้สถานประกอบกิจการที่มีพนักงาน ตั้งแต่ ๑๐๐ คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีพื้นที่สำรองที่เหมาะสม และเพียงพอสำหรับการแยกกักพนักงานที่ติดเชื้อ โดยจะต้องมีเตียงอย่างน้อยร้อยละ ๑๐ ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันสถานประกอบไม่ได้เตรียมพื้นที่เหล่านี้ไว้ เมื่อเกิดการระบาดก็จะให้พนักงานกลับไปอยู่บ้าน ซึ่งพนักงานต้องไปกักตัวใน Community Isolution ๒.ให้สถานประกอบการมีแผนเผชิญเหตุ และต้องสามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อพบการติดเชื้อ เช่น เมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้ว จัดการอย่างไร และ ๓.ให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ตรวจตราให้ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ เช่น หากผู้ประกอบการไม่ได้เตรียมข้อมูล หน่วยงานในพื้นที่จะต้องเข้าไปช่วยดูแลให้คำแนะนำ หากไม่มีการดำเนินภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด และพบว่าติดเชื้อจะต้องปิดโรงงานชั่วคราว”

นายเกษมสันต์ กล่าวอีกว่า “ในส่วนของแผนฉุกเฉิน ๕ ด้าน ได้แก่ ๑.การบริหารจัดการสถานที่ ต้องหาสถานที่สำรองสำหรับกักตัวพนักงานที่ติดเชื้อให้ได้ ซึ่งอาจจะเป็นในโรงงานหรือนอกโรงงานก็ได้ เช่น โรงแรม หอพัก ๒.การดูแลผู้เข้าพัก ต้องให้ความรู้และคำแนะนำ มีการแยกอยู่ แยกกิน และคัดกรอง รวมถึงต้องประเมินเป็นประจำ ๓.ความพร้อมด้านอุปกรณ์และทรัพยากรส่วนบุคคล เช่น ผู้ที่จะไปดูแลคนป่วย ต้องรู้วิธีป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยเสียก่อน ๔.การจัดการด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม นำคนป่วยไปกักตัวจะต้องหาสถานที่ทิ้งอุปกรณ์ รวมถึงการประสานงานกับส่วนราชการในการเก็บขยะติดเชื้อ รวมถึงห้องน้ำต้องมีมาตรฐาน และ ๕.ความปลอดภัย ต้องมีถังดับเพลิงและเส้นทางหนีไฟ เพื่อให้คนที่กักตัวนั้น อยู่ในความปลอดภัย”

โรงงานต้องจริงจัง

จากนั้น วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ ที่สำนักท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวว่า “ตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน ส่วนหนึ่งมาจากโรงงานต่างๆ หากจะรับผิดชอบชีวิตคนโคราช จะต้องแก้ปัญหาเรื่องโรงงานให้ดี จะเห็นว่า โคราชไม่มีคลัสเตอร์โรงเรียน แต่ก็ยังปิดโรงเรียน แต่โรงงานยังเปิดอยู่ จึงทำให้เกิดคลัสเตอร์ขึ้น ดังนั้น คำว่า Bubble and Seal ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่มีคนป่วยก็ให้กลับบ้าน ให้ไปโรงพยาบาล จะให้โรงพยาบาลที่ไหนหาเตียงให้นอน คำว่า Seal คือ ในโรงงานหนึ่ง มีพนักงาน ๑๐๐ คน มีคนติดเชื้อ ๕ ราย จะแบ่งกลุ่มพนักงานออกเป็น ๓ ประเภท คือ ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้ตรวจหาเชื้อ ผู้ป่วยหายแล้ว และคนที่ยังไม่ติดเชื้อ ดังนั้น ในพนักงาน ๑๐๐ คน ภาษาโคราช คือ เอาสุ่มไปครอบ ห้ามไปไหน ต้องอยู่ในโรงงานก่อน แต่ถ้าในโรงงานไม่มีพื้นที่เพียงพอ จะต้องหาสถานที่อื่น แล้วนำรถ ๑ คัน ไปรับพนักงานจากที่พักมาทำงาน และนอนอยู่ที่นั้น ห้ามออกไปข้างนอกเด็ดขาด”

“เมื่อมีการระบาดเกิดขึ้น ทุกที่ต้องสั่งปิด คงไม่มีโรงงานใดเปิด แต่เมื่อปิดแล้วทำอย่างไรจะไม่ให้พนักงานหนีออกมา ต้องเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในแคมป์คนงานใหญ่ๆ ที่รัฐสั่งปิดแต่คนงานหนีออกมาได้ เพราะว่า เขาอยู่ในแคมป์ก็ไม่ได้ค่าจ้าง อยู่ไปไม่มีข้าวกิน ไม่มีหมอมารักษา ดังนั้นเมื่อมีการติดเชื้อ โรงงานจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า พนักงานได้ค่าจ้างหรือไม่ หากไม่มีเขาหนีออกมาแน่นอน เขามีข้าวกินหรือไม่ ถ้ามีให้เขาก็อยู่ และมีหมอให้เขาหรือไม่ การล็อกดาวน์ต้องมาพร้อมกับการเยียวยา ดังนั้นการทำ Bubble and Seal ต้องมาพร้อมกับการดูแลรักษาพนักงานด้วย หากผู้ประกอบการโรงงานทำไม่ได้ หนักงานก็จะหนีออกไปที่อื่นๆ สิ่งที่น่ากังวล คือ หากเขากลับไปบ้าน ไม่มีใครรู้หรอกว่า คนกลุ่มนี้ไปที่ไหนต่อ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ก็บ่งบอกว่า ส่วนใหญ่มาจากโรงงาน ถ้าจะช่วยกันต้องช่วยอย่างเต็มที่” นพ.วิชาญ กล่าว

คลัสเตอร์โรงงานระบาด

ล่าสุดวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๙ นครราชสีมา (สคร.๙) นายเกษมสันต์ เครือเจริญ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา ในฐานะนักระบาดวิทยา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมีสาระสำคัญในการติดตามความคืบหน้าคลัสเตอร์โรงงานต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานว่า “คลัสเตอร์แคมป์คนงานรถไฟทางคู่ อำเภอสีคิ้ว ตรวจทั้งหมด ๖๖๕ คน ปรากฏว่า ติดเชื้อ ๖ ราย ซึ่งหลังจากที่ผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ครั้งก่อน ก็ปฏิบัติตามคำสั่งและตั้งแคมป์อยู่เฉพาะจุดนั้น แต่ปรากฏว่า มีพนักงานจากบริษัทอื่นเข้าไปอยู่ด้วย ๒๓ คน แต่เมื่อพบผู้ติดเชื้อ ๖ ราย พนักงานจากบริษัทอื่น ๒๓ คน จึงขอออกไปอยู่ข้างนอก เพราะเข้าใจว่า สถานที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งในแคมป์นี้จัดระบบคัดแยกกลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มเสี่ยงต่ำแล้ว โดยมีโรงพยาบาลสีคิ้วดูแล ซึ่งก่อนหน้านี้มีพนักงานบางรายแอบออกมาภายนอก เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคจึงออกคำสั่งห้ามออกนอกพื้นที่ สำหรับคนงานที่ปลอดจากเชื้อ จะให้ย้ายไปอยู่ที่แคมป์คนงานในตำบลโคกกรวด ซึ่งบริษัทค่อนข้างให้ความร่วมมือและรายงานสถานการณ์ตลอดเวลา สรุปแล้วคลัสเตอร์นี้พบผู้ติดเชื้อ ๓๗ ราย จากการตรวจเชิงรุกทั้งหมด ๖๖๕ คน”

นายกอบชัย บุญอรณะ ผวจ.นครราชสีมา

พร้อมสั่งปิดโรงงาน

นายกอบชัย บุญอรณะ กล่าวเสริมว่า “แคมป์คนงานและโรงงานต่างๆ พยายามให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่หากพบว่า ไม่สนใจ ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ขอให้บอกผมทันที จากนั้นผมจะสั่งปิด แม้ปัจจุบันจะต้องใช้วิธี Bubble and Seal แต่ถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็จะสั่งปิด ขอให้เสนอมา เพราะไม่อย่างนั้นชุมชนรอบข้างไม่สบายใจ แคมป์คนงานหรือโรงงานจะแพร่ระบาดเมื่อไหร่ ชุมชนก็ไม่รู้และไม่ปลอดภัย หากโรงงานหรือแคมป์ใดมีท่าทีไม่พอใจหรือไม่ทำตาม ขอให้แจ้งโดยด่วน”

นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร กล่าวว่า “การระบาดในคลัสเตอร์ต่างๆ แนะนำให้แยกคนติดเชื้อกับคนปกติ เช่น โรงงานไส้กรอกแห่งหนึ่งที่พบผู้ติดเชื้อ มีแรงงานต่างชาติไปทำงานในตลาดเทศบาลเมืองปากช่อง แล้วนำมาติดเชื้อในโรงงาน ต้องแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อออกจากกลุ่มคนปกติ ถ้าสามารถหาสถานที่แยกได้ จะช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดได้มาก ขณะนี้ยังมีปัญหาการแยกตัวไปอยู่ที่บ้าน ทำให้มีการติดเชื้อในครอบครัวด้วย”

สาปแช่งโรงงาน

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานอีกว่า “คลัสเตอร์บริษัท ซันฟู๊ด สระบุรี ปัจจุบันผู้ติดเชื้อวงที่ ๑ จำนวน ๓๘ ราย และกระจายสู่คนในครอบครัว เป็นวงที่ ๒ จำนวน ๘ ราย และวงที่ ๓ เป็นผู้สัมผัสเสี่ยง ขณะนี้อำเภอด่านขุนทดกำลังกักตัวไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ อสม. ที่ไปดูแลผู้ติดเชื้อ วันนี้พบติดเชื้อเพิ่ม ๕ ราย รวมทั้งสิ้นคลัสเตอร์นี้ ๕๖ ราย สำหรับโรงงานนี้มีคนในโคราชไปทำงานที่สระบุรี แต่โรงงานไม่ได้แจ้งว่ามีการระบาดเกิดขึ้น เมื่อมีการระบาด พนักงานจึงไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลด่านขุนทด จึงทำให้ทราบว่าโรงงานนี้มีการระบาดเกิดขึ้น”

นายกอบชัย กล่าวว่า “ความรับผิดชอบของโรงงานแย่มาก บางโรงงานใจร้าย ปิดโรงงานแล้วให้โรงพยาบาลรับไปรักษา จากนั้นก็เปิดดำเนินการต่อ ผมไม่รู้จะสาปแช่งอย่างไร อย่างเคสนี้ ตัวเองปิดโรงงานแทนที่จะติดต่อมาที่ภูมิลำเนาพนักงาน จะได้ช่วยกันนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ ต่อไปโรงงานควรจะมีโรงพยาบาลเป็นของตัวเอง หากปล่อยให้เกิดแบบนี้ก็จะระบาดไปทั่ว ไม่รู้จะเอาผิดกับโรงงานแบบนี้อย่างไร”

นายเกษมสันต์ กล่าวว่า “เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ติดต่อไปยังสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี เพื่อขอรายชื่อพนักงาน วันนี้ก็ยังไม่ได้รับ ขณะนี้ทราบว่า โรงงานก็ยังไม่ได้ให้รายชื่อกับสสจ.ด้วย”

นายกอบชัย กล่าวว่า “ขอให้มีบางสิ่งบางอย่างที่บ่งบอกว่า โรงงานไม่ให้ความร่วมมือ และดูว่ามีกฎหมายใดบ้าง เช่น กฎหมายโรคติดต่อ จะได้ดำเนินการกับโรงงาน ขอรายชื่อหลายครั้งก็ไม่ให้ ต่อไปต้องขอภายใต้ข้อกฎหมาย ถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็ดูว่าจะผิดกฎหมายอะไรบ้าง ดังนั้นให้อ้างไปเลยว่า เจ้าพนักงานควบคุมโรคต้องการขอข้อมูล พยายามเชื่อมกับข้อกฎหมาย ไม่อย่างนั้นก็จะทำอะไรเขาไม่ได้”

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานคลัสเตอร์บริษัทเกลือ ที่อำเภอพิมายว่า วันที่ ๑๐-๒๑ กรกฎาคม ผู้ป่วยรายที่ ๔๐๖๖ ไปฝึกงานที่บริษัทเกลือ และเดินทางกลับบ้านที่ตำบลมืองปราสาท อำเภอโนนสูงทุกวัน วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เริ่มมีอาการปวดหัว วันที่ ๒๒ กรกฎาคม จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส จึงไปตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ที่โรงพยาบาลพิมาย วันที่ ๒๓ กรกฎาคม เวลา ๒ ทุ่ม โรงพยาบาลโทรแจ้งผล พบเชื้อ พฤติกรรมของนักศึกษาฝึกงานมีการรับประทานอาหาร สังสรรค์หลังเลิกงานกับพี่ๆ ในโรงงาน ทำให้ติดเชื้อเพิ่ม ๔ ราย และทำให้ครอบครัวที่ตำบลเมืองปราสาท ติดเชื้อ ๓ ราย ขณะนี้อยู่ในการควบคุมของอำเภอโนนสูงที่จะหากลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม”

“คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ที่ตำบลท่าเยี่ยม อำเภอโชคชัย วันที่ ๒๙ กรกฎาคม มีผู้ป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ทางบริษัทได้ให้ไปตรวจโควิด-๑๙ พบติดเชื้อ ๓ ราย และค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในแผนก ๕๓ ราย พบว่ามีติดเชื้อเพิ่มเติม จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและแผนกที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ๓,๒๖๐ คน จากการสอบสวนโรคทางบริษัท ดำเนินการ Swab สิ่งแวดล้อม พบพนักงานที่ติดเชื้ออยู่แผนกแพ็ค ๙๕๕ คน พบติดเชื้อ ๒ ราย แผนกบรรจุกล่อง ๒๖๔ คน พบติดเชื้อ ๑ ราย และจุดอื่นๆ ยังพบเชื้อโควิด-๑๙ ปนเปื้อนอยู่บริเวณโต๊ะ เก้าอี้ ภายในโรงอาหาร และบริเวณนั่งเปลี่ยนรองเท้าพนักงาน เนื่องจากพนักงานทุกคนได้ใช้บริเวณโรงอาหารร่วมกับผู้ติดเชื้อ ทางโรงงานเริ่มทำ Bubble and Seal ขณะนี้อยู่ระหว่างหาโรงแรม เบื้องต้นทางบริษัทมีหอกักตัวที่โรงงาน จากนั้นส่งตรวจ RT-PCR โรงพยาบาลโชคชัย โดยโรงพยาบาลจะเข้ามาตรวจให้ถึงสถานที่กัก หากผลพบติดเชื้อจะเข้ากักตัวที่หอพักที่จัดเตรียมไว้ มีกล้องวงจรปิด เครื่องวัดความดัน ออกซิเจน เครื่องวัดปรอท เพื่อจะเป็นระบบภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลโชคชัยต่อไป”

“คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัย พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๓๘ ราย เป็นพนักงาน ๓๐ คน ครอบครัวและร่วมบ้าน ๘ คน บริษัทนี้จะให้ผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจให้ไปขอตรวจที่โรงพยาบาลในพื้นที่ตัวเอง ๒๖ ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในครอบครัว ๑๒ ราย แยกเป็น พนักงาน ๔ ราย ครอบครัว ๘ ราย วันที่ ๑ สิงหาคม บริษัททำ Antigen Test Kid (ATK) ในโรงงานแผนกที่พบผู้ป่วย ๓๐๐ ราย ผลบวก ๖๐ ราย กักตัวที่หอพักโรงงาน ๕๗ ราย รักษาอยู่โรงพยาบาล ๒ ราย HI ๑ ราย วันที่ ๒ สิงหาคม บริษัททำ ATK ในโรงงานแผนกอื่นๆ ๗๙๙ ราย ผลบวก ๑๑ ราย (กักตัวที่หอพักโรงงาน) ทางโรงพยาบาลโชคชัย ไป Swab ส่ง PCR จำนวน ๕๑ คน อยู่ระหว่างรอผล วันนี้ทีมสอบสวนโรคเข้าไปวางระบบกับบริษัทบ่ายวันนี้ ทางบริษัทยินดีที่จะปฏิบัติตาม และบริษัทเริ่มทำ Bubble and Seal โดยจองโรงแรมในจังหวัดนครราชสีมา”

เชื้อมาจากภายนอก

นายกอบชัย กล่าวว่า “มาตรการป้องกันการติดเชื้อในโรงงาน เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคระบาดพยายามทำเต็มที่ เข้าไปควบคุมกำกับแนะนำ ตรวจดูว่ามีอะไรเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ และน่าเห็นใจทุกฝ่าย ถ้าไม่มั่นใจอะไรขอให้บอก ผมย้ำกับนายอำเภอ การจะปิดโรงงานตามระเบียบ ไม่สามารถทำได้ทุกแห่ง แต่คนในโรงงานอย่าไปสร้างปัญหาให้คนรอบนอก หรือทำอย่างไรให้คนในชุมชนเข้าใจว่า โรงงานใช้มาตรการอะไรป้องกันเชื้อ ปลอดภัยมากน้อยอย่างไร หากไม่ปลอดภัยคนข้างนอกต้องเตรียมรับมืออย่างไร จากที่ดู คือ คนข้างนอกนำมาติดคนในจังหวัด มากกว่า ๓๐๐ ราย มาจากระบบ Referal ๑๑๕ ราย รวมกว่า ๔๐๐ ราย โดยนโยบายขณะนี้ให้ผู้ป่วยเดินทางมายังจังหวัดได้ เพราะเตียงที่กรุงเทพฯ ไม่เพียงพอ ผู้ป่วยไม่รู้จะไปที่ไหน จึงเดินทางมาต่างจังหวัดเพื่อรับการรักษา แม้บางจังหวัดจะมีมาตรการห้ามเข้าออก แต่คนเราจะต้องหนีร้อนมาพึ่งเย็น ฉะนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

โรงงานไม่มีพื้นที่เพียงพอ

นายเกษมสันต์ เครือเจริญ กล่าวว่า “ปัญหาอุปสรรคของสถานพยาบาลที่จะทำ Bubble and Seal ในการรองรับสถานการณ์ ขณะนี้มีการร่วมประชุมกับทางผู้บริหารและทีมงานของโรงงาน เพื่อเตรียมข้อมูลและบริหารจัดการ ในส่วนของบริษัทแปรรูปไก่ตำบลท่าเยี่ยม ขณะนี้สามารถ Seal พนักงานในเบื้องต้น ๒,๐๐๐ คน โดยจัดอาหารและควบคุมที่พัก แต่ปัญหาคนงานรอบโรงงานในอำเภอต่างๆ ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ พบปัญหาที่พักสำรองสำหรับกักตัวคนเหล่านี้ไม่เพียงพอ ซึ่งหลายโรงงานกำลังหาสถานที่สำรองภายนอก เมื่อมีผู้ที่จะต้องกักตัวจำนวนมาก ปัญหาหลัก คือ มีสถานที่รองรับไม่เพียงพอ จึงกลายเป็นโจทย์ที่ว่า จะหาพื้นที่สำรองส่วนไหนได้บ้าง เช่น บริษัทแปรรูปไก่ ขณะนี้ได้จัดพื้นที่สำรองไว้ในโรงงาน โดยตั้งเต็นท์ขนาดใหญ่สำหรับกักตัว แต่ก็ยังไม่พอ ซึ่งบางส่วนพนักงานต้องกักตัวที่บ้านตัวเอง ขณะนี้ได้วางแผนจะนำคนเข้ามาอย่างไรให้อยู่ในจุดเดียวกัน”

นายกอบชัย กล่าวเสริมว่า ปัญหาโรงงานไม่มีพื้นที่เพียงพอนั้น ทำไมโรงงานที่จังหวัดสระบุรี เขาสามารถนำคนมาพักคอยในอำเภอปากช่อง หากโรงงานต้องการที่จะทำงานต่อ ก็ต้องคัดคนที่ปลอดภัยและหาพื้นที่พักคอยให้ได้ เช่น ใช้โรงแรมแห่งหนึ่งเป็นที่พักคอย เช้าก็ไปทำงาน ตกเย็นกลับมาถึงที่พักห้ามออกไปไหน ซึ่งจังหวัดสระบุรีและลพบุรี กำลังทำแบบนี้อยู่ ผมว่า ศักยภาพของโรงงานในโคราชก็มีเช่นกัน และในจังหวัดยังมีโรงแรมว่างอยู่หลายแห่ง แต่ในขณะเดียวกันให้คุยกับอำเภอด้วยว่า ทำอย่างไรจะขนย้ายคนจากที่พักในพื้นที่ต่างๆ มาเข้าโรงงานอย่างปลอดภัย พนักงานที่พักอยู่บ้านตัวเอง ทำอย่างไรจะให้ปลอดภัยต่อคนในชุมชน หากไม่ปลอดภัยก็ต้องย้ายคนเหล่านี้มาพักในสถานที่ที่จัดหาให้ เช่น หอพัก โรงแรม เป็นต้น”

แนะโรงงานติดต่อโรงแรม

นพ.นรินทร์รัชต์ กล่าวว่า “ตัวอย่างโรงงานแปรรูปไก่ที่ตำบลกระโทก ได้ทำข้อตกลงกับหลายโรงแรมในโคราช เพื่อนำพนักงานมากักตัว ผมต้องการให้โรงงานอื่นๆ ทำแบบนี้เช่นกัน หรือจะปรึกษากับ สสจ.ก็ได้ เพื่อหาสถานที่เตรียมพร้อม หากโรงงานพบผู้ติดเชื้อ และประเมินแล้วไม่สามารถจัดทำระบบ Bubble and Seal ไม่เพียงพอ และขอให้ตรวจคัดกรองพนักงานทุกสัปดาห์ หากพบผู้ติดเชื้อให้รีบติดต่อ สสจ. เพื่อเข้าไปคัดแยกผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อในโรงงานได้มากขึ้น การทำเช่นนี้ จะช่วยให้หาผู้ติดเชื้อได้เร็ว คัดกรองได้เร็ว และลดการติดเชื้อได้เร็ว หากไม่ทำเช่นนี้ หากเชื้อแพร่กระจายในกลุ่มพนักงานเป็นจำนวนมาก โรงงานนั้นก็ไม่สามารถทำงานต่อได้ และที่สำคัญ การควบคุมพฤติกรรมของพนักงานจะต้องเข้มข้น พนักงานจะต้องดูแลตัวเองให้ดี โดยเฉพาะช่วงนี้โคราชเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ขอให้งดการรวมกลุ่ม การสังสรรค์”

มาโคราชต้องเข้าระบบ

“สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ในช่วงก่อนหน้านี้มีหลายคนไม่ยอมเข้าสู่ระบบการกักตัว เมื่อเข้าไปยังชุมชนทำให้มีการแพร่ระบาด แต่เมื่อมี SQ มากขึ้น ก็มีคนเข้าสู่ระบบมากขึ้นด้วย แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ลักลอบไม่เข้าระบบ ทำให้ติดเชื้อในครอบครัวและชุมชน แต่ในขณะนี้โคราชเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม หากพบผู้ลักลอบมีการติดเชื้อ เมื่อหายป่วยอาจจะต้องดำเนินคดี เพราะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง ก่อให้เกิดคลัสเตอร์ต่างๆ สำหรับผู้ติดเชื้ออยู่แล้ว แต่ต้องการเข้ามาในโคราช ขอให้แจ้งผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์ จะได้จัดหาพื้นที่ต้นทางรองรับและเข้าสู่ระบบการรักษา หากกลับมาเองอาจจะทำให้ระบาดในชุมชนได้” นพ.นรินทร์รัชต์ กล่าว

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๐ วันพุธที่ ๔ - วันอังคารที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


976 1588