28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 27,2021

‘รง.ไก่กระโทก’สร้างปัญหา นำพนง.ติดเชื้อเข้าโรงแรม สั่งทุกพื้นที่ลุยดำเนินคดี

โคราชระบาดหนัก พบคลัสเตอร์ระบาดทุกวัน ‘โรงงานแปรรูปไก่กระโทก’ นำพนักงานเข้าระบบซีลที่โรงแรมเขตเทศบาลฯ แต่ไม่แจ้ง พบพนักงานโรงงาน-โรงแรมติดเชื้อ เทศบาลฯ ตัดพ้อต้องรับภาระทั้งหมด ด้าน ‘รองผู้ว่าฯ’ ลั่นชื่อนี้คนโคราชไม่ชอบ พร้อมสั่งเร่งดำเนินคดี สุดท้ายโรงงานยอมให้ความร่วมมือ


สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ระลอกที่ ๓ ในจังหวัดนครราชสีมา ยังพบการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ๓๒ อำเภอ ทั้งนี้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ โดยส่วนใหญ่นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ณ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา และ “โคราชคนอีสาน” นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง

โดยความคืบหน้าวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพิ่ม ๔๕๓ ราย มาจากพื้นที่เสี่ยง ๑๕๒ ราย ในจังหวัด ๓๐๑ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๑๕,๙๑๔ ราย รักษาหาย ๙,๕๑๕ ราย ยังรักษาอยู่ ๖,๒๘๓ ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๕ ราย รวมเสียชีวิตสะสม ๑๑๖ ราย

คลัสเตอร์สำคัญติดเชื้อต่อเนื่อง

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานคลัสเตอร์ที่ยังมีการระบาดและพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง คือ คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง บริษัท B.S.Y.อำเภอสูงเนิน ซึ่งมีพนักงานทั้ง ๗๓๕ คน พบผู้ป่วยทั้งหมด ๔๐๔ ราย รักษาหาย ๒๔๓ ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงทั้งหมด ๒๔ ราย สำหรับคลัสเตอร์นี้ อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลสูงเนิน ในการทำ Factory Isolution (FAI) คลัสเตอร์ไก่ย่างห้าดาว ตำบลท่าเยี่ยม มีผู้ติดเชื้อ ๖๔ ราย รักษาหายแล้ว ๕๒ ราย คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ตำบลท่าเยี่ยม อำเภอโชคชัย มีผู้ติดเชื้อ ๔๑๒ ราย รักษาหายแล้ว ๓๓๗ ราย ซึ่งขณะนี้สามารถควบคุมได้ เนื่องจากพนักงานเข้าสู่ระบบ Bubble and Seal (BBS) แล้ว ต้องขอชื่นชมว่า BBS ของซีพีเอฟ ไม่พบพนักงานป่วยหรือมีอาการ เนื่องจากก่อนเข้าระบบ บริษัทนำพนักงานที่มีความเสี่ยงแยกออกจากพนักงานปกติอย่างชัดเจน ส่วนคลัสเตอร์คาสิโอ ตำบลท่าอ่าง อ.โชคชัย ผู้ป่วย ๗ รายแรก สัมผัสจากคลัสเตอร์ซีพีเอฟและคาร์กิล ขณะนี้พบผู้ป่วยในคลัสเตอร์นี้ ๓๑ ราย

พบผู้ป่วยจากการทำ BBS

คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ตำบลกระโทก อ.โชคชัย มีผู้ป่วยทั้งหมด ๔๕๓ ราย กระจายสู่พื้นที่ต่างๆ ๘ อำเภอ ในส่วนของข้อมูลการรักษา บริษัทไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ จึงไม่ทราบว่ามีผู้ป่วยรักษาหายกี่ราย ส่วนการทำ BBS ของคาร์กิล ซึ่งพบผู้ติดเชื้อในระบบ ๔๑ ราย อยู่ที่ BBS อำเภอปากช่อง ๑ ราย สูงเนิน ๓ ราย และเมือง ๓๗ ราย นอกจากนี้ยังแพร่ระบาดสู่แม่บ้านของโรงแรมที่ทำ BBS ในอำเภอเมือง ๒ ราย

นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า “เมื่อวันก่อนประชุมร่วมกับคาร์กิล โดยมีผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าของโรงแรม ๑๑ แห่ง ที่ใช้สถานที่ทำระบบ BBS ร่วมประชุม แนวทางการประชุม เป็นการสร้างความเข้าใจกับคาร์กิล เพื่อให้คาร์กิลชี้แจง Flow กับโรงแรม พร้อมกับสร้างความเข้าใจพื้นฐานแก่โรงแรม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย จากการตรวจสอบของเทศบาลฯ พบว่า คาร์กิลยังนำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้ามาในระบบ BBS เพราะเทศบาลฯ พบพนักงานเข้าข่ายอาการ PUI จำนวนมาก แต่คาร์กิลก็นำผู้สัมผัสออกไป เพื่อเข้าสู่ระบบ Flow PUI ของบริษัท แต่ระบบนี้ยังมีปัญหา เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานในโรงแรมแต่ละแห่งมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งในที่ประชุมได้ทำความเข้าใจกับคาร์กิลแล้ว จากนั้นคาร์กิลจะต้องนำเสนอ Flow ให้เทศบาลฯ ใหม่อีกครั้ง เทศบาลฯ จึงปรับมาตรการที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เช่น การไม่มีหมายเลขที่นั่ง สำหรับพนักงานที่จะโดยสารระหว่างโรงงานและที่พัก และปัญหาใหญ่ คือ การย้ายผู้ป่วยและผู้สัมผัสเสี่ยงไปรวมกัน ทำให้เกิดการแพร่เชื้อในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้คาร์กิลยังแจ้งปัญหาอีกว่า CI ของโรงงานไม่สามารถรองรับพนักงานได้ทั้งหมด จึงไม่สามารถย้ายพนักงานออกได้ทันที ดังนั้น พนักงานที่ป่วยหรือเสี่ยงสูงจึงยังอยู่ในระบบ BBS และอีกปัญหาหนึ่ง คือ คาร์กิลยังเติมคนเข้าห้องพักที่มีการติดเชื้อ หลังจากที่ทำความสะอาดแล้ว แต่การทำความสะอาดยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ”

“โดยเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม เทศบาลฯ นำผู้บริหารที่ดูแลในส่วนนี้ของคาร์กิล ไปเยี่ยมชมระบบการทำ BBS ที่โรงแรมปัญจดารา เพื่อให้ทราบว่า ปัญหาที่เทศบาลฯ บอกนั้นเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งจากการเยี่ยมชมก็พบว่า ระบบมีปัญหาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้าว การขึ้นรถลงรถ และการซื้อสินค้าในโรงแรม ซึ่งคาร์กิลก็รับปากว่า จะแก้ไขตามคำแนะนำ นอกจากนี้เทศบาลฯ ยังพบอีกว่า พนักงานโรงแรมปัญจดาราติดเชื้อจาก BBS จำนวน ๖ ราย เป็นพ่อครัว ๓ คน ช่าง ๑ คน พนักงานต้อนรับ ๑ คน และเจ้าหน้าที่ขายสินค้า ๑ คน รวมกับพนักงานคาร์กิลแล้ว ในโรงแรมติดเชื้อทั้งหมด ๑๒ คน โดยมี ๒ คน ไปใช้บริการทางการแพทย์ที่ศูนย์บริการทางการแพทย์ศาลาทอง เทศบาลฯ จึงสั่งให้บุคลากรทางแพทย์กักตัวและไปตรวจหาเชื้อ ทั้งนี้ คาร์กิลนำพนักงานเข้ามาทำ BBS ในโรงแรม ๑๑ แห่ง ในเขตเทศบาลนครฯ มีเพียง ๓ แห่งที่คาร์กิลแจ้งให้ไปตรวจ คือ ชุนหลี ลีโอซอ และเพ็ญณกร อีก ๗ แห่งคาร์กิลแจ้งจังหวัดให้ไปตรวจประเมินเทศบาลฯ จึงติดตามตรวจสอบอีก ๗ แห่งที่เหลือ พบว่า ที่ซีตี้พาร์ค มีพนักงานคาร์กิลติดเชื้อ ๑ ราย และพนักงานโรงแรมติดเชื้อ ๓ ราย ศิริโฮเล พนักงานคาร์กิลติดเชื้อ ๔ ราย โรงแรมขวัญเรือน พนักงานคาร์กิลติดเชื้อ ๒๑ ราย และโรงแรมปัญจดารา พนักงานคาร์กิลติดเชื้อ ๖ ราย และพนักงานโรงแรม ๖ ราย” นายไกรสีห์ กล่าว

ไม่ให้ความร่วมมือ

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “การติดเชื้อในระบบ BBS เกิดจากคาร์กิลไม่ทำอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก ใครที่มีความเสี่ยงต้องกักตัว ห้ามมาทำงาน จะทำได้เฉพาะผู้เสี่ยงต่ำ และการแยกสถานที่กักตัวก็ต้องแยกระหว่างคนเสี่ยงสูงกับเสี่ยงต่ำ ห้ามนำมารวมกัน แต่พอคาร์กิลทำจุดนี้ไม่ดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้จังหวัดและคาร์กิลพูดคุยกันมา ๑ เดือนแล้ว ผมไม่เข้าใจว่า ฝ่ายบริหารงานบุคคลเข้าใจเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งผมพยายามบอกว่า เมื่อเกิดคลัสเตอร์ในโรงงาน สสจ.ต้องลงพื้นที่ไปแยกร่วมกับโรงงาน หากให้โรงงานทำเองก็จะทำให้เกิดปัญหา คนในพื้นที่ก็ไม่มีความสบายใจ ดังนั้นการแยกผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและต่ำ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องทำให้เกิดความชัดเจน”

นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์ สสจ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการแนะนำคาร์กิลหลายครั้ง ความร่วมมือของคาร์กิลสู้ซีพีเอฟไม่ได้ อาจจะมีปัญหาบ้างในการเข้าไปตรวจสอบและความร่วมมือ การนำคนเข้ามาทำ BBS ในอำเภอก็ต้องให้ สสจ.ตรวจสอบก่อน แต่มีบางโรงแรมที่ยังไม่มีการตรวจสอบ แต่นำคนเข้าพักแล้ว คาร์กิลก็บอกว่า แจ้งแล้ว แต่ สสจ.กลับไม่ทราบ”

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “ปกติเจ้าหน้าที่ของโรงแรม จะไม่ให้เข้ามายุ่งกับระบบ BBS ตั้งแต่แรก แต่ปรากฏว่า มีการนำคนเข้าไปพักก่อนที่จะมีการตรวจสอบ จึงทำให้พนักงานโรงแรมมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในการจัดห้องหรือบริการอะไร เหมือนที่อำเภอปากช่อง การทำ BBS จะต้องไม่ใช้บริกรของโรงแรม แต่เป็นพนักงานของโรงงานทำหน้าที่เอง ซึ่งคาร์กิลก็มีการขอที่อำเภอปากช่องมาก่อน เจ้าหน้าที่ก็คนเดียวกัน แต่เมื่อมาทำในอำเภอเมืองทำไมไม่เข้าใจ เมื่อเกิดปัญหา ประชาชนก็ไม่สบายใจ จากนี้คาร์กิลจะต้องวางแผน หากมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหรือต่ำ จะแยกไปไว้ที่ใด ต้องทำให้ชัดเจน ส่วนเจ้าหนักงานควบคุมโรคที่ลงไปตรวจสอบ หากพบว่ามีปัญหาจริงๆ ก็ขอให้เสนอเข้ามาเพื่อบล็อกพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถควบคุมได้อย่างเต็มที่ จึงจะต้องบล็อกไว้ช่วงหนึ่ง เพื่อให้ปัญหาทุกอย่างนิ่ง เรื่องแบบนี้เกรงใจกันไม่ได้ เพราะความปลอดภัยสาธารณะ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ”

คนโคราชไม่ชอบชื่อ (รง.) นี้

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ กล่าวเสริมว่า “จากการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับโรงแรม พบว่า โรงแรมส่วนหนึ่งนำคนเข้า BBS แล้ว โดยไม่ได้คัดผู้สัมผัสเสี่ยงสูงออกมา เพราะยึดว่า ถ้าตรวจหาเชื้อแล้วผลเป็นลบ คือ คนปลอดภัย จึงทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น และถ้าเขามีความจริงใจให้ข้อมูลที่แท้จริง ก็จะสามารถควบคุมโรคได้”

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “จากกรณีการตรวจหาเชื้อ ความเสี่ยงสูงและต่ำ และการฉีดวัคซีน ในโรงงานต่างๆ ๓ กรณีต้องแยกออกจากกัน ไม่ใช่ว่า ตรวจหาเชื้อไม่พบถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ หรือฉีดวัคซีนแล้วจะไม่สามารถติดเชื้อได้ ถึงจะฉีดก็ยังมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อ เพียงแค่อาการจะไม่รุนแรง และแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังสามารถเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้ ๓ กรณีนี้ต้องแยกจากกัน ถ้านำมารวมกัน เรื่องต่างๆ ก็มั่วไปหมด ถ้าข้อมูลชัดเจน การแยกคน แยกโรค และกักคน ก็จะทำได้ดีขึ้น ดังนั้น ขอฝากถึงคาร์กิล คนโคราชได้ยินชื่อนี้คงไม่ชอบเท่าไหร่ รวมทั้งคณะกรรมการโรคติดต่อฯ และคนที่ฟังอยู่ ขอเรียนฝ่ายบุคคลว่า ขณะนี้ทำปัญหาให้คนโคราชเยอะ แล้วเราก็ต้องมาแก้ปัญหากัน สิ่งสำคัญ คือ ข้อมูล บริษัทกับ สสจ.ต้องเดินคู่กันตั้งแต่วันแรก อย่าเดินเดี่ยว เพราะจะทำให้เข้าใจผิด มีข้อมูลผิด ทำให้เกิดปัญหาตามมา แล้วจะทำตามแก้ปัญหาไม่รู้จบ ฝากถึงทุกอำเภอ หากพบปัญหาให้เข้าถึงปัญหาทันที และให้ทำงานคู่กัน อย่าไปเกรงใจกัน”

จากนั้น วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๔๕๔ ราย โดยมาจากพื้นที่เสี่ยง ๒๐๒ ราย ในจังหวัด ๒๕๒ ราย สรุปมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๖,๓๖๘ ราย รักษาหาย ๙,๙๖๗ ราย ยังรักษาอยู่ ๖,๒๘๓ ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย และวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพิ่ม ๒๙๒ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๒๐๘ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๘๔ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๑๖,๖๖๐ ราย รักษาหาย ๑๐,๔๓๒ ราย ยังรักษาอยู่ ๖,๑๐๙ ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย รวมเสียชีวิตสะสม ๑๑๙ ราย

วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๔๐๑ ราย ติดเชื้อสะสม ๑๗,๐๖๑ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๓๐๗ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๙๔ ราย รักษาหาย ๑๐,๘๐๐ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๑๙ ราย และยังรักษาอยู่ ๖,๑๔๒ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานคลัสเตอร์สำคัญว่า คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างบริษัทอิตาเลียนไทย อำเภอสีคิ้ว มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๘๔ ราย แบ่งเป็นคนงานบริษัท ๖๗ ราย และคนงานอิตัลไทย เทรวี่ ๑๗ ราย คลัสเตอร์พนักงานโรงงานแคนนอน อำเภอสูงเนิน มีผู้ติดเชื้อ ๑๑ ราย กระจายใน ๖ อำเภอ และรักษาที่ต่างจังหวัด ๑ ราย คลัสเตอร์โรงานแปรรูปสุกร (เบทาโก) อำเภอปักธงชัย มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๓๘ ราย คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ตำบลท่าเยี่ยม มีผู้ติดเชื้อ ๕๘๔ ราย แบ่งเป็นพนักงาน ๕๖๖ ราย และอยู่ในวงที่ ๒ เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหรือครอบครัว ๑๘ ราย รักษาหายแล้ว ๔๗๓ ราย ไม่พบผู้ติดเชื้อในระบบ BBS

คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่คาร์กิล ตำบลกระโทก มีผู้ป่วย ๑,๐๒๑ ราย เป็นพนักงาน ๙๗๗ ราย และผู้สัมผัสเสี่ยงหรือครอบครัว ๔๔ ราย สำหรับผู้ที่รักษาหายแล้ว บริษัทอ้างว่ามี ๔๒๐ ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อ เนื่องจาก สสจ.ไม่มีรายชื่อ สำหรับการพบผู้ติดเชื้อในระบบ BBS ตามสถานที่ต่างๆ ทั้ง ๓๓ แห่งในจังหวัด พบว่ามีผู้ติดเชื้อที่อำเภอปากช่อง ๑ ราย สีคิ้ว ๓ ราย และเมือง ๓๗ ราย ซึ่งในอำเภอเมืองมีแม่บ้านโรงแรมติดเชื้อและทำให้พนักงานติดเชื้ออีก ๑๑ ราย อีกทั้งบริเวณร้านซักรีดใต้โรงแรม พบผู้ติดเชื้อ ๓ ราย และคนในครอบครัวพนักงาน ๕ ราย ซึ่งคลัสเตอร์นี้มีการแพร่ระบาดขยายวงกว้าง และคลัสเตอร์ใหม่ คือ คลัสเตอร์ชุมชนเสริมสุขพัฒนา อำเภอสูงเนิน เกิดจากผู้ป่วยรายแรกชอบไปเตะฟุตบอลหลายแห่ง จึงทำให้ติดเชื้อในชุมชน เบื้องต้นมีผู้ติดเชื้อ ๒๙ ราย เสี่ยงสูง ๑๐๐ ราย ซึ่งเป็นคนในชุมชนทั้งหมด

นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวว่า “ก่อนจะนำคนเข้าระบบ จะต้องแยกก่อน ห้ามนำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้ามารวมเด็ดขาด ถ้าแยกผิดตั้งแต่แรกก็จะทำให้ติดกันเองและยังติดไปยังแม่บ้านและพนักงานโรงแรมด้วย สิ่งที่ดีที่สุด คือ ต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งหลายโรงงานให้ความร่วมมือดีมาก ให้ทำอะไรทำหมด ผลลัพธ์ก็ออกมาดี”

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “กรณีการทำ BBS ในโรงแรม มีการตรวจสอบหรือไม่ว่า พนักงานที่นำเข้าไปพักเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหรือต่ำ มีการคัดแยกคนหรือไม่ ถ้าเราไม่แยกว่า ใครเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะทำให้เกิดปัญหาตามมา และถ้าแยกไม่ได้ต้องเหมาว่า ทั้งโรงแรมนั้น คือ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพื่อบล็อกผู้เข้าพักทั้งหมด”

เทศบาลทำงานหนัก

นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ รองนายกเทศมนตรีฯ กล่าวว่า “แม่บ้านโรงแรมที่ติดเชื้อจากผู้เข้าพัก มีอยู่ ๒ แห่ง คือที่ ซิตี้พาร์คและปัญจดารา เบื้องต้นคาร์กิลและซีพีเอฟ รับปากว่า จะคัดกรองบุคคลก่อนนำเข้าระบบ BBS เพื่อจะแยกกลุ่มเสี่ยงสูงก่อนจะนำเข้า BBS โดยเมื่อวันก่อนได้รับแจ้งจากซีพีเอฟว่า มีการคัดแยกทั้งหมด และนำผู้เสี่ยงสูงออกไปแล้ว โดยในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ซีพีเอฟทำหนังสือขอยกเลิก BBS ในโรงแรมเขตเทศบาลฯ ๒ แห่ง ส่วน BBS ที่พบปัญหา เป็นการเข้ามาก่อนจะขออนุญาตเทศบาลทั้งหมด ส่วน BBS ที่เทศบาลฯ ไปตรวจก่อนจะนำเข้ามา ขณะนี้ยังไม่พบปัญหา ส่วน BBS ที่นำเข้ามาก่อน ข้อเท็จจริงแล้ว คือ การฝ่าฝืน และจากการตรวจสอบของเทศบาลฯ ก็พบผู้ติดเชื้อทุกโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมขวัญเรือน และโรงแรมปัญจดารา พนักงานในโรงแรมปัญจดารามีทั้งหมด ๒๓ คน ขณะนี้ติดเชื้อ ๑๑ คน รวมถึงครอบครัวอีก ๗ คน เพราะไปทำกิจกรรมโดยไม่รู้ตัว พนักงานและเจ้าของโรงแรมไม่ทราบว่า การทำ BBS ต้องทำอย่างไร เนื่องจากโรงงานไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างชัดเจน โดยวันที่ ๒๗ สิงหาคม เทศบาลฯ จะทำ Antigen Test Kit (ATK) กับพนักงานคาร์กิลทั้งหมด แต่จากการติดต่อไป คาร์กิลไม่ได้ให้ความร่วมมือ ผมในฐานะรองนายกเทศมนตรี ที่ทำงานด้านสาธารณสุข ยอมรับว่า เทศบาลทำงานกันหนักมาก เราห่วงประชาชนในเขตเทศบาลฯ เราบอกว่า คาร์กิลจะต้องนำพนักงานมาตรวจ ATK ทั้งหมด โดยเทศบาลฯ จะเป็นคนตรวจให้ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือ”

“เข้าใจว่าคาร์กิล เป็นบริษัทที่ทำให้เศรษฐกิจในโคราชเดินหน้า โรงแรม ร้านค้าต่างๆ เขาก็ต้องการให้เข้ามา เพื่อให้เกิดการบริการ แต่ปัญหาจริงๆ ไม่ได้เกิดขึ้นจากเทศบาลฯ เราเป็นเพียงปลายทางที่รับภาระทั้งหมดจากการนำคนเข้ามา ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เทศบาลฯ ต้องทำ ถ้าวันนี้ไม่มีการตรวจเชิงรุก เราจะทราบกันหรือไม่ว่า มีการติดเชื้อขึ้นในเขตเทศบาลฯ และผมเชื่อว่า ตรวจโรงแรมไหนก็พบ เช่น เมื่อวันก่อนไปตรวจกับชุดบูรณาการของจังหวัด ก็ยังพบปัญหาอยู่ ผมขอน้อมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และขอความเป็นธรรมกับทีมสอบสวนโรคของเทศบาลฯ ด้วยว่า ทำงานอย่างเต็มที่”

สถานการณ์ใหญ่

นางสาวทิพวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า “คาร์กิลนำคนเข้ามาเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ซึ่งเข้ามาโดยไม่ได้ขออนุญาตจริง ในส่วนของข้อมูลว่า พนักงานที่อยู๋ใน BBS มีใครบ้าง ซึ่ง สสจ.ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลเหมือนกัน เทศบาลฯ ก็พยายามขอให้ แต่ก็ยังไม่ได้รับ และในบ่ายวันนี้ นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จะเป็นประธานพูดคุยร่วมกับบริษัท เนื่องจากมีปัญหาค่อนข้างมาก โดยจะมีสำนักงานควบคุมโรคที่ ๙ ร่วมด้วย เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของเขตสุขภาพที่ ๙ เพราะเป็นสถานการณ์ใหญ่ หลังประชุมเสร็จน่าจะมีความชัดเจน ข้อมูลอะไรที่ไม่ได้น่าจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น จากนั้นจะนำเรียนอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ในวันพุธ”

ขอโทษทุกครั้ง

นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า “ทุกครั้งที่คุยกัน คาร์กิลก็จะออกมาบอกว่า ขอโทษ จะน้อมรับปฏิบัติ รับปากทุกครั้ง แต่ไม่ทำ ทางเทศบาลฯ ก็ลำบาก ในการสอบสวนโรคต้องไม่ให้เขานำ ทีมสอบสวนโรคจะต้องนำเอง เพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหา ข้อมูลก็ไม่ให้ จากนั้นก็เข้าไปทำเองทุกอย่าง หากเราเข้าไปทำตามมาตรการ และวางแผน ทุกอย่างก็จะง่ายกว่า แต่ความร่วมมือของคาร์กิลมีน้อยมาก แต่พนักงานก็เป็นคนโคราชเหมือกัน เขาก็ไม่สบายใจ แต่การนำพนักงานไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เช่น โรงแรมต่างๆ ดังนั้น ต้องปลอดภัยจริงในการทำ BBS ทุกฝ่ายต้องเข้าใจกัน โดยเฉพาะ สสจ.ต้องติดตามผลอย่างต่อเนื่อง”

“การทำ BBS ถือเป็นสิ่งสำคัญ หากปล่อยให้พนักงานกลับไปกักตัวที่บ้าน ก็อาจจะแพร่เชื้อสู่คนแก่และเด็ก ดังนั้น จะต้องทำ BBS ตั้งแต่มีการระบาด และให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลกันตั้งแต่ต้น แต่เมื่อพูดถึงคาร์กิลปัญหาเกิดจากข้อมูลไม่มี จริงๆ เมื่อนำคนเข้ามา BBS ก็ต้องให้ข้อมูลทันที เพื่อจะควบคุมให้ได้ ส่วนกรณีที่โรงแรมปัญจดารา บริเวณนั้นเป็นเขตชุมชน คนแถวนั้นก็เริ่มมีความกังวล หลังจากนี้จึงต้องประเมินว่า โรงแรมปัญจดารายังมีความพร้อมหรือไม่ ถ้าไม่พร้อมก็ต้องมีความชัดเจน ถ้าที่ใดไม่พร้อมก็ต้องสั่งยกเลิก โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลไม่พร้อม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะสลับพนักงานก็ไม่ทราบ จากที่ผมฟังมาเห็นว่า เมื่อมีคนติดเชื้อก็จะนำออก แล้วสลับเอาพนักงานคนอื่นเข้ามาพัก การทำ BBS ไม่ใช่ว่าจะนำใครเข้าหรือออกก็ได้ เมื่อมีคนติดเชื้อต้องนำออกทันที และห้ามนำคนใหม่เข้าไป ขอให้ฝ่ายสอบสวนโรคประเมินว่า ที่ใดพร้อมหรือไม่พร้อม จากนั้นให้นำเสนออย่างรวดเร็ว” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

ซื้อซิโนฟาร์ม ๒ หมื่นโดส

สำหรับระเบียบวาระที่ ๔.๒ เทศบาลนครนครราช สีมา ขออนุมัติซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ กล่าวว่า “เทศบาลฯ เห็นความสำคัญในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนในเขตเทศบาลนครฯ ประกอบกับปัจจุบันระเบียบและขั้นตอนการจัดซื้อมีความชัดเจน ขณะนี้เทศบาลนครฯ สำรวจพบว่า ประชาชนมีความต้องการวัคซีน เทศบาลฯ จึงขออนุมัติจัดซื้อวัคซีน ๒๐,๐๐๐ โดส ให้ประชาชนในเขตเทศบาลฯ” โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ

วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพิ่ม ๓๗๖ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๒๔๗ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๑๒๙ ราย สรุปมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๗,๔๓๗ ราย รักษาหาย ๑๑,๔๒๔ ราย ยังรักษาอยู่ ๕,๘๙๒ ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๒๑ ราย

หารือแก้ปัญหา

ในวันเดียวกัน เวลา ๑๕.๐๐ น. นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ. เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” กรณีที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา มอบหมายให้ทีมปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๙ นครราชสีมา ประชุมติดตามมาตรการควบคุมโรค กรณีบริษัท คาร์กิลมีทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตำบลกระโทก เพื่อร่วมวางแผนควบคุมโรคในชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล เป็นประธานการประชุม

นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวว่า “ตามหลักการทำ BBS เพื่อลดการติดต่อในโรงงานและชุมชนใกล้เคียง โดยจะต้องคัดกรองคนที่มีผลตรวจว่า ปลอดภัย จึงจะนำเข้าระบบได้ แต่เนื่องจากโรงงานหลายแห่งไม่มีพื้นที่ที่จะจัดตั้งภายในโรงงาน จึงเป็นที่มาว่า จะต้องนำคนไปทำ BBS ในโรงแรมต่างๆ จากนั้น สสจ.จึงพบปัญหาว่า การทำ BBS โรงงานดูแลทั่วถึงหรือไม่ ทำให้มีคนในพื้นที่หลายแห่งแจ้งมาว่า มีพนักงานส่วนหนึ่งออกจากที่พักไปซื้อของ ซึ่งตามหลักการแล้วไม่สามารถทำได้ จะต้องอยู่ในสถานที่ทำ BBS อย่างเดียว ในการประชุมจึงสรุปปัญหาว่า คาร์กิลทำ BBS ตรงกับหลักวิชาการหรือไม่ โดยเฉพาะพนักงานที่มีผลบวกไม่พบเชื้อในรอบแรก แต่อาจจะพบในรอบถัดไป และถ้าพบพนักงานมีอาการก็จะต้องคัดคนออกจาก BBS มาตรวจหาเชื้อ โดยใช้ ATK เป็นหลัก หากพบว่าผลตรวจเป็นบวก ก็จะส่งไปตรวจ RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีที่มีมาตรฐาน ปัญหาของคาร์กิล คือ การทำ Factory Isolution (FAI) มีพื้นที่ไม่เพียงพอ จึงอาจจะทำให้มีความแออัด ซึ่งก็มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้ว่า จะแก้ไขอย่างไร เบื้องต้นมีสถานที่หลายแห่งยื่นมือช่วย เช่น โรงพยาบาลสนามชาติชายฮอลล์ เพื่อให้คาร์กิลระบายผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม นอกจากนี้ สคร.๙ และทีมระบาดวิทยา ได้เข้าไปช่วยคัดกรองผู้ป่วยเพื่อนำไปรักษา เพื่อให้โคราชมีความปลอดภัยมากขึ้น ผู้ป่วยก็จะได้อยู่ในที่ที่ควรอยู่”

“สำหรับประเด็นการติดเชื้อสู่พนักงานโรงแรมในเขตเทศบาลฯ สืบเนื่องจากโรงงานใช้สถานที่โรงแรมหลายแห่งทำ BBS ขณะนี้ได้นำตัวกลุ่มเสี่ยงไปตรวจ หากพบก็จะให้เข้ารับการรักษาและกักกัน เบื้องต้นยังไม่ทราบว่า พนักงานโรงแรมติดจากพนักงานโรงงานจริงหรือไม่ แต่ถ้าจริงพนักงานโรงแรมก็จะได้รับผลกระทบ ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งตามหลักการแล้ว เมื่อจะใช้โรงแรมทำ BBS ควรจะแจ้งก่อนว่า มาเพื่อทำอะไร แม้พนักงานจะมีการตรวจก่อนนำเข้าระบบ แต่ก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่า วันอื่นๆ ผลจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม การทำ BBS จะต้องไม่ออกมาปะปนกัน อยู่ห้องใครห้องมัน และที่สำคัญห้ามมาปะปนกับคนอื่นๆ หรือพนักงานโรงแรม หากไม่ปฏิบัติตามหลักนี้ก็จะทำให้มีความเสี่ยง”

โรงงานต้องให้ข้อมูล

“ผลสรุปจากการพูดคุยกัน คาร์กิลจะต้องมีข้อมูล หากหน่วยงานใดต้องการทราบข้อมูลจะต้องมีส่งทันที และข้อมูลต้องถูกต้องเป็นจริงทุกอย่าง หากจะไปทำ BBS ที่โรงแรม แล้วเจ้าของโรงแรมถามว่า มีพนักงานเท่าไหร่ ใครเสี่ยงบ้าง ก็ต้องให้ข้อมูลได้ ที่สำคัญเมื่อนักระบาดวิทยาถามหาข้อมูลก็จะต้องพร้อมให้ หากมีข้อมูลที่พร้อมก็จะเป็นผลดีต่อโรงงานด้วย ส่วนนี้ได้มอบให้คาร์กิลทำตามแนวทางที่จังหวัดแนะนำทุกประการ โดยเน้นว่า ห้ามปกปิดข้อมูล ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็มีการแนะนำและให้ปฏิบัติต่อไป” นพ.วิญญู กล่าว

ต่อข้อถามว่า ‘มีข่าวว่าท่านเป็นที่ปรึกษาโรงงานนั้นใช่หรือไม่’ นพ.วิญญู ตอบว่า “ผมเป็นที่ปรึกษาของโรงงานนั้น ทำงานพาร์ทไทม์ ทำตั้งแต่คาร์กิลยังไม่เป็นคาร์กิล สมัยก่อนเป็นคาวาเลย์ ผมก็เป็นหมอคอยตรวจคนไข้ เหมือนหมอที่เปิดคลินิกทั่วไป”

โรงงานระบาดหนัก

ล่าสุด วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๖๐๐ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๔๖๗ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๑๓๓ ราย มีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๘,๐๓๗ ราย รักษาหาย ๑๒,๑๑๕ ราย ยังรักษาอยู่ ๕,๗๙๙ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๒๓ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าฯ พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานว่า “คลัสเตอร์แรก คือ กองช่าง อบจ.นครราชสีมา ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนโรค เบื้องต้นพบผู้ติดเชื้อเป็นพนักงานช่างออกแบบ ๘ ราย และมีพนักงานหญิง ๑ ราย ขณะนี้แอดมิดที่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ, คลัสเตอร์อำเภอโนนไทยและอำเภอโนนสูง พบผู้ติดเชื้อในวงของอำเภอโนนไทย ๙ ราย จากนั้นเชื้อแพร่กระจายไปยังอำเภอโนนสูง ติดอีก ๕ ราย และมีผู้ป่วยเพศชาย ทำงานที่โรงงานผลิตน้ำดื่ม ตำบลจอหอ ทำให้มีผู้ติดเชื้ออีก ๔ ราย รวมคลัสเตอร์นี้ติดเชื้อ ๑๘ ราย, คลัสเตอร์เครือญาติ อำเภอด่านขุนทด ติดเชื้อ ๑๒ ราย และมีพยาบาลในคลินิกอีก ๑ ราย, คลัสเตอร์ชุมชนตำบลเสิงสาง อำเภอเสิงสาง มีผู้ติดเชื้อ ๒๓ ราย, คลัสเอร์ชุมชนเสริมสุขพัฒนา อำเภอสูงเนิน วงที่ ๑ มีผู้ติดเชื้อ ๒๘ ราย และวงที่ ๒ มีผู้ติดเชื้อ ๕ ราย รวม ๓๓ ราย, คลัสเตอร์แปรรูปสุกร (เบทาโก) อำเภอปักธงชัย มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๓๙ ราย, คลัสเตอร์ไก่ย่างห้าดาว ตำบลท่าเยี่ยม อำเภอโชคชัย มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๖๗ รักษาหายแล้ว ๔๔ ราย, คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ซีพีเอฟ มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๘๒๕ ราย รักษาหายแล้ว ๕๑๙ ราย โดยผู้ป่วยที่เหลืออยู่ในหอพักของโรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีเขียว ส่วนพนักงานที่อยู่ในระบบ BBS ยังไม่พบการติดเชื้อ”

คาร์กิลยอมร่วมมือ

“คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่คาร์กิลมีทส์ วันนี้พบผู้ป่วยเพิ่ม ๒๓ ราย มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๑,๐๕๕ ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๕๕ ราย รักษาหายแล้ว ๔๒๐ ราย ส่วนการประชุมร่วมกับโรงงาน โดยมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน ในวันนั้นได้พูดคุยถึงปัญหา โดยเฉพาะการไม่ให้ข้อมูล ทำให้หน่วยงานต่างๆ ทำงานไม่ได้ จึงเกิดข้อตกลงว่า ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน ให้ความร่วมมือกัน โดยนายแพทย์ สสจ.ได้มอบนโยบายอย่างชัดเจน และหลังจากการประชุม สคร.๙ และทีมระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา ได้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำโรงงาน และวางระบบใหม่ทั้งหมด โดยคาร์กิลได้เปลี่ยนทีมงานใหม่มาทำงานร่วมกับจังหวัด ทำให้มองเห็นแนวทางการทำงานร่วมกันมากขึ้น และจากการขอข้อมูล ทีมงานใหม่ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่งข้อมูลให้ตามที่ขอ”

จุดสัมผัสในโรงงาน

“เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ทีม สคร.๙ และ สสจ. ลงพื้นที่โรงงานคาร์กิลอีกครั้ง เพื่อหาสาเหตุของการติดเชื้อว่า มาจากที่ใด จากการตรวจสอบพบว่า โรงงานมีมาตรการเป็นอย่างดี พนักงานที่ทำงานก็สวมชุดป้องกันเป็นอย่างดี ซึ่งดูแล้วโอกาสของการติดเชื้อน้อยมาก แต่สิ่งที่เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อครั้งนี้ คือ ห้องเก็บชุดของพนักงาน ช่วงพักเที่ยงพนักงานจะต้องมาถอดเปลี่ยนชุด เมื่อถอดก็จะยื่นให้พนักงานอีกคนรับไปแขวน ลักษณะการแขวนก็ชิดกับชุดคนอื่น เมื่อหมดเวลาพักเที่ยง ทุกคนก็จะกลับมาสวมชุดที่ห้องเดิม โดยส่วนนี้แนะนำว่า หากไม่สามารถให้พนักงานมี ๒ ชุด เช้าและบ่าย ก็ขอให้แขวนห่างกัน และคนที่รับชุดไปแขวนต้องเฝ้าระวังไม่ให้ติดเชื้อ และต้องมีการฉายแสง UV เพื่อฆ่าเชื้อระหว่างที่พนักงานไปรับประทานอาหาร ซึ่งในคำแนะนำทั้งหมด โรงงานจะรับไปปฏิบัติ ในส่วนของจุดสัมผัสที่โรงอาหาร ช้อนจะอยู่ในถาดรวม ทุกคนจะหยิบจากถาดเดียวกัน แม้จะมีแอลกอฮอล์ให้ล้างมือ แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะปฏิบัติทุกคนหรือไม่ จึงแนะนำให้ทำแบบห้างสรรพสินค้า คือ การซีล ในส่วนของห้องก็มีการระบายอากาศไม่ดี อาจจะทำให้เกิดการฟุ้งของเชื้อ โดยหลังจากนี้ทีม สคร.๙ และ สสจ. จะลงพื้นที่ BBS ทุกแห่ง เพื่อสำรวจหาปัญหาว่า แต่ละแห่งมีปัญหาอะไรบ้าง และจะทำการตรวจหาเชื้อทุกคนในโรงแรม พร้อมกำชับว่า พนักงานที่อยู่ใน BBS ห้ามออกจากพื้นที่เด็ดขาด” นางสาวทิพวรรณ กล่าว

สั่งดำเนินคดี

“ส่วนการดำเนินคดีกับโรงงานที่นำคนเข้าพื้นที่ก่อนได้รับอนุญาตนั้น นายจักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรชำนาญการพิเศษ สสจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า “กรณีการนำคนเข้าพื้นที่โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ตามข้อกำหนดมาตรา ๙ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ออกเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๔ ข้อ ๘ วรรคท้าย เพื่อจำกัดการระบาดและความปลอดภัยของประชาชนส่วนรวม ให้ผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ รีบแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรับทราบแนวทางปฏิบัติและเข้ารับการกักกัน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการตรวจและรักษาตามขั้นตอน ดังนั้น เมื่อมีการเคลื่อนย้าย ก็ต้องมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที กรณีที่โรงงานนำคนเข้ามาโดยไม่แจ้ง ความผิดได้สำเร็จเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเบื้องต้นได้พูดคุยกับพื้นที่ว่า จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เจ้าพนักงานต้องมีการแจ้งความต่อไป”

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “ในส่วนของคาร์กิลสระบุรี ก็มีการดำเนินการแล้ว แต่ในส่วนของคาร์กิลโคราช ที่นำคนเข้าพื้นที่อำเภอต่างๆ และในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ผมขอให้เจ้าหน้าที่เทศบาลฯ หรืออำเภอ โดยเฉพาะอำเภอจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการแจ้งความ พื้นที่อำเภอต่างๆ ต้องตรวจสอบว่า มีการนำคนเข้ามาก่อนหรือไม่ หากนำเข้ามาก่อนก็ต้องไปแจ้งความ พื้นที่ใดพร้อมให้แจ้งทันที ไม่ต้องรอ เมื่อรอแล้ว ประชาชนก็จะถามว่า มัวทำอะไรอยู่ ช่วยเหลือกันหรือไม่ ทำให้เกิดคำถามนี้ตลอด ฝากทุกอำเภอปฏิบัติด้วย เพราะพูดหลายครั้งแล้ว แต่บางอำเภอยังนิ่งอยู่ ที่สำคัญประชาชนคอยจับตาดูการทำงานของพวกเราอยู่”


นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๓ วันพุธที่ ๒๕ - วันอังคารที่ ๓๑ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


974 1633