29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 04,2021

ทนายแฉห้องน้ำกักตัวแพงหูฉี่ ไม่เกิน ๕ หมื่นแต่จ่าย ๑.๕ แสน

ทนายความร้องตรวจสอบ อบต.สร้างห้องน้ำชั่วคราวสถานที่กักตัวโควิดกว่า ๑.๕ แสนบาท ราคาสูงเกินความเป็นจริง ประเมินตามสภาพโครงการไม่น่าเกิน ๕ หมื่น ขณะ อบต.ชี้ทำตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอนตามความจำเป็นเร่งด่วนสามารถตรวจสอบได้ ด้าน ป.ป.ช.ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง อบต.ยอมรับว่าแพง แต่หาผู้รับจ้างยากและต้องทำงานท่ามกลางความเสี่ยง         


ตามที่เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายภัทรพงศ์ ศุภักษร อายุ ๓๘ ปี ทนายความ สำนักงานกฎหมายนิติศุภักษร และอดีตผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ ออกมาร้องเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการใช้งบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดอนกอก ในการก่อสร้างห้องน้ำชั่วคราวสำหรับผู้กักตัวโควิด-๑๙ บริเวณด้านหลังโรงเรียนวัดโพธิ์ชัย หมู่ ๕ บ้านหัวฝาย ต.ดอนกอก อ.นาโพธิ์ ซึ่งเป็นสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยง สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด เนื่องจากตั้งข้อสังเกตุว่าการก่อสร้างห้องน้ำชั่วคราวดังกล่าวจำนวน ๖ ห้อง ซึ่งใช้งบประมาณมากถึง ๑๕๕,๐๐๐ บาท เป็นราคาที่แพงเกินความเป็นจริง หากเทียบกับวัสดุที่ใช้เชื่อว่าไม่น่าจะเกิน ๕๐,๐๐๐ บาท เพราะมีเพียงโครงสร้างเหล็ก ส่วนหลังคาและฝาผนังก็ใช้สรรไททั้งหมด ไม่ได้ปูกระเบื้องหรือทาสีอะไรเลย จึงอยากให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเนื่องจากเป็นงบประมาณแผ่นดิน

นายภัทรพงศ์ ศุภักษร ทนายความระบุอีกว่า การออกมาร้องเรียนครั้งนี้เพราะได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่ว่าห้องน้ำชั่วคราวในสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยงโควิด น่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างสูงเกินความเป็นจริง ตนจึงเป็นตัวแทนออกมาร้องเรียนให้มีการตรวจสอบในฐานะประชาชนเท่านั้น ไม่ได้เป็นการจับผิดใคร โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤตแบบนี้ก็อยากให้ใช้งบประมาณที่เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด ส่วนจะมีหน่วยงานไหนเข้าตรวจสอบหรือไม่นั้น ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ

ด้านนายบุรินทร์ บุญรับ ปลัด อบต.ดอนกอก ชี้แจงว่า กรณีที่ อบต.ได้ทำการก่อสร้างห้องน้ำชั่วคราวสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดซึ่งมีการระบาดที่กรุงเทพฯ และพื้นที่สีแดงหลายจังหวัด ผู้ที่ทำงานอยู่จังหวัดต่างๆ จึงได้เดินทางกลับมายังภูมิลำเนา ซึ่งตามมาตรการของจังหวัดผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ต้องกักตัว ๑๔ วันเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ จึงทำให้สถานที่กักตัวของตำบลดอนกอกมียอดผู้เข้ากักตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม ๑๐–๒๐ คน เพิ่มเป็นวันละ ๓๐–๔๐ คน ซึ่งห้องน้ำของโรงเรียนที่ใช้เป็นสถานที่กักตัวก็มีเพียง ๔ ห้อง ซึ่งไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ที่เข้ากักตัว แต่เนื่องจากห้องน้ำ อบต.ไม่ได้ตั้งไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณปี ๒๕๖๔ แต่มีงบกลางหรืองบสำรองจ่ายในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้น ทาง อบต.จึงได้ใช้งบกลางในการสร้างห้องน้ำชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาห้องน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งก็ได้ดำเนินการจัดซื้อจ้างจัด โดยหาผู้รับจ้างมาดำเนินการโดยใช้ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยพัสดุภาครัฐ ปี ๒๕๖๐ ซึ่งได้มีการยกเว้นระเบียบต่างๆ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความคล่องตัวและให้ทันต่อสถานการณ์ที่ประชาชนเดือดร้อน จึงได้จัดหาผู้รับจ้างมาดำเนินการโดยให้ผู้รับจ้างออกแบบเองแล้วเสนองานมา โดยไม่มีการควบคุมงานออกแบบซึ่งเป็นวิธีพิเศษ ซึ่งก็มีผู้รับเหมาเสนองานในราคา ๑๕๕,๐๐๐ บาท โดยผู้รับเหมาให้เหตุผลว่าต้องทำงานด้วยความเสี่ยง หากเกิดติดเชื้อก็จะต้องเข้ารักษาตัวหรือกักตัวหลายวันก็จะเสียโอกาสขาดรายได้ ก็ยืนยันว่า อบต.ดำเนินการระเบียบขั้นตอนสามารถตรวจสอบได้

ต่อมาคณะกรรมการป้องและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว ซึ่งเบื้องต้นก็จะต้องหาข้อมูลทั้งฝั่งผู้ร้องและผู้ถูกร้องอย่างละเอียด ว่ามีการดำเนินการตามระเบียบขั้นตอน และใช้งบประมาณที่ถูกต้องหรือแพงเกินความเป็นจริงตามที่มีการร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ล่าสุด น.ส.สุรีรัตน์ นวลฉิมพลี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ออกมาระบุเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า เบื้องต้นได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่แล้ว ซึ่งจากที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบห้องน้ำในพื้นที่จริงและประเมินด้วยสายตาก็ดูราคาค่อนข้างสูงเกินความเป็นจริง โดยทาง อบต.ก็ให้เหตุผลว่าหาผู้รับจ้างยาก เนื่องจากเป็นการทำงานในสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยง จึงเสนอราคามาค่อนข้างแพง แต่ อบต.เห็นว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนจึงให้ดำเนินการก่อสร้างห้องน้ำชั่วคราวดังกล่าว ซึ่งจากการสอบถามผู้รับจ้างก็ให้ข้อมูลตรงกัน ทั้งยังให้ข้อมูลว่าช่วงที่ทำการก่อสร้างต้องเปลี่ยนคนมาทำงานถึง ๓ ชุด

“อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูว่ามีระเบียบกฎเกณฑ์ที่สามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้ก็ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ชุดไต่สวนทำการตรวจสอบเอกสาร และสำนวนที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการขั้นตอน ก่อนที่จะสรุปว่า การก่อสร้างห้องน้ำชั่วคราวดังกล่าว มีราคาแพงเกินจริง ตามที่มีการร้องเรียนจริงหรือไม่” ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช.ฯ กล่าวย้ำ    


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๔ วันพุธที่ ๑ - วันอังคารที่ ๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


999 1632