29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 11,2021

ผู้ปกครองคาใจค่าอาหารกลางวัน รร.จ่ายเงินสดคืนแต่ได้ไม่ถึงครึ่ง

โรงเรียนปิดเพราะโควิด ไม่ต้องทำอาหารกลางวันให้เด็ก เปลี่ยนจ่ายเป็นเงินสดให้ผู้ปกครองแทน แต่กลับได้รับไม่ถึงครึ่งของงบที่รัฐอุดหนุน

เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๔ ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนในตำบลถาวร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และตำบลโคกว่าน อำเภอละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ต่างคาใจและเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ ระบาด ลูกหลานไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียน แต่เรียนออนไลน์ หรือรับงานมาทำที่บ้านตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ช่วงที่โรงเรียนปิด เงินที่รัฐอุดหนุนในโครงการอาหารกลางวันเด็กหัวละ ๒๐ บาทต่อวัน ทางโรงเรียนก็ไม่ได้ทำอาหารกลางวันให้เด็กกิน ทางโรงเรียนจึงเปลี่ยนนำเงินอุดหนุนโครงการดังกล่าว จ่ายเป็นเงินสดเพื่อแบ่งเบาภาระค่าอาหารให้กับผู้ปกครองแทน แต่ผู้ปกครองนักเรียนที่ลูกหลานเรียนอยู่โรงเรียนบ้านสมจิตร ตำบลโคกว่าน อำเภอละหานทราย หลายคนต่างคาใจและสงสัย เพราะได้รับเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันของเดือนสิงหาคม เพียงคนละ ๑๒๐ บาท ซึ่งหากตีเป็นวันตามจำนวนเงินที่ได้รับอุดหนุนหัวละ ๒๐ บาทต่อวัน ๑ เดือนมี ๔ สัปดาห์ควรจะได้รับคนละ ๔๐๐ บาท เมื่อสอบถามทางโรงเรียนก็มีการเรียกประชุมชี้แจงผู้ปกครองนักเรียน โดยทางโรงเรียนอ้างว่าที่จ่ายไม่เต็มเพราะต้องหักเงินไปจ่ายค่าอาหารกลางวันของเดือนก่อนด้วย ประกอบกับได้รับเงินอุดหนุนจากทาง อบต. ยังไม่ครบ    
      
น.ส.ธัญานันท์ อาจเอื้อม อายุ ๔๖ ปี ผู้ปกครองรายหนึ่งในตำบลถาวร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า ลูกเรียนอยู่ชั้น ป.๕ โรงเรียนบ้านสมจิตร ซึ่งช่วงที่โรงเรียนปิดโควิด ไม่ได้ทำอาหารกลางวันให้เด็กกิน ทางโรงเรียนจึงเปลี่ยนจ่ายเป็นเงินสดให้กับผู้ปกครองแทน แต่แปลกใจว่าทำไมถึงได้รับเพียง ๑๒๐ บาท ซึ่งตามจริงแล้วจะต้องได้เงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันหัวละ ๒๐ บาทต่อวัน ดังนั้นใน ๑ สัปดาห์ ๕ วัน ก็จะต้องได้รับ ๑๐๐ บาท ๑ เดือนก็จะต้องได้ ๔๐๐ บาท ซึ่งเท่าที่ถามผู้ปกครองหลายคนก็ได้รับ ๑๒๐ บาทเท่ากัน เมื่อสอบถามทางโรงเรียนว่า ทำไมได้ไม่ครบ ทางโรงเรียนก็ชี้แจงว่าต้องหักเงินไปจ่ายค่าอาหารกลางวันของเดือนก่อน เนื่องจากงบที่ให้มาไม่เพียงพอประกอบอาหารกลางวัน ประกอบกับได้รับเงินอุดหนุนจากทาง อบต.ยังไม่ครบ ซึ่งตนมองว่าก็เป็นหน้าที่ของทางผู้บริหารโรงเรียนที่จะต้องบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาแล้วอ้างว่าเงินไม่พอ แล้วเอาเงินของเดือนนี้ไปจ่ายเดือนที่แล้ว ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมกับเด็กและผู้ปกครอง โดยเฉพาะช่วงโควิดแบบนี้ หลายคนก็เดือดร้อน ตกงาน หากินลำบากอยู่แล้ว จึงอยากให้มีการตรวจสอบให้ชัดเจน      

นางสมบูรณ์ เงินตรากูล อายุ ๕๖ ปี ผู้ปกครองอีกคน บอกว่า ตนมีหลาน ๓ คน เมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็ได้รับเงินคนละ ๑๒๐ บาท ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าจะต้องได้กี่บาท แต่ครูเอามาให้หลาน และหลานก็เอามาให้ตนอีกทีบอกว่า ครูฝากมาให้เท่านั้น ตนก็ไม่เคยไปถามโรงเรียน อีกอย่างโรงเรียนก็ไม่เคยพูดหรือชี้แจงอะไร

ด้านนางวรรณพร ไชย์สิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสมจิตร ชี้แจงว่า โรงเรียนเปิดเทอมวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีนักเรียนชั้นอนุบาล-ป.๖ จำนวน ๗๐ คน ทางโรงเรียนได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณอาหารกลางวันจาก อบต.โคกว่าน โดยได้รับเงินรอบแรก วันที่ ๑๕ กรกฏาคม ๒๕๖๔ จำนวน ๗๐,๐๐๐ บาท ซึ่งขณะนี้กำลังทำหนังสือขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบต.ในรอบที่ ๒ ซึ่งการจัดการอาหารกลางวัน ทำโดย ๓ วิธี คือ ๑. ครูซื้อและจ้างคนทำอาหาร ๒. ครูซื้อและจ้างเหมาทำอาหาร ๓. ครูเหมาทำกันเอง แต่ช่วงโควิดทางโรงเรียนจึงได้จ่ายเป็นเงินสดให้กับผู้ปกครองเด็กแทน เพราะเด็กไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียน แต่ไม่สามารถจ่ายให้ได้เต็มตามจำนวน เพราะต้องหักไปจ่ายค่าอาหารกลางวันของเดือนที่แล้ว ประกอบกับเงินรอบที่ ๒ อีก ๗๐,๐๐๐ บาท ทาง อบต.ยังไม่ได้จัดสรรให้ หากทาง อบต. เบิกจ่ายให้ก็จะนำจ่ายให้กับผู้ปกครอง ยืนยันว่า ดำเนินการด้วยความถูกต้องโปร่งใส  

ล่าสุดวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๔ นางวารุณี สุวรรณลาส ผู้อำนวยการกองการศึกษา อบต.โคกว่าน อำเภอละหานทราย ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า ปัจจุบัน อบต.โคกว่านได้สนับสนุนงบอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันในพื้นรับผิดชอบทั้งหมด ๔ โรงเรียน โดยจะเบิกจ่ายทั้งหมด ๔ ไตรมาส แบ่งเป็นไตรมาสละ ๕๐ วัน ซึ่ง ๑ ภาคเรียนจะมี ๑๐๐ วัน ที่ผ่านมาไตรมาสแรกกับไตรมาสที่ ๒ ได้ทำการเบิกจ่ายให้กับโรงเรียนไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับไตรมาสที่ ๓ ทำการเบิกจ่ายให้กับโรงเรียนบ้านสมจิตร ไปเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ จำนวน ๗๐,๐๐๐ บาท ส่วนไตรมาสที่ ๔ ทางโรงเรียนเพิ่งทำเรื่องขอรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนดังกล่าวมา ขณะนี้อยู่ระหว่างวางฎีกาเพื่อเสนอพิจารณาเบิกจ่ายเงินตามขั้นตอน คาดว่าน่าจะเบิกจ่ายได้ไม่เกินวันที่ ๑๐ กันยายนนี้

 “ส่วนที่ผู้ปกครองคาใจว่า ได้รับเงินค่าอาหารกลางวันไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะได้จริงนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทางโรงเรียนแต่ละแห่งที่จะทำการบริหารจัดการ อบต.ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว มีหน้าที่เพียงเบิกจ่ายเงินให้กับทางโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายแต่อย่างใด” นางวารุณี กล่าว


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๕ วันพุธที่ ๘ - วันอังคารที่ ๑๔ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


987 1615