28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

September 24,2021

อบจ.เปิดสภาฯรับฟังปัญหา หวังโคราชเปลี่ยนแปลง สจ.ย้ำต้องจัดการโควิดก่อน

เปิดสภาฯ ประชุมอนุมัติโอนเงินงบประมาณรายจ่ายปี ๒๕๖๔ ฝ่ายบริหารพร้อมรับฟังปัญหาจากทุกพื้นที่ “นายกหน่อย” ชี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพื่อทำให้โคราชเกิดการเปลี่ยนแปลง และทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ด้าน “สจ.ชุณห์” ย้ำขณะนี้ต้องเน้นจัดการโควิด-๑๙ ก่อน มั่นใจอีกไม่นาน อำเภอวังน้ำเขียวจะฟื้นรับการท่องเที่ยว


เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่ ห้องประชุมสุรนารี โรงแรมดิอิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราช มีการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา สมัยสามัญ สมัยที่ ๒ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ มีระเบียบวาระการประชุม ๗ วาระ โดยฝ่ายสภาประกอบด้วย นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภา อบจ. พร้อมรองประธานสภา ๒ คน เลขานุการสภา ๑ คน ด้านฝ่ายบริหาร ประกอบด้วยนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ. พร้อมรองนายก อบจ. ๔ คน และ ส.อบจ. ๔๘ คน นอกจากนี้ ยังมีหัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมภายใต้มาตรการการตรวจคัดกรองของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

เริ่มการประชุมในระเบียบวาระที่ ๑ เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ มีทั้งสิ้น ๘ เรื่องเกี่ยวกับการประกาศใช้แผนการดำเนินงาน, ประกาศใช้แผนพัฒนาท้องถิ่น (แก้ไข, เพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลง) ระเบียบวาระการประชุมที่ ๒ เรื่องรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมา และระเบียบวาระที่ ๓ ฝ่ายบริหารเสนอญัตติ อบจ.นครราชสีมา เรื่องงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๕ โดยวาระที่สองและวาระที่สาม ที่ประชุมเห็นชอบผ่านร่างญัตติฯ ดังกล่าว

ระเบียบวาระที่ ๔ ญัตติเรื่องขออนุมัติโอนเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ โดย อบจ.มีความประสงค์ขออนุมัติโอนเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ เพื่อตั้งจ่ายรายการใหม่งบลงทุน การโอนเงินงบประมาณรายจ่ายเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๖๓ ข้อ ๒๗ การโอนงบประมาณรายจ่ายในงบลงทุน โดยการโอนเพิ่มโอนลด ทั้งนี้ อบจ.นครราชสีมา มีความจำเป็นขอโอนเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ แต่เนื่องด้วยข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.๒๕๖๔ ไม่ได้ตั้งจ่ายไว้และมีความจำเป็นต้องจ่าย เพื่อให้การบริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเพื่อบรรเทาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ประชาชน จึงขอโอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ โดยโอนลดทั้งสิ้น จำนวน ๑๐๑ รายการ เป็นเงิน ๗๑,๑๕๙,๓๕๐ บาท ประกอบด้วย ๑.กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ จำนวน ๓ รายการ เป็นเงิน ๔๘๓,๕๐๐ บาท ๒.สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน ๔ รายการ เป็นเงิน ๑๐,๘๗๕,๐๘๐ บาท ๓.สำนักงานเลขานุการองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน ๓ รายการ เป็นเงิน ๕๕๘,๑๙๐ บาท ๔.สำนักคลัง จำนวน ๑ รายการ เป็นเงิน ๒๐,๘๐๐ บาท ๕.สำนักการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จำนวน ๘๐ รายการ เป็นเงิน ๔๐,๒๑๑,๗๘๐ บาท และ ๖ สำนักช่าง จำนวน ๑๐ รายการ เป็นเงิน ๑๙,๐๑๐,๐๐๐ บาท และโอนเพิ่มทั้งสิ้น จำนวน ๑๙๑ รายการ เป็นเงิน ๗๑,๑๕๙,๓๕๐ บาท ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอนุมัติโอนเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ ตามที่ฝ่ายบริหารเสนอด้วยมติเห็นชอบ ๔๓ เสียง งดออกเสียง ๓ เสียง

จากนั้น สมาชิกสภาฯ ใช้เวลากว่า ๑ ชั่วโมง ในการอภิปรายข้อร้องเรียนและปัญหาความเดือดร้อนจากประชาชนในพื้นที่เขตรับผิดชอบของตนเอง โดยส่วนใหญ่พูดถึงปัญหาน้ำท่วมที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้

ต่อมา นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา กล่าวในช่วงท้ายก่อนปิดการประชุมสภาฯ ว่า “การแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน เป็นเป้าหมายหลักที่ทั้งฝ่ายสภา ฝ่ายบริหาร และส่วนราชการในสังกัดต้องร่วมมือกัน นายกฯ พร้อมที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาในทุกๆ ด้าน เราเห็นความตั้งใจของ ส.จ.ทั้ง ๔๘ เขต ที่ตั้งใจทำเพื่อพี่น้องประชาชน ต้องช่วยกันพัฒนาโคราช เพื่อให้โคราชดำเนินไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน ทั้ง ๓๒ อำเภอ ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน น้ำ ไฟฟ้าส่องสว่าง ความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน หลังจากนี้สภาพถนนอาจจะเกิดการชำรุดเสียหาย ถนน อบจ.ทั้ง ๑๙๙ สายทาง เราได้หารือกันในฝ่ายบริหาร จะหาทางแก้ไขให้อยู่ในสภาพดี ก็ต้องมาบริหารจัดการในเรื่องของงบประมาณ เพื่อที่จะแก้ไขให้ทุกสายทางอยู่ในสภาพที่ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกสบาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องร่วมกับสามพี่น้องท้องถิ่น ทั้งเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล อบจ.จะต้องลงไปตรวจสอบพื้นที่ เพื่อให้เห็นถึงความเดือดร้อนที่แท้จริง วันนี้ได้เห็นทุกคนร่วมมือกัน เพื่อต้องการเห็นโคราชเกิดความเปลี่ยนแปลง และตั้งใจทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง”

จากนั้น ภายหลังการประชุม นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ส.อบจ.อำเภอวังน้ำเขียว เปิดเผยว่า “เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงปลายปีงบประมาณ ที่ประชุมจึงเปิดให้สมาชิกสภาฯ ได้นำปัญหาในพื้นที่มาเสนอ เพื่อหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน อาจจะทำให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วม ซึ่งในช่วงสิ้นปีงบประมาณอาจจะมีการปรับลดปรับจ่าย เพื่อให้โครงการทุกโครงการ มีความถูกต้องและชัดเจน ที่สำคัญการประชุมวันนี้ ส.อบจ.จะได้นำเรื่องร้องเรียนของประชาชนมาพูดคุยหารือกัน และฝ่ายบริหารก็จะนำเรื่องร้องเรียนเหล่านั้นไปแก้ไขอย่างเร่งด่วน”

“สำหรับในเขตพื้นที่วังน้ำเขียว มีปัญหาเรื่องช้างป่า ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ จึงนำเรื่องร้องเรียนนี้มาปรึกษานายก อบจ. เพื่อหางบประมาณส่วนหนึ่งไปทำเขตแนวป่า โดยการปลูกไผ่ป่าจำนวน ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ต้น คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ ๓ ปี และใช้งบประมาณไม่เกิน ๓ ล้านบาท แต่หากจะนำงบประมาณไปซื้ออุปกรณ์มาทำรั้วลวดหนาม งบประมาณ ๓๐ ล้านก็อาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งผมต้องการแก้ไขให้ถูกจุดและใช้งบประมาณภาษีประชาชนน้อยที่สุด แต่ทำให้ได้ประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะการปลูกไผ่ป่า จะช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมีผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด”

“อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่เกิดจากวิกฤตโควิด-๑๙ ระบาดหนัก ทำให้อำเภอวังน้ำเขียวไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ แต่ผมเชื่อว่า อีกไม่นานอำเภอวังน้ำเขียว รวมถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในพื้นที่อำเภอปากช่อง จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น เพราะในช่วงปลายปีนี้ ทั้ง ๒ อำเภอ คือ จุดหมายสำคัญของการท่องเที่ยวในประเทศไทย เพราะมีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่เป็นมรดกโลก มีอากาศดี ธรรมชาติสวยงาม ซึ่งการท่องเที่ยวครั้งนี้ก็พอจะช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็อาจจะไม่มากพอเท่ากับช่วงภาวะปกติ สำหรับอำเภอวังน้ำเขียว มีการเตรียมพร้อมรับมือเรื่องโควิด-๑๙ เพื่อสร้างความมั่นใจและปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว แต่มาตรการต่างๆ ก็ยังจะต้องเข้มงวด เพราะโคราชยังเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ดังนั้น ขณะนี้เราควรจะเน้นเรื่องการจัดการกับโควิด-๑๙ ก่อน” นายชุณห์ กล่าว


นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๗ วันพุธที่ ๒๒ - วันอังคารที่ ๒๘ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


1006 1590