3rdMay

3rdMay

3rdMay

 

October 29,2021

จี้ รฟท.ปรับแบบรถไฟทางคู่ ผ่านตำบลบ้านใหม่ต้องยกระดับ

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 เวลา 16.00 น. นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหารเดินทางด้วยขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 963 จอดเทียบชานชาลาที่ 1 สถานทีรถไฟนครราชสีมา ภารกิจพินิจเส้นทางรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยตรวจเยี่ยมผู้ปฏิบัติงานและติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่และอุโมงค์หินลับ เส้นทาง มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ โดยมีนายชรินทร์  ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา นายสหพล กาญจนเวนิช รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย อดีตนายก ทน.นครราชสีมา นายอำพล รัตนิยะ นายสถานีรถไฟนครราชสีมาและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ

ในระหว่างที่ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย  เดินเท้าไปห้องประชุม เพื่อประชุมร่วมกับผู้บริหาร อบจ.นครราชสีมา ได้มีตัวแทนภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่และความเร็วสูง ช่วงเส้นทางผ่านเมืองนครราชสีมา มารอยื่นหนังสือให้นายนิรุฒ มณีพันธ์ ขอให้พิจารณาแก้ไขรูปแบบการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการ และยืนถือป้ายระบุข้อความ “รมต.คมนาคมช่วยด้วย” “คนบ้านใหม่ต้องการรถไฟยกระดับ” “ความเจริญอยากได้แต่เราไม่ต้องการคันดิน” “รับฟังประชาชนตำบลบ้านใหม่บ้าง” “ผู้ว่าการรถไฟช่วยเราด้วยเราคนบ้านใหม่ต้องการรถไฟยกระดับ” “คันดินน้ำท่วมบ้านใหม่ใครรับผิดชอบ” “ช่วยคนบ้านใหม่ด้วย” “ทุบสะพานหัวทะเล ฟื้นคืนเศรษฐกิจ” “พวกเราเป็นผู้บุกเบิก ไม่ใช่ผู้บุรก”

โดยกลุ่มพัฒนาชุมชนบ้านใหม่ 2020 ซึ่งเป็นชาว ต.บ้านใหม่ อ.เมือง ถือเป็นชุมชนชานเมืองขนาดใหญ่มี 12 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 3 หมื่นคน โครงการบ้านจัดสรรจำนวน 15 แห่ง สถานศึกษา 9 แห่ง และที่ตั้งหน่วยงานราชการ รูปแบบเดิมของรถไฟทางคู่ไม่ตอบโจทย์ความสะดวก ความปลอดภัย กรณีปิดจุดตัดข้ามทางรถไฟโดยสร้างสะพานเกือกม้าและอุโมงค์ทางลอดเสมือนแบ่งแยกชาวบ้านออกจากกัน ส่งผลให้การสัญจรยากลำบากรวมทั้งหากเกิดเหตุเพลิงไหม้รถดับเพลิงต้องเสียเวลาระงับเหตุร้าย กลุ่มผู้ประกอบการค้าละแวกสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล ต้องการให้ รฟท.ปรับรูปแบบทางรถไฟยกระดับช่วงผ่านจุดตัดถนนไชยณรงค์หรือห้าแยกโรงแรมปัญจดารา เพิ่มความสูงจากเดิมเป็น 4.50 เมตร เพื่อให้รถยนต์ขนาดใหญ่สามารถลอดข้ามได้สะดวกและรื้อถอนสะพานหัวทะเล เนื่องจากผลกระทบหลังก่อสร้างสะพานเมื่อปี พ.ศ.2539 ทำให้กิจการโรงแรมที่พัก อาคารพาณิชย์ สถานีบริการเชื้อเพลิง ร้านอาหาร ฯลฯ ตั้งอยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร ประสบปัญหาการค้าซบเซา เนื่องจากไม่มียานพาหนะแล่นผ่าน หลายรายต้องเซ้งกิจการและหาทำเลการค้าใหม่และอสังหาริมทรัพย์ราคาตก ส่วนชุมชนริมรางเมืองย่าโม จำนวน 13 ชุมชน ชาวบ้านกว่า 1,591 พันครัวเรือน ซึ่งกำลังถูก รฟท. ขอคืนพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการ ขอให้ รฟท.จัดสรรที่อยู่อาศัยให้ใหม่และไม่ต้องการอยู่แฟลต เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีความหลากหลายทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และรายได้แตกต่างกัน การทำมาหากินไม่เหมือนเดิม การนำคนที่มีความหลากหลายทางวิถีชีวิตไปอยู่ร่วมกันไม่สามารถแก้ปัญหาได้


713 1,348