29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 05,2021

ติดโควิดทะลุ ๓๐,๐๐๐ ราย ดีใจ‘ปากช่อง’ลดลง ‘เรือนจำ-รง.’ต้องระวัง

โคราชพบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ลดลงต่อเนื่อง แต่คลัสเตอร์โรงงานยังระบาดไม่หยุด ย้ำ มาตรการควบคุมต้องเข้มงวด ด้านเรือนจำกลาง พบผู้ติดเชื้อ ๘๒ ราย ผบ.คาดผู้ต้องขังใหม่ติด ๗๐๐ ราย ด้านนายอำเภอปากช่องดีใจผู้ติดเชื้อลดลง สั่งทุกพื้นที่ห้ามเกิดคลัสเตอร์การพนัน และสิ่งผิดกฎหมายเด็ดขาด

สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ ในจังหวัดนครราชสีมา มีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีการระบาดในลักษณะคลัสเตอร์เกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น คลัสเตอร์โรงงาน คลัสเตอร์สถานีตำรวจ และคลัสเตอร์ในชุมชน ความคืบหน้า วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๑๕๙ ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๑๕๔ ราย และมาจากพื้นที่อื่น ๕ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานสถานการณ์คลัสเตอร์สำคัญ ว่า คลัสเตอร์โรงงานศรีไทยซุปเปอร์แวร์ เริ่มจากเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม สสจ.นครราชสีมมาได้รับรายงานมาว่ามีการตรวจค้นหาเชิงรุกด้วย ATK ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ๒๐ ราย พบผลบวก ๑๑ ราย หลังจากนั้นทาง สสจ.จึงนัดหมายเพื่อเข้าไปดำเนินการที่โรงงานศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อเป็นคนไทย ๗ ราย อยู่ในพื้นที่ อ.เมืองฯ และมีพนักงาน ๑ ราย พึ่งลาออกในวันที่ ๒๓ ตุลาคม อยู่ที่ อ.คง พบผลตรวจติดเชื้อโควิด-๑๙ ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ขณะนี้ สสจ.ได้ประสานไปยังสาธารณสุข อ.คง พบว่ากำลังเข้ารักษาอยู่ที่ รพ.คง และได้ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพิ่มเติม โดยมีการค้นหาเชิงรุกตรวจ ATK ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๑ ราย (แรงงานต่างด้าวทั้งหมด) พบผลบวก ๘๔ ราย ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อยืนยัน ๗ ราย ผลเป็นบวก ๘๕ ราย ซึ่งต้องรอผลตรวจ RT-PCR ยืนยัน อยู่ในการกักตัวใน Factory Quarantine ของโรงงาน และในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๗ ตุลาคม มีการประชุมวางแผนในการดูแลควบคุม ทำความสะอาดโรงงาน ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพิ่มเติม และในวันที่ ๒๘ ตุลาคม เวลา ๐๙.๐๐ น. มีการตรวจค้นหาเชิงรุก ATK พนักงานทั้งหมดในโรงงาน สรุปคลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อ ๑๒๑ ราย และมีผลตรวจ ATK เป็นบวก รอผลตรวจ RT-PCR ๒๐ ราย

คลัสเตอร์ สภ.เมืองนครราชสีมา เริ่มเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม เวลา ๑๗.๓๐ น. สสจ. ได้รับแจ้งจาก พ.ต.อ.กรกฎ โปชยะวณิช ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนครราชสีมา ได้ทำการส่งผู้ต้องหาชาวต่างชาติหลายคนมาทำการฝากขังไว้ที่ สภ.เมืองนครราชสีมา และมีชายชาวเยอรมัน อายุ ๗๐ ปี กำลังจะถูกส่งตัวกลับไปประเทศ เจ้าหน้าที่จึงทำการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ และมีผลยืนยันติดเชื้อ จากนั้นวันที่ ๒๖ ตุลาคม ได้ทำการตรวจ ATK ค้นหาเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้ต้องหาและผู้ต้องกักขังทั้งหมด ๔๗ คน พบว่าติดเชื้อ ๓๐ คน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดเชื้อ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องบริเวณหน้าห้องขัง จากนั้นจึงมีการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติ่ม พบว่าเดิมเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการติดเชื้อโควิด-๑๙ จำนวน ๑๑ นาย โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๘ ตุลาคม เบื้องต้นพบว่า มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในเหตุการณ์นี้ประมาณ ๕๐ ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม ๔๒ ราย โดยคลัสเตอร์นี้สามารถแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มผู้ต้องกัก และผู้ต้องกักที่จำหน่ายออกมาแล้ว

เชื่อมโยง สภ.เมืองโคราช

คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างถนน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีคนงานทั้งหมด ๔๐ คน เป็นชาวต่างชาติ ๓๗ คน และคนไทย ๓ คน โดยเริ่มจากช่วงเช้าของวันที่ ๒๑ ตุลาคม ตม.ได้เข้าไปตรวจแคมป์ก่อสร้าง พบชาวต่างชาติไม่มีหลักฐานการเข้าประเทศ จึงจับกุมมา ๔ คน ฝากขังที่ สภ.เมืองนครราชสีมา เป็นเวลา ๕ ชั่วโมง เจ้าของบริษัทจึงนำเอกสารมายืนยันตัว เพื่อนำคนงานกลับ จากนั้นวันที่ ๒๕ ตุลาคม คนงาน ๓ คน เริ่มมีอาการไข้ ไอ และหอบเหนื่อย นายจ้างจึงพามาโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ พบผลตรวจ ATK เป็นบวกทั้ง ๓ คน จึงส่งตรวจ RT-PCR จากนั้นวันที่ ๒๖ ตุลาคม ผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อ เจ้าของจึงส่งตัวคนงานในแคมป์ ๓๗ คน มาตรวจหาเชื้อ ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๓ คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้ที่ถูกนำตัวไป สภ.เมืองนครราชสีมา

คลัสเตอร์ใหม่

คลัสเตอร์โรงฆ่าสัตว์ตำบลจันอัด อำเภอโนนสูง เริ่มจากพ่อค้าแม่ค้าจากโรงฆ่าสัตว์ เร่ขายหมูที่ ต.หนองระเวียง และหนองบัวศาลา ซึ่งมีลูกค้าประจำคอยมาซื้อ ต่อมามีการติดเชื้อในโรงฆ่าสัตว์ ทำให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ มีการระบาดเป็นวงที่ ๒ และวงที่ ๓ ซึ่งเป็นวงที่ไปสังสรรค์กับผู้ติดเชื้อ โดยคลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อ ๒๔ ราย อำเภอโนนสูงจึงขอปิดหมู่บ้าน หมู่ที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม ถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน เนื่องจากมีข้อมูลการสอบสวนโรคไม่ครอบคลุมทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ, คลัสเตอร์ชุมชนบ้านเกาะ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง เริ่มจากครอบครัวหนึ่ง พบคนในครอบครัวไม่สบาย หลังมีญาติมาเยี่ยมจากจังหวัดชลบุรี เมื่อรู้สึกไม่สบายใจจึงซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจ ปรากฏว่า ผลเป็นบวก จึงเข้าสู่กระบวนการรักษา และ อสม.ได้เข้ามาค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงในครอบครัวนี้ พบว่า ติดเชื้อทั้งหมด ๘ คน ส่วน อสม.ที่อยู่บ้านข้างๆ ซึ่งเป็นคนดูแลครอบครัวผู้ติดเชื้อในช่วงที่ผลตรวจ RT-PCR ยังไม่ออก ทำให้ติดเชื้อด้วย และคนในครอบครัวของ อสม.ติดเชื้อเพิ่มอีก ๗ คน จากนั้นเริ่มมีการติดเชื้อขึ้นภายในหมู่บ้าน เพราะมีการไปมาหาสู่กัน ซึ่งถนนในหมู่บ้านมีลักษณะแคบ ทุกครอบครัวมีความใกล้ชิดกัน ทีมสอบสวนโรคจึงลงพื้นที่พบว่า การค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงจะทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากพื้นที่ชุมชนไม่สะดวก และทุกครอบครัวมีการกักตัวภายในบ้านของตัวเอง ซึ่งการกักตัวของแต่ละบ้าน ยังพบปัญหาต่างๆ จึงจะมีการจัดหาสถานที่กักตัว โดยขณะนี้ อบต.ได้จัดทำระบบและเตรียมสถานที่ไว้แล้ว

คลัสเตอร์บ้านโคกเพชร ตำบลโคกกวด อำเภอเมือง เริ่มเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๐.๐๐ น. มีรายงานจากทีม สปก.ตำบลโคกกรวด ว่า ได้เข้าไปดำเนินการค้นหาเชิงรุกในบ้านโคกเพชร หลังพบผู้ติดเชื้อ ๙ ราย ในซอยรุ่งเรือง โดยตรวจ ๑๐๐ คน พบผลบวก ๑๘ คน จึงนำเข้าที่พักคอยผลตรวจ RT-PCR โรงพยาบาลเทพรัตน์ฯ

คลัสเตอร์ตำรวจระบาดหนัก

วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๘๔ ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๖๙ ราย และมาจากพื้นที่อื่น ๑๕ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ กล่าวว่า “เมื่อช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา มีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายต้องทำงานกันทั้งวัน โดยเฉพาะคลัสเตอร์โรงงานศรีไทยซุปเปอร์แวร์ คลัสเตอร์ชุมชนบ้านเกาะ และคลัสเตอร์ชุมชนบ้านโครกเพชร”

สำหรับความคืบหน้าคลัสเตอร์สำคัญในจังหวัดนครราชสีมา นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานว่า ทุกคลัสเตอร์ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ เป็นคลัสเตอร์ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งหมด โดยเริ่มจากคลัสเตอร์ สภ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งมี ๒ ระยะ คือ ก่อนที่จะมีการควบคุม และระยะที่มีการควบคุม โดยก่อนการควบคุมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดเชื้อ ๑๑ ราย ตั้งแต่วันที่ ๑๘-๒๕ ตุลาคม ซึ่งทีมสอบสวนโรคไม่ได้รับรายงาน ทำให้มีการติดเชื้อไปสู่ครอบครัว จากนั้นวันที่ ๒๕ ตุลาคม มีรายงานว่าผู้ต้องขังชาวเยอรมันติดเชื้อโควิด-๑๙ จึงเข้าไปสอบสวนโรคที่ สภ.เมืองนครราชสีมา พบผู้ต้องขัง ๔๔ ราย ไม่พบเชื้อเพียง ๒ ราย และถูกส่งกลับประเทศแล้ว และในส่วนของผู้ต้องขังทางทีมสอบสวนโรคสามารถเข้าควบคุมได้แล้ว โดยขณะนี้เหลือในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เชื้อลามไม่หยุด

หลังจากวันที่ได้ดำเนินการตรวจสอบค้นหาเชิงรุก ATK และ RT-PCR ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ได้ค้นหาในกลุ่มของเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใน สภ.เมืองฯ พบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานบริเวณหน้าห้องขัง ๒ ราย ติดเชื้อ และตำรวจหนึ่งใน ๒ รายนี้แพร่เชื้อไปในวงครอบครัวและเพื่อน ๕ ราย และอีกรายแพร่เชื้อไปติดภรรยาและหลาน หลังจากนั้นตำรวจส่วนกลางได้ส่งโรงพยาบาลตำรวจมาค้นหาเชิงรุก ATK ที่ สภ.เมืองฯ อีกครั้ง พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ๓ ราย พบผลตรวจเป็นบวก วันที่ ๒๙ ตุลาคม จึงประสานส่งตรวจ RT-PCR ที่ รพ.มหาราชฯ ผลยืนยันพบเชื้อทั้ง ๓ ราย และอีกส่วนหนึ่งที่ตรวจพบเชื้อเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ ๔ ราย สภ.เมืองฯ จึงมีคำสั่งให้ นสต.ที่เหลือกลับไปกักตัวที่บ้าน ด้าน ทีม สสจ.จึงขอรายชื่อ นสต. ทั้งหมด เพื่อที่จะประสานทางต้นทาง พบว่า กักตัวอยู่ที่อำเภอเมือง ๔๔ ราย พระทองคำ ๒ ราย เฉลิมพระเกียรติ ๒ ราย โชคชัย ๑ ราย โนนไทย ๑ ราย ขามทะเลสอ ๑ ราย ครบุรี ๑ ราย และต่างจังหวัดอีก ๔ ราย สสจ.จึงประสานไปยังต้นทางและใช้หลักเกณฑ์ว่า นสต.ที่กักตัวอยู่บ้านต้องไปรายงานตัวกับ อสม.และส่งรายงานเข้ามาในไลน์กลุ่มที่มีทีม สสจ. สภ.เมืองฯ และทีมโรงเรียนตำรวจ จากการรายงานพบว่า นสต. ทั้งหมด ๕๗ ราย รายงานตัวครบ ในส่วนนี้ที่อยู่ในระยะกักตัว ๑๔ วัน ยังไม่มีรายงานเพิ่มว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่

โรงงานทำตามมาตรการ

คลัสเตอร์โรงงานศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้ ซึ่งในโรงงานมีพนักงานเป็นทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งพบผู้ป่วยเป็นคนไทย ๗ คน ก่อนที่ทีมสอบสวนโรคจะเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งมี ๖ คน เข้ารับการรักษาอยู่ ส่วนอีก ๑ คน ลาออกไปรักษาที่อำเภอคง วันที่ ๒๖ ตุลาคม โรงงานพบว่า พนักงานชาวไทยติดเชื้อ จึงนำพนักงานต่างชาติมาตรวจ ATK พบผลบวก ๑๑ คน ซึ่งผลตรวจ RT-PCR ยืนยันติดเชื้อทั้ง ๑๑ คน วันที่ ๒๖ ตุลาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และคณะลงพื้นที่โรงงาน เพื่อแนะนำแนวทางปฏิบัติต่างๆ โดยให้โรงงานตรวจ ATK พนักงานต่างชาติทั้งหมด ๒๔๑ คน พบผลบวก ๘๔ คน ผลตรวจ RT-PCR ยืนยัน ๘๓ คน จากนั้นวันที่ ๒๘ ตุลาคม โรงงานตรวจ ATK พนักงานชาวไทย ๖๒๐ คน จากทั้งหมด ๖๙๐ คน พบผลบวก ๒๐ คน ยืนยันติดเชื้อทั้ง ๒๐ คน ทีมสอบสวนโรคจึงให้โรงงานจัดทำ Factory Quarantine และ Factory Isolution ซึ่งโรงงานบอกว่า สามารถทำได้ วันที่ ๒๙ ตุลาคม พบพนักงานต่างชาติมีไข้สูง น้ำมูกไหล และบางคนไออย่างรุนแรง จึงนำตัวกลุ่มผู้มีอาการส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชฯ วันที่ ๓๐ ตุลาคม ทีมผู้บริหารโรงงานได้ร่วมประชุมกับทีม สสจ. สสอ. และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด โดยเห็นว่า โรงงานจะต้องทำ ฺBubble and Seal โดยจะมีการเฝ้าระวังอาการพนักงาน เพื่อไม่ให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น วันที่ ๓๑ ตุลาคม โรงงานได้ทำความสะอาดพื้นที่ ภายใต้การควบคุมของ สสจ. ซึ่งมาตรการต่างๆ โดยโรงงานยอมปฏิบัติตาม

ยังเข้มงวดโรงงาน

นายเกษมสันต์ เครือเจริญ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฯ กล่าวว่า “เมื่อเดือนสิงหาคม มีมาตรการการใช้ ATK ในการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ในพนักงานของสถานประกอบการ ซึ่งทุกครั้งที่ตรวจจะต้องมีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อผลตรวจออกมาพบว่า เป็นผู้มีเชื้อหรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ห้ามสถานประกอบการอนุญาตให้กลับบ้านเด็ดขาด ประกอบกับมาตรการที่ว่า เมื่อสถานประกอบการพบการระบาดของโควิด จะต้องจัดทำ BBS ตลอดจนการทำที่พักคอยหรือที่อยู่ชั่วคราวสำหรับผู้ติดเชื้อ Factory Isolution และต้องมีสถานที่กักตัวสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง Factory Quarantine ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการต่างๆ ว่า มีการดำเนินการตามคำสั่งหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่เวลาตรวจ ATK และพบผลบวก สถานประกอบการจะไม่มีสถานที่รองรับสำหรับผู้มีผลบวก จึงให้พนักงานกลับไปพักและกักตัวที่บ้าน กระทั่งนำไปสู่การระบาดสู่คนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งปัจจุบันยังมีสถานประกอบการหลายแห่งไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ประกอบการขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ ทำให้สถานประกอบการบางแห่งเข้าใจมาตรการแบบผิดๆ เช่น เข้าใจว่ามีการผ่อนคลายมาตรการ เนื่องจากตัวเลขการติดเชื้อลดลง จึงไม่จัดเตรียมสถานที่ทำ BBS หรือ FAI และ FQ เมื่อมีการติดเชื้อในโรงงานก็ทำให้ควบคุมลำบาก เพราะกว่าจะหาสถานที่กักตัวได้ พนักงานหลายคนก็กลับบ้านแล้ว ซึ่งในคำสั่งได้ระบุไว้ชัดเจนว่า หากตรวจสอบพบสถานประกอบใด ยังไม่สามารถดำเนินการหรือยังไม่แล้วเสร็จ อาจจะต้องมีการเสนอให้ดำเนินคดี กรณีที่ฝ่าฝืนคำสั่งและไม่ปฏิบัติตาม และอาจจะมีการเสนอให้ปิดพื้นที่ เมื่อพบว่า พื้นที่นั้นเป็นแหล่งรังโรค”

ผ่อนคลายมาตรการ

นายจักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรชำนาญการพิเศษ สสจ.นครราชสีมา รายงานถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ ว่า “จังหวัดนครราชสีมา มีคำสั่งที่ ๑๐๗๗๕/๒๕๖๔ มีผลบังคับใช้วันที่ ๑ พฤศจิกายน โดยกำหนดให้ประชาชนสามารถรวมกลุ่มได้ไม่เกิน ๒๐๐ คน โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา สามารถจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากได้ แต่ต้องแจ้งและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ร้านอาหารเปิดให้นั่งในร้านได้ไม่เกิน ๒๓.๐๐ น. งดจำหน่ายหรือนั่งดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และห้างสรรพสินค้าศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ โรงละคร เปิดได้ตามเวลาปกติ ในส่วนของกิจกรรม กิจการ และสถานที่ที่ยังงด คือ สถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด กิจการอาบน้ำ การอบไอน้ำ อบสมุนไพร สนามชนไก่ กิจกรรมกัดปลา สถานที่แข่งสัตว์ โต๊ะสนุกเกอร์ สนามแข่งม้า สนามโบว์ลิ้ง สวนน้ำ สวนสนุก สนามเด็กเล่น สนามมวย โรงเรียนสอนมวย และสถาบันลีลาศ”

เข้าโคราชต้องฉีดวัคซีน

“สำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก ๗ จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตาก นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา เข้ามายังจังหวัดนครราชสีมา จะต้องมีผลการฉีดวัคซีน ๒ เข็ม หรือผลการตรวจหาเชื้อว่า ไม่พบเชื้อ ในเวลาไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมง ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานการฉีดวัคซีนหรือไม่มีผลตรวจเชื้อ ต้องรายงานตัวต่อผู้นำชุมชน อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ภายใน ๑๒ ชั่วโมง หากมีประวัติไปสถานที่เสี่ยงหรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยง ต้องกักตัวเป็นเวลา ๑๔ วัน” นายจักรกฤษณ์ กล่าว

คลัสเตอร์โควิดยังระบาด

วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๗๐ ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๖๗ ราย และมาจากพื้นที่อื่น ๓ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

ความคืบหน้าคลัสเตอร์ สภ.เมืองนครรราชสีมา พบผู้ป่วยรายใหม่ ๒ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ๒๒ ราย กลุ่มครอบครัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ ๒๑ ราย คลัสเตอร์โรงงานศรีไทยซุปเปอร์แวร์ พบผู้ติดเชื้อเป็นพนักงานชาวไทย ๒ ราย พนักงานต่างชาติ ๑๔ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อเป็นพนักงานชาวไทย ๒๙ ราย พนักงานต่างชาติ ๑๔๖ ราย คลัสเตอร์บ้านโคกเพชร ตำบลโคกกรวด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๓๐ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๗๑ ราย และคลัสเตอร์โรงงานลีดเดอร์ อินดัสทรีส์ อำเภอสูงเนิน สสจ.ได้รับรายงานจะประชาชนและสื่อมวลชนที่แจ้งมาว่า โรงงานนี้พบการติดเชื้อจำนวนมาก จึงลงพื้นที่เข้าไปสอบสวนโรค โดยพบผู้ป่วยรายแรกมีอาการตั้งแต่วันที่ ๒๕ ตุลาคม ซึ่งผู้ป่วยพักอยู่หมู่บ้านที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของคลัสเตอร์ตลาด จึงนำมาติดเชื้อภายในโรงงาน ซึ่งผู้ติดเชื้อคนที่ ๓ เป็นคนที่มีอัธยาศัยดี ชอบเดินทักทายเพื่อนร่วมงานโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย จึงทำให้เพื่อนร่วมงานติดเชื้อเพิ่ม ๑๕ ราย และระบาดไปยังวงที่ ๒ เป็นครอบครัวของผู้ติดเชื้ออีก ๓ ราย

คาดมีผู้ต้องขังติดเชื้อ ๗๐๐ ราย

นายชัยบุญ ชัยสิริเจริญพันธ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครราชสีมา เปิดเผยสถานการณ์และขอมติการดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่รับผิดชอบว่า “เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมาพบผู้ต้องขังมีอาการมีไข้สูง จึงได้ดำเนินการสุ่มตรวจหาเชื้อในกลุ่มผู้ต้องขังกลุ่ม ๒๒ ราย ผลการตรวจ ATK ปรากฏว่าเป็นบวก ๑๖ ราย ดังนั้นทางเรือนจำจึงประสานกับ รพ.เดอะโกลเดนเกท ให้เข้ามาสุ่มตรวจเพิ่มเติมกลุ่มผู้ต้องขังในแดนแรกรับ ๑๕๖ ราย พบผลบวก ๖๖ ราย ดังนั้น เรือนจำจึงวางแผนดำเนินการโดยการตรวจค้นผู้ต้องขัง ได้นำผู้ต้องขังจำนวนนี้เข้าไปอยู่ในเรือนนอนทุกรายและทำเป็น BBS ในส่วนของผู้ต้องขังที่มีผลบวก จะตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันผล และจะขอดำเนินการใช้โรงนอนในแดนแรกรับเปิดเป็น รพ.สนาม ภายในเรือนจำ ซึ่งเรือนจำกลางนครราชสีมาเป็นเรือนจำแดนเดียว ในส่วนของแดนแรกรับจำนวน ๗๐๐ กว่าคน คาดว่าอาจจะติดเชื้อทั้งหมด ส่วนของผู้ต้องขังในแดนเด็ดขาด ๒,๐๐๐ คน จากการสุ่มตรวจ ATK ยังไม่ผลพบเชื้อ แต่ปรากฏว่า มีผู้ต้องขังมีอาการ PUI อย่างไรก็ดีในตอนบ่ายของวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ทีมสาธารณสุข อ.เมืองฯ จะเข้าตรวจ ATK ให้กับผู้ต้องขังแดนเด็ดขาด ๒,๐๐๐ คน อาจจะมีผู้ต้องขังบางคนที่ดีรับการปล่อยตัวพ้นโทษออกจากเรือนจำ ซึ่งทางเรือนจำจะดำเนินการตรวจหาเชื้อโดย RT-PCR ก่อนว่า ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวพบเชื้อหรือไม่ หากตรวจพบเชื้อจะให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวเข้าสู่ CI ของจังหวัด ตามท้องถิ่นภูมิลำเนาของผู้ต้องขัง ในส่วนของการตรวจหาเชื้อโดย RT-PCR ของผู้ต้องขังที่ไม่พบเชื้อ แต่อยู่ภายในเรือนจำที่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่ Quarantine ของพื้นที่ก่อนที่จะกลับบ้าน เพราะนโยบายของทางเรือนจำไม่ต้องการที่จะให้ผู้ต้องขังที่อยู่ภายในเรือนจำ มีการติดเชื้อและนำเชื้อไปแพร่ระบาดสู่สังคม”

อ.ปากช่องพบผู้ป่วยลดลง

ขณะเดียวกัน นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง ประชุมหัวหน้าส่วนราชการและคณะกรรมการบริหารงานอำเภอ ครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๔ วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ซึ่งกล่าวว่า “เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน อำเภอปากช่องไม่พบผู้ป่วยเป็นเวลา ๑ วัน ซึ่งเพียง ๑ วัน ก็ทำให้มีความสุขและมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานต่อไปในการควบคุมการแพร่ระบาด แต่เมื่อวาน (๒ พ.ย.๒๕๖๔) พบผู้ป่วย ๑๒ คน และคลัสเตอร์ต่างๆ ก็ยังมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลักการของอำเภอปากช่อง จะต้องตรวจเร็ว รู้เร็ว และควบคุมโรคได้เร็ว เมื่อพบคลัสเตอร์ใหม่หน่วยงานสาธารณสุขจะต้องเข้าไปสอบสวนโรคอย่างรวดเร็ว และต้องตรวจ ATK กลุ่มเสี่ยงทันที เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยว่า จะไม่รอการยืนยัน เมื่อตรวจ ATK เป็นบวก ก็ให้ดำเนินการตามกระบวนการทันที นำตัวผู้ป่วยเข้ารักษาพยาบาลทันที ซึ่งอำเภอปากช่องมี CI ทุกตำบล เพื่อนำตัวผู้ป่วยมาพักคอยและสังเกตอาการ หากมีอาการรุนแรงจะส่งต่อให้โรงพยาบาลปากช่องนานาหรือโรงพยาบาลสนาม ที่ศูนย์ยุทธวิถีตำรวจ ตำบลหนองสาหร่าย แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงจะให้รักษาตัวที่ CI ต่อไป และผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลมีอาการดีขึ้น ก็จะส่งตัวกลับเข้ามาที่ CI เพื่อสังเกตอาการให้ครบ ๑๔ วัน ก่อนที่จะส่งตัวผู้ป่วยกลับบ้าน”

นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง

เข้มงวดการกักตัว

“การควบคุมการระบาดที่รวดเร็ว จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน จะต้องทราบข้อมูลจากหน่วยพยาบาลในพื้นที่ เช่น รพ.สต. หรือแม้แต่ อสม.ในพื้นที่ ทุกคนจะต้องมีข้อมูลชุดเดียวกัน เมื่อเกิดคลัสเตอร์จะต้องทราบทันที่ว่าเกิดขึ้นที่ใด มีกลุ่มเสี่ยงกี่คน กลุ่มเสี่ยงกลับไปอยู่บ้านหรือไม่ ถ้ากลับบ้านพื้นทื่อื่น ก็จะต้องส่งต่อข้อมูลให้กันและกัน ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องทราบข้อมูล ซึ่งการควบคุมโรคกลุ่มเสี่ยงต่างๆ จะต้องมีหนังสือรับรองหรือหนังสือสั่งการจากเจ้าพนักงานควบคุมโรค ที่ผ่านมาเคยมีการแจ้งโดยปากเปล่า จึงทำให้มีอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อจัดสรรการเยียวยาให้กับผู้ที่ถูกกักตัว เช่น ถุงยังชีพ และเงินเยียวยา ที่สำคัญผู้ที่ถูกกักตัวจะต้องอยู่ในการควบคุม ไม่ให้ออกไปไหน เพราะที่ผ่านมาเคยมีกรณีออกจากการกักตัว ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสังคม ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม หากใครไม่เชื่อฟังในการกักตัวก็จะถูกเชิญให้ไปอยู่ใน LQ ดังนั้นขอให้กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรค ให้เคร่งครัดในการกักตัวบุคคลกลุ่มเสี่ยง ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ ให้คิดว่า ชุมชนของท่านจะรอดพ้นจากโควิดได้อย่างไร” นายอำเภอปากช่องกล่าว

คุมเข้มคลัสเตอร์วงพนัน

นายคณัสชนม์ กล่าวอีกว่า “เมื่อวานนี้พบการเล่นการพนัน เรื่องนี้ห้ามเด็ดขาด ผู้ใหญ่บ้านและกำนัน จะต้องทราบว่า ในหมู่บ้านมีการเล่นการพนันที่ไหน เพราะเราพยายามป้องกันทุกทาง เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน ผมเข้าใจว่าทุกคนเหนื่อย ประกอบการช่วงนี้เป็นการเปิดเมือง มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าเดิม อำเภอปากช่องจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยน้อยลงให้ได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่ดีที่ผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง อย่าให้เกิดคลัสเตอร์จากการเล่นการพนันในพื้นที่ของท่านโดยเด็ดขาด และทราบมาว่า นักพนันหลายคนกระจายในพื้นที่ต่างๆ จะต้องติดตามกลับมาให้ได้ ขอบอกว่า เรื่องโควิดในอำเภอปากช่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดติดตามสถานการณ์เป็นประจำ เพราะเป็นอำเภอหน้าด่าน มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากมาย จึงอย่าให้เกิดกรณีที่เคยสั่งการไปแล้วอีก โดยเฉพาะการเล่นพนัน ห้ามเด็ดขาด คลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยวหรือการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถเกิดขึ้นได้ แต่คลัสเตอร์ที่เกิดจากการกระทำผิดกฎหมายนั้นห้ามมีเด็ดขาด”

โคราชติดเชื้อสะสม ๓๐,๑๙๙ ราย

ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมาพบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ สะสม ๓๐,๑๙๙ ราย รักษาหาย ๒๘,๑๔๒ ราย ยังรักษาอยู่ ๑,๘๒๘ ราย เสียชีวิต ๒๒๙ ราย (ข้อมูล ณ วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔) แยกเป็นอำเภอเมือง ๔,๒๒๑ ราย, ปากช่อง ๕,๑๓๙ ราย, พิมาย ๙๙๐ ราย, บัวใหญ่ ๗๙๕ ราย, ด่านขุนทด ๑,๓๗๔ ราย, โชคชัย ๑,๙๕๐ ราย, ครบุรี ๙๗๙ ราย, ชุมพวง ๔๐๘ ราย, สูงเนิน ๒,๒๒๕ ราย, สีคิ้ว ๑,๒๑๗ ราย, ปักธงชัย ๑,๐๑๐ ราย, ประทาย ๗๙๘ ราย, จักราช ๖๒๐ ราย, โนนไทย ๘๕๗ ราย, โนนสูง ๑,๑๒๒ ราย, โนนแดง ๓๐๖ ราย, เสิงสาง ๘๑๘ ราย, คง ๖๔๗ ราย, ขามสะแกแสง ๓๒๐ ราย, ขามทะเลสอ ๔๓๑ ราย, แก้งสนามนาง ๔๕๕ ราย, ห้วยแถลง ๗๒๓ ราย, หนองบุญมาก ๕๓๖ ราย, วังน้ำเขียว ๔๑๙ ราย, บ้านเหลื่อม ๒๙๓ ราย, พระทองคำ ๓๓๕ ราย, ลำทะเมนชัย ๒๔๔ ราย, เฉลิมพระเกียรติ ๒๐๐ ราย, เมืองยาง ๑๕๗ ราย, สีดา ๒๓๘ ราย, บัวลาย ๑๙๓ ราย และเทพารักษ์ ๑๗๘ ราย


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๑ ประจำวันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


978 1602