29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 13,2021

‘นพ.เกรียงศักดิ์’สุดจะทน หมอขอนแก่นยื่นสอบซื้อ ATK ให้ทนายฟ้อง-เอาผิดทางวินัย

แพทย์แต่งชุดดำ บุกยื่นหนังสือ ให้สสจ.ตรวจสอบการสั่งซื้อ ATK และร้องเรียนการบริหารงานที่อ้างว่าพบความผิดปกติ ๔ ประเด็นของ ผอ.รพ.ขอนแก่น หลังเข้าบริหารงาน ๑ เดือน ‘นพ.เกรียงศักดิ์’ มอบให้ฝ่ายกฎหมายยื่นฟ้องแพทย์-พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมเดินหน้าเอาผิดทางวินัยทุกคน เจ้าตัวยอมรับความอดทนมีขีดจำกัด หลังจากถูกคุกคามมาตลอด ๓ ปี 

 

ตามที่เมื่อเวลา ๑๓.๐๐ น. วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น พญ.จรรยาภรณ์ รัตน์โกศล แพทย์เชี่ยวชาญ ประจำโรงพยาบาลขอนแก่น ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมภายในรับแจ้งเรื่องศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โรงพยาบาลขอนแก่น นำบุคลากรทางการแพทย์ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น (สสจ.ขอนแก่น) เพื่อให้ตรวจสอบการบริหารงานของ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น

ให้สสจ.ตรวจสอบการทำงาน ผอ.รพ.

พญ.จรรยาภรณ์ รัตน์โกศล กล่าวว่า ตลอด ๑ เดือนที่ นพ.เกรียงศักดิ์ เข้ามาบริหารงาน ในตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น พบว่ามีหลายเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมที่เคยปฎิบัติ ทั้งยังดำเนินการข้ามขั้นตอน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์หลายคนมีความเคลือบแคลงสงสัย ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการโรงพยาบาล มีมติร่วมกันในการยื่นหนังสือให้ตรวจสอบการบริหารงานของผู้อำนวยการ รพ.ฯ ใน ๔ ประเด็นหลักที่ต้องมีการตรวจสอบ ทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ถูกระเบียบ ตามขั้นตอนพัสดุ โดยเฉพาะการจัดซื้อชุดตรวจ ATK โดยไม่มีเรื่องเสนอซื้อ ไม่มีการออกใบสั่งของโรงพยาบาลฯ ไม่มีการสืบ และต่อรองราคา

จัดซื้อ ATK ไม่เป็นไปตามระเบียบ

“การจัดซื้อจะอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินตามหนังสือฉบับ ว.๑๑๕ ว่าสามารถซื้อของเฉพาะเจาะจงบริษัทได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตามระเบียบการจัดซื้อจะต้องมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริงหรือไม่ และจากการตรวจสอบ พบว่า บริษัทฯ ที่ผอ.จัดซื้อชุดตรวจ ATK นั้น เป็นบริษัทที่องค์การเภสัชกรรมไม่เห็นด้วย จนองค์การเภสัชฯ ดำเนินการให้ป.ป.ช. ตรวจสอบ และดำเนินคดีกับ นพ.เกรียงศักดิ์ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า มีการจัดซื้อที่เป็นลักษณะของการสั่งการ มากกว่าการปฏิบัติตามกฎของราชการ ซึ่งอาจจะส่งผลเสียหายกับทางราชการได้ ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องใช้งบประมาณมาก ต้องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบให้พิจารณาร่วมกัน ไม่ใช่เกิดจากการสั่งการซื้อเพียงคนเดียว”

สั่งตรวจโควิด ๓,๐๐๐ รายต่อวัน

พญ.จรรยาภรณ์ กล่าวอีกว่า ในด้านการบริหารที่โรงพยาบาลฯ มา ๑ เดือน พบว่า ได้สั่งการให้ตรวจโควิด-๑๙ โดยวิธี RT-PCR ๓,๐๐๐ รายต่อวัน แต่ในความเป็นจริงทำได้เหมือนกับ ๖๐๐ รายต่อวันเท่านั้น แต่ ผอ.มีนโยบาย ๓,๐๐๐ คนต่อวัน ซึ่งต้องมีตัวเลขอ้างอิง ทางผู้ปฎิบัติได้ทำข้อมูลนำเสนอแล้ว การตัดสินใจของผู้อำนวยการให้ศึกษาข้อมูล รวมทั้งขอให้กรรมการ บุคลากรทางการแพทย์มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ยืนยันว่า สามารถร่วมงานได้กับผู้อำนวยการทุกคน ขอให้ผู้บริหารมีธรรมาภิบาล แต่ ๑ เดือนที่ผ่านมาเห็นว่าการบริหารงานได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยขึ้น หลายเรื่องดำเนินการไม่ผ่านระบบขั้นตอน ทำให้กระทรวงสาธารณสุขตีกลับ สร้างความเสียหายให้กับโรงพยาบาล”

สสจ.ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

ขณะที่ นพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์ สสจ.ขอนแก่น กล่าวว่า หลังจากรับหนังสือร้องเรียนแล้ว จะได้ดำเนินการเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาสอบถามรายละเอียดตามขั้นตอน โดยยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ผอ.มอบทนายความดำเนินคดี

ต่อมาเมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น.วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่โรงพยาบาลขอนแก่น นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการที่มีที่มีบุคลากรทางการแพทย์ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและกล่าวหาว่าตนมีความผิด ๔ เรื่อง โดยเฉพาะการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ซึ่งตนอยู่ในระหว่างการพิจารณา ๒ ประเด็นหลักคือ เรื่องที่ถูกละเมิดความเป็นสิทธิส่วนบุคคล และเรื่องที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้อำนวยการ ถูกบุคลากรบางกลุ่มข่มขู่ โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้ทนายความส่วนตัวพิจารณา เพื่อจะเอาผิดกับคนที่ทำให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง โรงพยาบาลเสียหาย ซึ่งคนในสังคมอาจจะมองว่า คนเป็นผู้อำนวยการทุจริตได้ ส่วนกรณีที่บุคลากรถูกข่มขู่นั้น กำลังพิจารณาว่า คนที่กระทำนั้น มีความผิดอะไรบ้าง จะตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง เอาผิดทางวินัย ส่วนคนที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และเข้ายื่นหนังสือต่อนายแพทย์ สสจ.ขอนแก่นนั้น จะให้ทนายความพิจารณาว่า มีความผิดอะไรบ้าง เพราะในกรณีที่เกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลจะไม่แจ้งความ แต่จะให้ทนายยื่นฟ้องต่อศาล โดยขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อคนที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น

๓ ปีถูกคุกคามตลอด

“ตลอดระยะเวลากว่า ๓ ปีที่ถูกคุกคาม ไม่เคยติดใจเอาความ แต่เมื่อมานั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลแล้ว ก็อยากจะให้มีคำว่าครั้งสุดท้าย จำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะคนกลุ่มนี้ไม่พยายามที่จะทำความเข้าใจ ไม่พยายามที่จะรับรู้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่นการอ้างถึงหนังสือฉบับ ว.๑๑๕ ในรายละเอียดระบุไว้ชัดเจน แต่เมื่อจะอธิบายจะบอกในรายละเอียดข้อเท็จจริง กลับไม่มีใครรับฟัง เท่ากับว่า ขัดขวาง และยับยั้งการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการสกัดการระบาดของโควิด-๑๙ และถ้าจะให้มองถึงเจตนารมณ์ทั้งหมดที่กระทำขึ้นมานั้น ไม่ใช่เจตนารมณ์ของการตรวจสอบที่เป็นปกติ เพราะคนเหล่านี้ไม่มีอำนาจตรวจสอบใคร ทั้งยังมีการข่มขู่เจ้าหน้าที่ มีการเข้าตรวจค้นห้องพัสดุ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรกระทำ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น จำเป็นต้องจัดการกับบุคคลที่ขัดขวาง และยับยั้งการทำงานของเจ้าหน้าที่ ในการสกัดการระบาดของโควิด-๑๙ เพราะไม่เช่นนั้นมันจะไม่มีครั้งสุดท้าย”

โควิดขอนแก่นพุ่งต้องจัดการด่วน

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ในพื้นที่ขอนแก่นในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยอมรับว่าเป็น ๑ ใน ๓ ของจังหวัดที่มีการระบาดหนักสุดในประเทศ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ต้องการให้ตรวจและคัดกรองอย่างเต็มที่และรวดเร็ว แต่ต้องรอการสนับสนุนจากท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงโรงพยาบาลต้องรอให้หน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ ทำการจัดซื้อตามระเบียบขั้นตอน แล้วจึงนำมาบริจาคให้โรงพยาบาล แต่ในทางปฏิบัติ การจะตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่สามารถรอการสนับสนุนจากหน่วยงานใดๆ ได้ จึงตัดสินใจจัดซื้อมาใช้ในสถานการณ์จำเป็นเร่งด่วนืแต่ถ้าจะซื้อมาในระบบการจัดซื้อตามปกตินั้น จะไม่ทัน เพราะการระบาดของเชื้อโรคมีมากขึ้น และหากไม่สามารถควบคุมหรือยับยั้งได้ อาจจะเกิดผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรฐกิจของประเทศได้  จึงดำเนินการจัดซื้อตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ด้วยการซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง 

ต้องตรวจให้รวดเร็ว

“ในส่วนของการตรวจ RT-PCR ที่ต้องมีการวัดผลผ่านห้องปฏิบัติการ ที่เป็นการตรวจที่ถูกต้องแม่นยำนั้น ได้เลือกจุดที่ทำห้องตรวจแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื่องจากที่ผ่านมา โรงพยาบาลมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ตรวจได้จำนวนน้อย จังหวัดขอนแก่นโดยโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ต้องการตรวจหาเชื้อที่รวดเร็ว เข้าสู่การรักษาที่ถูกต้องตามขั้นตอน เชื้อไม่แพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ขณะนี้การก่อสร้างในจุดที่เลือกไว้ใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น  ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดๆ จะเสียค่าใช้จ่ายเพียงการซื้อน้ำยามาตรวจเท่านั้น ซึ่งการซื้อน้ำยาก็เป็นการซื้อที่คุ้มค่าต่อการตรวจหาเชื้อให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว”

สงสัยให้มาถามตรงๆ

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ไม่เข้าใจว่า คนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ใช้กระบวนการอะไร เอาอำนาจข้อไหนไปยื่นหนังสือ ถ้าสงสัยสามารถมาถามผมได้ตลอดเวลา ถ้าไม่แน่ใจก็สามารถยื่นหนังสือสอบถามได้ แต่ไม่ใช่มาประจานอย่างนั้นอย่างนี้ มีการนำรูปผมไปติดป้าย ไล่ผม ซึ่งก็รู้ว่าเป็นใคร เป็นการทำผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ ถือว่าละเมิดสิทธิอย่างชัดเจน ทำให้โรงพยาบาลและทำให้ผมเสียหาย ที่ผ่านมายอมรับว่าอดทน และอดทนมาตลอด ๒-๓ ปี โดยที่ไม่ได้ทำอะไรใคร ไม่พูดอะไรและไม่โต้ตอบ แต่วันนี้ความอดทนมีขีดจำกัด จึงได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปดูว่าเกี่ยวข้องกับกรณีไหนได้บ้าง เราเป็นข้าราชการ มีระเบียบมีวินัยกำกับอยู่ เราสวมหมวก ๒ ใบ หมวกความเป็นคนที่ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน เมื่อคุณละเมิดสิทธิ ก็ต้องใช้อำนาจตามกฎหมาย ในการดำเนินการและเมื่อทำผิดวินัยก็ต้องโดนดำเนินคดีทางวินัยด้วย”

อนึ่ง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น คนที่ ๑๓ ในปี ๒๕๖๑ ต่อจาก นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล แต่อยู่ได่ไม่นาน ก็ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า (จ.จันทบุรี) และได้รับแต่งตั้งให้มารักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นอีกครั้ง แทน นพ.ชาญชัย จันทร์ วรชัยกุล ซึ่งถูกย้ายเข้ากระทรวงกรณีถูกบัตรสนเท่ห์รับเปอร์เซ็นต์จากบริษัทยา โดยกลุ่มแพทย์ต่อต้านนพ.เกรียงศักดิ์ พร้อมขอ นพ.ชาญชัยกลับคืนสู่ขอนแก่น และนพ.เกรียงศักดิ์ขอกลับไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้าคืน ต่อมาในปี ๒๕๖๓ กระทรวงสาธารณสุขก็แต่งตั้ง นพ.ชาญชัยกลับมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นเหมือนเดิม กระทั่งเกษียณอายุราชการในเดียวกัย แล้วให้พญ.นาตยา มิลส์ ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ส่วนนพ.เกรียงศักดิ์ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาในเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ และอยู่เพียง ๑ ปีก็มีคำสั่งให้ย้ายกลับไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เมื่อวันที่  ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๒ วันพุธที่ ๑๐ - วันอังคารที่ ๑๖ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

1009 1620