29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 19,2021

สั่งปิดโรงงาน ๑๔ วัน ไม่ให้ข้อมูลผู้ติดโควิด เพิกเฉยคำสั่งไม่ทำ FAI

โควิด-๑๙ โคราชยังไม่คลี่คลาย ยังระบาดเป็นคลัสเตอร์อย่างต่อเนื่อง คุมเข้มโรงงานอุตสาหกรรม ทุกแห่งต้องจัดทำ FAI เพื่อรองรับผู้ป่วยและผู้สัมผัสเสี่ยง ย้ำไม่ทำตามมีบทลงโทษ ด้าน สสจ.รอเก้อ ลงพื้นที่ตรวจโควิด แต่โรงงานไม่ให้ความร่วมมือและไม่ทำตามคำสั่งจังหวัดสั่งปิดพื้นที่ ๑๔ วัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ ในจังหวัดนครราชสีมา มีการระบาดในลักษณะคลัสเตอร์เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยมีคัสเตอร์สำคัญ เช่น คลัสเตอร์เครือญาติ คลัสเตอร์โรงงาน/สถานประกอบการ คลัสเตอร์สังสรรค์ต่างๆ โดยความคืบหน้าวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน  ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพิ่ม ๑๔๓ ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๑๓๗ ราย มาจากพื้นที่เสี่ยง ๖ ราย และผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเรือนจำ ๗๘ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิชาญ คิดเห็น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับความคืบหน้าของคลัสเตอร์ในจังหวัดนครราชสีมา นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา รายงานว่า คลัสเตอร์พลทหารกลับจากลาพักเยี่ยมบ้าน กองบิน ๑ ผู้ป่วยรายใหม่ ๓ ราย (พลทหาร ๒ ราย/ครูฝึก ๑ ราย) ผู้ป่วยสะสม ๑๔ ราย, คลัสเตอร์ถอนผักชี ม.๒ บ.หนองแวง ต.ดอนเมือง อ.สีคิ้ว ผู้ป่วยรายใหม่ ๒๗ ราย ผู้ป่วยสะสม ๗๑ ราย ปิดหมู่บ้าน ม.๒ บ.หนองแวง ต.ดอนเมือง อ.สีคิ้ว ตั้งแต่วันที่ ๑๑-๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ และในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายนนี้ ทาง ศปก.อ.สีคิ้ว จะมีการตรวจ ATK ค้นหาเชิงรุก ประชาชนที่อาศัยอยู่ใน ม.๒ บ.หนองแวง ทั้งหมด จำนวน ๑,๒๐๐ คน, คลัสเตอร์งานบุญ ม.๕ ต.เกษมทรัพย์ อ.ปักธงชัย ผู้ป่วยรายใหม่ ๕ ราย ผู้ป่วยสะสม ๔๐ ราย ทำการปิดหมู่บ้านบางส่วน 

พบคลัสเตอร์ใหม่ต่อเนื่อง

คลัสเตอร์ใหม่ แคมป์คนงาน MNT พบผู้ติดเชื้อ ๒๐ ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรค โดยเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ รพ.สต.รับทราบว่าช่างไฟฟ้าที่ทำงานอยู่แคมป์คนงาน MNT ติดเชื้อโควิด-๑๙ จึงได้ลงตรวจสอบข้อมูลผู้สัมผัสเสี่ยงสูงภายในแคมป์คนงานแห่งนี้ พบจำนวน ๒๕ ราย ตรวจ ATK เป็นผลบวก ๓ ราย จากนั้นวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๙ นครราชสีมา (สคร.๙) ดำเนินการร่วมกับ รพ.สต. ตรวจ ATK ค้นหาเชิงรุกคนงานทั้งหมดที่อยู่ภายในแคมป์ ๑๑๕ ราย พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ จำนวน ๑๔ ราย ขณะนี้ให้กักตัวอยู่ภายในแคมป์คนงานทั้งหมด, คลัสเตอร์บริษัท ฟอร์เวิร์ด ฟรีแลนด์ จำกัด พบผู้ป่วยโควิด-๑๙ จำนวน ๒๓ ราย อยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค ทาง สสจ.ได้รับรายงานจาก อ.เฉลิมพระเกียรติว่า มีคน อ.เฉลิมพระเกียรติ เป็นพนักงานอยู่บริษัทนี้ติดเชื้อโควิด-๑๙ จึงประสานงานไปยัง รพ.สต.โตนด พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ จำนวน ๓ ราย อยู่ อ.เฉลิมพระเกียรติ ๒ ราย อ.เมืองฯ ๑ ราย และวันที่ ๙ พฤศจิกายน ทางบริษัทรายงานมาว่าพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๔ ราย ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน จึงดำเนินการตรวจ ATK ค้นหาเชิงรุก พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๒๓ ราย แต่เนื่องจากโรงงานยังไม่ส่งรายชื่อพนักงานให้เพื่อมาดำเนินการ ในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายนนี้ เวลา ๑๓.๐๐ น. ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ สสจ.จึงจะลงพื้นที่ตรวจสอบ

ผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๘๗ ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๘๑ ราย และมาจากพื้นที่อื่น ๖ ราย ในเวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับคลัสเตอร์สำคัญ นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานว่า คลัสเตอร์บริษัทฟอร์เวิร์ด ฟรีแลนด์ จำกัด อำเภอเมืองฯ มีพนักงานทั้งหมด ๘๐๙ คน วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๘ ราย รวมสะสม ๓๒ ราย เป็นพนักงาน ๒๘ ราย และครอบครัว ๔ ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๖๘ ราย, คลัสเตอร์หมู่ ๒ บ้านหนองแวง ตำบลดอนเมือง อำเภอสีคิ้ว พบผู้ป่วยรายใหม่ ๑๔ ราย รวมสะสม ๘๖ ราย, คลัสเตอร์บ้านตาฮิง หมู่ ๘ ตำบลห้วยแคน อำเภอห้วยแถลง ผู้ป่วยสะสม ๑๖ อยู่ระหว่างสอบสวนโรคเพิ่มเติม, คลัสเตอร์บ้านสมสะอาด หมู่ ๗ ตำบลเมืองพลับพลา อำเภอห้วยแถลง ผู้ป่วยสะสม ๑๒ ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรคเพิ่มเติม, คลัสเตอร์โรงงานสีมา เฟอร์นิช ผู้ป่วยสะสม ๓๔ ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรคเพิ่มเติม, คลัสเตอร์ครอบครัวบ้านหลุมข้าว หมู่ ๔ ตำบลเกษมทรัพย์ อำเภอปักธงชัย ผู้ป่วยสะสม ๑๔ ราย, คลัสเตอร์งานเลี้ยงวันเกิด ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง มีการระบาด ๓ วง โดยวงที่ ๑ กลุ่มสังสรรค์วันเกิด ผู้ติดเชื้อ ๗ ราย วงที่ ๒ กลุ่มครอบครัวและเพื่อน มีผู้ติดเชื้อ ๑๑ ราย และวงที่ ๓ กลุ่มเพื่อนบ้าน มีผู้ติดเชื้อ ๘ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๖ ราย

คลัสเตอร์สังสรรค์

คลัสเตอร์สังสรรค์ ต.บ้านปรางค์ อ.คง จ.นครราชสีมา เกิดจากการจัดกิจกรรมสังสรรค์ ซึ่งมีการย้ายสถานที่อยู่ตลอด โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นชาวบ้านจาก หมู่ ๖, ๓, ๑๕ ตำบลบ้านปรางค์ ชาวบ้านจากตำบลหนองบัว อำเภอคง ชาวบ้านจากอำเภอขามสะแกแสง และชาวบ้านจากอำเภอพระทองคำ สถานที่จัดงานจะไม่แน่นอน ขึ้นอยู่ว่าจะนัดกันที่ไหน โดยพบผู้ป่วยรายแรก เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน มีอาการไข้ แต่ไม่ไปรับการรักษาที่ใด จากนั้นวันที่ ๘ พฤศจิกายน จะเดินทางไปจังหวัดหนองบัวลำภู จึงไปตรวจหาเชื้อ ปรากฏว่า มีผล ATK เป็นบวก จากนั้น ศปก.อำเภอคง จึงดำเนินการค้นหาเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงทันที จำนวน ๓๓ ราย แต่ค้นหายาก เนื่องจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะไม่พูดถึงกัน พบว่า ผู้ป่วยรายแรก เชื้อระบาดสู่ครอบครัวอีก ๒ ราย ซึ่งมีหนึ่งคนเป็น อสม. ทำให้ระบาดไปสู่หลาน นอกจากนี้ยังระบาดไปสู่เพื่อนที่อยู่อำเภอพระทองคำ และอำเภอขามสะแกแสง สรุปคลัสเตอร์นี้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๑๒๓ ราย และพบผู้ติดเชื้อแล้ว ๑๘ ราย

บังคับใช้กฎหมายจัดทำ FAI, SQ ใน รง.

นายเกษมสันต์ เครือเจริญ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “จากกรณีคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการจะเห็นว่า เมื่อมีการติดเชื้อในสถานประกอบการ จะไม่มีการดำเนินการ FAI หรือ SQ ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการก็ต่อเมื่อ ได้รับคำแนะนำหลังจากพบการติดเชื้อ ถือว่า ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจังหวัด เพราะสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า ๑๐๐ คน จะต้องจัดให้มี FAI หรือ SQ แต่ขณะนี้สถานประกอบการไม่ได้เตรียมการ ซึ่งมักจะทำหลังพบการติดเชื้อหรือได้รับคำแนะนำ ในประเด็นนี้อาจจะต้องมีการทบทวนและทำหนังสือเตือนถึงสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ๑๐๐ คนขึ้นไป ให้ดำเนินการจัดทำ FAI หรือ SQ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน เพราะถ้าเกิดการติดเชื้อขึ้น แล้วโรงงานไม่เตรียมการ กว่าทีมสอบสวนโรคจะลงพื้นที่หรือหาสถานที่จัดทำ FAI หรือ SQ ถึงตอนนั้นพนักงานก็อาจจะกลับไปพักอยู่บ้านหมดแล้ว ซึ่งอาจจะนำไปสู่การแพร่เชื้อให้ครอบครัวและชุมชน โดยหลังวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน จะต้องเข้มงวดและบังคับใช้กฎหมาย สำหรับบทลงโทษตามคำสั่งมีทั้งโทษจำคุกและปรับ ซึ่งในรายละเอียดคำสั่งระบุชัดเจนว่า สถานประกอบการจะต้องจัดทำ FAI หรือ SQ ภายใน ๕ วัน หลังจากบังคับใช้คำสั่งเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม แต่ปัจจุบันปรากฏว่า มีสถานประกอบการ ๑๙๔ แห่ง ที่ยังไม่มี FAI หรือ SQ ในส่วนนี้ได้มีหนังสือแจ้งเตือนไปแล้ว ซึ่งหลังจากวันนี้ จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากสถานประกอบการใดที่ไม่สามารถจัดทำ FAI หรือ SQ ได้ ขอให้ติดต่อสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เพื่อขอเข้าร่วมการทำ FAI รวม”

“สำหรับ FAI รวม ที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาจัดทำไว้ ซึ่งมีสถานประกอบการประมาณ ๑๒ แห่ง เข้าร่วมลงทุนจัดทำไว้ ความคืบหน้าล่าสุดทราบว่า อยู่ระหว่างการกั้นพื้นที่แยกชายหญิง ส่วนเรื่องอื่นๆ พร้อมหมดแล้ว โดยในระหว่างนี้ หากมีผู้ป่วยระดับสีเขียว จะนำไปไว้ที่โรงพยาบาลสนาม ที่ชาติชายฮอลล์ก่อน แต่เมื่อ FAI รวมพร้อมแล้ว จะสามารถเปิดรับได้ทันที โดยมีข้อตกลงร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชฯ ในการดำเนินการ หากสถานประกอบการใดประสงค์เข้าร่วม FAI รวม ต้องไปคุยกันเองว่าจะมีข้อตกลงอย่างไร แต่เบื้องต้นได้เปิดให้สถานประกอบการที่ยังไม่มีพื้นที่สำหรับทำ FAI ของตัวเอง สามารถติดต่อกับประธานสภาอุฒสหกรรมฯ เพื่อขอเข้าร่วม FAI รวมได้ ซึ่งเมื่อเข้าร่วมแล้วจะนับว่า สถานประกอบการแห่งนั้น ได้จัดทำ FAI สำหรับพนักงานผู้ติดเชื้อระดับสีเขียวแล้ว” นายเกษมสันต์กล่าว

นายเกษมสันต์ กล่าวอีกว่า “ในส่วนของปัญหาหลักที่สถานประกอบการไม่สามารถจัดทำ FAI หรือ SQ เพราะสถานประกอบการมักอ้างว่า เมื่อเกิดการติดเชื้อจะนำผู้ป่วยเข้าสู่ CI ของชุมชน และส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการทำ FAI ของตัวเองได้ แต่ขณะเดียวกันก็ผลักภาระให้พนักงานนำชุดตรวจไปตรวจเองที่บ้าน เมื่อพบผลบวกก็ไม่ให้กลับเข้ามาในโรงงาน และบางโรงงานก็อาจจะมีข้อตกลงกับ CI ในชุมชน หรือบางแห่งอ้างว่า ชุมชนยังมี CI อยู่ และ CI ยังสามารถรับได้ ซึ่งถือว่า คนของโรงงานก็คือคนของชุมชน จึงทำให้ยากต่อการบังคับใช้กฎหมาย เพราะท้องถิ่นหลายแห่งอนุญาตให้ใช้ CI ของชุมชนเป็น FAI ของโรงงาน แต่ในกรณีนี้เราก็ไม่ได้ห้าม หากสถานประกอบการอาจจะดูแลในเรื่องของค่าใช้จ่ายหรืออย่างอื่นให้กับชุมชน เรื่องนี้เราไม่ขัดข้อง แต่จะต้องมีความชัดเจน โดยเฉพาะถ้ามีหนังสือยินยอมหรือหนังสืออนุญาตจาก CI ในชุมชน ให้โรงงานนำผู้ป่วยเข้าไปพักได้ เสมือนว่าโรงงานช่วยเข้าไปดูแล CI ของชุมชนนั้นด้วย” นายเกษมสันต์ กล่าว

นายเกษมสันต์ กล่าวท้ายสุดว่า “ขณะนี้นโยบายของจังหวัด ยังไม่มีการผ่อนคลายเรื่องให้สถานประกอบการจัดทำ FAI ของตัวเอง เพราะข้อมูลที่สถานประกอบการนำมาอ้าง เป็นข้อมูลจากทางอำเภอหรือหน่วยงานในพื้นที่ว่า CI ของชุมชนยังมีเตียงว่างจำนวนมากพอรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น ขอย้ำว่า วันนี้นโยบายของจังหวัด โรงงานยังต้องมี FAI ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕ ของพนักงานเหมือนเดิม แม้หลายโรงงานจะบอกว่า FAI ไม่จำเป็น แต่ต่อไปจะต้องบังคับให้มี ขอให้ทุกหน่วยทราบร่วมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ศปก.อำเภอ หรือ ศปก.ตำบล วันนี้ FAI ของโรงงานยังต้องมีอยู่ เวลาที่ผู้ประกอบการมาหารือจะได้ตอบในทิศทางเดียวกันกับนโยบายจังหวัด”

นายจักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรชำนาญการพิเศษ สสจ.นครราชสีมา กล่าวเสริมว่า “ขณะนี้ยังไม่มีการผ่อนคลายให้โรงงานจัดทำ FAI โดยใช้จุดอื่น ดังนั้น ยังคงยืนยันว่า การจัดทำ FAI หรือ SQ ในโรงงานยังต้องมีอยู่”

สสจ.ลงพื้นที่ ลงตรวจสอบ รง.แต่ไร้วี่แวว
                  
ความคืบหน้าวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อ ๙๖ ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๙๒ ราย และมาจากพื้นที่อื่น ๔ ราย โดยเวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานว่า “คลัสเตอร์โรงงานสีมา ฟอร์นิส ตำบลหัวทะเล ซึ่ง สสจ.ได้รับแจ้งเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน จากอำเภอเฉลิมพระเกียรติว่า พบผู้ป่วยที่ทำงานอยู่ในโรงงานแห่งนี้ ๓ ราย วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ทีมจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และเจ้าหน้าที่สอบสวนโรค สสจ. ลงพื้นที่วางมาตรการ พบผู้ติดเชื้อ ๑๑ ราย พร้อมกับสำรวจจุดเสี่ยงต่างๆ พบว่า โรงงานมีจุดระบายอากาศไม่ดี พนักงานใช้กระติกน้ำร่วมกัน และมีพื้นที่เสี่ยงสูงหลายจุด จึงขอรายชื่อพนักงานทั้งหมดเพื่อใช้สอบสวนโรค วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน สสจ.พยายามติดตามการขอรายชื่อพนักงาน เพราะทราบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหลายคน ปรากฏว่า โรงงานยังไม่ได้ให้ข้อมูล และยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น ๓๔ ราย วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน สสจ.ส่งทีมเข้าไปพูดคุยกับโรงงาน และแนะนำว่า ควรทำ FAI หรือ Bubble and Seal แต่โรงงานแจ้งว่ามีพนักงานมาทำงานเพียง ๓๐ คน จากทั้งหมด ๑๓๐ คน เป็นเพราะอะไรไม่ทราบ แต่โรงงานจ่ายค่าจ้างเป็นรายวันหรือเป็น Week  ซึ่งโรงงานได้ให้รายชื่อมา แต่สิ่งที่ได้ คือ ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน สสจ.จึงแนะนำให้ทำข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และนัดหมายอีกครั้งในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน แต่ปรากฏว่า เวลา ๐๙.๐๐ น. เมื่อไปถึงโรงงาน พบว่า โรงงานปิดประตู จึงต้องยืนรอประมาณ ๑ ชั่วโมง เมื่อโทรสอบถามกับผู้จัดการซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ทราบว่า ในโรงงานไม่มีใครอยู่ สรุปโรงงานนี้พบผู้ป่วยทั้งหมด ๓๗ ราย จากการลงพื้นที่ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือ และการติดเชื้อในโรงงานนี้มีโอกาสค่อนข้างมาก เพราะอากาศไม่ถ่ายเท ใช้สิ่งของร่วมกัน แต่พนักงานกระจายหลายพื้นที่ ได้แก่ อำเภอเมือง ๒๖ ราย โนนสูง ๒ ราย คง ๑ ราย เฉลิมพระเกียรติ ๗ ราย พิมาย ๑ ราย หลังจากยืนรอหน้าโรงงานกว่า ๑ ชั่วโมง ทุกคนจึงแยกย้ายกลับ และทุกครั้งที่ สสจ.ลงพื้นที่ ไม่เคยเห็นผู้บริหารมาร่วมให้ข้อมูล”

นายชรินทร์ ทองสุข กล่าวว่า “ให้นิติกรออกคำสั่งใช้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคตามกฎหมายออกคำสั่ง ให้โรงงานทำการส่งรายชื่อภายในวันไหน ไม่พูดด้วยวาจาให้ออกคำสั่งดำเนินตามกฎหมาย แล้วให้ออกคำสั่งเลยว่าให้ปิดโรงงานจนกว่าจะมีการสอบสวนโรคทั้งหมด เพราะขณะนี้ถือว่าการสอบสวนโรคยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่เจอรายชื่อ ยังไม่เจอพนักงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค เพราะฉะนั้นต้องสั่งให้ส่งรายชื่อและควบคุมสถานที่ แล้วสวัสดิการคุ้มครองแรงงานประสานงานให้ด้วย การไม่ได้รับความร่วมมือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งไม่มีการจัดทำ FAI ทางอำเภอเมืองขอให้ทำงานเชิงรุก ติดต่อผู้ประกอบการโรงงานนี้ให้ได้ แล้วการสอบสวนโรคต่างๆ จะต้องทำต่อ ขณะนี้ถือว่าการสอบสวนโรคไม่สมบูรณ์ ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อพูดไม่รู้เรื่องก็จำเป็นต้องทำ”

นายเกษมสันต์ เครือเจริญ เสนอว่า “เนื่องจากสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัด ทั้งเรื่องการจัดทำบัญชีรายชื่อ การจัดทำ FAI หรือ SQ ในการกักตัวพนักงานสัมผัสเสี่ยงสูง โดยภาพรวมทั้งหมดสถานประกอบการไม่มีการปฏิบัติอยู่แล้ว ที่สำคัญสถานประกอบการมีตัวแลขและความเสี่ยงในการเป็นแหล่งรังโรค โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงน่าจะทั้งโรงงาน ประกอบกับไม่ให้ความร่วมมือ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปิดพื้นที่ชั่วคราว และออกคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนที่เคยทำมา ปัญหาของโรงงานนี้ คือ พบผู้ติดเชื้อทุกพื้นที่ และผู้สัมผัสเสี่ยงเกือบทุกคน ดังนั้นอาจจะปิดพื้นที่ไปก่อน ๗-๑๕ วัน เพื่อจัดการพื้นที่และดำเนินการติดตามรายชื่อพนักงาน โดยอาจจะต้องติดตามข้อมูลจากทะเบียนลูกจ้างหรือทะเบียนประกันสังคม และให้ลูกจ้างทั้งหมดไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่นั้นๆ ในการให้คำแนะนำกักตัว หากทำเช่นนี้ การควบคุมโรคของโรงงานแห่งนี้ก็จะทำได้โดยเร็วที่สุด แต่ถ้าไม่สั่งปิดและออกคำสั่งขอเอกสารเท่านั้น จะทำให้กระบวนการยืดยาวออกไปอีก”

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวท้ายสุดว่า “ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรงงานทั้งหมด ให้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ถือข้อมูลของสถานประกอบการแห่งนี้มาเข้าพบกับทีมสอบสวนโรค สสจ. ด้วย ในเมื่อไม่ให้ความร่วมมือเราก็ต้องทำงานเชิงรุก ถ้ามีข้อมูลรายชื่อพนักงานทั้งหมด จะมีการออกคำสั่งในทางกฎหมาย การที่จะต้องไปรายงานตัว การกักตัว จะต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ เพราะฉะนั้นขอความกรุณาทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แรงงานจังหวัด ประกันสังคม กรุณานำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบการแห่งนี้มาพบทีมสอบสวนโรค สสจ. ประเด็นต่อมา คือ ต้องปิดสถานประกอบการตามมาตรฐานที่เราเคยใช้ เนื่องจากสถานประกอบการมีการติดเชื้อและครอบคลุมทุกแผนก เพราะฉะนั้นต้องปิดสถานประกอบการ ขอมติกรรมการโรคติดต่อว่าไม่ควรให้ปิดโรงงานสีมา ฟอร์นิส จำกัด ออกเสียงคัดค้านมาได้ ไม่มีผู้ใดคัดค้าน เพราะฉะนั้นคณะกรรมการโรคติดต่อเห็นชอบให้อกคำสั่งปิดสถานประกอบการ เพื่อทำการสอบสวนโรค และควบคุมโรค ให้นิติกรออกคำสั่งตามมตินี้ โดยคำสั่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เบื้องต้นปิดเป็นเวลา ๑๔ วัน”

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๓ วันพุธที่ ๑๗ - วันอังคารที่ ๒๓ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


989 1588