29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

December 04,2021

แก้ปัญหาแยกหัวทะเล ไม่สร้างสะพาน ทำวงเวียนระดับพื้นดิน

สรุปไม่สร้างสะพานข้ามแยกหัวทะเล ใช้รูปแบบวงเวียนระดับพื้นแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ที่ปรึกษาโครงการชี้ ถ้าในอนาคตวงเวียนไม่แก้รถติด อาจจะต้องทำสะพานข้ามแยก ด้านนักธุรกิจยืนยัน ไม่ต้องการสะพาน หากภายหน้าจะสร้างสะพานค่อยมาคุยใหม่ “เสี่ยซิม” ขอมอบที่ดินช่วยแก้รถติด

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่โรงแรมปัญจดารา อำเภอเมืองนครราชสีมา นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนาครั้งที่ ๓) เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาทั้งหมดของโครงการแนวทางการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) โดยมีนายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล หรือซิม ประธานกรรมการบริษัทในเครือแผ่นดินทอง และนายสุรสิทธิ์ โรจน์กนก ประธานกรรมการบริษัทในเครือส่องแสงพืชผล ผู้แทนส่วนราชการ ผู้ประกอบการค้าละแวกทางแยกหัวทะเล และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ประมาณ ๑๐๐ คน ร่วมรับฟังการนำเสนอของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ได้แก่ บริษัท สยาม เยนเนอรัล เอ็นจิเนียริ่ง คอลซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอ็นทิค จำกัด และบริษัท วิสิทธิ์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด ซึ่งมีนายสยุมโพธิ์ อินทะผิว วิศวกรโครงการ นายอาทิตย์ เชาวนาภรณ์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และนายธีระ อุบลกุล วิศวกรระบบระบายน้ำ เป็นวิทยากร

นายชรินทร์ ทองสุข กล่าวว่า “โคราชมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเป็นอันดับหนึ่งในภาคอีสาน ทุกคนมองภาพอนาคตว่า โคราชจะเป็นมหานคร ซึ่งเป็นแน่นอน แต่อีกกี่ปีจึงจะเป็นได้ สำคัญที่คนรุ่นนี้จะวางรากฐานให้โคราชเป็นมหานครได้อย่างไร ทุกคนที่มาร่วมประชุมวันนี้ คือส่วนหนึ่งของความก้าวหน้า แต่เมืองมีหลายมิติ ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การคมนาคม อุตสาหกรรม และการเกษตร แต่การจะพัฒนาใดมิติในมิติหนึ่ง ไม่ใช่ทำไปโดยไม่สนใจมิติอื่น เมืองควรจะพัฒนาไปทุกมิติ เพราะทุกเรื่องมีความสำคัญเท่ากัน วันนี้ทุกคนมาประชุมเรื่องการสำรวจออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) ผมคงไม่ชี้นำทุกคนว่า เรื่องนี้สำคัญหรือจะต้องทำ ตราบใดที่เมืองโตขึ้นหรือขยายตัว ความแออัดของชุมชน ความแออัดบนถนน ก็จะกลายเป็นเงาตามตัว วันนี้ทุกคนจึงควรจะแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะว่าปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขอย่างไร ผมเคยทำงานมาหลายแห่ง เคยเจอการประชุมเช่นวันนี้มาก่อน ผมเรียนรู้ว่า โครงการแบบนี้มีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ เพราะเรื่องแบบนี้ คือ สัจธรรม อาจจะมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน แต่โครงการก็จำเป็น เพราะจะเป็นการวางรากฐานให้อนาคต ทุกคนจึงต้องช่วยกันคิด ช่วยกันให้ความเห็น เพื่อนำไปพัฒนาโครงการต่อไป”

‘แยกหัวทะเล’ไม่ยกระดับ

นายสยุมโพธิ์ อินทะผิว วิศวกรโครงการ กล่าวว่า “บริเวณทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กม.๕+๒๖๒.๐๐๐ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ กม.๐+๐๐๐.๐๐๐ (แยกหัวทะเล) โดยสภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ชุมชน มีร้านค้าเอกชนตั้งอยู่ตามแนวเส้นทาง ทั้งสองฝั่ง บริเวณทางแยกมีลักษณะเป็นสามแยกระดับพื้นดิน จัดการจราจรด้วยระบบสัญญาณไฟ มีปริมาณการจราจรที่ผ่านทางแยกเกินขีดความสามารถที่ระบบควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจรจะรองรับได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงทางแยกแห่งนี้เพื่อให้การบริการของผู้ใช้เส้นทาง เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางการขนส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันทางแยกดังกล่าวเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจร ดังนั้น กรมทางหลวงมีแผนการพัฒนาทางหลวงให้เป็นไปตามแผนงาน โดยเฉพาะโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาของกรมทางหลวง”

“สำหรับการศึกษาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนที่เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะจำนวนมาก โดยครั้งนี้จะนำเสนอรูปแบบการพัฒนาของโครงการ รูปแบบ Loop Road About At Grade ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ต้องการเดินทางบนทางหลวงสายหลัก ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ที่จะเดินทางจากจังหวัดนครราชสีมาไปยังอำเภอโชคชัย ออกแบบเป็นลักษณะบังคับให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ จากนั้นให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๔๒๖ และเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ มุ่งหน้าไปอำเภอโชคชัย และจากอำเภอโชคชัยไปจังหวัดนครราชสีมา ออกแบบเป็นลักษณะถนนระดับพื้น โดยสามารถผ่านทางแยกแห่งนี้โดยไม่มีจุดตัดกระแสจราจร และตามแนวทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ ทิศทางจากจังหวัดนครราชสีมาไปจังหวัดบุรีรัมย์ ออกแบบปรับปรุงช่องทางเลี้ยวซ้ายให้เกิดการสัญจรได้สะดวกและปลอดภัย ทิศทางจังหวัดบุรีรัมย์ไปจังหวัดนครราชสีมา ออกแบบเป็นลักษณะบังคับให้เบี่ยงซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๔๒๖ จากนั้นให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ มุ่งหน้าไปจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณแยกหัวทะเล จะดำเนินการ ๒ ระยะ โดยระยะที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขในรูปแบบวงเวียนระดับดิน ตามที่นำเสนอวันนี้ แต่เมื่อรูปแบบวงเวียนระดับดินไม่สามารถรองรับปริมาณจราจรได้ อาจจะดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะที่ ๒ คือ รูปแบบทางแยกต่างระดับตามที่เคยนำเสนอไปครั้งก่อน”

ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นายอาทิตย์ เชาวนาภรณ์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จากการคัดกรองปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการครอบคลุมปัจจัยทรัพยากร ทางด้านสิ่งแวดล้อม ๓๗ ปัจจัย ครอบคลุมองค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อม ๔ ประเภท ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้าน กายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต โดยใช้แบบ รายการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Checklist) เพื่อคัดกรองปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่นำมาใช้ในการศึกษา ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) พบว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าอาจจะเกิดผลกระทบ รวมทั้งสิ้น ๑๓ ปัจจัย ประกอบด้วย ๑.ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ ๓ ปัจจัย ได้แก่ อากาศและบรรยากาศ เสียง และความสั่นสะเทือน ๒.คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ๓ ปัจจัย ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค การควบคุมน้ำท่วมและการระบายน้ำ และ ๓.คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ๗ ปัจจัย ได้แก่ เศรษฐกิจ-สังคม อาชีวอนามัย อุบัติเหตุ และความปลอดภัยในสังคม สุขาภิบาล ผู้ใช้ทาง และสุนทรียภาพ ซึ่งสามารถสรุปผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการ ป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการได้”

ระบบระบายน้ำ

นายธีระ อุบลกุล วิศวกรระบบระบายน้ำ กล่าวว่า “ในส่วนงานออกแบบระบบระบายน้ำ จากการคำนวณปริมาณน้ำฝนในพื้นที่โครงการได้ข้อสรุปว่า จะต้องดำเนินการก่อสร้างท่อเหลี่ยม คสล.ขนาด ๑-๒.๔๐x๒.๔๐ ม. เชื่อมต่อกับท่อเหลี่ยม คสล.เดิม ขนาด ๑-๑.๕๐x๑.๕๐ ม. บริเวณแยกหัวทะเล เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่ท่วมขังบริเวณพื้นที่โครงการ เพื่อระบายน้ำลงสู่ลำรางธรรมชาติบริเวณใต้สะพานข้ามทางรถไฟซึ่งอยู่ในเขตทางของ รฟท. โดยระบบระบายน้ำที่บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการออกแบบปรับปรุง จะสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องปรับปรุงขยายจุดระบายน้ำบริเวณใต้สะพานข้ามทางรถไฟ ขุดลอกวัชพืชในลำรางธรรมชาติอยู่เสมอ เพื่อให้น้ำสามารถไหลระบายลงสู่คลองของชลประทานได้สะดวกและบำรุงรักษาลอกท่อระบายน้ำทั้ง ๔ เส้น ที่รองรับน้ำจากบริเวณแยกหัวทะเล ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”

นายฐานันท์ ฐานานุศักดิ์ เจ้าของอีซูซุตังปัก

จากนั้น ที่ประชุมเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น โดยนายฐานันท์ ฐานานุศักดิ์ เจ้าของอีซูซุตังปัก กล่าวว่า “จุดที่มีปัญหาไม่ใช่ท่อระบายน้ำ แต่เป็นจุดระบายน้ำที่เชื่อมต่อกับลำราง ถ้าอยู่ในข้อมูลการศึกษา ต้องเรียงลำดับความสำคัญก่อนจะก่อสร้างทางระบายน้ำเพิ่มเติม กับการปรับปรุงทางระบายน้ำของจุดที่ไปเชื่อมต่อบริเวณสะพานข้ามแยกร่วมกับทางรถไฟ ผมว่าจุดนั้นจะสำคัญกว่า”

นายธีระ อุบลกุล ชี้แจงว่า “เนื่องจากจุดดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน ซึ่งเป็นปัญหาอีกจุดหนึ่งเช่นกัน แต่จุดนี้อยู่นอกพื้นที่ ผมจึงให้คำแนะนำว่า จะต้องปรับปรุงทางออกของน้ำ และปรับปรุงทางระบายน้ำข้างทางรถไฟ แยกหัวทะเลเป็นจุดรับน้ำก็จริง แต่เรื่องสำคัญคือการระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด หากไม่มีน้ำท่วมขัง คลองชลประทานถือเป็นจุดที่ดีในการระบายน้ำ รวมทั้งยังอยู่ต่ำกว่าแยกหัวทะเลด้วย หากทำให้ดี แยกหัวทะเลอาจจะมีน้ำท่วมน้อยลง”

ทางด้านนายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล กล่าวว่า “ตามที่ทราบกันดีว่า ปัญหาน้ำท่วมแยกหัวทะเล สะสมหรือหมักหมมมานาน ในการนำเสนอระบบระบายน้ำท่วม ที่บอกว่า จะมีการวางบล็อกขนาด ๒.๔๐x๒.๔๐ ม. จากแยกหัวทะเลไปตามทางหลวง ๒๒๔ ถึงใต้สะพานเขตทางรถไฟ ผมจะถามว่า แล้วการระบายน้ำเลียบทางรถไฟอยู่ในโครงการหรือไม่ เพราะจุดเลียบทางรถไฟจะเป็นพื้นที่รับน้ำที่ระบายมาจากเขตเทศบาลนครฯ ด้วย หากไม่พิจารณาแก้ไขด้วย ก็จะทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็มีปัญหาในการระบายน้ำอยู่แล้ว”

นายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล

ไม่ต้องการสะพานข้ามแยก

นางพันทิป ภู่ไพบูลย์ เจ้าของร้าน @ในสวนโคราช กล่าวว่า “ตามที่บอกว่า โครงการนี้ระยะแรกทำเป็นวงเวียน แล้วในอีก ๕ ปีหรือในอนาคตมีการจราจรหนาแน่น แล้วจะก่อสร้างเป็นสะพานข้ามแยก ถ้าเห็นด้วยกับการก่อสร้างวงเวียน แต่ไม่เห็นด้วยกับสะพานข้ามแยก จะต้องแสดงความคิดเห็นอย่างไร เมื่อถึงเวลานั้นจะกลายเป็นการมัดมือชกก่อสร้างสะพานข้ามแยกหรือไม่”

นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล (ซิม) ประธานกรรมการบริษัทในเครือแผ่นดินทอง กล่าวว่า “วันนี้การศึกษาสรุปว่าจะไม่มีสะพานข้ามแยก ก็น่าพอใจส่วนหนึ่ง เพราะที่ผ่านมากรมทางหลวงได้สร้างสะพานข้ามแยกในโคราช ๓ จุด ทุกจุดทำให้รอบบริเวณทรุดตัว ไม่มีแห่งใดที่สร้างแล้วมีความเจริญ ซึ่งการออกแบบเผื่ออนาคตควรจะตัดทิ้งไป เพราะในปี ๑๕-๒๐ ปีข้างหน้า ค่อยมาว่ากัน จะมาออกแบบไว้ตั้งแต่ตอนนี้ทำให้เสียงบประมาณ ผมมีอาคารอยู่ในพื้นที่ ตอนแรกบอกจะทำสะพานก็ไม่โอเค แต่วันนี้เปลี่ยนเป็นระดับพื้นก็ยังดี แต่ยังมองว่า ยังไม่ลื่นไหลพอ น่าจะทำวงเวียนตามแยกด้วย โดยเฉพาะเลนซ้ายที่มาจากอำเภอโชคชัยมุ่งหน้าเข้าเมือง ไม่ทราบว่าจะมีไฟแดงไว้ทำไม เลนซ้ายน่าจะผ่านตลอด ดังนั้นควรทำวงเวียนทั้ง ๓ จุด ของสามเหลี่ยมแยกหัวทะเล ไม่ต้องทำกว้างใหญ่โต แต่ทำให้ได้มาตรฐาน เพิ่มช่องจราจรมากขึ้น รถจะได้ลื่นไหลมากขึ้น ส่วนการก่อสร้างสะพานในอนาคต ไม่ว่าจะ ๑๐ ปี หรือ ๑๕ ปี เวลานั้นผมคงไม่ได้อยู่แล้ว แต่วันนี้ขอให้ทำจุดนี้ให้ลื่นไหล ลูกหลานใช้งานจะได้สะดวกสบาย ตอนนี้ยังไม่ก่อสร้างสะพานก็ขอขอบคุณ และอย่าให้มี แต่ถ้าจะมีสะพาน ขอให้มาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอีกรอบ ทั้งนี้ ผมมีตึกแถวในพื้นที่โครงการ ด้านหน้าตึกยินดีให้เทศบาลฯ นำออกประมาณ ๗-๘ เมตร เพื่อเป็นจุดจออดรถ”

นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล (ซิม) ประธานกรรมการบริษัทในเครือแผ่นดินทอง 

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “วันนี้บริษัทที่ปรึกษานำเสนอรูปแบบที่ไม่ใช่การยกระดับในพื้นที่ถนนแยกหัวทะเล การออกแบบเป็นวงเวียนคงจะส่งผลกระทบน้อยลงกว่าการก่อสร้างสะพาน และการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่จะต้องทำควบคู่กันไปด้วย เพื่อลดกระแสการต่อต้าน ซึ่งจะส่งผลถึงอนาคตด้วย ไม่ต้องมีการยกระดับ ธุรกิจก็จะเดินหน้าต่อไป แต่หลังจากนี้ก็จะเป็นการวางอนาคตไว้ให้กับคนรุ่นหลัง โครงการนี้จะได้เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือทุกฝ่าย และเป็นความเจริญของโคราชต่อไป ทั้งนี้ ในการประชุมวันนี้ มีผู้ใหญ่หลายคนเข้าร่วมด้วย ทุกคนก็ยินดีให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการมอบที่ดินบางส่วนให้โครงการนี้ เพื่อให้เป็นโครงการที่มีความสวยงาม สมกับเป็นเมืองโคราชประตูสู่อีสาน และลดปัญหาการจราจรแยกหัวทะเล”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับประจำวันพุธที่ ๑ - วันอังคารที่ ๗ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


997 1638