19thApril

19thApril

19thApril

 

December 11,2021

บีโอไอสรุปลงทุน ๙ เดือนแรก ๘ จว.อีสานล่าง ๓,๒๕๘ ล้าน ส่วนใหญ่กระจุกตัวในโคราช

ส่งเสริมการลงทุนใน ๙ เดือนแรกปี ๒๕๖๔  ภาคอีสานตอนล่าง ๘ จังหวัด รวม ๒๙ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๓,๒๕๘ ล้านบาท กระจุกตัวอยู่ในโคราช ๒๑ โครงการ มูลค่า ๒,๒๗๑ ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูป รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมพลังงานสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม

นางสาวทยาภรณ์ ศรีสังข์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาค ๒ (บีโอไอโคราช) ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบ ๘ จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เปิดเผยภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนใน ๙ เดือนแรกของปี ๒๕๖๔ (มกราคม-กันยายน ๒๕๖๔) ภาพรวมทั้งประเทศ มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ๑,๑๙๘ โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๒ และมีมูลค่าเงินลงทุน ๓๕๑,๔๐๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๒๘

สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในพื้นที่ ๘ จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างหรืออีสานตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ๒๙ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๓,๒๕๘ ล้านบาท โดยการลงทุนกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา คือทั้งหมด ๒๑ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๗๒ ของพื้นที่อีสานตอนล่าง และคิดเป็นร้อยละ ๔๔ ของพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด รองลงมา คือ อุบลราชธานี ๓ โครงการ บุรีรัมย์และสุรินทร์ จังหวัดละ ๒ โครงการ ชัยภูมิ ๑ โครงการ สำหรับเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในพื้นที่อีสานตอนล่างในเดือนมกราคม-กันยายน ๒๕๖๔ จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนเงินลงทุนมากที่สุด มูลค่าเงินลงทุน ๒,๒๗๑ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๗๐ ของพื้นที่อีสานตอนล่าง และคิดเป็นร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด รองลงมา คือ จังหวัดสุรินทร์ เงินลงทุน ๗๑๒ ล้านบาท, จังหวัดบุรีรัมย์ เงินลงทุน ๑๐๙ ล้านบาท, จังหวัดชัยภูมิ ๑๐๑ ล้านบาท และจังหวัดอุบลราชธานี เงินลงทุน ๖๕ ล้านบาท  

โดยใน ๒๙ โครงการนี้ เป็นโครงการใหม่ ๒ โครงการ โดยอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการขยายกิจการ ๒๗ โครงการ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ๒๐ โครงการ จังหวัดอุบลราชธานี ๓ โครงการ จังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ จังหวัดละ ๒ โครงการ ซึ่งทั้ง ๒๙ โครงการเป็นคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น ๑๘ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๖๒ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๑,๓๓๓ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๔๑ ของเงินลงทุน ในพื้นที่อีสานตอนล่าง โครงการต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้น ๕ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๑๗ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๓๐๑ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๙ ของเงินลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง ทั้งนี้ เป็นโครงการร่วมลงทุนไทยและต่างชาติ ๖ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๒๑ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๑,๖๒๔ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๕๐ ของเงินลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง

นางสาวทยาภรณ์ ศรีสังข์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาค ๒ (บีโอไอโคราช)

หากแยกตามโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษ แบ่งเป็นมาตรการส่งเสริมการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพ มีโครงการที่ อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ๖ โครงการ เงินลงทุน ๙๔ ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อใช้พลังงานทดแทน ๒ โครงการ ซึ่งเป็นโครงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองในโครงการ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ๑ โครงการ และโครงการไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ในจังหวัดนครราชสีมา ๑ โครงการ และให้การส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตและการน าระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิต ๔ โครงการ เงินลงทุน ๔๖ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ในขณะที่โครงการที่ได้รับการส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริม SMES มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ๔ โครงการ เงินลงทุน ๒๒๔ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ๑ โครงการ เป็นกิจการผลิตเกลือบริสุทธิ์ อยู่ในจังหวัดชัยภูมิ ๑ โครงการ เป็นกิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ๑ โครงการ เป็นกิจการผลิตอาหารสัตว์ และอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ๑ โครงการ เป็นกิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีขั้นตอนการออกแบบระบบอัตโนมัติและระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยสมองกลเอง

ส่วนโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย มีการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ๒๐ จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ซึ่งจะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคของรัฐบาล โดยในพื้นที่อีสานตอนล่างมีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๔ โครงการ เงินลงทุน ๘๒๙ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ๒ โครงการ เป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เงินลงทุน ๑๒ ล้านบาท และผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล เงินลงทุน ๗๐๐ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ๑ โครงการ เป็นกิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ เงินลงทุน ๕๙ ล้านบาท และอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ๑ โครงการ เป็นกิจการผลิตก๊าซชีวภาพ เงินลงทุน ๕๘ ล้านบาท   
 
สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุน โดยแบ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร ซึ่งเป็นกิจการผลิตแป้งแปรรูปและสิ่งปรุงแต่งอาหาร ๔ โครงการ กิจการผลิตอาหารสัตว์ ๒ โครงการ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ๑ โครงการและกิจการผลิตขนมขบเคี้ยว ๑ โครงการ, กลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นกิจการผลิตก๊าซชีวภาพ (Bio gas) ๒ โครงการ, กลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เป็นกิจการสถานพยาบาล ๑ โครงการ, กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เป็นกิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติ กิจการผลิตเครื่องพิมพ์หน้ากว้าง ๒ โครงการ, กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นกิจการผลิตแม่ปั๊มเบรกและชิ้นส่วน ๑ โครงการ, กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ ๑ โครงการ กิจการผลิต EARPHONE/HEADPHONE และชิ้นส่วน EARPHONE/HEADPHONE ๑ โครงการ, กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน เป็นกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง ๗ โครงการ โดยเป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ๒ โครงการ กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ๑ โครงการ, กลุ่มอุตสาหกรรมแร่ โลหะ และวัสดุ เป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ ๑ โครงการ, กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการอุตสาหกรรม เป็นกิจการผลิตเกลือบริสุทธิ์ ๑ โครงการ และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นกิจการผลิตเสื้อผ้าส าเร็จรูป ๑ โครงการ

ผู้อำนวยการบีโอไอโคราช เปิดเผยอีกว่า สำหรับภาพรวมการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๘ จังหวัด ในเดือนมกราคม-กันยายน ๒๕๖๔ จำนวนโครงการและเงินลงทุนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากช่วงเวลาเดียวกันของปี ๒๕๖๓ อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูป มีโครงการที่มีเงินลงทุนสูง ได้แก่ กิจการผลิตยางแท่ง กิจการเลี้ยงไก่เนื้อ เลี้ยงลูกไก่ กิจการนมพร้อมดื่ม และกิจการผลิตแป้งแปรรูป มีมูลค่าเงินลงทุนรวม ๒,๙๕๔ ล้านบาท อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกิจการสถานพยาบาล มูลค่าเงินลงทุน ๕๑๐ ล้านบาท อุตสาหกรรมแร่ โลหะและวัสดุ ซึ่งเป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนแมกนีเซียม มูลค่าเงินลงทุน ๑,๓๕๔ ล้านบาท  

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๖ วันพุธที่ ๘ - วันอังคารที่ ๑๔ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


1026 1391