27thApril

27thApril

27thApril

 

January 22,2022

‘ฟาร์มภูโค้ง’ผู้เลี้ยงหมูที่ชัยภูมิ กับหัวใจของการป้องกันโรค

ท่ามกลางกระแสหมูแพงที่มีสาเหตุมาจากการระบาดของโรค ASF ส่งผลให้เกษตรกรคนเลี้ยงหมูหายไปจากระบบแล้วกว่า ๕๐% แม้หลายคนจะคิดว่าฟาร์มใหญ่เท่านั้นที่รอด แต่คงไม่ใช่ “ฟาร์มภูโค้ง” ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงหมูขนาด ๕๐-๒๐๐ ตัว ใน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ 

โรคระบาดดังกล่าวส่งผลถึงเกษตรกรเลี้ยงหมูทั้งรายย่อย รายกลางและรายใหญ่กันโดยถ้วนหน้า แต่รายใหญ่อาจจะมีอัตราสูญเสียน้อยกว่า เนื่องจากมีความพร้อมในมาตรการป้องกันโรคเป็นอย่างดี ทำให้กูรูหลายคนมองว่าจากนี้ไปโครงสร้างการเลี้ยงหมูในประเทศไทยจะเหลือเพียงฟาร์มใหญ่เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นคำตัดสินที่เร็วเกินไป เพราะฟาร์มใหญ่หลายแห่งก็เจ็บตัว ขณะที่ฟาร์มเล็กหลายแห่งกลับรอดตาย ดังนั้น คำกล่าวที่มีความเป็นไปได้มากกว่าก็คือ ประเทศไทยจะยังคงประกอบไปด้วยเกษตรกรผู้เลึ้ยงหมูทุกขนาดเพียงแต่วิธีการเลี้ยงนั้น จะเลี้ยงหมูแบบหลังบ้านเช่นเดิมไม่ได้อีกต่อไป

ดร.อภิชาติ อาจนาเสียว อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเกษตรกรเจ้าของฟาร์มภูโค้ง ฟาร์มเลี้ยงหมูรายเล็ก ใน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ที่ปลอดภัยจากโรคระบาด ทั้งๆ ที่ฟาร์มรายย่อยในอำเภอเดียวกันหลายแห่งต้องสูญเสียหมูไปกันแล้วแทบทั้งหมด เล่าว่า การมาของ ASF คล้ายๆ โควิด-๑๙ ที่ทำให้เกิด New Normal เปลี่ยนวิถีปฏิบัติใหม่ให้คนเลี้ยงหมู โดยฟาร์มขนาดเล็กจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อให้เอื้อต่อการทำงาน และทำให้ “คน” เข้าใกล้หรือสัมผัสหมูน้อยที่สุด 

ดร.อภิชาติ อาจนาเสียว อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเกษตรกรเจ้าของฟาร์มภูโค้ง 

“ฟาร์มเล็กๆ ก็อยู่รอดได้ ด้วยการทำให้คนเข้าไปยุ่งในฟาร์มให้น้อยที่สุด นี่คือหัวใจของการป้องกันโรค อย่างฟาร์มที่นี่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น เซ็นเซอร์การให้อาหารและน้ำ ที่ทำให้คนไม่ต้องเข้าไปในคอกหมูบ่อยๆ หรือวิธีที่เราใช้ App แจ้งเตือนในมือถือถึงจำนวนครั้งที่คนงานได้รับการฆ่าเชื้อก่อนเข้าคอกหมู ซึ่งที่ฟาร์มของผมอนุญาตให้เข้าได้วันละ ๑ ครั้ง” ดร.อภิชาติ กล่าว  

ปกติประสิทธิภาพการเลี้ยงหมูจะวัดกันด้วย FCR หรือน้ำหนักอาหารที่ใช้ในการทำให้น้ำหนักหมูเพิ่ม ๑ กก.  ซึ่งมาตรฐานทั่วไปจะมีค่าเท่ากับ ๒.๗๗ แต่หมูจากฟาร์มเปิดแห่งนี้ทำ FCR ได้ที่ ๒.๔๐ ทำให้มั่นใจว่าระบบให้อาหารและน้ำนี้มีประสิทธิภาพดี การตรวจจับปริมาณอาหารได้แม่นยำ และเป็นอุปกรณ์ที่คิดขึ้นเอง มีราคาต่ำกว่าระบบฟาร์มปิดขนาดใหญ่ถึงกว่า ๑๐ เท่า และที่สำคัญคือ ยังไม่มีการนำระบบนี้มาใช้กับฟาร์มขนาด ๕๐-๒๐๐ ตัว

ฟาร์มรายย่อยนี้ใช้เงินลงทุนเพียง ๑ แสนบาทสำหรับหมู ๕๐ ตัว และ ๔-๕ แสนบาท สำหรับหมู ๒๐๐ ตัว นอกจากจะเป็นฟาร์มระบบเปิดที่มีการป้องกันโรคด้วยเซ็นเซอร์ต่างๆ แล้ว ยังใช้ไฟฟ้าระบบโซลาร์เซลล์ที่ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้อย่างมากรวมทั้งการใช้มุ้งทำม่านเพื่อป้องกันนก หนู แมลง และสัตว์พาหะ ที่เกษตรกรรายย่อยทั่วไปคุ้นเคย แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้มุ้งมีรู และต้องมีวินัยในการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 

“การลงทุนฟาร์มไม่สูง ใช้ได้กับคอกขนาด ๕๐-๒๐๐ ตัว เทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ไม่ได้มีราคาแพง แต่มีประสิทธิภาพสูง ส่งผลให้ฟาร์มปลอดภัยจากโรคได้จนถึงปัจจุบัน จึงน่าจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของเกษตรกรรายย่อยที่คิดจะกลับเข้าสู่อาชีพเลี้ยงหมูอีกครั้ง แต่ยังต้องดูความพร้อมของการจัดการเรื่องโรคของภาครัฐว่าจะสามารถเริ่มเลี้ยงหมูรุ่นใหม่ได้เมื่อใด 

ดร.อภิชาติ กล่าวย้ำว่า “ผมเชื่อว่า เกษตรกรรายย่อยจะไม่หมดไป แต่วิธีการจัดการฟาร์มต่างหากที่จะเปลี่ยนแปลง การส่งเสริมให้สินเชื่อเกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราเห็นภาพเหล่านี้ชัดเจนขึ้น และที่สำคัญผู้บริโภคจะได้รับเนื้อหมูที่มีคุณภาพดีขึ้นด้วย”

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๑ วันพุธที่ ๑๙ - วันอังคารที่ ๒๕ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

 


700 1349