25thApril

25thApril

25thApril

 

January 22,2022

ปี’๖๕ พาณิชย์มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการ เพิ่มยอดขายและขยายตลาดอี-คอมเมิร์ซ

กางแผนปี ๒๕๖๕ พัฒนาผู้ประกอบการทั่วประเทศมากกว่า ๗,๐๐๐ ราย เน้นสร้างความเข้มแข็งพร้อมรับมือทุกสถานการณ์แบบครบวงจร เพิ่มยอดขาย-ขยายตลาดผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ พร้อมเร่งผลักดันผู้นำชุมชนขนสินค้าขึ้นจำหน่ายบนโลกออนไลน์ เพิ่มโอกาสทางการตลาด สร้างความยั่งยืนทางรายได้และอาชีพ 

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี ๒๕๖๕ กระทรวงพาณิชย์ยังคงให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจและผู้ประกอบการชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพ และเพิ่มทักษะเพื่อให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อเพิ่มยอดขาย-ขยายตลาดทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ โดยเน้นความต้องการของผู้ประกอบการและเทรนด์การตลาดออนไลน์เป็นสำคัญ ผ่าน ๓ รูปแบบการพัฒนาที่เข้าถึงในทุกระดับ ประกอบด้วย

๑.การพัฒนาองค์ความรู้ (Boost Up e-Commerce Skill) เสริมทักษะแก่ผู้ประกอบการชุมชน ต่อยอดขยายโอกาสการค้าสร้างรายได้โดยเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ (Digital Marketing) ทั้ง Social Commerce และ e-Marketplace พร้อมฝึกปฏิบัติ Workshop อย่างเข้มข้น ผ่านหลักสูตรปั้นร้านค้าออนไลน์ขั้นเทพ (Online Marketing Genius) ให้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศ และส่งเสริมสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น สร้างชุมชนให้เข้มแข็งพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับรูปแบบการค้าให้ทันยุคสมัย ผ่านกิจกรรมชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ (Digital Village by DBD) ซึ่งจะเฟ้นหาและต่อยอดสร้างชุมชนต้นแบบอัจฉริยะออนไลน์ (Digital Village by DBD) เพิ่มจำนวน ๒๐ ชุมชน จากที่ได้ดำเนินการแล้ว จำนวน ๓๔ ชุมชนครอบคลุมทุกภูมิภาค

๒.การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ผ่านกิจกรรม Smart Trader Online โดยการสร้างผู้ประกอบการให้เป็นนักการค้าออนไลน์มืออาชีพ (Smart Trader Online) เพื่อช่วยจำหน่ายสินค้าให้กับชุมชนที่มีสินค้าดีสินค้าเด่น ซึ่งเก่งผลิตแต่ไม่เก่งขาย หรือยังไม่คุ้นชินกับการค้าสมัยใหม่ โดยจับคู่เชื่อมโยงเจรจาธุรกิจผู้ประกอบการทั้ง ๒ ส่วนเข้าด้วยกันเพื่อช่วยขายสินค้าและสร้างรายได้ให้กับชุมชน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกรที่จะช่วยมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างเกษตรกรและแพลตฟอร์ม e-Marketplace ซึ่งจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรในรูปแบบ B2B ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”

๓.การส่งเสริมการตลาดออนไลน์ (e-Commerce Booster Package) ร่วมกับแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ชั้นนำ กระตุ้นส่งเสริมการขายให้กับผู้ประกอบการและสินค้าชุมชน เช่น การจัดทำแคมเปญพิเศษ โปรโมชั่นส่วนลด การทำ Flash Sale เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าออนไลน์ โดยปัจจุบันมีสินค้าชุมชนกว่า ๑๐,๐๐๐ รายการ จาก ๕๐๐ ร้านค้า สร้างยอดขายรวมไปแล้วกว่า ๘๐ ล้านบาท และในปี ๒๕๖๕ จะมีการดำเนินการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดงานมหกรรม Thailand e-Commerce Expo 2022 เป็นงานมหกรรมด้านอี-คอมเมิร์ซครบวงจรใหญ่ที่สุดของประเทศโดยร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำมากกว่า ๓๐ หน่วยงาน

“อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้มีการขยายตลาดผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ คงต้องเริ่มปรับเปลี่ยนและปรับธุรกิจเข้าสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้นสำหรับธุรกิจที่เข้าสู่ตลาดออนไลน์แล้วก็ต้องมีการพัฒนาการขายสินค้าให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เพราะตลาดอี-คอมเมิร์ซจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ช่องทางเสริมเท่านั้น แต่จะเป็นช่องทางการขายสินค้าหลักของเกือบทุกธุรกิจ และคาดว่า ปี ๒๕๖๕ นี้ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น ผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวและเสริมแกร่งให้ธุรกิจได้ก่อน จึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ก่อนเช่นกัน” นายสินิตย์ กล่าวทิ้งท้าย  

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๑ วันพุธที่ ๑๙ - วันอังคารที่ ๒๕ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

 

 


699 1342