28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

January 24,2022

คลัสเตอร์โรงงานก่อปัญหา ไร้แผนรองรับผู้ติดเชื้อโควิด สสจ.เร่งควบคุมก่อนลุกลาม

โคราชพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่อง คาดตัวเลขพุ่งสูงถึงสิ้นเดือนมกราคม สสจ.ย้ำโอมิครอนติดเชื้อง่าย หวั่นเตียงไม่เพียงพอ วอนทุกภาคส่วนช่วยป้องกัน พบคลัสเตอร์โรงงานก่อปัญหา ไม่เข้าใจมาตรการ ไร้แผนรองรับ ‘รองผู้ว่าฯ’ สั่งเร่งจัดการควบคุมการติดเชื้อ ไม่ให้ระบาดรุนแรงเป็นคลัสเตอร์ใหญ่

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือโควิด-๑๙ ในจังหวัดนครราชสีมา มีการระบาดต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๕ โดยเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๕ พบผู้ติดเชื้อ ๑๒๔ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมี นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “การควบคุมการติดเชื้อโควิด-๑๙ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา วันนี้ตัวเลขยังมากกว่า ๑๐๐ ราย โดยเป้าหมายจะต้องควบคุมให้ลดลงน้อยกว่า ๑๐๐ ราย ให้ได้ภายในสิ้นเดือนมกราคม ๒๕๖๕ ต่อไปนี้ ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน หากพบผู้ติดเชื้อจะต้องแจ้งโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการลัดขั้นตอน เดี๋ยวจะมีหมายเลขโทรศัพท์รับแจ้งเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะบางครั้งอาจจะทราบว่า มีผู้ติดเชื้อในช่วงกลางคืน จะได้แจ้งได้ทันที ขอให้โทรเข้ามา เพื่อจะได้ช่วยกันทำงานอย่างถูกต้องและให้คำแนะนำที่ถูกวิธี จะได้ควบคุมโรคไม่ให้เกิดการแพร่กระจาย ส่วนประชาชนที่มีความเสี่ยง จังหวัดได้จัดให้มีจุดตรวจ ATK ฟรี ที่หน้าศาลากลางจังหวัดฯ ตั้งแต่วันที่ ๑๕-๑๙ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ น.-๑๕.๓๐ น. และขอย้ำให้แจ้งข่าวสารเรื่องโควิดให้เร็ว ไม่มีอะไรน่าอาย ไม่มีความผิด และไม่มีอะไรน่ากลัว ขอให้แจ้งเข้ามา เพื่อจังหวัดจะได้ดูแลประชาชนได้อย่างดี”

ตัวเลขพุ่งถึงสิ้นเดือน

นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวว่า “แนวโน้มในจังหวัดนครราชสีมา การระบาดระลอกนี้มั่นใจว่า ส่วนใหญ่เกิดจากโควิดสายพันธุ๋โอมิครอน ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาผ่านระบบ Test and Go เมื่อส่งตรวจอย่างไรก็พบว่าเป็นสายพันธ์ุโอมิครอน และปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการระบาดระลอกนี้ คือ การกลับไปยังภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ มีงานกินเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนบ้านหรือคนในครอบครัว รวมทั้งการสังสรรค์ในสถานบันเทิงที่มีการผ่อนคลายมาตรการ โดยเทศกาลปีใหม่มีถึงวันที่ ๔ มกราคม หากนับ ๑๔ วันของการฟักเชื้อ ประมาณวันที่ ๑๘ มกราคม ก็จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น หากจะควบคุมการระบาดให้ดี ต้องไปวัดฝีมือว่า เมื่อตรวจพบเจอผู้ติดเชื้อแล้วจะดำเนินการอย่างไร เช่น สถานบันเทิงที่เปิดอยู่ จะมีการเข้าไปตรวจสอบและนำผู้สัมผัสเสี่ยงมาตรวจหาเชื้อ หากทุกคนให้ความร่วมมือกันก็จะสามารถควบคุมได้ และคาดว่า ตัวเลขที่ผู้ว่าฯ ต้องการจะเห็นต่ำกว่า ๑๐๐ รายต่อวัน อาจจะมีความเป็นไปได้ แต่ผมคาดว่า น่าจะมีผู้ติดเชื้อ ๑๐๐-๑๕๐ รายต่อวันยาวไปถึงสิ้นเดือนมกราคม เพราะเป็นไปตามสถานการณ์ของการติดเชื้อ แต่ถ้าทุกภาคส่วนช่วยกันก็จะไม่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อกระโดดไป ๕๐๐ รายต่อวัน”

คลัสเตอร์โควิด

สำหรับความคืบหน้าของคลัสเตอร์ในจังหวัดนครราชสีมา นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา รายงานว่า “คลัสเตอร์งานเลี้ยงสังสรรค์ หมู่ที่ ๗ บ้านนาแค ตำบลโนนสำราญ อำเภอแก้งสนามนาง วันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๒ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๑๕ ราย ปัจจุบันสามารถดำเนินการควบคุมคัลสเตอร์นี้ได้แล้ว, คลัสเตอร์ศูนย์เด็กเล็กสระประทีป อำเภอเสิงสาง เป็นคลัสเตอร์ใหม่ พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๑๑ ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๑๕๐ คน เป็นนักเรียน ๕๘ คน ครูและบุคลากร ๕ คน ผู้สัมผัสร่วมบ้านและในชุมชน ๘๗ คน ทั้งหมดกักตัวที่ Home Quarantine (HQ) แล้ว และศูนย์ฯ ปิดทำการ ๑๔ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑๒-๒๕ มกราคม, คลัสเตอร์โรงงานน้ำตาลครบุรี อำเภอครบุรี วันที่ ๙ มกราคม ผู้ป่วยรายแรกมีอาการไข้ ไอ และมีน้ำมูก จึงซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจด้วยตนเอง ปรากฏว่า พบผลบวก จึงแจ้งให้โรงงานทราบ จากนั้นเข้ารับการตรวจแบบ RT-PCR ผลยืนยัน จากนั้นโรงงานจึงใช้ชุดตรวจ ATK ตรวจพนักงาน ๔๐ คน พบผลบวก ๓ คน ต่อมาได้ตรวจเพิ่มอีก ๘๐ คน พบผลบวก ๔ คน และวันที่ ๑๒ มกราคม ตรวจเพิ่มอีกครั้ง พบผลบวก ๒ คน สสอ.ครบุรี จึงลงพื้นที่ให้คำแนะนำ และโรงงานสามารถจัดทำ Factory Isolution (FAI) ได้ และในวันที่ ๑๓-๑๕ มกราคม ตรวจหาเชื้อพนักงานทั้งโรงงาน ๑,๒๒๒ คน พบผลบวก ๑ คน สรุปพบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๑๕ ราย เป็นพนักงานโรงงาน ๑๑ ราย อีก ๔ รายเป็นในส่วนของครอบครัวพนักงาน”

“คลัสเตอร์บ้านหนองบัวตะเกียด หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองบัวตะเกียด อำเภอด่านขุนทด ได้มีคำสั่งปิดพื้นที่หมู่บ้านตั้งแต่วันที่ ๑๒-๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ พบว่า คลัสเตอร์นี้มีการแพร่ระบาดขยายวงกว้างถึงวงที่ ๖ โดยวงที่ ๑ จำนวน ๕ คน เริ่มจากมีญาติเดินทางมาจากจังหวัดชลบุรี ๒ คน เพื่อพบปะครอบครัวในช่วงเทศกาลปีใหม่ เมื่อมีอาการจึงเข้ารับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลด่านขุนทด วันที่ ๓ มกราคม ผลตรวจปรากฏว่า ติดเชื้อโควิด-๑๙ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงพบว่า ในครอบครัวติดเชื้อเป็น ๕ ราย วงที่ ๒ ติดเชื้อ ๔ ราย วงที่ ๓ ติดเชื้อ ๑๐ ราย วงที่ ๔ ติดเชื้อ ๑๐ ราย และวันที่พบผู้ป่วยเพิ่มเป็นวงที่ ๕ จำนวน ๑๐ ราย และวงที่ ๖ จำนวน ๑ ราย ซึ่งกำลังค้นหาเพิ่มเติม สรุปคลัสเตอร์นี้มีผู้สมผัสทั้งหมด ๒๖๖ คน ติดเชื้อ ๔๐ คน ส่วนคลัสเตอร์ที่น่าสนใจ คือ คลัสเตอร์ร้านตะวันแดงโคราช แม้จะเป็นคลัสเตอร์เก่า แต่ทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ที่ความเชื่อมโยงขึ้น โดยวันนี้มีผู้สูงอายุนครราชสีมา ป่วยเพิ่ม ๒ ราย รวม ๘ ราย ในส่วนของคลัสเตอร์ อบจ. ในแผนกช่าง วันนี้พบป่วยเพิ่ม ๑ ราย รวม ๕ ราย สำหรับคนที่มาเที่ยวและพนักงานในร้าน พบผู้ป่วยเพิ่ม ๒๗ ราย และวันนี้พบคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น คือ คลัสเตอร์ตำบลบ้านใหม่ เนื่องจากมีผู้ป่วยอายุ ๒๐ ปี มาร้านตะวันแดง ทำให้ตัวเองติดเชื้อและแพร่กระจายสู่ครอบครัวและคนอื่นๆ ๑๑ ราย รวมคลัสเตอร์ร้านตะวันแดงมีผู้ติดเชื้อ ๙๗ ราย ส่วนคลัสเตอร์งานศพหมู่ ๘ และ ๑๓ ตำบลห้วยแถลง อำเภอห้วยแถลง เนื่องจากมีผู้สูงอายุเสียชีวิต ญาติพี่น้องจากจังหวัดอื่นจึงเดินทางมาร่วมงานศพ จากนั้นญาติจากจังหวัดสุรินทร์เดินทางกลับบ้าน พบว่ามีอาการ จึงซื้อ ATK มาตรวจ พบว่าผลบวก ขณะเดียวกันคนที่อยู่โคราชก็มีอาการ และพบผลบวก ATK อีก ๒ ราย เมื่อแจ้ง ศปก.อำเภอห้วยแถลง จึงลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกทันที ทำให้พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๓๔ ราย”

นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวสรุปว่า “จากการระบาดเป็นคลัสเตอร์ต่างๆ ในโคราช คลัสเตอร์ร้านตะวันแดงยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการระบาดในวงของคนที่ไม่ได้มาใช้บริการที่ร้าน เพราะวงของคนที่มาใช้บริการขณะนี้น่าจะสงบแล้ว แต่วงอื่นๆ ยังน่าเป็นห่วง เพราะบางคนอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองเสี่ยงจากคนที่มาตะวันแดง เช่น บ้านผู้สูงอายุ และที่ตำบลบ้านใหม่ อาจจะมีการติดเชื้อมากขึ้น จังหวัดและ สสจ.จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้คนกลุ่มนี้เข้ามารับการตรวจ ATK ฟรี ที่ศาลากลางจังหวัด หากปล่อยไว้อาจจะทำให้เชื้อกระจายมากขึ้น”

หวั่นเตียงไม่พอรับโอมิครอน

วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๕ พบผู้ติดเชื้อ ๑๙๐ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมี นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา, นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า “สถานการณ์ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ แม้จะพบผู้ติดเชื้อสูงขึ้น แต่วันนี้พบผู้ติดเชื้อ ๑๙๐ คน นับเป็นยอดสูงสุดใหม่ หากเป็นแบบนี้แสดงว่าสถานการณ์เริ่มไม่ดี การควบคุมโรคเริ่มมีประสิทธิภาพน้อยลง ซึ่งรวมไปถึงการปฏิบัติตามมาตรการ การเข้าถึงผู้สัมผัสเสี่ยง การซักประวัติ และรายละเอียดต่างๆ ในการเข้าถึงการควบคุมโรค โดยวันนี้อำเภอพบผู้ติดเชื้อ ๑๐๗ ราย ส่วนอำเภออื่นๆ เฉลี่ย ๓-๕ ราย ดังนั้น อาจจะต้องมาคุยกันว่า การควบคุมโรคในพื้นที่อำเภอเมืองเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาอะไรหรือไม่”

“ในอนาคตโควิด-๑๙ สายพันธุ์โอมิครอน จะมาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า แม้โอมิครอนจะมีอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตน้อยกว่า แต่สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็ว แต่ปัญหา คือ การติดเชื้อรวดเร็วจะทำให้ระบบสาธารณสุขรับมือไม่ทัน อาจจะทำให้จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ ถึงวันนั้นทุกคนจะลำบาก และในอัตราส่วนผู้ป่วยจำนวนมาก อาจจะมีผู้ที่มีอาการหนักหรือเสียชีวิตมากขึ้น สุดท้ายก็ถือว่าอันตรายเหมือนกับเดลต้า ดังนั้น ประชาชนยังต้องเข้มงวดมาตรการ D M H T T A และมาตรการครอบจักรวาล (Universal Prevention)” นพ.วิชาญ กล่าว

คลัสเตอร์กระจายไม่หยุด

สำหรับความคืบหน้าของคลัสเตอร์ในจังหวัดนครราชสีมา นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานว่า “คลัสเตอร์บ้านหนองบัวตะเกียด หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองบัวตะเกียด อำเภอด่านขุนทด วันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๓ ราย รวมเป็น ๔๓ ราย, และคลัสเตอร์งานศพหมู่ ๘ และ ๑๓ ตำบลห้วยแถลง อำเภอห้วยแถลง พบผู้ติดเชื้อยืนยัน ๓๔ ราย แต่จากการค้นหาเชิงรุกด้วยการตรวจ ATK พบผลบวกเพิ่ม ๑๙ ราย ขณะนี้กำลังรอผลตรวจยืนยันด้วย RT-PCR, คลัสเตอร์ร้านตะวันแดง พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๕ ราย ซึ่งใน ๕ รายนี้ มีผู้ติดเชื้อ ๒ ราย ทำให้เกิดคลัสเตอร์บ้านหนองกระชาย ตำบลโคกสูง มีผู้ติดเชื้อ ๑๗ ราย รวมคลัสเตอร์ร้านตะวันแดงติดเชื้อ ๑๑๙ ราย, คลัสเตอร์โรงเรียนครบุรีวิทยา ตำบลบ้านใหม่ อำเภอครบุรี ผู้ป่วยรายที่ ๑ เป็นลูกของผู้ป่วยรายที่ ๒ มีอาการไข้และมีน้ำมูก แม่จึงซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจด้วยตนเอง ทั้ง ๒ คนมีผลบวก จึงไปตรวจยืนยันผลที่โรงพยาบาลครบุรี ผลยืนยันติดเชื้อทั้ง ๒ คน จากนั้นโรงเรียนจึงสั่งปิดและให้นักเรียนกักตัว เมื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขค้นหาเชิงรุกนักเรียนทั้งหมด พบติดเชื้ออีก ๙ ราย เป็นผู้ปกครอง ๑ ราย โดยขณะนี้มีการติดเชื้อในกลุ่มนักเรียนห้อง ป.๓/๑ และวงที่ ๒ เป็นพ่อของนักเรียน ๑ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๑๓ ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยง ๖๖ ราย”

ขัดแย้งคลัสเตอร์โรงงาน

“คลัสเตอร์โรงงานสยามเฟล็กซ์แพ็ค อำเภอเมืองนครราชสีมา เริ่มจากโรงงานตรวจ ATK พนักงานเพื่อจะรายงานผลให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฯ ตามระเบียบ ปรากฏว่า พบผลบวก ๔ ราย อยู่ในแผนก C เย็บถุงและตัดแพ็ค เป็นคนไทย ๒ คนอยู่อำเภอโนนสูง และเป็นชาวเมียนมา ๒ คน วันที่ ๑๒ มกราคม ส่งตรวจ RT-PCR ผลยืนยันติดเชื้อโควิด ในช่วงแรกโรงงานยังไม่มีการจัดทำ FQ หรือ FAI ผู้ติดเชื้อจึงเข้าสู่ชุมชน แต่ขณะนี้รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลโนนสูง จากนั้นพบผู้ติดเชื้อเพิ่มรายที่ ๕ ซึ่งเป็นภริยาของผู้ป่วยรายที่ ๔ วันที่ ๑๕ มกราคม พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๘ ราย เป็นคนไทย ๔ คน และชาวเมียนมา ๔ คน โดยชาวเมียนมา ๔ คน เข้ารับการรักษาที่ FAI ของโรงงาน ซึ่งจัดทำขึ้นจากความร่วมมือจาก รพ.สต.หนองปลิง วันที่ ๑๘ มกราคม พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๔ ราย เป็นชาวเมียนมาทั้งหมด เบื้องต้นโรงงานแห่งนี้มีพนักงาน ๔๖๓ คน พบผู้ติดเชื้อสะสม ๑๖ ราย แต่มีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจาก รพ.สต.และโรงงานไม่เข้าใจกัน ทำให้ข้อมูลบางส่วนไม่ครอบคลุม เช่น การตรวจหาเชื้อด้วย ATK ในช่วงเช้า บ่าย และดึก เพราะโรงงานจะมีพนักงานเข้างานกะเช้า บ่าย และดึก แต่ด้วยเงื่อนไขของสาธารณสุขไม่สามารถทำได้ การตรวจเชิงรุกจึงยังไม่ชัดเจน เนื่องจากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นก่อน”

เร่งควบคุมโรงงาน

นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ กล่าวว่า “เมื่อโรงงานพบผู้ติดเชื้อ จะต้องทำตามเงื่อนไขของสาธารณสุข ไม่ใช่สาธารณสุขทำตามเงื่อนไขของโรงงาน ถ้าโรงงานไม่ทำตามเงื่อนไขก็สั่งปิดก่อน พนักงานกว่า ๔๐๐ คน จะต้องตรวจคัดกรองโดยเร็ว เพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายมากขึ้น ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปพูดคุยอีกครั้ง เพื่อให้ผู้ประกอบการทำตามมาตรการ”

นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ กล่าวว่า “กรณีนี้จะต้องยึดหลักกระทรวงแรงงานเป็นหลัก ไม่ใช่โรงงานจะมาบอกว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขหรือของหน่วยโน้นหน่วยงานนี้ โรงงานจะต้องรับผิดชอบด้วยตนเองตามมาตรการ กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ช่วยควบคุมตามมาตรการและสนับสนุนเท่านั้น ไม่อย่างนั้นถ้าโรงงานปฏิบัติโดยอ้างแบบนี้ทั้งหมด มีโรงงานกี่ร้อยกี่พันโรงงานถึงจะควบคุมได้หมด ดังนั้น ความรับผิดชอบต่อสังคมโรงงานต้องมี ไม่อย่างนั้น หากไม่ดำเนินการตามมาตรการ จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”

นายเกษมสันต์ เครือเจริญ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ได้ติดตามเรื่องนี้จากผู้บริหารโรงงาน ทราบว่า โรงงานได้ประสานกับ รพ.สต.หนองปลิง ในการควบคุมดูแล จึงไม่คิดว่าจะเกิดปัญหานี้ คาดว่าโรงงานอาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เมื่อผมทราบปัญหาแล้วจะประสานกับโรงงานว่า จะดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้การควบคุมโรคทำได้โดยเร็วที่สุด และสอดคล้องกับมาตรการทางสาธารณสุข”

นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวว่า “โรงงานแห่งนี้พบผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม ในจำนวนพนักงาน ๔๖๓ คน โรงงานจะต้องตอบให้ได้ก่อนว่า กลุ่มผู้ป่วยคือใคร กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคือใคร และกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำคือใคร ที่สำคัญกลุ่มผู้ป่วยและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จะต้องเข้ารับการกักตัว ไม่ปล่อยให้กลับบ้านทำกิจกรรมกับคนอื่น และที่สำคัญ คือ การจัดทำ Bubble and Seal กลุ่มที่ยังสามารถทำงานได้เป็นใครบ้าง และต้องเฝ้าระวังการตรวจอย่างไร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยด่วน เพื่อควบคุมโรคให้เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง ซึ่งมีการติดเชื้อค่อนข้างสูง และเมื่อจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น จำนวนเตียงว่างก็จะลดลง”

ต้นตอปัญหา

เจ้าหน้าที่ สสอ.เมืองนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า “โรงงานได้ทำหนังสือขอตรวจ ATK มาทาง สสอ. แต่พบเคสแรกวันที่ ๑๐ มกราคม ทำหนังสือมาวันที่ ๑๑ มกราคม มาถึงสำนักงานประมาณ ๑๕.๐๐ น. แล้วจะขอตรวจในเวลา ๑๖.๐๐ น. ซึ่งตามมาตรการที่สถานประกอบการใดๆ จะขอตรวจ ATK ในสถานประกอบการ สำหรับ สสอ.เมือง ต้องยื่นล่วงหน้าอย่างน้อย ๑ วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ สสอ.ให้คำแนะนำตามมาตรการ หากไม่มีแผนงานหรือมาตรการรองรับ จะไม่อนุญาตให้คัดกรองหรือตรวจ ATK ในเบื้องต้น โดยโรงงานแจ้งมาว่า ทำ ATK พบผลบวก ๔ ราย ในวันที่ ๑๑ มกราคม สสอ.เมือง จึงให้ รพ.สต.หนองปลิง เข้าไปติดตามผู้ติดเชื้อ ๔ รายนี้ว่า เข้าสู่ระบบการรักษาหรือยัง และไม่อนุญาตให้คัดกรองด้วย ATK ในวันที่ ๑๑ มกราคม เพราะโรงงานทำหนังสือมาถึง สสอ. เวลา ๑๕.๐๐ น. แต่จะคัดกรองในเวลา ๑๖.๐๐ น. โรงงานจึงตรวจ ATK พนักงานในวันที่ ๑๑-๑๒-๑๓-๑๔ มกราคม ทำให้พบผลบวกเพิ่มมากขึ้น”

นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวว่า “สำหรับคนที่ ATK มีผลบวก แสดงว่า เป็นผู้ป่วยแล้ว แต่สิ่งสำคัญกว่า ATK บวก คือ คนที่สัมผัสเสี่ยงสูง เมื่อพบผลบวกจะต้องสอบสวนโรคหาผู้สัมผัสเสี่ยง ซึ่งโรงงานพบผลบวก ๑๖ ราย อย่างไรก็ต้องมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อยู่ห่างกันไม่เกิน ๒ เมตร อยู่ใกล้ชิดกันนานกว่า ๕ นาที เพราะธรรมชาติของการทำงานในโรงงานส่วนใหญ่จะเป็นเสี่ยงสูง หากเรายังกักกันคนไม่ได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็จะควบคุมไม่ได้ กุญแจ คือ การแยกระหว่างผู้ป่วย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ส่วนผู้ที่สามารถทำงานได้ก็ให้เข้าสู่ระบบ BBS แต่ขณะนี้ยังควบคุมไม่ได้ การตรวจ ATK ยังไม่ได้ แยกผู้สัมผัสเสี่ยงยังไม่เห็น และกักกันอย่างไรก็ไม่ทราบ”

ยังไม่ทำ FAI

เจ้าหน้าที่ สสอ.เมือง รายงานผลการดำเนินงานของ รพ.สต.หนองปลิง ว่า “เริ่มแรกโรงงานได้ดำเนินการตรวจ ATK ให้กับพนักงาน พบผลบวกเป็นคนไทย ๒ ราย และชาวเมียนมา ๒ ราย จึงได้ดำเนินการตรวจยืนยัน RT-PCR ที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ยืนยันว่าทั้ง ๔ รายติดเชื้อ จากนั้น รพ.สต.หนองปลิง จึงลงพื้นที่ไปควบคุมกำกับ ติดตาม และให้ความรู้ในการจัดทำ FAI ในโรงงาน รวมถึงการหาสถานที่กักตัวในโรงงาน จากการติดตามเรื่อยมาโรงงานก็สามารถจัดทำ FAI และสถานที่กักตัวได้ สรุปคลัสเตอร์นี้มีผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด ๑๗ ราย เป็นแรงงานไทย ๖ ราย เมียนมา ๑๑ ราย จากการสอบสวนโรคมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๑๗ ราย โดยแผนที่วางร่วมกันจัดทำ FAI และจะขอให้มี BBS เพื่อกักกันไม่ให้พนักงานออกนอกโรงงาน แต่ขณะนี้ยังไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นก่อน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังมีการติดตามผู้ป่วยที่เข้ารักษาตาม Home Isolution ทุกวัน”

เพิ่งทราบปัญหา

นายเกษมสันต์ เครือเจริญ กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้เคยมีลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น หากมีแนวโน้มจะกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ คณะกรรมการควบคุมโรคจะมีคำสั่งว่า ให้โรงงานทำอะไร เช่น การจัดทำ BBS หรือให้มีการจัดทำ FAI ที่ชัดเจน และหลายครั้งเมื่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคเข้าไปที่โรงงานหรือสถานประกอบการแล้วบอกว่าไม่ได้รับความร่วมมือ ขอให้ประสานหรือแจ้งสำนักงานสวัสดิการและคุมครองแรงงานฯ จะได้มีการพูดคุยหรือแจ้งนายจ้างล่วงหน้า เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่เคสของโรงงานนี้ อยู่ในการดูแลของ รพ.สต.หนองปลิง จึงถือว่าโรงงานได้ดำเนินการควบคุมกับระบบสาธารณสุขแล้วในระดับหนึ่ง แต่เมื่อดำเนินการไปแล้วมีปัญหา ซึ่งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ เพิ่งทราบเรื่องว่า โรงงานไม่ให้ความร่วมมือ ขอแจ้งว่า เมื่อมีผู้ติดเชื้อในโรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ จะเข้าไปติดตามพร้อมกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและอุปสรรค ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ผมจะเข้าไปติดตามเรื่องนี้ โดยจะประสานกับทีมควบคุมโรคอีกครั้ง และมีการประชุมว่าจะทำอย่างไรกับสถานประกอบการแห่งนี้”

สั่งจัดการในวันนี้

นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ กล่าวท้ายสุดว่า “วันนี้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ และทีมควบคุมโรค จะต้องเข้าไปติดตามและบริหารจัดการให้ได้ ที่สำคัญผมว่า โรงงานจะต้องปิดด้วย โดยให้ สสอ.เมือง ดำเนินการร่วมกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ ภายในวันนี้”

ในช่วงท้าย มีประชาชนสอบถามในที่ประชุมว่า “ขอตัวอย่างที่ปฏิบัติได้จริง จะได้เห็นเป็นรูปธรรมให้กับโรงงานอื่นๆ แนวทางที่ออกมาเป็นเพียงแนวทาง แต่แนวทางไม่มีสอนที่ไหน นอกจากเรียนรู้จากโรงงานที่ปฏิบัติได้ดี” ซึ่งนางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา ตอบว่า “ถ้าในเขตตำบลหนองระเวียง โรงงานที่ปฏิบัติได้ดี คือ โรงงานศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ปฏิบัติได้ดีและยังทำตามมาตรการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมามีผู้ติดเชื้อสะสม ๓๖,๔๑๘ ราย รักษาหาย ๓๔,๑๙๕ ราย ยังรักษาอยู่ ๑,๙๓๑ ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม ๒๙๒ ราย


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๑ วันพุธที่ ๑๙ - วันอังคารที่ ๒๕ เดือนมกราคม พุทธศักราช  ๒๕๖๕


1009 1601