29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

January 24,2022

บุก‘รฟท.’ทบทวนรถไฟเร็วสูง ผู้ว่าการฯ รับปากแก้ปัญหา ‘ส.ส.โต’ย้ำไม่ใช่การคัดค้าน

คนโคราชบุกการรถไฟแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือให้ผู้ว่าการฯ ทบทวนการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ยืนยันไม่เอาคันดิน ต้องการให้ยกระดับเป็นตอม่อ ด้าน ‘ส.ส.โต’ ชี้ไม่คัดค้านโครงการ แต่ต้องการแก้ปัญหาให้ประชาชน ย้ำปรับแบบก่อสร้างอาจจะเสียเวลา ๑-๒ ปี แต่ไม่เสียดายเวลา ถ้าประชาชนได้สิ่งที่ดีกว่า

จากกรณีประชุมรับฟังปัญหาและผล กระทบจากการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ในระยะที่ ๑ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง ๒๕๑.๙ กม. งานสัญญาที่ ๓-๕ งานโยธา ช่วงสถานีโคกกรวด-สถานีนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๔ ประชาชนตำบลบ้านใหม่และตำบลโคกกรวด ยืนยันต้องการให้สร้างทางรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบยกระดับเป็นตอม่อ ซึ่งนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จะดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องของประชาชนที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้มีการพิจารณาแก้ไขปัญหา นั้น

ล่าสุด วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐ น. ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรุงเทพมหานคร นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายวัชรพล โตมรศักดิ์ เลขาธิการพรรคชาติพัฒนา และ ส.ส.เขต ๒ นครราชสีมา นายประพจน์ ธรรมประทีป ส.อบจ.นครราชสีมา อำเภอเมือง เขต ๔ นางมะลิวัลย์ บางนิ่มน้อย นายกเทศมนตรีตำบลบ้านใหม่ และตัวแทนประชาชนตำบลบ้านใหม่ร่วมยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ต่อนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กรณีได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง

จากนั้น เวลา ๑๗.๑๐ น. นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ “โคราชคนอีสาน” ถึงการเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องในครั้งนี้ ว่า “หลังจากที่ประชาชน ผู้ท้องถิ่น และผม ได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้กับกรรมาธิการการคมนาคม นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และจัดการประชุมรับฟังปัญหาและผลกระทบโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่โรงเรียนภูเขาลาด ตำบลบ้านใหม่ เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ซึ่งข้อสรุปในที่ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เห็นด้วย โดยจะรีบทำหนังสือไปยื่นให้กับเจ้ากระทรวง ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ว่าการรถไฟฯ เพื่อให้ทบทวนการก่อสร้างทางรถไฟแบบคันดิน เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทำรายละเอียดเสร็จ จึงได้นัดหมายกับผมและตัวแทนของประชาชน ในวันนี้เดินทางไปพบผู้ว่าการรถไฟฯ”

“ข้อสรุปความต้องการของประชาชน คือ ต้องการให้ รฟท.ทบทวนการก่อสร้างให้เป็นแบบต่อม่อ เพราะถ้ายังยกระดับแบบคันดินที่มีความสูง ๕ เมตร จะทำให้ทัศนียภาพเมืองหายไปกว่า ๗๕๐ เมตร ซึ่งบริเวณทางเชื่อมต่อของตำบลโคกกรวดกับตำบลบ้านใหม่ เป็นชุมชนหนาแน่น อาจจะทำให้เกิดปัญหาด้านการสัญจรไปมา รวมถึงความสวยงามของเมือง และที่สำคัญ คือ ปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากเป็นคันดินกั้นระหว่าง ๒ ฝั่ง ทางระบายน้ำก็อยู่ห่างกัน อาจจะทำให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในภายหลัง แต่ถ้ายกระดับเป็นตอม่อ จะทำให้น้ำไหลผ่านได้ ข้างล่างก็ทำเป็นถนนคู่ขนานทางรถไฟได้ แม้การก่อสร้างเป็นคันดินจะทำเพียง ๗ ปี แต่ก็อาจจะฝากตราบาปไว้ให้กับคนรุ่นหลัง เพราะปกติเมื่อมีทางรถไฟผ่านเมือง ทุกที่ก็ยกระดับเป็นตอม่อ ไม่มีที่ไหนเขาทำเป็นคันดิน และผมยังถามที่ประชุมว่า จากอำเภอสีคิ้วมาถึงตำบลโคกกรวด ระยะทางกว่า ๒๐ กิโลเมตร ทำไมยกระดับเป็นตอม่อได้ รฟท.ก็ไม่ตอบคำถามผม แล้วทำไม รฟท.จะต้องไปสร้างสะพานกลับรถเป็นเกือกม้าหลายจุดและทำทางคู่ขนานอีก ทำไมไม่หักลบกลบหนี้กัน เพราะอาจจะใช้เงินจำนวนมากเท่ากับการยกระดับเป็นตอม่อ เมื่อประชุมเสร็จ ทางผู้ว่าการรถไฟฯ ก็ได้รับเรื่องไว้ และได้เชิญวิศวกรใหญ่มาพูดคุยกับพวกเรา สรุปว่า รฟท.จะลงพื้นที่มาตรวจสอบในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อมาหาข้อมูลร่วมกันว่าจะมีทางออกอย่างไร” นายวัชรพล กล่าว

นายวัชรพล เปิดเผยอีกว่า “จากการพูดคุยกับผู้ว่าการรถไฟฯ ท่านก็บอกว่า รับทราบและเห็นด้วยอย่างยิ่งกับสิ่งที่เป็นปัญหา และบอกว่า จะหาทางออกให้ พร้อมกับจะลงมาพูดคุยกับคนโคราช พวกเราจึงยืนยันกระต่ายขาเดียวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ไม่ได้มาเพื่อเรียกร้องหรือทวง เห็นด้วยกับการก่อสร้าง ไม่ได้มีเจตนาขัดขวางใดๆ แต่ขอเพียงว่า ให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ผมได้ทิ้งท้ายให้ผู้ว่าการรถไฟฯ ไปคิดดูว่า จากที่ทีมงานบอกว่า จะต้องเพิ่มเงินก่อสร้าง ๘๐๐ ล้านบาท เป็น ๒,๐๐๐ ล้านบาท แต่จริงๆ แล้วเท่าไหร่ ยกระดับตอม่อ ๓๘ ต้น ผมว่า ตอม่อต้นหนึ่งก็ไม่กี่บาท ถึงจะแพงกว่าเป็นพันล้าน แต่ผมคิดว่าคงไม่เสียหายอะไร เพื่อแลกกับสิ่งที่จะตามมาให้กับเมืองโคราช”

เมื่อถามว่า “กรณีปรับแบบยกระดับเป็นตอม่อ จะทำให้ระยะเวลาดำเนินโครงการขยับออกไปอีกหรือไม่” นายวัชรพล ตอบว่า เรื่องการขยับระยะเวลาก่อสร้างออกไปต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะจะต้องเพิ่มงบประมาณ และขออนุมัติจากสภาพัฒน์และ ครม. แต่ผมก็คิดกลับว่า ทีมอเตอร์เวย์ที่บอกจะเสร็จปี ๒๕๖๓ สุดท้ายก็มาเลื่อนเป็นปี ๒๕๖๖ ก็ยังขยับมาตั้ง ๓ ปี แต่รถไฟความเร็วสูงอาจจะขยับประมาณ ๑-๒ ปี เพื่อแลกกับสิ่งที่ประชาชนจะต้องอยู่ด้วยเป็น ๑๐๐ ปี ผมว่า ถ้าช้าก็ยังดีกว่า ยกระดับเป็นตอม่อ ๓๘ ต้น ระยะทาง ๗ กิโลเมตร ถ้าเร่งก่อสร้างจริงๆ ผมว่าทำไม่นานก็เสร็จ ประกอบกับปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการก่อสร้างมากมาย แต่ถ้าทำคันดิน จะต้องไปขุดดินและถมดิม จะต้องไปทำลายธรรมชาติ เพื่อหาดินมาถมอีกเท่าไหร่ และรถขนดินมาถมจะทำให้เกิดมลพิษและทำให้ถนนพังอีกขนาดไหน จะช้าไป ๑-๒ ปี ผมไม่เสียดายเวลา เพราะเชื่อมั่นว่าคนโคราชและคนทั้งประเทศจะเข้าใจว่า ไม่มีที่ใดในโลกนี้ ที่ทางรถไฟความเร็วสูงผ่านเมืองแล้วทำเป็นคันดิน โดยเฉพาะที่ตำบลบ้านใหม่ ฝั่งหนึ่งเจอถนนมอเตอร์เวย์ อีกฝั่งมีทางรถไฟ หากทำเป็นคันดินก็จะกลายเป็นแอ่งน้ำ”

นายวัชรพล กล่าวท้ายสุดว่า “ต้องการให้ รฟท.ทบทวนข้อเรียกร้อง และต้องการให้คนโคราชลุกขึ้นมาช่วยกัน เพราะปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนตำบลบ้านใหม่ แต่จะเป็นเรื่องของเมืองโคราช ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาจากโครงการนี้ เสียงของผมคนเดียวคงจะไปคัดค้านหรือต่อรองอะไรได้ ต้องการให้ทุกฝ่ายนำข้อมูลมาพูดคุยกัน เพราะการก่อสร้างเป็นคันดินไม่น่าจะเกิดขึ้นในเมืองได้ ผมพยายามทำให้ดีที่สุด แต่เสียงเดียวคงจะทำอะไรมากไม่ได้ แต่ก็จะพยายามต่อสู้ในฐานะผู้แทนในสภาฯ นอกจากจะไปยื่นหนังสือให้กับกรรมาธิการการคมนาคม ผมจะยื่นกระทู้เฉพาะให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาตอบผม เพื่อนำคำตอบไปตอบกับประชาชน”

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๑ วันพุธที่ ๑๙ - วันอังคารที่ ๒๕ เดือนมกราคม พุทธศักราช  ๒๕๖๕


984 1605