25thApril

25thApril

25thApril

 

September 12,2014

กกพ.รุกพลังงานนครชัยบุรินทร์ เตรียมเปิด‘วินด์ฟาร์ม’ห้วยบง

 นายบุรพัฒน์ โพธิ์ทอง, นายพรเทพ โชตินุชิต, นายคมศร พรโสภณ
    

    กกพ. ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์บทบาท เผย ‘นครชัยบุรินทร์’ มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าจาก ๓ เขื่อน เฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ จากเขื่อนลำตะคอง ๕๐๐ เมกะวัตต์ และจากโรงไฟฟ้าภาคเอกชนโคราช ๔๔ แห่ง ส่วนโรงไฟฟ้ากังหันลม ที่อ.ด่านขุนทด เตรียมเปิดเฟส ๓ หวังเป็น ‘วินด์ ฟาร์ม’ ขนาดใหญ่ 

    เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๗ นายพรเทพ โชตินุชิต ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พร้อมด้วยนายคมศร พรโสภณ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน กกพ. ประจำเขต ๗ จ.สระบุรี และนายบุรพัฒน์ โพธิ์ทอง ตัวแทนสำนักงาน กกพ. ประจำเขต ๖ จ.นคร ราชสีมา ลงพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายประชาสัมพันธ์ระหว่างสำนักงาน กกพ. กับสื่อมวลชน ณ โรงแรมสีมาธานี จ.นครราชสีมา โดยวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูล สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท ภารกิจ ภายใต้การกำกับกิจการพลังงานของไทย เพื่อสนับสนุนงานกำกับกิจการพลังงาน และให้ความรู้ด้านพลังงานแก่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วยเสียมากยิ่งขึ้น
    นายพรเทพ โชตินุชิต ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า “ตามที่คณะรัฐมนตรีประชุมเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ ได้มีมติรับทราบทราบโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) จำแนกสำหรับอาคารประเภทบ้าน (100 MWp) และสำหรับอาคารประเภทธุรกิจ และโรงงาน (100 MWp) ให้มีการเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ด้วยอัตราการรับซื้อแบบ Feed-in Tariff ระยะเวลาสนับสนุน ๒๕ ปี โดยราคารับซื้อไฟฟ้า ประเภทบ้านอยู่อาศัย รับซื้อต่อหน่วยอยู่ที่ ๖.๙๖ บาท, อาคารธุรกิจขนาดเล็ก รับซื้อราคา ๖.๕๕ บาท, อาคารธุรกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และโรงงาน รับซื้ออยู่ที่ ๖.๑๖ บาท  ซึ่งทางองค์กรได้ดำเนินการให้มีการบริการแบบ One Stop Service เพื่อให้ผู้ขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftop สามารถยื่นขออนุญาตทุกประเภทได้ที่สำนักงาน กกพ. เพียงแห่งเดียว”
  

   ด้านนายคมศร พรโสภณ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน กกพ. ประจำเขต ๗ จ.สระบุรี กล่าวถึงผลการดำเนินงานว่า “พื้นที่ความรับผิดชอบของ กกพ.เขต ๗ ครอบคลุม ๗ จังหวัด ได้แก่ สระบุรี, อ่างทอง, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, นครนายก, ปราจีนบุรี และสระแก้ว การดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งสิ้น ๙๙ เรื่อง ดำเนินการเสร็จแล้ว ๙๙ เรื่อง ซึ่งอันที่จริงมีเรื่องร้องเรียนกว่าพันเรื่อง แต่ส่วนใหญ่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ลงตัว จึงไม่ต้องนำเรื่องเข้าระบบ  ในด้านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า งบประมาณปี ๒๕๕๗  กองทุนประเภท ก ได้แก่ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า จ.สระบุรี ๑ งบประมาณบริหารจัดการ ผลรวมงบประมาณการเบิกจ่ายดำเนินบริหารจัดการ และโครงการชุมชน ที่ได้รับอนุมัติรวมเป็นเงิน ๑๒๓,๑๙๔,๘๕๓,.๙๓ บาท เบิกจ่ายทั้งสิ้น ๖๕,๔๒๗,๗๐๖.๕ บาท คิดเป็นร้อยละ ๕๓.๑๑ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา งบประมาณที่ได้รับอนุมัติรวมเป็นเงิน ๑๔๘,๑๑๕,๐๖๘ บาท เบิกจ่ายทั้งสิ้น ๘๐,๕๖๒,๐๘๐.๓๓ บาท คิดเป็นร้อยละ ๕๔.๓๙ ด้านการดำเนินออกใบอนุญาต Solar PV Rooftop ประเภทโรงงาน จำนวน ๔ โรงงาน บ้านพักอาศัย ๒๙๗ หลังคาเรือน รวมทั้งสิ้น ๓๐๑ หลังคาเรือน”

  นายบุรพัฒน์ โพธิ์ทอง ตัวแทนสำนักงาน กกพ. ประจำเขต ๖ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า “กกพ.ประจำเขต ๖ รับผิดชอบ ๔ จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา, ชัยภูมิ, สุรินทร์ และ บุรีรัมย์ ซึ่งหน้าที่ในความรับผิดชอบไม่ต่างจากสำนักงาน กกพ.ส่วนกลาง เรียกได้ว่าเป็นสำนักงาน กกพ.ย่อย แต่เพิ่งเปิดทำการได้เพียง ๔ ปี และเนื่องด้วยโรงไฟฟ้าในโคราชยังเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าเสริม เทียบกับ จ.สระบุรีที่เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใหญ่กว่าไม่ได้ และด้วยสภาพแวดล้อมที่ส่วนใหญ่จะเป็นป่า ในส่วนของนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในส่วนของ กกพ.ประจำเขต ๖ เป็นแค่แหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าเสริม  ซึ่งโรงไฟฟ้าในเขตพื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟฝ.) ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา (โรงไฟฟ้าที่พัฒนาแสงไฟด้วยสายน้ำ เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ) จ.นครราชสีมา กำลังการผลิตอยู่ที่ ๕๐๐ เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเขื่อนจุฬาภรณ์  จ.ชัยภูมิ กำลังการผลิต ๔๐ เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเขื่อนห้วยกุ่ม จ.ชัยภูมิ กำลังการผลิตเพียง ๑.๐๖ เมกะวัตต์ “
    “โรงไฟฟ้าในภาคเอกชนโคราชมีทั้งหมด ๔๔ แห่ง รวมในส่วนพลังงานทดแทนจากกังหันลม ต.ห้วงบง อ.ด่านขุนทด ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้ากังหันลมกำลังดำเนินการสร้างเฟส ๓ จากทั้งหมด ๒ เฟสๆ ละ ๔๕ ต้น รวมทั้งหมด ๙๐ ต้น จะทำเป็นลักษณะของ Wind Farm ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปเยี่ยมชม ถ่ายรูป หรืออยากจิบกาแฟก็มีร้านให้บริการ” นายคมศร พรโสภณ ผู้อำนวยการประจำเขต ๗ กล่าวเสริม
    

  ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นองค์กรเพื่อการกำกับดูแลงานด้านกิจการไฟฟ้า และกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยแยกงานกำกับดูแลออกจากงานด้านนโยบาย เพื่อทำให้งานแต่ละด้านมีการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ซึ่งหน้าที่หลักของ กกพ. คือ กำกับค่าไฟฟ้า และราคาก๊าซธรรมชาติ ให้มีราคาที่เหมาะสม รวมถึงดูแลจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อการใช้พลังงานของประเทศ ควบคุมมาตรฐานไฟฟ้าฟ้าให้มีคุณภาพ จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต (สกพ.เขต) ๑๓ แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สำนักงานเขต ๑  จ.เชียงใหม่, สำนักงานเขต ๒ จ.พิษณุโลก, สำนักงานเขต ๓ จ.นครสวรรค์, สำนักงานเขต ๔ จ.ขอนแก่น, สำนักงานเขต ๕ จ.อุบลราชธานี, สำนักงานเขต ๖ จ.นครราชสีมา, สำนักงานเขต ๗ จ.สระบุรี, สำนักงานเขต ๘ จ.ชลบุรี, สำนักงานเขต๙ จ.กาญจนบุรี, สำนักงานเขต ๑๐ จ.ราชบุรี, สำนักงานเขต ๑๑ จ.สุราษฎ์รธานี, สำนักงานเขต ๑๒ จ.สงขลา และสำนักงานเขต ๑๓ กรุงเทพฯ
    จัดตั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) จำนวน ๑๔๓ คน จากตัวแทนภาคประชาชน เพื่อทำหน้าที่ดูแลการใช้พลังงานในท้องถิ่น สามารถเข้าถึงชุมชนทุกท้องถิ่น จัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จำนวน ๑๕๘ กองทุน โดยจำแนกเป็นกองทุนประเภท ก จำนวน ๑๑ กองทุน กองทุนประเภท ข จำนวน ๔๓ กองทุน และกองทุนประเภท ค จำนวน  ๑๐๔ กองทุน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริการ และจัดสรรเงินกองทุน รวมไปถึงออกใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ กำกับมาตรฐานทางวิศวกรรม และความปลอดภัย ดูแลการขอใช้บริการ หรือการ เชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน และกำหนดระเบียบ กำกับการแข่งขัน หลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า เพื่อป้องกันการผูกขาดทางการให้บริการด้านกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ


688 1342