24thApril

24thApril

24thApril

 

September 13,2014

ก.อุตฯจับมือ‘เอสเอ็มอาร์เจ’ เสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทย สร้างรายได้ประเทศเพิ่มขึ้น

 

    กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ ‘เอสเอ็มอาร์เจ’ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายและแผนงานส่งเสริมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเอสเอ็มอี ทั้งยังประสานการเจรจาธุรกิจ และการอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ หวังช่วยสนับสนุนและเสริมสร้างให้เอสเอ็มอีไทยแข็งแกร่งมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ ๕-๑๐% ในปี ๒๕๕๘ 
 

มร.ฮิโรชิ ทากาดะ  ซ๊อีโอ SMRJ  ลงนามความร่วมมือกับนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

    เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เดินหน้าพัฒนา SMEs (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ไทย ตามนโยบายเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกระดับ โดยนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) โดยมร.ฮิโรชิ ทากาดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMRJ 
    นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าพัฒนาโครงสร้าง SMEs ไทยตามนโยบายเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับ SMEs ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญต่อการผลักดันให้ธุรกิจมีการเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่ให้การส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อให้มีสมรรถนะและขีดความสามารถในการประกอบการที่เป็นเลิศและมีความยั่งยืนสู่สากล โดยการลงนามความร่วมมือกับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) หน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่นำนโยบาย เพื่อส่งเสริมธุรกิจ SMEs ภายใต้กรอบนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ Small and Medium Enterprises Agency (SMEA) เป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลของกระทรวงเศรษฐกิจการค้าอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิต นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีกิจกรรมต่างๆ ที่ SMRJ ได้ให้การสนับสนุนกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ การให้พื้นที่แสดงสินค้าในงาน SME Fair การจัดงาน CEO Forum การจัดงาน Business Matching ซึ่งสามารถสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมาก

    สำหรับการลงนามความร่วมมือดังกล่าว มีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้ ๑. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานการส่งเสริมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ๒.การให้ความช่วยเหลือแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของทั้งสองประเทศ โดยจัดให้มีการติดต่อเชื่อมโยงและประสานการเจรจาธุรกิจ ๓. ความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเน้นการสนับสนุนข้อมูลระหว่างกันและกัน ๔. การสนับสนุนซึ่งกันและกันในด้านการศึกษาดูงาน การอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับแผนงานการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของทั้งสองประเทศ ๕. ความร่วมมือเพื่อการสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยและญี่ปุ่น รวมถึงความร่วมมืออื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยความเห็นชอบร่วมกัน และ ๖. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ International Center ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยประสานการดำเนินงานของทั้งสองประเทศตามบันทึกช่วยจำฉบับนี้

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม


     นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีความร่วมมืออื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยความเห็นชอบร่วมกันตามความเหมาะสมที่เห็นว่า จะนำมาช่วยพัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ SMEs ของทั้งสองประเทศได้ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานในการประสานการดำเนินงานกับ SMRJ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ SMEs เป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมต่างๆ โดยครอบคลุมทั้งด้านการสร้างงานสร้างมูลค่าเพิ่มการสร้างเงินตราต่างประเทศการช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศ โดยการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นในการลงทุน การสร้างเสริมประสบการณ์ รวมถึงการช่วยเชื่อมโยงกับกิจการขนาดใหญ่ และภาคการผลิตอื่นๆ อาทิ ภาคเกษตรกรรม ตลอดทั้งเป็นแหล่งพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงาน 
    ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๙๘.๕ ของวิสาหกิจทั้งหมด ทั้งนี้ SMEs ไทยสร้างรายได้ให้ประเทศได้กว่า ๑.๗๖ ล้านล้านบาทต่อปี ขณะที่ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs สัดส่วนร้อยละ ๙๙.๗ ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ และสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้สูงถึง ๔๘.๔ พันล้านเยน หรือคิดเป็น ๑๔.๙๘ ล้านล้านบาท ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือกันระหว่าง SMEs ไทยกับญี่ปุ่นครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนและเสริมสร้างให้ SMEs ไทยเข้มแข็งและแข็งแกร่งมากขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ ๕-๑๐ ในปี ๒๕๕๘ 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีโต๊ะญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่นทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น อาทิ จังหวัดฟูกุโอกะ จังหวัดไซตามะ จังหวัดยามานาชิ จังหวัดโทโทริ จังหวัดอะคิตะ จังหวัดนากาโนะ และจังหวัดโทยาม่า โดยในส่วนของธุรกิจ SMEs ไทยและญี่ปุ่น เคยร่วมมือกันมาบ้างแล้วในหลายโครงการ สำหรับการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการขยายความร่วมมือที่มีอยู่ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ตลอดทั้งการให้ความรู้และเสนอแนะประสบการณ์ด้านการพัฒนามหาวิทยาลัยและศูนย์บริการ SMEs (SMEs University) และการขยายศูนย์ ให้บริการทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ SMEs หรือ (Business Development Service Center) ในประเทศไทย 


    “อย่างไรก็ตาม หลังจากพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานเสร็จสิ้นก็จะเดินหน้าดำเนินกิจกรรมความร่วมมือต่างๆ ภายใต้งบประมาณจากทั้งสองประเทศ ซึ่งคาดว่าการได้รับความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างดีอีกครั้ง โดยเฉพาะการสร้างแรงขับเคลื่อนให้ธุรกิจ SMEs ของไทยขยายตัวขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว เนื่องจากญี่ปุ่นมีโครงสร้างการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจ SMEs มาแล้วกว่า ๗๐ ปี ดังนั้น แผนการพัฒนาธุรกิจ SMEs จึงมีความมั่นคง อีกทั้งผู้ประกอบการ SMEs ของญี่ปุ่นก็ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับ จากภาคธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหลายด้วย” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวสรุป

 


 


686 1345