18thApril

18thApril

18thApril

 

September 22,2014

แบ่งแยกชนวนแตกแยก ทหารห้ามประจัน บัวใหญ่ขอมติแค่ ๘ อ.

 

    ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านแยก ‘จังหวัดบัวใหญ่’ ยังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ‘วิรัช’ อดีตส.ส.เพื่อไทย เผยคัดค้านชัดเจนหลายสิบปีแล้ว ล่าสุดผู้ใหญ่ในกองทัพขอร้อง ผู้มีความคิดต่างหยุดเคลื่อนไหวรอดูผู้บริหารบ้านเมืองจัดการปัญหาอย่างไร? ‘อรุณ’ ระบุประชามติต้องมีขอบเขต ยืนยันไม่ได้มีผลประโยชน์ที่ดิน อย่าชี้นำการเมืองเป็นเครื่องมือต้าน 

    ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดบัวใหญ่ พ.ศ. .... โดยนายอรุณ อัครปรีดี คหบดี และอดีตนายกเทศมนตรีตำบลบัวใหญ่ ได้วิ่งเต้นรวบรวมภาคประชาชน ๘ อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย บัวใหญ่, คง, บ้านเหลื่อม, โนนแดง, ประทาย, แก้งสนามนาง, สีดา และบัวลาย ซึ่งเดิมเป็นอำเภอเดียวกัน คือ “ด่านนอก” ร่วมกันลงรายชื่อจำนวน ๒๐,๕๘๒ คน ให้อำเภอบัวใหญ่ และ ๗ อำเภอใกล้เคียง แยกการปกครองจากจังหวัดนครราชสีมาเพื่อตั้งเป็นจังหวัดใหม่ กระทั่งเมื่อช่วงบ่ายวันที่ ๑๑ กันยายนที่ผ่านมา ในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.นครราชสีมา) สมัยสามัญ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๗ ปรากฏว่า ได้บรรจุร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดบัวใหญ่ ในวาระที่ ๘ เพื่อขอมติจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (ส.อบจ.นครราชสีมา) พิจารณาในครั้งนี้ด้วย โดยผ่านมติเห็นชอบ ๓๒ เสียง และงดออกเสียง ๗ เสียง จากส.อบจ.นครราชสีมา ที่เข้าร่วมประชุมและลงมติในวาระนี้จำนวน ๓๙ คน ดังรายละเอียดในฉบับที่ ๒๒๔๖ วันที่ ๑๖-๒๐ กันยายน ๒๕๕๗ 
‘องอาจ’ยืนยันไม่ได้สนับสนุน
    ต่อมาวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๗ นายองอาจ พฤกษ์พนาเวศ ส.อบจ.อ.เมืองนครราชสีมา เขต ๓ ได้โทรศัพท์มาชี้แจงว่า “การนำเสนอข่าวดังกล่าว โดยปรากฏรายชื่อของตนที่ลงมติเห็นชอบสนับสนุนด้วยนั้น มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากเมื่อถึงวาระที่ ๘ เพื่อขอความเห็นชอบ ส.อบจ.นครราชสีมา ลงมติในร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดบัวใหญ่นั้น ตนไม่ได้อยู่ในห้องประชุม ซึ่งในวันนั้นมี ส.อบจ.ที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมเท่าที่จำได้ คือ นายนัฏฐชัยฐ์ ธนกนกนนทณ์ (ส.อบจ.อ.เมืองฯ เขต ๖), นายวีระวัฒน์ มิตรสูงเนิน (ส.อบจ.อ.เมืองฯ เขต ๗), นายสมบัติ กาญจนวัฒนา (ส.อบจ.อ.เมืองฯ เขต ๘) และตน คือนายองอาจ พฤกษ์พนาเวศ ส.อบจ.อ.เมืองฯ เขต ๓ จึงขอชี้แจงเพื่อความถูกต้อง และดำเนินการแก้ไข เพราะเกรงว่าประชาชนในพื้นที่จะเข้าใจผิด เนื่องจากตนไม่ได้อยู่ในห้องประชุม จึงไม่ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดบัวใหญ่”     
    จากนั้น ‘โคราชคนอีสาน’ ตรวจสอบข้อมูลการประชุมสภาอบจ.นครราชสีมา สมัยสามัญ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๗ จากกองกิจการสภา อบจ.นครราชสีมา เนื่องจากในวันประชุมทางอบจ.นครราชสีมา ไม่ได้เชิญสื่อมวลชนทำข่าว ปรากฏว่า ในวันนั้นมี ส.อบจ.นครราชสีมา เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น ๔๖ คน จากจำนวน ส.อบจ.นครราชสีมา ทั้งหมด ๔๘ คน เนื่องจากมี ส.อบจ. จำนวน ๒ คน ที่ขอลาการประชุมในครั้งนี้ คือ นายรชฏ ด่านกุล ส.อบจ.อ.ด่านขุนทด เขต ๑ และนายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ส.อบจ.อ.สูงเนิน 


    ซึ่งเมื่อถึงวาระที่ ๘ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดบัวใหญ่ พ.ศ. .... ตามที่มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ๐๐๑๘.๑/๑๙๘๗๓ ลงนามโดยนายสุชาติ นพวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาขณะนั้น (ปัจจุบันย้ายเป็นรองผวจ.หนองคาย) ให้สภาอบจ.นครราชสีมา ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งจังหวัดใหม่ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.๒๕๔๘ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ยังไม่รายงานผลดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกสภาท้องถิ่นว่ามีเหตุความจำเป็น ผลดี ผลเสีย สมควรให้คำรับรองร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่หรือไม่ โดยนำหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๒๔ มาพิจารณาประกอบกับอัตลักษณ์ของจังหวัดนครราชสีมาที่ทุกคนเป็นลูกหลานของท้าวสุรนารี (ย่าโม) ด้วยนั้น ปรากฏว่า มีส.อบจ.นครราชสีมา ที่ยังอยู่ในห้องประชุมจำนวน ๓๙ คน โดยมี ส.อบจ.นครราชสีมา ที่ลงมติเห็นชอบ ๓๒ เสียง ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลรายงานการประชุมที่ลงมติในวาระนี้ 
    ขณะที่ส.อบจ.นครราชสีมา จำนวน ๗ คน ที่งดออกเสียง ได้แก่ ๑. นายกิติพงศ์ พงศ์สุรเวท ประธานสภาอบจ.นครราชสีมา ๒. นายวิสูตร เจริญสันธิ์ รองประธานสภาอบจ.นครราชสีมา ๓. นายมนัส ศรีบงกช เลขานุการสภาอบจ.นคร ราชสีมา ๔. นายณัฏฐพัชร์ อนิวัตกูลชัย ส.อบจ.อ.ปากช่อง เขต ๑ ๕. นายสถาพร โชติ กลาง ส.อบจ.อ.โนนสูง เขต ๑ ๖. นายสมพร จินตนามณีรัตน์ ส.อบจ.อ.โนนสูง เขต ๒ และ ๗. นายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม ส.อบจ.อ.เสิงสาง ส่วน ส.อบจ.นครราชสีมา ที่ไม่อยู่ในที่ประชุม เมื่อถึงวาระการพิจารณาและขอมติในร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดบัวใหญ่ คือส.อบจ.ในเขตอำเภอเมือง ๔ คน ได้แก่ นายองอาจ พฤกษ์พนาเวศ เขต ๓, นายนัฏฐชัยฐ์ ธนกนกนนทณ์ ขต ๖, นายวีระวัฒน์ มิตรสูงเนิน เขต ๗ และนายสมบัติ กาญจนวัฒนา เขต ๘ ส่วนส.อบจ.อีก ๓ คนไม่ปรากฏชัดว่าเป็นใคร เนื่องจากเมื่อสอบถามประธานสภาอบจ.ฯ และเลขานุการ สภาฯ ได้รับคำตอบว่า จำไม่ได้แล้ว
    ทั้งนี้ ส.อบจ.นครราชสีมา มีทั้งสิ้น ๔๘ คนจาก ๔๘ เขต มีรายชื่อดังนี้ ๑. นายกิติพงศ์ พงศ์สุรเวท ประธานสภาอบจ.นครราชสีมา และส.อบจ.อ.เมืองฯ เขต ๑ ๒. นายวิสูตร เจริญสันธิ์ รองประธานสภาอบจ.นครราชสีมา ๓. นายพิเชฎฐ์ ชัยศรี รองประธานสภาอบจ.นครราชสีมา ๔. นายมนัส ศรีบงกช เลขานุการสภาอบจ.นครราชสีมา ๕. นายอุดลย์ อยู่ยืน ส.อบจ.อ.เมืองฯ เขต ๒ ๖. นายองอาจ พฤกษ์พนาเวศ ส.อบจ.อ.เมืองฯ เขต ๓ ๗. นายสุพจ ธรรมประทีป ส.อบจ.อ.เมืองฯ เขต ๔ ๘. นางสาวรัชฎา ใจกล้า ส.อบจ.อ.เมืองฯ เขต ๕ ๙. นายนัฏฐชัยฐ์ ธนกนกนนทณ์ ส.อบจ. อ.เมืองฯ เขต ๖ ๑๐. นายวีระวัฒน์ มิตรสูงเนิน ส.อบจ.อ.เมืองฯ เขต ๗ ๑๑. นายสมบัติ กาญจนวัฒนา ส.อบจ.อ.เมืองฯ เขต ๘ ๑๒. นายณัฏฐพัชร์ อนิวัตกูลชัย ส.อบจ.อ.ปากช่อง เขต ๑ ๑๓. นายอัฏฐกร อินทร์ศร ส.อบจ.อ.ปากช่อง เขต ๒ ๑๔. นายสมยศ คุณเวียง ส.อบจ.อ.ปากช่อง เขต ๓ ๑๕. นายศิริพงศ์ มกรพงศ์ ส.อบจ.อ.สีคิ้ว เขต ๑ 

    ๑๖. นายเลิศชัย กธนประศาสน์ ส. อบจ.อ.สีคิ้ว เขต ๒ ๑๗. นายภาณุ ยนต์สุข ส.อบจ.อ.ปักธงชัย เขต ๑ ๑๘. นายภูกิจ พันธ์เกษม ส.อบจ.อ.ปักธงชัย เขต ๒ ๑๙. นายชยุต พงศ์ธนทรัพย์ ส.อบจ.อ.ครบุรี เขต ๑ ๒๐. นายพรชัย อำนวยทรัพย์ ส.อบจ.อ.ครบุรี เขต ๒ ๒๑. รชฏ ด่านกุล ส.อบจ.อ.ด่านขุนทด เขต ๑ ๒๒. นายธนวัฒน์ ศิริปริญญานันต์ ส.อบจ.อ.ด่านขุนทด เขต ๒ ๒๓. นายสถาพร โชติกลาง ส.อบจ.อ.โนนสูง เขต ๑ ๒๔. นายสมพร จินตนามณีรัตน์ ส.อบจ. อ.โนนสูง เขต ๒ ๒๕. นายสาทิช บวชสันเทียะ ส.อบจ.อ.พิมาย เขต ๑ ๒๖. นายพงษ์พันธุ์ พันธุ์ศรีนคร ส.อบจ.อ.พิมาย เขต ๒ ๒๗. นายพิชัยศักดิ์ ชัยศรี ส.อบจ.อ.บัวใหญ่ เขต ๑ ๒๘. นายสมชาย ภิญโญ ส.อบจ.อ.แก้งสนามนาง ๒๙. นางสุพัตรา มากเมือง ส.อบจ.อ.ขามทะเลสอ ๓๐. นายชัชวาล พัฒนกำชัย ส.อบจ.อ.ขามสะแกแสง 


    ๓๑. นายไกรวัจน์ จุลศิริวัฒนกุล ส. อบจ.อ.คง ๓๒. นายไพฑูรย์ เพ็ญจันทร์ ส.อบจ. อ.พระทองคำ ๓๓. นายโกวิทย์ เลาวัณย์ศิริ ส.อบจ.อ.บ้านเหลื่อม ๓๔. นายสมจิต คิดการ ส.อบจ.อ.สีดา ๓๕. นางสาวจุฑาสัณห์ ตั้งตรีวีระกุล ส.อบจ.อ.บัวลาย ๓๖. นายสมโภชน์ จินตนามณีรัตน์ ส.อบจ.อ.โนนแดง ๓๗. นายบัวพันธ์ จันคำวงษ์ ส.อบจ.อ.ประทาย ๓๘. นายชยกฤต ยินดีสุข ส.อบจ.อ.ลำทะเมนชัย ๓๙. นางสาวรมย์ธีรา แปลนดี ส.อบจ.อ.เมืองยาง ๔๐. นายกลวัชร อึ้งสวัสดิ์ ส.อบจ.อ.ชุมพวง ๔๑. นางอรอนงค์ ธนสุนทรสุทธิ์ ส.อบจ.อ.ห้วยแถลง ๔๒. นายชาคริต ทิศกลาง ส.อบจ.อ.เฉลิมพระเกียรติ ๔๓. นายบุญดี วงศ์ไตรรัตน์ ส.อบจ.อ.โชคชัย ๔๔. นายกรีธาพล วรรณทาป ส.อบจ.อ.หนองบุญมาก ๔๕. นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ส.อบจ.อ.สูงเนิน ๔๖. นายชาญชัย ศรีวิพัฒน์ ส.อบจ.อ.เทพารักษ์ ๔๗. นายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม ส.อบจ.อ.เสิงสาง ๔๘. นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ส.อบจ.อ.วังน้ำเขียว 
ทภ.๒ ขอไม่ให้ประจันหน้า
    ในส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่คัดค้าน ซึ่งเปิดพื้นที่สังคมออนไลน์ (Socail Network) ผ่านเฟซบุ๊ก ใช้ชื่อแฟนเพจว่า “ชาวโคราช “คัดค้านการแยกจังหวัดบัวใหญ่” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO)” ภายหลังร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดบัวใหญ่ ผ่านมติสภาอบจ.นครราชสีมา ด้วยความเห็นชอบ ๓๒ เสียงนั้น มีรายงานว่า เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถนนราชดำเนิน “อมรินทร์ทีวี” ได้นัดหมายขอสัมภาษณ์นายวินัย กีรติอุไร แกนนำกลุ่มชาวโคราชคัดค้านการแยกจังหวัดบัวใหญ่ พร้อมกับนายอรุณ อัครปรีดี อดีตนายกเทศมนตรีตำบลบัวใหญ่ ซึ่งเป็นผลักดันร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดบัวใหญ่ แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายปรากฏว่า นายวินัยฯ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับอมรินทร์ทีวี ในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมขณะนี้ เนื่องจากทางกองทัพภาคที่ ๒ (ทภ.๒) ขอร้องไม่ให้ออกมาแสดงความคิดเห็นบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จึงมีเพียงกลุ่มผู้สนับสนุน ๑๐ คน นำโดยนายอรุณ อัครปรีดี ที่เดินทางมาตามนัดหมาย


   ตั้งเป้าล่ารายชื่อ ๒ หมื่นคน
    นายวินัย กีรติอุไร แกนนำกลุ่มชาวโคราชคัดค้านการแยกจังหวัดบัวใหญ่ กล่าวว่า “ขณะนี้แฟนเพจ “ชาวโคราช “คัดค้านการแยกจังหวัดบัวใหญ่” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO)” ยังคงเดินหน้าขอความเห็นชาวโคราชที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งมีผู้เข้ากลุ่มขณะนี้ไม่กี่วันจำนวน ๕ พันกว่ารายแล้ว และยังเปิดช่องทางการคัดค้าน ให้ส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนมาตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในแฟนเพจ ซึ่งเอกสารหลักฐานการแสดงตนคัดค้านที่ส่งมาจะเป็นความลับของกลุ่ม อีกทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วยสามารถประสานหรือส่งเอกสารหลักฐานเพื่อคัดค้านการแยกจังหวัดบัวใหญ่ได้โดยตรงกับทางกลุ่ม ซึ่งเบื้องต้นตั้งเป้ารายชื่อผู้คัดค้านไว้ประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน และในวันที่ ๒๒ กันยายนนี้ ทางกลุ่มอาจจะยื่นหนังสือคัดค้านที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชีมา เพื่อให้ยังยั้งไม่ให้เสนอร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดบัวใหญ่ ต่อสนช.”  
    อย่างไรก็ตาม ข่าวการแยกอำเภอบัว ใหญ่ และ ๗ อำเภอใกล้เคียง ออกจากจังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช ยังอยู่ในความสนใจของประชาชนในพื้นที่อย่างมาก โดยเฉพาะการออกมาคัดค้านของกลุ่มดังกล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทบทวนและทำประชามติของชาวโคราชทั้งจังหวัด เช่นเดียวกับกรณีที่สกอตแลนด์ ซึ่งขอแยกจากการปกครองออกจากประเทศอังกฤษ โดยผลการนับคะแนนประชามติ เสียงโหวตไม่เห็นด้วยกับการแยกประเทศของสกอตแลนด์ได้รับชัยชนะ โดยได้รับคะแนน ๒,๐๐๑,๙๒๖ เสียง ต่อผู้เห็นด้วยในการแยกประเทศ ๑,๖๑๗,๙๘๙ คิดเป็นร้อยละ ๕๕ และ ๔๕ ตามลำดับ ถือเป็นการสิ้นสุดข้อถกเถียงต่อการแยกตัวเป็นเอกราชออกจากประเทศอังกฤษ 
‘อรุณ’ประชามติแค่ ๘ อำเภอ
    ต่อเรื่องนี้นายอรุณ อัครปรีดี ให้สัมภาษณ์กับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “ประชามติดังกล่าวก็ต้องยอมรับตามหลักสากล กรณี สกอตแลนด์จะแยกจากสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ชาวสกอตแลนด์เป็นผู้ตัดสิน เพราะประชาชนในสกอตแลนด์ทั้งหมดมองว่าวิถีชีวิตเขาต้องเปลี่ยนแปลง เหมือนกรณีอำเภอบัวใหญ่ และอีก ๗ อำเภอ ต้องการแยกออกจากโคราชเช่นเดียวกัน ถ้าทำประชามติแล้วเสียงโหวตไม่ถึงร้อยละ ๖๐ พวกเรายุติแน่ ๑๐๐% เพราะฉะนั้น การทำประชามติต้องมีขอบเขต เพราะเมื่อพูดถึงการแยกทั้ง ๘ อำเภอออกจากโคราช แล้วไปขอประชามติทั้งประเทศ คิดว่าผ่านไหม? คนที่ได้รับผลกระทบ และเสียประโยชน์ใคร? ประชาชนทั้ง ๘ อำเภอใช่ไหม? เพราะทั้ง ๘ อำเภอมีโอกาสที่จะเจริญเติบโต แต่ให้อีก ๒๔ อำเภอมาตัดสิน มันเป็นความเจ็บช้ำ เพราะฉะนั้น ถ้าใช้วิธีการทำประชามติแบบไม่มีขอบเขตจะทำให้ประชาชนทั้ง ๘ อำเภอเจ็บช้ำ ส่วนที่อ้างว่าจะสูญเสียอัตลักษณ์ต่างๆ เปรียบเทียบกับประโยชน์จากการแยกจังหวัดเพื่อให้ประชาชนทั้ง ๘ อำเภออยู่ดีกินดี หรือแยกออกไปแล้วทั้ง ๘ อำเภอแย่ลง ทั้ง ๘ อำเภอก็มีสิทธิ์เหนือคนอื่นที่จะตัดสินชะตาชีวิตของตนเอง อย่าใช้หลักการที่อื่นมาเป็นตัวกำหนด”  
ยืนยันไม่ได้มีผลประโยชน์ที่ดิน


    เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าผู้ผลักดันแยกจังหวัดบัวใหญ่ออกจากโคราช มีผลประโยชน์เรื่องที่ดินซึ่งเตรียมไว้หลายแปลง เพื่อรองรับการตั้งจังหวัดใหม่ใช่หรือไม่? นายอรุณ ชี้แจงว่า “ที่ดินที่ก่อสร้างเกิดจากกลุ่ม “ก้าวหน้าบัวใหญ่” ซึ่งเป็นผู้บริหารเทศบาลตำบลบัวใหญ่ขณะนั้น โดยดร.วิญญู อังคณารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เคยลงพื้นที่อำเภอบัวใหญ่ เมื่อปี ๒๕๒๒ และบอกว่า กระทรวงมหาดไทย กำลังจะยกฐานะอำเภอบัวใหญ่เป็นจังหวัด ถ้าสามารถหาพื้นที่ได้ ๑๐๐ ไร่จะทำให้เรื่องนี้เดินหน้าเร็วขึ้น กลุ่มก้าวหน้าบัวใหญ่ซึ่งไม่ขอรับเงินเดือน ก็นำเงินมากองไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เพราะรู้ว่าจะเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน จากเดิมมีแผนจะนำเงินไปสร้างห้องผู้ป่วย เมื่อเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์มากกว่า จึงใช้เงินที่เหลืออยู่ ๕๐๐,๐๐๐ บาท บวกกับเงินเพิ่มเติมอีก ๒๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อที่ดิน ๑๐๐ กว่าไร่เมื่อ ๓๐ ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มก้าวหน้าบัวใหญ่ตายกว่าครึ่งแล้ว พวกกลุ่มที่เหลือยังจะหาผลประโยชน์จากที่ที่ยกที่ดินให้รัฐหรืออย่างไร การ กล่าวหาเพื่อต้องการดิสเครดิต และที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวเรื่องนี้หลายคนมาจาก ๘ อำเภอ คนที่มีฐานะในอำเภอบัวใหญ่ และมีที่ดินมากกว่าตนเป็น ๑๐๐ เท่าก็มี ขอยืนยันว่าตนไม่เคยแสวงหาประโยชน์จากเรื่องนี้ การที่จะกล่าวหาอย่างนั้นเป็นสิ่งที่พูดจากอคติส่วนตัว ไมใช่ประเด็นข้อเท็จจริง คนในพื้นที่รู้ดี แต่คนห่างไกล กล่าวหาประเด็นนี้มานานแล้ว ทั้งที่การรวบรวมเงินและซื้อที่ดินเกิดจากเกิดจากจิตศรัทธา ทั้งนักบริหาร และนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งคิดไว้ ๓๐ กว่าปีแล้ว” 
อย่านำการเมืองเครื่องมือต้าน
    ส่วนกระแสข่าวที่ว่า นายโกศล ปัทมะ อดีตส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ให้การสนับสนุนนั้น นายอรุณ กล่าวว่า “ไม่เป็นความจริง ขอกราบเรียนว่า เคยไปยื่นหนังสือที่พรรคเพื่อไทย คุณโกศลก็ไม่กล้าลงมาพบ มีแต่มารับหนังสือขณะจัดประชุม ๘ อำเภอ เพื่อเสนอรายชื่อยกฐานะอำเภอบัวใหญ่เป็นจังหวัด หลังจากนั้นไม่รู้ว่ามีแรงกดดันอะไร คุณโกศลหลบหน้ามาตลอด กิจกรรมทุกอย่างไม่เคยมาร่วม ครั้งหลังเดินทางไปพบที่พรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่ลงมาพบพวกเราเลย การกล่าวหาเรื่องนี้เพราะต้องการยกปัญหาการเมือง เพื่อให้กลุ่มหนึ่งเป็นเครื่องมือของการเมือง และเกิดแรงต่อต้าน”
ปชช.ทุกข์ยากบนความยิ่งใหญ่


    นายอรุณ กล่าวอีกว่า การแยกจังหวัดบัวใหญ่ถ้าพิจารณาตามเหตุและผล โดยมีเหตุที่สมควรยอมรับตนก็จะยอมรับ แต่ถ้าพิจารณาอย่างไม่มีเหตุผล โดยสร้างเจดีย์ใหญ่และอลังการที่สุดให้ โดยใช้หิน ปูน ทราย มาเป็นฐานรองรับถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ถ้าต้องการความยิ่งใหญ่ โดยเอาความทุกข์ยากประชาชนทั้ง ๘ อำเภอมาเป็นฐานเพื่อให้ความยิ่งใหญ่คงอยู่ ความทุกข์ตรงนี้สมควรได้รับการแก้ไขไหม? ขณะนี้ยังไม่มีการปฏิรูปและยังมองไม่เห็นทาง การยกฐานะอำเภอบัวใหญ่ และอีก ๗ อำเภอ คนในพื้นที่มีโอกาสเสนอความเห็นแก้ไขปัญหาตนเอง ไม่ใช่คนอื่นอยู่ไกลกำหนด ตรงนี้ไม่มีปัญหา เราต้องการลืมตาอ้าปากให้ชาวรากหญ้า โดยเห็นแก่ประโยชน์เกษตรกรจะได้มีที่ดินทำกินและผลผลิตดีขึ้นมากกว่า เพราะเมื่อมีกำลังซื้อก็สามารถค้าขาย ธุรกิจก็ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ซึ่งประโยชน์ของตนก็เป็นปลายเหตุที่ได้เท่านั้น อยากวิงวอนให้ทุกคนเข้าใจและให้ความเป็นธรรมกับพวกเรา เพราะความทุกข์ยากดังกล่าวของทั้ง ๘ อำเภอ อาจทำให้ประชากรไหลออกนอกพื้นที่ เพราะยังไม่เกิดการพัฒนา
‘วิรัช’คัดค้านชัดเจนหลายสิบปี
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ และอดีตส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ได้แสดงความคิดเห็นการคัดค้านแยกอำเภอบัวใหญ่ และอีก ๗ อำเภอใกล้เคียง ออกจากจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันมี ๓๒ อำเภอ และเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๗ นายวิรัช ให้สัมภาษณ์กับ ‘โคราชคนอีสาน’ เพียงว่า “เรื่องการคัดค้านแยกจังหวัดบัวใหญ่ ตนมีความชัดเจนมาหลายสิบปีแล้วที่จะคัดค้าน ขณะนี้ไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์ในรายละเอียดการคัดค้านต่างๆ เนื่องจากอยู่ที่จังหวัดหนองคาย เมื่อวานนี้ผู้ใหญ่ในกองทัพก็โทรศัพท์มาขอตนไว้ ตนก็ขอกลับว่าอย่าให้ฝ่ายที่ผลักดันเรื่องนี้ล่ารายชื่อ ขณะนี้ตนรอดูผู้บริหารบ้านเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร”       


    อนึ่ง การจัดสัมมนากรณีนี้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๗ ก็มีความพยายามระงับยับยั้งจากฝ่ายทหาร โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นชนวนแห่งการแตกแยกและแตกสามัคคี ไม่เหมาะกับสถานการณ์ของบ้านเมือง

 


683 1342