16thApril

16thApril

16thApril

 

September 22,2014

‘ก.ธ.จ.โคราช’ทำงานเชิงรุก สอดส่องใช้งบก่อสร้าง-ดูงาน พร้อมบริการรักษาสุขภาพ

คณะกรรมการธรรมาภิบาลฯ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน

    เสวนาเพื่อประชาสัมพันธ์ บทบาท หน้าที่ และภารกิจของกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด ย้ำ ‘โคราช’ จากนี้ไปทำงานเชิงรุกติดตามการใช้งบท้องถิ่น เน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการศึกษาดูงาน พบทุจริตและผิดระเบียบผู้กระทำผิดต้องควักกระเป๋าชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนคดีอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมสอดส่องการให้บริการตรวจรักษาสุขภาพประชาชน 

    เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๔.๓๐ น. ที่สบายโฮเทล จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา จัดเสวนา “บทบาท หน้าที่ ภารกิจของคณะกรรมการธรรมา ภิบาลจังหวัด (ก.ธ.จ.)” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับบทบาท อำนาจ หน้าที่ ภารกิจ และผลการดำเนินงานของคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดนครราชสีมา (ก.ธ.จ.นครราชสีมา) โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เครือข่ายอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน (อป.มช.) จังหวัดนครราชสีมา และสื่อมวลชน ร่วมกิจกรรมกว่า ๕๐ คน 
เร่งประชาสัมพันธ์บทบาท‘ก.ธ.จ.’
    นางสุวาพร เสภาศีราภรณ์ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ รักษาการประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์ได้จัดสรรงบประมาณและมอบหมายให้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดทั่วประเทศ จัดเสวนาเพื่อประชาสัมพันธ์บทบาท หน้าที่ ภารกิจของคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด หรือ ก.ธ.จ. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ก.ธ.จ.) พ.ศ.๒๕๕๒ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๔ ตลอดทั้งประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากการมีกลไกของ ก.ธ.จ. ให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน ให้เกิดการรับรู้ ตระหนักถึงความสำคัญ รวมทั้งให้การยอมรับในบทบาท หน้าที่ และให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของ ก.ธ.จ. โดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามหลักธรรมาภิบาล และเพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานตามภารกิจและบทบาทหน้าที่ของ ก.ธ.จ.บรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ที่กำหนดให้ ก.ธ.จ. เป็นองค์กรตรวจสอบภาคประชาชนอย่างแท้จริง 
รองปธ.ไม่ทำภารกิจแค่ทฤษฎี


    ต่อมานางสาวทิวาพร แสนเมืองชิน นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการเสวนาในหัวข้อ “บทบาท หน้าที่ ภารกิจ กระบวนการและขั้นตอนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” โดยนายพยุงศักดิ์ จายะภูมิ์ รองประธานกรรมการ ก.ธ.จ.นครราชสีมา กล่าวว่า “ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีคณะกรรมการธรรมภิบาลจังหวัด หรือ ก.ธ.จ. ชุดที่ ๒ จำนวน ๒๐ คน โดยมีนายจิรายุ นันท์ธราธร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ ๑๔ เป็นประธาน ก.ธ.จ.นครราชสีมา ขณะนี้ ก.ธ.จ.นครราชีมา ชุดที่ ๒ ดำเนินงานมากว่า ๑ ปีแล้ว ในวาระที่เหลืออยู่อีก ๒ ปี จะทำอย่างไรให้การทำงานปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เป็นทฤษฎีที่แปะไว้ข้างฝาเท่านั้น เพราะอำนาจหน้าที่ของ ก.ธ.จ. มีดังนี้ 
    ๑. สอดส่องการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัด ให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.๒๕๔๖ อย่างน้อย ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๓ ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ.๒๕๕๒ ๒. แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ในกรณีที่พบว่ามีการละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ หรือมีกรณีทุจริต ๓. เสนอแนะแนวทางการปฏิบัติและการส่งเสริมตามหลักคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล เพื่อการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานของรัฐในจังหวัด ๔. ติดตามการปฏิบัติตามมติ ก.ธ.จ. และ ๕. เผยแพร่ผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อสาธารณะตามที่เห็นสมควร”
มุ่งตรวจงบก่อสร้าง-ศึกษาดูงาน


    นายพยุงศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากนี้ไป ก.ธ.จ. นครราชสีมา จะดำเนินการติดตามสอดส่องการใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และแผนงบประมาณการดำเนินงานในระยะ ๓ ปี โดยเน้นที่ ๑. งบประมาณโครงการก่อสร้างต่างๆ หากตรวจสอบพบการทุจริต เมื่อเข้าสู่กระบวนการเอาผิดทางกฎหมาย กรณีเป็นคดีแพ่งผู้ที่กระทำผิดก็ต้องควักกระเป๋าชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนกรณีคดีอาญาก็จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา ๑๕๗ และ ๒. การใช้งบประมาณศึกษาดูงานให้เกิดประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาทั้งหน่วยงานภาครัฐ และอปท. ใช้งบประมาณในการศึกษาดูงานจำนวนมาก นอกจากนี้จะสอดส่องการปฏิบัติภารกิจการให้บริการของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐทางด้านการตรวจและรักษาสุขภาพของประชาชนด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีการร้องเรียนการให้บริการที่ล่าช้าของโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ฉะนั้น ก.ธ.จ.นครราชสีมา จะทำงานเชิงรุกมากขึ้น ไม่ใช่แค่ตั้งรับเพียงอย่างเดียว เพราะขณะนี้เรื่องร้องเรียนที่เข้ามายังมีจำนวนไม่มากนัก
    นายพยุงศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องร้องเรียนการทุจริตว่า “ยกตัวอย่างเช่นมีประชาชนเดือดร้อนร้องเรียน อปท.แห่งหนึ่งว่า อปท.มีโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำ โดยเรียกรับเงินค่าวางท่อระบายน้ำบริเวณหน้าบ้าน แต่มีบ้านของประชาชนหลังหนึ่งไม่ยินยอมจ่าย ปรากฏว่า อปท.แห่งนี้ไม่วางท่อระบายน้ำให้บริเวณหน้าบ้านของประชาชนรายนี้ เขาจึงร้องเรียนมายัง ก.ธ.จ.นครราชสีมา จึงเข้าไปตรวจสอบและพบว่ามีการเรียกรับเงินค่าวางท่อระบายน้ำจริง แต่อปท.อ้างว่าหากจะดำเนินการวางท่อระบายให้บริเวณหน้าบ้านหลังดังกล่าว ไม่มีงบประมาณมาดำเนินการให้ เพราะได้นำงบประมาณดำเนินโครงการทั้งหมดแล้ว กระทั่งหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งประสานมาว่าจะช่วยเหลือ อปท.แห่งนี้ เพื่อวางท่อระบายน้ำให้บริเวณหน้าบ้านของผู้ร้องเรียนรายนี้ เรื่องนี้จึงได้ข้อยุติ นอกจากนี้ ยังมีกรณีตรวจสอบพบความผิดปกติการประมูลโครงก่อสร้าง ๕.๖ แสนบาท ถูกกว่าราคากลางที่ตั้งวงเงินไว้ ๒.๑ ล้านบาท ซึ่งหากมองในความเป็นจริงจะส่งผลดีต่อการประหยัดงบประมาณรัฐ แต่ก็ตั้งคำถามว่าเหตุใดผู้รับเหมาถึงยอมเสนอค่าจ้างก่อสร้างในราคาต่ำกว่าราคากลาง และเมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบก็พบว่า ผู้รับเหมาทำงานถูกต้องตามสัญญาจ้าง ซึ่งกรณีนี้ต้องติดตามต่อไป โดยเฉพาะการสอบราคาหรือตั้งราคากลางที่สูงเกินจริงของหน่วยงานรัฐ และอปท.” 
ผดุงธรรมาภิบาลบริหารราชการ


    นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการ ก.ธ.จ. นครราชสีมา และอดีตประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า ดังจะเห็นได้ว่าบทบาทของ ก.ธ.จ. คล้ายกับป.ป.ช. ความเป็นมาของ ก.ธ.จ.เกิดจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๗ เกี่ยวกับแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งปัจจุบัน คสช. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว และประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.๒๕๔๖ ดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๕๐ ตอนหนึ่งว่า “...เพื่อให้เกิดการบริหารราชการในราชการบริหารส่วนภูมิภาคสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และให้การบริหารราชการแบบบูรณาการในจังหวัดบรรลุผล สมควรปรับปรุงอำนาจการดำเนินการของจังหวัด การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และการจัดทำงบประมาณของจังหวัดให้เหมาะสม รวมทั้งสมควรส่งเสริมให้มีคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด เพื่อสอดส่องและเสนอแนะการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานรัฐในจังหวัด ให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อันจะทำให้การบริหารเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และมีความรับผิดชอบ...”
    นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ก.ธ.จ.นครราชสีมา ได้วางแนวทางการสอดส่องแผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาในภาพรวม โดยเฉพาะโครงการก่อสร้าง ๒ ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งขั้นตอนการสอดส่องหรือตรวจสอบการใช้งบประมาณ เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต และผดุงไว้ซึ่งหลักธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีนั้น เริ่มตั้งแต่การประกวดราคา หรือการประมูลโครงการก่อสร้าง การตรวจสอบระหว่างการก่อสร้างและหลังก่อสร้างให้ตรงตามสัญญาว่าจ้าง ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย ซึ่งไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ ก.ธ.จ.เพียงอย่างเดียว แต่ขณะนี้ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมด้วย 
    ผศ.ดร.สงวน วงษ์ชวลิตกุล ที่ปรึกษา ก.ธ.จ. นครราชสีมา ด้านวิศวกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันตนเป็นคณะกรรมการสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และอาจารย์ประจำด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ในการตรวจสอบโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรม เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบ โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ทั้งในขั้นตอนการก่อสร้างทางวิศวกรรม และการตรวจรับงานให้ตรงตามแบบหรือในสัญญาว่าจ้างของโครงการนั้นๆ 
๒๐ คน‘ก.ธ.จ.นครราชสีมา’


    อย่างไรก็ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ.๒๕๕๒ ได้กำหนดถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวน วิธีการสรรหา และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด หรือ ก.ธ.จ. ประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีเขตอำนาจในจังหวัดเป็นประธาน และผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนในจังหวัดนั้น เป็นกรรมการ ซึ่งจำนวนกรรมการ ก.ธ.จ. แต่ละแห่งให้ถือเกณฑ์จำนวนอำเภอของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก โดยจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวน ก.ธ.จ.นครราชสีมา จำนวน ๒๐ คน แบ่งเป็นผู้แทนภาคประชาสังคม ๑๑ คน ผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น ๔ คน และผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ๔ คน ดังนี้
    ๑. นายจิรายุ นันท์ธราธร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ ๑๔ เป็นประธาน ๒. นายพยุงศักดิ์ จายะภูมิ์ รองประธาน ก.ธ.จ.นครราชสีมา ภาคประชาสังคม โดยกรรมการจากภาคประชาสังคม นางนิตยา เกษประเสริฐ, นายวัชระ กานตวนิชกูร, นายณรงค์ชัย เลี้ยงภัทรวงษ์, นางประชุม ซอมกระโทก, นางเบญจภรณ์ ห้าวหาญ, นางสารภี โชคเกิด, นายประยูร วรวงศ์วัฒนะ, นายชวน แสนแก้ว, นายวรทัศน์ ปฐมภูมิพันธ์ และนายนรา แตงทิพย์, กรรมการจากภาคสมาชิกสภาท้องถิ่น นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล, นายรัชพล ธนัทโรจนกุล, นายสายัณห์ เสริมสิริอำพร และนายพงษ์ศิลป์ พุทไธสง ส่วนกรรมการจากภาคธุรกิจเอกชน นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง, นายสมศักดิ์ ศรีบัวรอด, นายอรุณ บุญประสาทสุข และนายจรูญ จิตต์อำนวยวัฒนา ทั้งนี้ กรรมการผู้แทนภาคประชาสังคม กรรมการผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น และกรรมการผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี โดยกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการสรรหาอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน ๒ วาระไม่ได้     
จี้สหกรณ์จังหวัดทำงานล่าช้า


    ภายหลังการเสวนาเสร็จสิ้น นายประจวบ ศรีผ่อง ราษฎรบ้านเลขที่ ๔๖ หมู่ ๕ ต.ชุมพวง อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา พร้อมตัวแทนสมาชิกสหกรณ์การเกษตรชุมพวง จำกัด ได้ยื่นหนังสือต่อนายพยุงศักดิ์ จายะภูมิ์ รองประธานกรรมการ ก.ธ.จ.นครราชสีมา และนายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการ ก.ธ.จ. ภาคธุรกิจเอกชน เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของสหกรณ์การเกษตรชุมพวง จำกัด ภายหลังร้องเรียนความไม่โปร่งใสในการบริหารงานของสหกรณ์แห่งนี้ต่อสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมาแล้ว ปรากฏว่า มีความล่าช้า และไม่มีความเป็นกลาง อีกทั้งได้ร้องเรียนถึง คสช. โดยเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ได้มีทหารเข้ามาไกล่เกลี่ย แต่นายประจวบฯ เห็นว่า การทุจริตนั้นไม่ควรที่จะไกล่เกลี่ย เพราะเป็นการฉ้อโกงและการประชุมวันนั้น ผู้จัดการสหกรณ์ก็ไม่สามารถให้คำตอบในประเด็นต่างๆ ได้ ซึ่งเรื่องนี้นายพยุงฯ รับปากจะตรวจสอบต่อไป และเป็นอำนาจของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดในการกำกับดูแลสหกรณ์ดังกล่าว

 


694 1342