26thApril

26thApril

26thApril

 

September 22,2014

หวั่นลวง‘เห็ดล้านก้อน’ โวขยายแล้ว ๑๒ จว.

ร้องตรวจสอบโครงการเห็ดล้านก้อน หวั่นถูกหลอก หลังไม่ได้รับเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทสร้างโรงเรือนและซื้อก้อนเห็ดตามที่บริษัทกล่าวอ้าง ยอมทิ้งเงินค่าสมัครแรกเข้าและเงินออม เกษตรจังหวัดสั่งสอบข้อเท็จจริง ด้านประธานบริหารเห็ดล้านก้อนยันไม่ได้หลอกลวง อ้างทำเป็นรูปแบบเอกชน ไม่ใช่โครงการในพระราชดำริตามที่สมาชิกบางส่วนเข้าใจ โวขยายไปแล้ว ๑๒ จังหวัด ตั้งเป้าจังหวัดละ ๔,๐๐๐ คน 

โครงการเห็ดล้านก้อน

    ตามที่เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๗ มีประชาชนและผู้นำชุมชนหลายหมู่บ้านใน ต.หนองตาด  อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ “โครงการเห็ดล้านก้อน ไถ่ชีวิตโค-กระบือ” หลังมีกลุ่มบุคคลอ้างเป็นตัวแทนบริษัทแห่งหนึ่ง เข้าไปชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการแอบอ้างเป็นโครงการพระราชดำริ โดยมีเงื่อนไขให้ประชาชนที่สนใจจ่ายค่าสมัครสมาชิกแรกเข้าคนละ ๓๕๐ บาท และแต่ละคนต้องออมต่อเนื่องเดือนละ ๑๐๐ บาทเป็นเวลา ๑ ปี โดยบริษัทสัญญาว่าจะสร้างโรงเห็ดและมอบเชื้อเห็ดให้กับสมาชิก รวมมูลค่ารายละ ๓๐,๐๐๐ บาท และทางบริษัทจะรับซื้อผลผลิตเห็ดจากประชาชนในราคากิโลกรัมละ ๓๐ บาท เพื่อไปจำหน่าย
     โดยขณะนี้มีประชาชนหลายหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลหลงเชื่อยอมจ่ายค่าสมัครและเงินออมเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ แล้วนับร้อยราย ทั้งประชาชนและผู้นำชุมชนเกรงว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวจะเข้ามาหลอกลวงสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับประชาชน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการ ดังกล่าวตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมากลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ออกไปชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมโครงการแล้ว ๗ อำเภอ เช่น อ.เมือง พลับพลาชัย นางรอง และ อ.ห้วยราช

 

นายสุเทพ จันทะมาศ


    นายสุเทพ จันทะมาศ ผู้ใหญ่บ้าน ม.๕  บ.มาบสมอ  ต.หนองตาด อ.เมือง กล่าวว่า หลังจากทราบเรื่องได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ระมัดระวัง และใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ แต่ส่วนตัวเห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นโครงการของรัฐจึงไม่น่าเชื่อถือ จึงขอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการดังกล่าวด้วย

 

 นายปัญญา ศิลปะ


    นายปัญญา ศิลปะ เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์  กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทางเกษตรอำเภอเข้าไปตรวจสอบตามหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ ว่ามีประชาชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวกี่กลุ่ม กี่ราย พร้อมทั้งให้สอบถามว่าประชาชนที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก ได้รับเงินทุนสร้างโรงเรือนหรือได้รับเชื้อเห็ดจากทางบริษัทตามที่ยื่นเสนอเงื่อนไขจริงหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบที่มาที่ไปของการดำเนินโครงการดังกล่าวด้วยว่า เข้าข่ายหลอกลวงประชาชนหรือไม่ พร้อมทั้ง แจ้งเตือนประชาชนและเกษตรกรด้วยว่า หากมีกลุ่มบุคคลใดเข้ามาชักชวนให้เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับด้านการเกษตร ให้สอบถามทางเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ หรือเกษตรกรตำบลในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงป้องกันการถูกหลอกลวงสูญเสียเงิน
    ต่อมาในวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๗  มีประชาชนบ้านโคกวัด ม.๒๐ ต.หนองตาด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ บางส่วนได้ถอนตัวไม่เข้าร่วมโครงการเห็ดล้านก้อน ไถ่ชีวิตโค-กระบือ ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่เข้าไปชักชวนประชาชนในพื้นที่ ๗ อำเภอ เพราะไม่มั่นใจเกรงจะถูกหลอก หลังผ่านไปนานกว่า ๒ เดือน ยังไม่ได้รับเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท ไปสร้างโรงเรียนและซื้อก้อนเห็ดตามที่ทางบริษัทกล่าวอ้าง ยอมทิ้งเงินค่าสมัครแรกเข้า ๓๕๐ บาท และเงินออมงวดแรกอีก ๑๐๐ บาท รวมเป็น ๔๕๐ บาท เนื่องจากทางบริษัทอ้างว่าต้องหาสมาชิกให้ได้ ๔,๐๐๐ คนทั้งจังหวัดตามเป้าหมาย จึงจะจ่ายเงินให้กับสมาชิกเพื่อไปดำเนินการสร้างโรงเรือนและซื้อเชื้อเห็ด อีกทั้งเงินค่าสมัครและเงินออมที่จ่ายไป ทางบริษัทไม่มีเอกสารหรือใบเสร็จการรับเงินแต่อย่างใด โดยที่ผ่านมาในหมู่บ้านโคกวัดมีประชาชนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้วร่วม ๕๐ คน  แต่ยังไม่มีใครได้เงินจากทางบริษัทแม้แต่รายเดียว จึงทำให้ไม่มั่นใจในโครงการและทยอยถอนตัวออกดังกล่าว
    นายโชคอำนวย จันทะสอน ผู้ใหญ่บ้านบ้านโคกวัด กล่าวว่า โครงการดังกล่าวไม่ทราบที่ไปที่มาชัดเจน เพราะไม่ได้รับการประสานจากทางอำเภอ จังหวัด หรือส่วนราชการใดๆ อีกทั้งบริษัทไม่มีที่ตั้งชัดเจนย้ายอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้ไม่น่าเชื่อถือและไม่มั่นใจในการดำเนินการของบริษัท แต่สาเหตุที่มีประชาชนยอมจ่ายเงินสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพราะอยากมีรายได้เสริมเนื่องจากส่วนใหญ่มีเพียงอาชีพทำนาไม่มีอาชีพเสริมอย่างอื่น จากกรณีดังกล่าวจึงอยากให้ส่วนราชการเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวให้เกิดความกระจ่าง ทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกหลอกด้วย

 

นายดิษฐานนท์ เตชานนทกฤต


    ล่าสุดในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๗ นายดิษฐานนท์ เตชานนทกฤต ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ออกมาชี้แจงกับประธานกลุ่มระดับจังหวัด และสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการเห็ดล้านก้อน ไถ่ถอนชีวิต โค–กระบือ ๑๒ จังหวัด ที่สำนักงาน ไอ.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๔/๖-๗ หมู่ที่ ๔ ต.ชุมเห็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ มีภาคอีสาน ๑๑ จังหวัด และจังหวัดนครสวรรค์ ภาคเหนือตอนล่างอีก ๑ จังหวัด และต่อหน้าฝ่ายทหารว่า โครงการดังกล่าวไม่ใช่โครงการหลวง หรือโครงการในพระราชดำริ ทั้งไม่มีส่วนราชการใดเข้ามาเกี่ยวข้อง ตามที่มีสมาชิกและหลายฝ่ายเข้าใจ ที่เกิดจากกระแสข่าวทั้งการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน และไม่ใช่โครงการที่ทำขึ้นมาเพื่อหลอกลวงประชาชน ซึ่งค้านกับการบอกเล่าของสมาชิกหลายคนในพื้นที่ก่อนหน้านี้
    นายดิษฐานนท์ กล่าวอีกว่า โครงการนี้ เป็นโครงการนำร่องของบริษัทเอกชนที่จัดทำขึ้น เพื่อปลดเปลื้องหนี้สิน สร้างรายได้ ปลูกจิตสำนึกการออมให้กับประชาชน ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ รวมระยะเวลา ๘ เดือน อยู่ใน ๑๒ จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๑ จังหวัด และจังหวัดนครสวรรค์ ภาคเหนือตอนล่างอีก ๑ จังหวัด มีเป้าหมายสมาชิกจังหวัดละ ๔,๐๐๐ คน รวม ๔๘,๐๐๐ คน สำหรับผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกทุกคนจะต้องจ่ายค่าสมัครแรกเข้ารายละ ๓๕๐ บาท และเงินออมเดือนละ ๑๐๐ บาท ต่อเนื่อง ๑ ปี ตามเงื่อนไขของบริษัท เพื่อแลกกับการลงทุนของบริษัท จากนั้นจะจัดสร้างโรงเรือนและให้ก้อนเชื้อเห็ดรายละ ๒,๐๐๐ ก้อน เป็นสองระยะๆ ละ ๑,๐๐๐ ก้อน รวมมูลค่า ๓๐,๐๐๐ บาท หากครบทุกรายทางบริษัทต้องจ่ายเงินลงทุนสร้างโรงเรือนและค่าก้อนเชื้อเห็ดสูงกว่า ๑,๔๔๐ ล้านบาท โดยอ้างว่าทุนในการดำเนินการมีนักธุรกิจและภาคเอกชนบริจาคสนับสนุน และยอมรับว่าโครงการดังกล่าวทำเฉพาะกลุ่มผู้สมัครเป็น      ผู้ยอมรับความเสี่ยงกับทางบริษัท ไม่ได้ทำกับคนทั้งประเทศ เพราะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าในอนาคตโครงการจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ส่วนการรับเงินสมัครแรกเข้าและเงินออมของสมาชิก มีเอกสารหลักฐานในการรับเงิน ซึ่งค้านกับที่สมาชิกหลายคนบอกว่า ไม่มีหลักฐานหรือใบเสร็จการรับเงินแต่อย่างใด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าหลักฐานใบเสร็จที่นำออกมาแสดงนั้น ไม่มีลายมือชื่อของผู้จ่ายเงิน มีเพียงลายเซ็นของผู้รับเงินเท่านั้น 


    “จากกรณีที่สมาชิกได้รับงบการสร้างโรงเรือนและก้อนเห็ดล่าช้า เนื่องจากที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ทำให้เกิดชะลอของโครงการ ทางบริษัทไม่ได้หลอกลวง และขณะนี้ได้มีการสร้างโรงผลิตก้อนเชื้อเห็ดที่ จ.บุรีรัมย์แล้ว ๑ แห่ง ส่วนจังหวัดอื่นจะทยอยจัดส่งเครื่องผลิตก้อนเห็ดลงไปให้ครบทุกจังหวัด ขณะนี้ได้จัดส่งก้อนเห็ดไปให้สมาชิกแล้วจังหวัดละ ๑๐,๐๐๐ ก้อน หากเทียบกับอัตราส่วนจะมีสมาชิกได้รับก้อนเห็ดแล้วจังหวัดละ ๑๐ ราย จากสมาชิกจังหวัดละ ๔,๐๐๐ ราย ทั้งขณะนี้ทางบริษัทได้มีการจัดทำบัตร ATM ให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อนำไปใช้ในการทำธุรกรรมจ่ายเงินในโครงการ อยู่ระหว่างรอรับบัตรจากธนาคารกสิกรไทย คาดว่าจะได้รับในเร็วๆ นี้ ส่วนกรณีการโยกย้ายโอนเงินจากหลายจังหวัดมารวมที่จ.บุรีรัมย์เพียงแห่งเดียว เพื่อต้องการรวมสมาชิกให้มาอยู่ในศูนย์เดียว เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการบริหารจัดการ และง่ายต่อการตรวจสอบกรณีที่ประธานแต่ละจังหวัดจะโอนเงินเข้ามายังบริษัท ทั้งเป็นการแสดงศักยภาพของกลุ่มว่ามีกระบวนการออมที่เหนียวแน่นและมีเงินตั้งต้น ให้สถาบันการเงินเกิดความเชื่อถือกรณีที่กลุ่มขาดสภาพคล่อง อาจจะมีการยื่นขอสินเชื่อในฐานะคณะกรรมการกองทุน เพื่อที่ธนาคารจะได้ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มนำไปใช้ดำเนินโครงการให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยไม่หวังพึ่งเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว” นายดิษฐานนท์ ประธานโครงการฯ กล่าวย้ำในท้ายสุด
    ทั้งนี้ บริษัท ไอ.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๕ ทุนจดทะเบียน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๔/๖-๗ ถนนบุรีรัมย์-พุทไธสง ต.ชุมเห็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ดำเนินการซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย ประกอบกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ บริหารจัดการการตลาดการขายและธุรกิจด้านสัมมนา ธุรกิจระบบเครือข่าย มีคณะกรรมการ ๓ คน ประกอบด้วย ๑. นายดิษฐานนท์ เตชานนทกฤต ๒. นางสาวสมใจ เจริญลาภรุ่งเรือง และ ๓. นายองอาจ เจริญลาภรุ่งเรือง


691 1346