24thApril

24thApril

24thApril

 

October 18,2014

ซีพีออลล์ร่วมสร้างแฟรนไชส์ใหม่ จัดกิจกรรมไขกุญแจความสำเร็จ

   สมาคมแฟรนไชส์ไทย ร่วมกับซีพี ออลล์ และสสว. สร้างสุดยอดแฟรนไชส์รุ่นใหม่ เตรียมจัดกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ “Key Success the Best Franchise” หวังสร้างความเข้มแข็งให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ หลังผลสำรวจเฉพาะธุรกิจที่มีการขายแฟรนไชส์ในประเทศไทยกว่า ๔๐๐-๕๐๐ รายการ 

นางสาวสมจิตร ลิขิตสถาพร

 

    เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมแฟรนไชส์ไทย ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แถลงข่าวร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ “Key Success the Best Franchise” ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยการจัดงานในครั้งนี้เพื่อให้ความรู้เรื่องแฟรนไชส์ให้กับคนรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เรื่อง “Key Success The Best Franchise” ซึ่งเป็นการไขความสำเร็จสู่สุดยอดการเป็นผู้ประกอบการแฟรนไชส์ยุคใหม่ ทั้งในด้านการเป็นแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชซี่ (ผู้ซื้อและผู้ขายแฟรนไชส์) จากผู้บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย รวมถึงได้รู้นโยบายใหม่ล่าสุดในการให้การสนับสนุนจากภาครัฐแก่ผู้ประกอบการกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม พร้อมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากแฟรนไชส์ยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จ
     นอกจากนี้ ในงานยังมีการแสดงธุรกิจที่น่าสนใจ อาทิ ร้านคอนวีเนียน สโตร์ อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น, สุขอุทัย ผัดไทยสุโขทัย, สถาบัน ๒ ภาษา ไทย-จีน สำหรับเด็ก คิดเอเบิ้ล, ร้านจำหน่ายจักรยานยนตร์พีไบต์, สถาบันพัฒนาทักษะสมองของเด็กเบรนฟิตเนส, กิจการร้านอินเทอร์เน็ตนีโอลูชั่น E-Sport, ส้มตำมาละเด้อ, ร้านกุญแจ บิ๊กคีย์เวิลด์, ธุรกิจความปลอดภัย PCL, ร้านรับผลิตเสื้อและจำหน่ายปลีก-ส่ง โปโลเมกเกอร่, เทคโนโลยีเพื่อร้านค้าปลีกครบวงจรอาร์เทค, กาแฟ คอฟฟี่เลิฟ  และสถาบันการเงิน เครื่องกรองน้ำมันพืช VITO เป็นต้น


    นางสาวสมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย กล่าวว่า “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เป็นยุคดิจิทัลที่แตกต่างไปจากผู้ประกอบการรุ่นก่อน คือ คนรุ่นใหม่ยุคนี้สามารถเป็นเจ้าของกิจการตั้งแต่อายุยังน้อยและสร้างความสำเร็จได้เร็ว แฟรนไชส์เป็นวิธีการหนึ่งที่คนรุ่นใหม่สามารถใช้เพื่อเป็นทางลัดเข้าสู่การเป็นเถ้าแก่รุ่นใหม่ได้ทันที หรือในกรณีที่คนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ของตนเองขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ก็สามารถใช้ระบบแฟรนไชส์เป็นช่องทางขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว”
   นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย กล่าวถึงการสำรวจธุรกิจแฟรนไชส์ว่า “มีการสำรวจตัวเลขออกมาออกมาได้ประมาณ ๖๐๐ กว่ารายการ จากกิจการทั้งหมดสรุปได้ว่า เป็นประเภทการขายธุรกิจแฟนไชส์ไม่นับรวมกิจการที่เป็นแฟรนไชส์ต่างประเทศ หรือขยายสาขาขยายกิจการด้วยตัวเอง นับเฉพาะธุรกิจที่มีการขายแฟรนไชส์ในประเทศไทยนั้น มีจำนวนโดยประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ รายการ ส่วนกลุ่มธุรกิจจะแบ่งเป็นลำดับ ดังนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กโดยประมาณ ๙๐ กิจการ, กลุ่มธุรกิจการศึกษามีประมาณ ๖๐ กิจการ, ธุรกิจประเภทร้านกาแฟ ๕๐ กิจการ โดยจัดกลุ่มใหม่เมื่อก่อนจะมีแค่อาหาร การศึกษาและบริการ แต่ในปีนี้ธุรกิจด้านอาหารเติบโตเป็นจำนวนมาก แต่ในจำนวนมากนี้ต้องแบ่งย่อยลงมาอีก เนื่องจากกลุ่มอาหาร ร้านกาแฟ มีขนาดธุรกิจเยอะ รองลงมาคือ บริการมีประมาณ ๔๐ กิจการ ประเภทที่มีจำนวนมากตามลำดับ ได้แก่ ชานมไข่มุก มีประมาณ ๓๕ กิจการ, ขนมและเบเกอรี่ มีประมาณ ๓๕ กิจการ     
    ขณะที่กลุ่มที่น่าสนใจมาก คือ กลุ่มร้านอาหาร ภัตตาคาร ส่วนที่เป็นระดับในหลักล้านแยกออกมามีประมาณ ๒๕ กิจการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีกมีประมาณ ๒๕ กิจการ, ไอศกรีม ประมาณ ๒๐ กิจการ ส่วนเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น น้ำผลไม้ มีประมาณ ๑๕ กิจการ, ธุรกิจความงามมี ๑๒ กิจการ และอื่นๆ มี ๕ กิจการ โดยรวมทั้งหมดมีประมาณ ๔๐๗ รายการ ซึ่ง ๔๐๐-๕๐๐ เป็นค่าโดยประมาณ ส่วนเรื่องทิศทางในปีหน้าที่จะเกิดขึ้นของรัฐบาลใหม่กับการให้ความสำคัญธุรกิจ SMEs นั้นเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก คิดว่าธุรกิจจะมีการเติบโตอย่างสดใส น่าจะอยู่ประมาณร้อยละ ๒๐ ขึ้นไปสำหรับคนที่เป็นเจ้าของกิจการแฟรนไชส์”  


     ด้านนางสาวอนิษฐา ธนมิตต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย กล่าวว่า “บริษัทฯ ยังคงมีเป้าหมายในการขยายสัดส่วนแฟรนไชซี่อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่สู่การเป็นเถ้าแก่ธุรกิจแฟรนไชส์ เนื่องจากปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มต้องการมีธุรกิจของตัวเองมากขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีหลัง ๒๕๕๗ บริษัทฯ คาดว่าจะมีการขยายร้านแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นเป็น ๔,๕๐๐ สาขา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๕๖ ของสาขาทั้งหมด ซึ่งซีพี ออลล์ มีนโยบายในการส่งเสริมการศึกษาและมุ่งหวังที่จะถ่ายทอดองค์กรความรู้ และประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจร้านค้าปลีกยุคใหม่ตลอดทั้งเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ จากการบริหารแฟรนไชส์เซเว่น อีเลฟเว่น มากว่า ๒๐ ปี จึงทำให้บริษัทฯ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการวางระบบแฟรนไชส์ที่มีความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการ รวมถึงการฝึกอบรมและให้คำปรึกษากับเจ้าของร้านแฟรนไชส์ ซึ่งการทำธุรกิจแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากความตั้งใจจริงใจแล้วต้องมีใจรักการบริการ มีความอดทน ดังนั้น การมีทักษะด้านการบริการที่ดีจึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ” 
    นายวีรยุทธ เชื้อไทย รองผู้อำนวยการสำนักบริการผู้ประกอบการ สสว. กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า “จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในด้านการเชื่อมโยงข้อมูลที่จะเสริมสร้างความรู้ และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ซึ่งผู้ที่เริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ ก็เปรียบเสมือนผู้ประกอบการในช่วงก่อตั้งกิจการตามวงจรธุรกิจ ซึ่งจะต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาในด้านต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการทั่วๆ ไป เพื่อให้กิจการก้าวไปสู่ช่วงขยายกิจการต่อไป ดังนั้น SMEs รุ่นใหม่จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่สามารถเติบโตได้อย่างยืนยันพร้อมเป็น SMEs ที่แข็งแกร่ง ซึ่งต้องมีการแสวงหาความรู้เบื้องต้นในการดำเนินธุรกิจ เพื่อใช้ในการตัดสินใจให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การนำความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้มีต้นทุนลดลง มีผลผลิตและยอดขายเพิ่มขึ้น สามารถพัฒนาสินค้าและบริการได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาด การพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างสร้างสรรค์ การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายพันธมิตรจะทำให้มีความเข้มแข็ง ก่อให้เกิดการเกื้อหนุนกันและกัน รวมทั้งเชื่อมโยงการดำเนินธุรกิจร่วมกันของเครือข่ายในห่วงโซ่อุปทาน (Supply  Chain) โดยพัฒนาเครือข่ายกับหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างกัน”


     นายวีรยุทธ  กล่าวอีกว่า ๔ ยุทธศาสตร์ที่นำมาจัดการกับธุรกิจ SMEs ได้แก่ ๑. เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง SMEs ๒. การส่งเสริมพัฒนาวงจรธุรกิจ ในการส่งเสริมที่ผ่านมาเราจะแยกเป็นกลุ่มๆ และแบ่งวงจรธุรกิจออกเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่ ผู้เริ่มต้นธุรกิจซึ่งเป็นผู้ประกอบการใหม่กลุ่มแฟรนไชส์น่าจะเป็น กลุ่มนี้ ๒. เป็นกลุ่มพวกเริ่มเติบโตกลุ่มพวกนี้ต้องการอะไรรองรับ เช่น มาตรการภาษี สิทธิประโยชน์ทางภาษี กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ต้องปรับปรุงฟื้นฟูกิจการเริ่มลำบากจะต้องรู้อะไร จะต้องฟื้นฟูแบบไหน ที่จะดึงกลับขึ้นมาได้  ส่วนในด้านยุทธศาสตร์ที่ ๓. การสร้างมูลค้าเพิ่มให้แก่สินค้า เราจะมองเรื่องระบบพี่เลี้ยง และมีการดึงอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิมาถ่ายทอดความรู้ให้ประสบการณ์ ๔. การเชื่อมโยงภาครัฐ ผลักดันให้สมาคมต่างๆ มีบทบาทเข้าเป็นเป็นสมาชิกในเครือข่ายสมาคมมากขึ้น 
     “อย่างไรก็ดี ในงบประมาณ ๒๕๕๘ สสว. มีโครงการ Front service, โครงการ One Stop Service ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ รองรับผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นการอบรม สัมมนา การบริการที่ปรึกษาทางธุรกิจ ฯลฯ นอกจากนี้ สสว. ยังร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน ๒๒ หน่วยงานในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกัน สำหรับสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเช่นเดียวกัน โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ตามวงจรธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดเครือข่ายในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องต่อไป” รองผู้อำนวยการฯ กล่าวในที่สุด


692 1342