8thMay

8thMay

8thMay

 

October 23,2014

เวนมอเตอร์เวย์โคราช รอชดเชย ๑,๕๐๐ ล. ปากช่องจ่อแก้แบบ

   เล็งดึงเอกชนลงทุนสร้าง ‘มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช’ ๘๔,๖๐๐ ล้าน จ่อแก้แบบลดผลกระทบชุมชนใกล้โรงเรียนบ้านนา สรุปวางหมุดเวนคืนแนวเขตทางจากปากช่อง-เลี่ยงเมืองโคราช ๑,๐๐๐ กว่าแปลง สิ่งปลูกสร้างและพืชผลต้องรื้อถอนด้วย ต้องชดเชยเบื้องต้นกว่า ๑,๕๐๐ ล้าน หวั่น! พบขุดดินไปขายจำนวนมาก ทำแนวเส้นทางเปลี่ยน 

 

 

    ตามที่มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ หรือมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐ ตอน ๓๗ ก เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๖ เพื่อให้โครงการเป็นไปตามแผน สำนักจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมทางหลวง จึงดำเนินโครงการงานสำรวจจัดทำแผนที่แสดงรายละเอียดของอสังหาริมทรัพย์และประมาณราคาเพื่อกำหนดเป็นค่าทดแทนในการเวนคืนมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ตอนที่ ๓ ระหว่าง กม.๘๓+๕๕๐ – กม.๙๘+๓๔๗.๓๖๐ (BK.) / กม. ๑๐๒+๐๐๐ (AH) - กม. ๑๔๒+๐๐๐ และตอนที่ ๔ ระหว่าง กม. ๑๔๒+๐๐๐ – กม. ๑๙๕+๙๔๒.๗๓๙ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เทสโก้ จำกัด, บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท นูแมพ จำกัด, บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ไทยคอนซัลแตนท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ทรานส์ เอเชีย คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อดำเนินงานสำรวจจัดกรรมสิทธิ์ระยะเวลา ๑๑ เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ 
    ล่าสุด ‘โคราชคนอีสาน’ ได้รับรายงานว่า ขณะนี้นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้กรมทางหลวงพิจารณารูปแบบลงทุนก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ สายที่พร้อมดำเนินการด้วยวิธีการจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ หรือเทิร์นคีย์ โดยให้เอกชนก่อสร้างก่อนแล้วรัฐบาลผ่อนชำระคืนภายหลังพร้อมดอกเบี้ย โดยจะนำร่องก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง ๑๙๖ กิโลเมตร เงินลงทุน ๘๔,๖๐๐ ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนที่ดิน ๖,๖๓๐ ล้านบาท และค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นอยู่ที่ ๗๗,๙๗๐ ล้านบาท เนื่องจากมอเตอร์เวย์สายนี้มีความพร้อมดำเนินการ ทั้งแบบรายละเอียดโครงการ และพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินที่ได้มีการออกประกาศบังคับใช้ และมีการสรุปยอดผู้ที่ถูกเวนคืนแล้ว 

 

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์


เวนคืนเขตทาง’โคราช ๑.๕๐๐ ล.
    ต่อเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ แหล่งข่าวจากกลุ่มสำรวจและประมาณราคา สำนักจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมทางหลวง เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ส่งมอบงานสำรวจจัดกรรมสิทธิ์ เพื่อเตรียมเวนคืนมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ตอนที่ ๓ ระหว่าง กม.๘๓+๕๕๐ – กม.๙๘+๓๔๗.๓๖๐ (BK.) / กม. ๑๐๒+๐๐๐ (AH) - กม. ๑๔๒+๐๐๐ และตอนที่ ๔ ระหว่าง กม. ๑๔๒+๐๐๐ – กม. ๑๙๕+๙๔๒.๗๓๙ เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้สำนักจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียด ทั้งข้อมูลผู้ถูกเวนคืน สิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินอื่นๆ ก่อนให้ความเห็นชอบ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นพิจารณาต่อไป ซึ่งข้อมูลในเบื้องต้น แนวเส้นทางเวนคืนตอนที่ ๓ ประกอบด้วย ตำบลพญาเย็น, กลางดง, หนองน้ำแดง, ขนงพระ และหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง, ตำบลคลองไผ่ และลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว สรุปมีที่ดินที่ถูกเวนคืนประมาณ ๕๘๖ แปลง, สิ่งปลูกสร้างประมาณ ๓๖๙ ราย และพืชผลต้นไม้ประมาณ ๔๐๗ ราย ส่วนแนวเส้นทางเวนคืนตอนที่ ๔ ซึ่งมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (By Pass) กม.๒+๕๐๐ สามารถมุ่งหน้าไปสู่จังหวัดขอนแก่น และภาคอีสานได้นั้น สรุปมีที่ดินถูกเวนคืนประมาณ ๗๓๘ แปลง, สิ่งปลูกสร้างประมาณ ๒๑๙ ราย และพืชผลต้นไม้ประมาณ ๔๒๒ ราย รวมเป็นเงินเวนคืนประมาณ ๑,๕๐๐ ล้านบาท”  
    แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวอีกว่า ภายหลังจาก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินที่ได้มีการออกประกาศบังคับใช้ โดยมีการรังวัดที่ดินและรู้เขตที่จะเตรียมเวนคืนก็พบว่า แนวเขตมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ช่วงอำเภอปากช่อง มีการขุดดินจำนวนมากไปขาย ความยาวประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ เมตร และกว้างกว่า ๗๐ เมตร ซึ่งทางสำนักจัดกรรมสิทธิ์ กรมทางหลวง หวั่นเกรงว่าจะทำให้แนวเส้นทางเปลี่ยนแปลง เพราะมีการสำรวจและรังวัดไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนงบประมาณเวนคืนที่ดิน เพื่อเดินหน้าก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ขณะนี้กรมทางหลวงกำลังหางบประมาณอื่นมาดำเนินการให้แล้วเสร็จ จากเดิมตั้งเป้าว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ร้อยละ ๔๐ ที่เหลือทยอยเบิกจ่ายปีต่อปี แต่เนื่องจากไม่รับการจัดสรรในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ จึงไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงนี้”

 

จ่อแก้แบบลดผลกระทบชุมชน
    ทางด้านสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง ระบุว่า ภายหลังกรมทางหลวงปรับแบบมอเตอร์เวย์ บริเวณจุดเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข ๒ (ถ.มิตรภาพ) จากอ.ขามทะเลสอมาบรรจบทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ที่กม.๒+๕๐๐ ก็มีเรื่องร้องเรียนให้แก้ไขแบบเป็นจุดๆ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาตามความเหมาะสม เพื่อไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับราษฎรรายใหม่ และยังคงอยู่ในแนวเส้นทางเดิมที่ได้ศึกษา และออกแบบรายละเอียดไว้แล้ว ล่าสุดมีแนวโน้มที่จะแก้ไขแนวเส้นทางช่วงทางแยกต่างระดับปากช่อง โดยอาจปรับเป็นทางโค้ง เพื่อลดผลกระทบจากย่านชุมชนโรงเรียนบ้านนา บริเวณตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนและร่วมกันลงรายชื่อ ขอให้กรมทางหลวงพิจารณาแก้ไขแบบ ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วร้อยละ ๘๐ คาดว่าภายในเดือนหน้าจะสามารถนำเสนอ คณะกรรมการฯ พิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุป จากที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ปรับแบบให้พ้นจากโรงเรียนบ้านนาแล้ว 
เสียงคัดค้านหนักต่อเนื่อง
    อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา มีเสียงคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามาตลอด โดยชาวอำเภอปากช่องมีการเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับรูปแบบของโครงการนี้ เนื่องจากแนวเส้นทางที่ผ่านอำเภอปากช่อง ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ขณะเดียวกันทางขึ้น-ลงบริเวณถนนธนะรัชต์ก็ใกล้ชุมชนเกินไป ทั้งยังติดแหล่งน้ำสาธารณะลำน้ำลำตะคอง และช่วงที่ผ่านกองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ก็มีข้อกฎหมายห้ามสร้างทาง ตลอดทั้งสิ่งปลูกสร้าง จึงมีข้อเรียกร้องมาตั้งแต่ต้นจากชาวอำเภอปากช่องว่า ขอให้ปรับแนวเส้นทางบนถนนมิตรภาพให้เป็น tollway (ทางยกระดับ) ตลอดแนวเส้นทางที่ผ่านเขตอำเภอปากช่อง หรือเวนคืนที่ราชพัสดุ ๒๙,๐๐๐ กว่าไร่ บริเวณตำบลหนองสาหร่ายแทน ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการสัตว์ทหารบก 


    ขณะเดียวกันจุดสิ้นสุดโครงการฯ บริเวณทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (By Pass) กม.ที่ ๒+๕๐๐ ก็มีเสียงคัดค้านจากประชาชน นักธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ก่อสร้างว่า ในแบบสำรวจเดิมที่สำรวจตั้งแต่ปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ และออกผลสำรวจปี ๒๕๕๐-๒๕๕๑ กำหนดจุดลงมอเตอร์เวย์ไว้ที่ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา กม.๕-๖ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่นา ไม่มีอาคารบ้านเรือนหนาแน่น แต่กรมทางหลวงปรับแนวเข้ามาใกล้ตัวเมืองและชุมชนมากขึ้น โดยมาลงตรงกม.๒+๕๐๐ ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ใกล้จุดลงทางต่างระดับสามแยกปักธงชัย โชว์รูมรถยนต์มิตซูปฐพีทอง และปั๊มน้ำมันเชลล์ ไม่มีความเหมาะสมเพราะจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรหนาแน่น กระทบกับอารยธรรมปรุใหญ่ วิถีชีวิตของคนในชุมชนตำบลปรุใหญ่และตำบลบ้านใหม่ จึงเสนอให้ย้ายจุดลงไปยังบริเวณห้วยตะคร้อ-กุดจิก ขยายถนนมิตรภาพเป็น ๑๒ ช่องจราจร หรือยกเลิกมอเตอร์เวย์หันมาสร้างรถไฟทางคู่จะคุ้มค่ากว่า     
    ต่อมากรมทางหลวงจึงปรับแบบมอเตอร์ เวย์ บริเวณจุดเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข ๒ (ถ.มิตรภาพ) จากอ.ขามทะเลสอมาบรรจบทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ตรงกม.๒+๕๐๐ โดยปรับรูปแบบมอเตอร์เวย์ใหม่ เมื่อเข้าสู่ด่านเก็บเงินค่าผ่านทางสุดท้าย ที่อำเภอขามทะเลสอ ช่วงกม.ที่ ๑๘๕ และมาบรรจบทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา บริเวณกม.ที่ ๒+๕๐๐ ระยะทาง ๑๐.๘ กิโลเมตร รูปแบบจะเป็นทางหลวงขนาด ๘ ช่องจราจรไป-กลับขนานถนนมิตรภาพ ประกอบด้วย ช่องจราจรหลัก ๔ ช่องจราจร เพื่ออำนวยการจราจรที่ลงจากมอเตอร์เวย์วิ่งเชื่อมสู่อำเภอเมืองนครราชสีมา และทางขนาน ๔ ช่องจราจร ฝั่งละ ๒ ช่องจราจร ทั้งยังอำนวยการจราจรให้รถบริเวณพื้นที่โครงการฯ สามารถใช้เส้นทางด้วยความสะดวก และเชื่อมเข้า-ออกช่องจราจรหลักตรงกลางได้เป็นระยะๆ สำหรับทางหลวงช่วงนี้จะไม่มีการกั้นรั้วตลอดเส้นทางและประชาชนสองข้างทางสามารถเชื่อมต่อทางใช้ได้ตลอดเส้นทาง และยังสามารถวิ่งไปขึ้นมอเตอร์เวย์บริเวณกม.ที่ ๑๘๕ เพื่อเข้าสู่กรุงเทพฯ ได้ด้วย โดยไม่ต้องเวนคืนที่ดินกว่า ๑๐๐ ไร่ อีกทั้งจะออกแบบก่อสร้างทางแยกต่างระดับให้มีรัศมีวงเลี้ยวที่ลดลงประมาณ ๒๕ เมตร บริเวณที่เข้าเชื่อมกับทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา บริเวณกม.ที่ ๒+๕๐๐


696 1,353