20thApril

20thApril

20thApril

 

November 08,2014

ปากช่องเรียกร้อง‘ประยุทธ์’ ตรวจสอบมอเตอร์เวย์ อดีตสว.หนุนย้ายลงนอกเมือง

 

   ชมรมคนปากช่องต่อต้าน “มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช” หนักขึ้น หนุนสร้างรถไฟทางคู่คุ้มค่ามากกว่า เรียกร้องถึง ‘ประยุทธ์’ ส่งทหารลงพื้นที่ตรวจสอบประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเวนคืน หวั่น! เอื้อประโยชน์ราคาที่ดินกับนักการเมือง ด้านอดีตส.ว.โคราช ออกมาหนุนเสนอย้ายจุดลงออกห่างจากตัวเมือง สิ้นสุดโครงการที่ถนนสายโชคชัย-เดชอุดม 

    ตามที่มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ หรือมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐ ตอน ๓๗ ก เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๖ กรมทางหลวงจึงว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาสำรวจจัดทำแผนที่แสดงรายละเอียดของอสังหาริมทรัพย์ และประมาณราคาเพื่อกำหนดเป็นค่าทดแทนการเวนคืนมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ตอนที่ ๓ ระหว่าง กม.๘๓+๕๕๐ – กม.๙๘+๓๔๗.๓๖๐ (BK.) / กม. ๑๐๒+๐๐๐ (AH) - กม. ๑๔๒+๐๐๐ และตอนที่ ๔ ระหว่าง กม. ๑๔๒+๐๐๐ – กม. ๑๙๕+๙๔๒.๗๓๙ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดยแนวเส้นทางเวนคืนตอนที่ ๓ ในเขตอำเภอปากช่อง สรุปมีที่ดินที่ถูกเวนคืนประมาณ ๕๘๖ แปลง, สิ่งปลูกสร้างประมาณ ๓๖๙ ราย และพืชผลต้นไม้ประมาณ ๔๐๗ ราย ส่วนแนวเส้นทางเวนคืนตอนที่ ๔ ซึ่งมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (By Pass) กม.๒+๕๐๐ สามารถมุ่งหน้าไปสู่จังหวัดขอนแก่น และภาคอีสานได้นั้น สรุปมีที่ดินถูกเวนคืนประมาณ ๗๓๘ แปลง, สิ่งปลูกสร้างประมาณ ๒๑๙ ราย และพืชผลต้นไม้ประมาณ ๔๒๒ ราย รวมเป็นเงินเวนคืนประมาณ ๑,๕๐๐ ล้านบาท ซึ่ง ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวลงฉบับที่ ๒๒๕๓ วันที่ ๒๑-๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๗ 


อดีตส.ว.โคราชเสนอย้ายจุดลง
    ต่อมาวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ นายอุบล เอื้อศรี อดีตส.ว.นครราชสีมา อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และอดีตนายอำเภอสูงเนิน ได้ติดต่อขอแสดงความคิดเห็นกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ถึงการสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ว่า “สถานการณ์เกี่ยวกับการคมนาคม และการขนส่งบนถนนมิตรภาพ มีความหนาแน่นทางด้านจราจรมาก ซึ่งการจราจรบนถนนมิตรภาพที่มุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา และภาคอีสาน มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้น สมควรก่อสร้างมอเตอร์เวย์ แต่เมื่อสร้างมอเตอร์เวย์สายนี้เข้าถึงท้องที่อำเภอสีคิ้วแล้ว ตนมีความเห็นว่าควรดำเนินการวางแนวตัดถนน ให้ผ่านไปทางด้านทิศเหนือของอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ผ่านไปยังท้องที่อำเภอสูงเนิน ด้านทิศเหนือ ผ่านท้องที่อำเภอขามทะเลสอและอำเภอโนนไทย ไปออกท้องที่อำเภอโนนสูง ตัดถนนมิตรภาพ ช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น แล้วกลับเข้าสู่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ หรืออำเภอจักราช ตัดถนนนครราชสีมา-บุรีรัมย์ ไปออกอำเภอหนองบุญมาก เชื่อมกับถนนสายโชคชัย-เดชอุดม ถือว่ามอเตอร์เวย์สิ้นสุดโครงการที่ถนนสายโชคชัย-เดชอุดม 

 

ชี้ขยายเมืองคลี่คลายจราจร
    นายอุบล กล่าวอีกว่า เมื่อเป็นไปตามแนวคิดนี้จะได้ประโยชน์ คือ ถ้ามอเตอร์เวย์สายนี้ตรงมาสิ้นสุดโครงการที่ท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา ก็จะเกิดปัญหาจราจรในเมืองที่หนาแน่นอยู่แล้วยิ่งมีความหนาแน่นขึ้นไปอีก ประการที่สองจะเป็นการขยายเมืองนครราชสีมาออกไปรัศมีประมาณ ๓๐-๔๐ กิโลเมตร ขณะเดียวกันการจราจรในตัวเมืองก็จะคลี่คลายขยายตัว ไม่แออัดคับคั่งอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และประการที่สาม รถที่วิ่งมาตามถนนมอเตอร์เวย์คันไหนจะแยกลงไปทางจังหวัดชัยภูมิผ่านอำเภอสีคิ้ว และอำเภอด่านขุนทดก็จะออกไปได้เลย หรือจะแยกออกไปทางจังหวัดชัยภูมิ ในช่วงที่ตัดผ่านอำเภอโนนไทยก็ได้อีกทางหนึ่ง ถ้าจะไปจังหวัดขอนแก่นให้ใช้เส้นทางที่ตัดกับถนนมิตรภาพ ช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น ในส่วนที่ตัดกับถนนสายนครราชสีมา-บุรีรัมย์ ช่วงที่ผ่านอำเภอเฉลิมพระเกียรติ หรืออำเภอจักราช ไปจังหวัดบุรีรัมย์นั้น สายในก็สะดวก หรือถ้าจะไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ หรือถึงจังหวัดอุบลราชธานี สามารถแยกลงไปใช้ถนนสายโชคชัย-เดชอุดมก็สะดวกมาก ในทางกลับกันผู้ที่มาทางภาคอีสานยังสามารถขึ้นทางช่วงที่ถนนมอเตอร์เวย์สายนี้ตัดผ่าน โดยแยกขึ้นตามช่วงถนนดังกล่าวข้างต้นเข้าสู่มอเตอร์เวย์ไปยังกรุงเทพฯ ได้ แนวคิดนี้อาจต้องเพิ่มงบประมาณพอสมควร แต่ก็ได้ประโยชน์มากในระยะยาว 
    “สำหรับแนวคิดดังกล่าวตนเคยยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ต่อมากระทรวงคมนาคม โดยนายมานะ คงวุฒิปัญญา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น มีหนังสือแจ้งว่า ได้ให้กรมทางหลวงรับไว้เป็นข้อมูลประกอบพิจารณาแล้ว แต่ถึงปัจจุบันกรมทางหลวงยังคงยืนยันแนวเส้นทางเดิม ซึ่งตนมองว่าถ้ามอเตอร์เวย์สายนี้มาสิ้นสุดโครงการ บริเวณถนนบายพาส อำเภอเมืองนครราชสีมา จะทำให้สภาพจราจรหนาแน่นมากขึ้น” อดีตส.ว.นครราชสีมา อดีตรองผู้ว่าฯ นครราชสีมา และอดีตนายอำเภอสูงเนิน กล่าวย้ำ


 

ทางหลวงมองเชื่อมหนองคาย
    ทางด้านสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง ระบุว่า จุดสิ้นสุดโครงการฯ กรมทางหลวงได้ปรับแบบมอเตอร์เวย์ บริเวณจุดเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข ๒ (ถ.มิตรภาพ) จากอำเภอขามทะเลสอมาบรรจบทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ตรงกม.๒+๕๐๐ โดยปรับรูปแบบมอเตอร์เวย์ใหม่แล้ว เมื่อเข้าสู่ด่านเก็บเงินค่าผ่านทางสุดท้าย ที่อำเภอขามทะเลสอ ช่วงกม.ที่ ๑๘๕ และมาบรรจบทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา บริเวณกม.ที่ ๒+๕๐๐ ระยะทาง ๑๐.๘ กิโลเมตร รูปแบบจะเป็นทางหลวงขนาด ๘ ช่องจราจรไป-กลับขนานถนนมิตรภาพ เพื่ออำนวยการจราจรที่ลงจากมอเตอร์เวย์วิ่งเชื่อมสู่อำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งปัญหาที่กังวลเรื่องการจราจรหนาแน่นหรือกระจุกตัวตรงบริเวณดังกล่าวนั้นคงไม่มากนัก เพราะในอนาคตกรมทางหลวงมีแผนจะเชื่อมมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ไปถึงจังหวัดหนองคาย โดยเริ่มจากบริเวณด่านเก็บเงินที่อำเภอขามทะเลสอ รถที่มุ่งหน้าสู่ภาคอีสานก็จะไม่วิ่งผ่านเมืองโคราช  

 

ชาวปากช่องรุกต้านมอเตอร์
    อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กลุ่มชมรมคนปากช่องต่อต้านมอเตอร์เวย์ นำโดยนางสารภี บุญประตูไชย เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อทวงถามความคืบหน้า กรณีการร้องคัดค้านโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา อีกทั้งขอสนับสนุนโครงการรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-นครราชสีมาแทน โดยก่อนหน้านี้เคยมายื่นเรื่องถึง คสช.แล้ว เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ
    โดยสาระสำคัญการยื่นหนังสือคัดค้านครั้งนี้ ระบุว่า การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ไม่คุ้มค่าการลงทุน โดยเริ่มแรกจะใช้งบประมาณเพียง ๕ หมื่นล้านบาท แต่ได้มีการขยายงบไปเป็น ๑ แสนล้านบาท เพื่อจะได้ถนนสายใหม่อีก ๒๐๐ กิโลเมตร เมื่อเปิดให้รถวิ่งได้ก็สามารถวิ่งด้วยความเร็วเท่าถนนสายเก่าคือ ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเปรียบเทียบกับการสร้างทางรถไฟทางคู่ มาตรฐานความกว้างสากลจะใช้งบค่าก่อสร้างประมาณ ๕๐๐ ล้านบาทต่อกิโลเมตร ซึ่งจะใช้งบประมาณ ๑ แสนล้านบาทเท่ากัน แต่จะเดินทางไปได้ด้วยความเร็ว ๑๕๐-๑๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะประหยัดพลังงานมากกว่าและลดมลพิษได้มากกว่า อีกทั้งโครงการนี้เกิดขึ้นและแอบดำเนินการมาร่วม ๒๐ ปี เป็นความทุจริตร่วมกันของนักการเมืองกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อผลประโยชน์ในการตกลงราคาที่ดิน รวมถึงการก่อสร้างโครงการนี้แม้มีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ แต่เป็นการกระทำโดยลักษณะมิชอบ โดยเปิดเพียงโอกาสให้กลุ่มที่เห็นด้วยร่วมเวทีเท่านั้น แต่ไม่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้คัดค้านร่วมเวทีดังกล่าวเลย


ขอความชัดเจนแหล่งเงิน
    ต่อเรื่องนี้นายวิชชุ ชุปวา แกนนำกลุ่มชมรมคนปากช่องต่อต้านมอเตอร์เวย์ ให้สัมภาษณ์กับ ‘โคราชคนอีสาน’ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ว่า “เมื่อไม่นานมานี้ แขวงการทางนครราชสีมาที่ ๒ ได้แจ้งต่อที่ประชุมของประชาคม โดยยืนยันให้ประชาชนในพื้นที่ว่า โครงการดังกล่าวจะดำเนินการต่อ เพราะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและสรุปยอดผู้ถูกเวนคืนแล้ว แต่ที่ผ่านมาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเวนคืน กลับไม่เคยได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นต่อโครงการนี้เลย อีกทั้งเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือคัดค้านมอเตอร์เวย์สายนี้กับ คสช.แล้ว แต่กลับไม่มีหนังสือหรือการชี้แจงใดๆ ตอบกลับมา ทางกลุ่มชมรมคนปากช่องต่อต้านมอเตอร์เวย์ จึงเดินทางไปทวงถามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการนี้ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคมที่ผ่านมา ได้รับการชี้แจงในเบื้องต้นว่า ได้ส่งเรื่องไปที่กรมทางหลวงแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณา”  

 

เรียกร้องคสช.ส่งทหารตรวจสอบ
    นายวิชชุ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ออกมาร่วมคัดค้านมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอปากช่อง เพราะปัจจุบันค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ค่าเวนคืน และค่าก่อสร้าง รวมแล้วเกือบ ๑ แสนล้านบาท หากเปรียบเทียบกับการสร้างทางรถไฟทางคู่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะคุ้มค่ามากกว่า ส่วนรูปแบบการลงทุนก่อสร้างมอเตอร์เวย์นั้น หากใช้วิธีการจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ (Turn Key) โดยให้เอกชนก่อสร้างก่อนแล้วรัฐบาลผ่อนชำระคืนภายหลังพร้อมดอกเบี้ย ค่าเวนคืนก็ต้องได้ตามราคาซื้อขายปัจจุบัน โดยจ่ายค่าเวนคืนทุกตารางนิ้ว หรือทุกตารางเมตร ไม่ใช่ตีราคาค่าเวนคืนตามที่ประเมินไว้แล้ว ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็โกงประชาชน เอื้อประโยชน์นายทุน เพราะฉะนั้น ชาวปากช่องขอความชัดเจนรูปแบบการลงทุนด้วย ที่สำคัญคือ ต้องการให้ คสช.ส่งทหารเข้ามาในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบประชาชนชาวปากช่องที่ได้รับผล กระทบจากการถูกเวนคืน ไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมาส่งเฉพาะบริษัทที่ปรึกษา ตัวแทนกรมทางหลวง คือ แขวงการทางนครราชสีมาที่ ๒ เข้ามารับฟังเท่านั้น 
    ทั้งนี้ กรมทางหลวงอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการลงทุนก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระหว่างรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) คือ สัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการให้บริการสาธารณะ หรือล่าสุดวิธีการจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ (Turn Key) โดยให้เอกชนก่อสร้างก่อน แล้วรัฐบาลผ่อนชำระคืนภายหลังพร้อมดอกเบี้ย โดยจะนำร่องก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง ๑๙๖ กิโลเมตร เงินลงทุน ๘๔,๖๐๐ ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนที่ดิน ๖,๖๓๐ ล้านบาท และค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นอยู่ที่ ๗๗,๙๗๐ ล้านบาท เนื่องจากมอเตอร์เวย์สายนี้มีความพร้อมดำเนินการ ทั้งแบบรายละเอียดโครงการ และพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินที่ได้มีการออกประกาศบังคับใช้ และมีการสรุปยอดผู้ที่ถูกเวนคืนแล้ว 


701 1345