25thApril

25thApril

25thApril

 

November 16,2014

‘เซ็นทรัลโคราช’๙,๓๐๐ ล. พร้อมรร.หรู ๓๕๐ ห้อง ทิ้งทำเลบายพาส

ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ผู้พัฒนาศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศไทย เปลี่ยนแผนการสร้าง “เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา” ในทำเลถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (By Pass) ช่วงกม.ที่ ๓ ใกล้จุดลงมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่มุ่งหน้าไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกว้านซื้อที่ดินในทำเลถนนมิตรภาพ  ตรงข้ามศูนย์จัดการธนบัตรนครราชสีมา ธนาคารแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล อำเภอเมืองนครราชสีมา เริ่มจากเจรจาซื้อที่ดินแปลงแรกจำนวน ๕ ไร่ ของร้านนิวเซียงกง มอเตอร์ ซึ่งประกอบกิจการจำหน่ายอะไหล่รถยนต์มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ และธุรกิจในเครือ คือ เอ็น. เอส. เค. อินเตอร์ โปรดักส์ ซึ่งดำเนินกิจการประกอบตัวถังรถ และอู่เอ็นจีวี พร้อมกับกว้านซื้อที่ดินอีก ๒ แปลง คือ ที่ดินของนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.สมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหลบหนีหมายจับตามคำพิพากษาจำคุกในคดีโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จำนวน ๕๓ ไร่ ติดกับธัญญะปุระ บูติค โฮเต็ล และที่ดินซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ จำนวน ๘ ห้อง โดยทั้งสามแปลงรวมเนื้อที่ประมาณ ๖๐ กว่าไร่ และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับเซ็นทรัลแล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ต่อมากลุ่ม  ซีพีเอ็น ในนามบริษัท โคราช แลนด์ โอนเนอร์ จำกัด ที่มีนายคุณายุธ เดชอุดม หรือยุธ ลูกชายของนางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา และเป็นหลานชายตระกูลจิราธิวัฒน์ ยื่นขอแบบก่อสร้าง Shopping Mall (ศูนย์การค้า) ต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเกาะ และเทศบาลนครนครราชสีมา พร้อมทั้งก่อสร้างสะพานข้ามคลองชลประทานด้านหลังโรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช รวมพื้นที่ใช้สอย ๓๕๘,๙๑๕ ตารางเมตร ขณะนี้ได้รับอนุญาตแบบก่อสร้างทั้งหมดแล้วนั้น

ซีพีเอ็นผงาดศูนย์กลางช้อปปิ้ง

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ชั้น ๒๒ Bangkok Convention Centre (B2), โรงแรม Centara Grand at CentralWorld กรุงเทพมาหนคร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดแถลงข่าว “CPN: Towards Infinite Success Together” การสร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่แห่งวงการรีเทลกับ CPN พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยการแถลงข่าวครั้งนี้เป็นการพัฒนาโครงการศูนย์การค้าใหม่ ๖ สาขา รวมถึงเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา และโครงการที่จะทำการ Renovate (ปรับปรุง) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาอีก ๒ สาขาในกรุงเทพฯ

นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ตลอด ๓๔ ปีที่ผ่านมา ซีพีเอ็นได้พัฒนารากฐานธุรกิจค้าปลีกให้มีมาตรฐานระดับโลก สร้างประสบการณ์และไลฟ์สไตล์ใหม่ให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง เราขยายศูนย์การค้าเชิงรุก ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศ โดยจะเข้าไปบุกเบิกช่วงชิงทำเลศักยภาพที่ดีที่สุดก่อนใคร และพัฒนาให้เป็นย่านที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจ เรามองว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต ทั้งยังมีเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐที่ช่วยผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางประชาคมอาเซียน และการก้าวเข้าสู่ AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) จะเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่จะเอื้อต่อธุรกิจค้าปลีกอย่างมหาศาล ก้าวต่อไปของซีพีเอ็นจะเป็นการนำพาประเทศไทยให้ผงาดอย่างยิ่งใหญ่ในวงการค้าปลีกระดับภูมิภาค ด้วยการสร้าง Landmark Shopping Destination ระดับโลก  นำประเทศไทยสู่จุดหมายการเป็น ASEAN Regional Shopping Hub ในฐานะแหล่งรวมสุดยอดประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งที่ดีที่สุดของอาเซียน ให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้งของทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวทั่วโลก

๘ โครงการมูลค่ากว่า ๕๓,๐๐๐ ล.

นายปรีชา กล่าวต่อว่า เรามีความมุ่งมั่นที่จะนำความเชี่ยวชาญในธุรกิจค้าปลีก นวัตกรรมและความเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งที่เรามี มาร่วมพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยโปรเจ็กต์สุดยอด Landmark Shopping Destination ที่ดีที่สุดที่จะทำหน้าที่เป็น Shopping Hub (ศูนย์กลางการช้อปปิ้ง) แห่งใหม่ของประเทศรวม ๘ โครงการ มูลค่ารวมกว่า ๕๓,๐๐๐ ล้านบาท โครงการทั้งหมดนี้จะย้ำความยิ่งใหญ่ของซีพีเอ็นในฐานะผู้นำตลาดศูนย์การค้า โดยซีพีเอ็นจะมีศูนย์การค้าครอบคลุมมากที่สุดในทุกจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศรวม ๓๑ แห่ง มีพื้นที่รวมกว่า ๗ ล้านตารางเมตร ซึ่งตนมั่นใจอย่างยิ่งว่า ทุกโครงการจะสร้างความแตกต่าง และเพิ่มมูลค่าให้ประเทศไทยโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคด้านการค้าปลีก ต่อยอดสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่การนำพาเศรษฐกิจ สร้างการเติบโตให้ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวม) ของประเทศ สร้างความเจริญให้ชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มในแง่การลงทุนต่อเนื่อง

ออกแบบตอบโจทย์ตลาดในพื้นที่

สำหรับ ๘ โครงการที่ซีพีเอ็นนำมาประกาศแผนการลงทุนรวมกว่า ๕๓,๐๐๐ ล้านบาทในครั้งนี้ นายปรีชา เปิดเผยอีกว่า มีจุดเด่นและได้รับการออกแบบมาให้ตอบโจทย์ตลาดในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง โดยแต่ละโครงการมีไฮไลท์ ดังนี้ ๑. เซ็นทรัลเวสท์เกต ต้นแบบ “ซูเปอร์รีจินัล มอลล์” ที่ดีที่สุดในเอเชีย พลิกทุกประวัติศาสตร์ที่เคยมีมาของวงการรีเทล มีมูลค่าการลงทุนกว่า ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท บนพื้นที่กว่า ๕๐๐,๐๐๐ ตร.ม. ยกระดับบางใหญ่ให้กลายเป็น New CBD และศูนย์กลางการคมนาคมที่ครบครันในอนาคตรับ AEC ๒.เซ็นทรัลพลาซา ระยอง ศูนย์การค้าที่ยิ่งใหญ่และทันสมัยที่สุดของภาคตะวันออก มีมูลค่าการลงทุนกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท บนพื้นที่ ๒๐๐,๐๐๐ ตร.ม. ด้วยศักยภาพของจังหวัดศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การเปิด AEC จะเป็นตัวเร่งปัจจัยบวกในการสร้างโอกาสการลงทุนจากต่างชาติและภาคเอกชน ต่อยอดความเติบโตทางgศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด

๓. เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสท์ วิลล์ เป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ครบวงจรแบบเอ้าท์ดอร์แห่งแรกของไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า ๖,๐๐๐ ล้านบาท บนพื้นที่ ๑๕๐,๐๐๐ ตร.ม. ที่นี่จะเป็นศูนย์การค้าที่ผสมผสานไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัยและธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัวบนทำเลศักยภาพที่ดีที่สุดบนถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ๔. เซ็นทรัลพลาซา นครศรีธรรมราช ไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์แบบที่สุดของจังหวัด ด้วยการลงทุนกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท บนพื้นที่ ๑๒๐,๐๐๐ ตร.ม. บนทำเลยุทธศาสตร์ของภาคใต้ด้วยศักยภาพความเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ด้วยจำนวนประชากรที่สูงเป็นอันดับ ๑ ของภาคใต้ อีกทั้งยังมีศักยภาพในการเป็น Logistic Hub (ศูนย์กลางการขนส่ง/โลจิสติกส์) ของภาคใต้รับสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย

‘โคราช’ทุ่มลงทุนกว่า ๙,๓๐๐ ล.

ส่วนโครงการที่ ๕. เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ซีพีเอ็นวางเป้าหมายเป็นไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์แห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าการลงทุนกว่า ๙,๓๐๐ ล้านบาท บนพื้นที่ ๒๕๐,๐๐๐ ตร.ม. แต่ไม่ได้ระบุว่าจะก่อสร้างในทำเลเดิมถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (By Pass) หรือทำเลใหม่ถนนมิตรภาพ ตรงข้ามมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และโครงการนี้จะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของอีสานด้วยศักยภาพของจังหวัด ด้วยจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ และ GPP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด) รวมสูงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ๖. เซ็นทรัล ภูเก็ต โครงการนี้เปรียบเสมือนการสร้างอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัล โดยรวม ๓ โครงการ ๓ คอนเซ็ปต์ที่แตกต่างไว้อย่างลงตัว บนทำเลที่ดีที่สุดของภูเก็ต มีมูลค่าการลงทุน ๑๒,๗๐๐ ล้านบาท บนพื้นที่โครงการ ๓๐๐,๐๐๐ ตร.ม. ที่นี่จะเป็นแหล่งรวมแบรนด์หรูระดับเวิลด์คลาส และเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่ใหญ่และดีที่สุดของเกาะภูเก็ต ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาสัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งเหนือระดับ

พร้อมพลิกโฉมใหม่อีก ๒ สาขา

“นอกจากนี้ จะพบกับการพลิกโฉมใหม่ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า ด้วยงบลงทุน ๒,๓๐๐ ล้านบาท และเซ็นทรัลพลาซา บางนา งบลงทุน ๑,๒๐๐ ล้านบาท ที่จะมีความครบครัน และทันสมัยมากยิ่งขึ้น ตอบรับทุกไลฟ์สไตล์ทันสมัย รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตของโครงการที่อยู่อาศัย และจำนวนคนที่จะหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ ทั้งนี้ จากโครงการพัฒนารถไฟฟ้าสายใหม่ของภาครัฐ โดยทั้ง ๘ โครงการนี้ มีกำหนดเปิดให้บริการในระหว่างปี ๒๕๕๘-๒๕๖๐” นายปรีชา เอกคุณากูล กล่าวในท้ายสุด

นายปรีชา เอกคุณากูล

พับแผนลงทุนเดิมบายพาส ๗,๐๐๐ ล.

อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนเปิด  “เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา” ก่อนหน้านี้ นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ และบริหารโครงการก่อสร้าง ของซีพีเอ็น ได้แถลงข่าวประกาศการลงทุนก่อสร้างเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ด้วยงบลงทุนกว่า ๗,๐๐๐ ล้านบาท หลังจากตกลงซื้อที่ดินผืนใหญ่กว่า ๕๒ ไร่ ของนายบุญชัย พรมนะกิจ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.บุญชัยราชสีมา นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างถนนทางหลวง ซึ่งติดปั๊มน้ำมัน ปตท. ริมถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (By Pass) ช่วงกม.ที่ ๓ ใกล้จุดลงมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่มุ่งหน้าไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยมูลค่าการซื้อขาย ๕๐๐-๖๐๐ กว่าล้านบาท และมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับซีพีเอ็นตั้งแต่ช่วงไตรมาสสามของปี ๒๕๕๖ เรียบร้อยแล้ว แต่ภายหลังเทศบาลตำบลปรุใหญ่ได้อนุมัติแบบก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๖ ซีพีเอ็นก็ไม่ขยับการก่อสร้างแต่อย่างใด จากกำหนดเดิมจะก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ และเปิดให้บริการภายในปี ๒๕๕๙ กระทั่งมีกระแสข่าวการย้ายทำเลใหม่ ริมถนนมิตรภาพ ตรงข้ามศูนย์จัดการธนบัตรนครราชสีมา ธนาคารแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยกว้านซื้อที่ดินรวม ๖๐ กว่าไร่

 

รองรับธุรกิจโรงแรม ๓๕๐ ห้อง

ต่อเรื่องนี้นายทัตเทพ หัสขันธ์เปี่ยมสุข หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์ ของซีพีเอ็น กล่าวกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “ซีพีเอ็นจะแถลงข่าวรายละเอียดการลงทุน “เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา” อีกครั้ง โดยจาก  Presentation ที่นำเสนอในวันแถลงข่าว (๑๒ พ.ย. ๕๗) เป็นการก่อสร้างในทำเลใหม่ เนื้อที่ ๖๐ ไร่ บนพื้นที่ ๒๕๐,๐๐๐ ตร.ม. ซึ่งใกล้กับ ๓ มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา) กำหนดเปิดบริการไตรมาส ๔ ปี ๒๕๕๙ และจะมีธุรกิจโรงแรมเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ประมาณ ๓๕๐ ห้อง คาดว่าต้นปีหน้าผู้บริหารของซีพีเอ็นจะแถลงรายละเอียดทั้งหมด รวมถึงสาเหตุการย้ายทำเลใหม่ด้วย ส่วนที่ดินที่ซื้อไว้ในทำเล By Pass (ถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา) ก็ยังเป็นของซีพีเอ็นที่เก็บไว้อยู่” 

ก่อนตัดสินใจปักธงโคราช

สำหรับการขยายสาขามายังภาคอีสานของเซ็นทรัลพลาซา มีแผนมาตั้งแต่ก่อนเดอะมอลล์ นครราชสีมา เปิดบริการในปี พ.ศ.๒๕๔๓ โดยเล็งทำเลไว้ที่บริเวณสามแยกนครราชสีมา ถนนมิตรภาพ ตรงข้ามห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขานครราชสีมาในปัจจุบัน ซึ่งเคยเป็นของนายบรรยงค์ หล่อธราประเสริฐ กลุ่มไทยสงวน ผู้แทนจำหน่ายน้ำมันเอสโซ่ และผู้ประกอบการสถานีขนส่งนครราชสีมาแห่งที่ ๒ (บขส.ใหม่) เนื้อที่ประมาณ ๓๐ กว่าไร่ ซึ่งขณะนั้นที่ดินแปลงดังกล่าวเปิดบริการปั๊มน้ำมันเอสโซ่ แต่หลังจากมีข่าวว่าเซ็นทรัลจ่ายเงินมัดจำก้อนหนึ่งให้กับไทยสงวนและเซ็นสัญญาแล้ว นายบรรยงค์จึงตกลงรื้อปั๊มน้ำมันที่สร้างรายได้มหาศาล แต่เรื่องนี้ต้องล้มพับไป และมีการฟ้องร้องไปมาทั้งสองฝ่าย แต่ที่สุดก็เลิกราต่อกัน ส่วนที่ดินบริเวณนั้น ภายหลังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ประกอบธุรกิจโรงแป้งมันสำปะหลังในจังหวัดชัยภูมิ คือ นางสาวทองเล็ก แซ่เฮง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แป้งมันแสงเพชร จำกัด

ต่อมานางสาวทองเล็ก แซ่เฮง อนุญาตให้หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ใช้พื้นที่ดังกล่าวจัดงาน “หอการค้าโคราชแฟร์ และเทศกาลอาหารย่าง ครั้งที่ ๘” ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ และในภายหลังที่ดินบริเวณนี้ได้ขายให้กับกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” แล้ว โดยนายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แลนด์ แลนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) มีแผนขยายการลงทุนธุรกิจศูนย์การค้า “Terminal 21 (เทอร์มินอล ๒๑)” ซึ่งบริหารงานโดยเครือแลนด์แอนด์เฮาส์ ร่วมกับสยาม รีเทล ดีเวลอปเมนท์ เจ้าของศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ โดยเปิดสาขาใหม่อีก ๒ แห่งในภาคอีสาน ที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่น คาดการณ์ว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ในการลงทุนที่จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้กำลังเตรียมพื้นที่ก่อสร้างเทอร์มินอล ๒๑ สาขานครราชสีมา 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๐ ฉบับที่ ๒๒๕๘ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ - วันพฤหัสบดีที่  ๒๐ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๗


685 1343