26thApril

26thApril

26thApril

 

November 22,2014

โวยหยุดสร้างโรงฆ่าสัตว์ นายกฯท้าชนทำถูกกฎหมาย

   ค้านตั้งโรงฆ่าสัตว์ในชุมชนหวั่นก่อมลพิษ หลังยื่นหนังสือคัดค้านแล้วไม่คืบหน้า จี้เทศบาลยุติก่อสร้าง พร้อมให้แก้ไขปัญหากองขยะกลางชุมชน ล่าสุดจังหวัดมีคำสั่งให้ชะลอ แต่ต่อมานอภ. กลับระบุว่าให้เดินหน้าได้แล้ว

การคัดค้านก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์

 

    เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๕.๓๐ น. นายกฤษฎา สัตยานุชิต ทนายความ และอดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองเมืองปัก ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนราษฎรบ้านวังดู่ หมู่ที่ ๘ ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เดินทางมาร้องเรียนกับ ‘โคราชคนอีสาน’ เนื่องจากได้รับความทุกข์ใจจากโครงการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ของเทศบาลเมืองเมืองปัก ที่ตั้งราคากลางประมูลก่อสร้าง ๑๓.๕ ล้านบาท  โดยขอให้มีการระงับยับยั้งการประมูลการก่อสร้าง เนื่องจากจะส่งผลกระทบทางอากาศและสิ่งแวดล้อม หวั่นเกรงสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่ปล่อยออกจากโรงฆ่าสัตว์ จะส่งกลิ่นทำลายชั้นบรรยากาศ ทำให้อากาศและแหล่งน้ำเน่าเสีย ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและโรคภัยต่างๆ ที่จะตามมา จากปัจจุบันมีกองขยะขนาดใหญ่อยู่ทางทิศใต้ของชุมชน ส่งกลิ่นเหม็นอบอวล ไร้หน่วยงานมาเหลียวแล ห่างจากชุมชนแค่ ๔ เมตร การบริหารจัดการกองขยะยังทำไม่ได้ ถ้าหากปล่อยให้ดำเนินการสร้างราษฎรในพื้นที่คงดำรงชีวิตลำบากแน่


เสนอพื้นที่ใหม่ย้ายห่างชุมชน
    นายกฤษฎา กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ หอประชุมโรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จัดให้มีการประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยการระดมมวลชนในเขตเทศบาลเมืองเมืองปักทั้งหมด แต่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ บ้านวังดู่ หมู่ที่ ๘ มีการระดมมวลชนทั้ง ๑๕ ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองเมืองปัก เพื่อไปรับฟังความคิดเห็น ส่วนประชาชนบ้านวังดู่ หมู่ที่ ๘ เข้าร่วมประชาคมประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ คน แต่ไม่ได้ลงชื่อการประชาคม โดยมีการแสดงความคิดเห็น พร้อมชี้แจงให้หาพื้นที่ใหม่ในการก่อสร้าง โดยเสนอพื้นที่ ๑๕ ไร่ บริเวณตำบลตะคุ ห่างไกลจากแหล่งชุมชนมาก คณะผู้บริหารพยายามชี้ให้เห็นประโยชน์การก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์ (สุกร) ที่ชุมชนวังดู่ มีข้อดีอย่างไร แต่ประชาชนในพื้นที่เกรงผล กระทบที่จะเกิดขึ้น กลิ่นและเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งขณะนี้กองขยะขนาดใหญ่ก็บริหารจัดการไม่ได้ แต่เสียงสนับสนุนส่วนมากนั้นมาจากชุมชนอื่น ต่างมีความเห็นให้สร้างจึงผ่านการทำประชาคม ในความคิดเห็นส่วนตัวเรื่องการทำประชาคมควรรับฟังข้อคิดเห็นเฉพาะกลุ่มผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ไม่ใช่ชุมชนในเขตเทศบาลทั้งหมด

 

เสียงค้านหนักจว.ชะลอสร้าง
    นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ภายหลังการทำประชาคมผ่านพ้น ได้เดินหน้าทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด แต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมา กระทั่งตนเห็นว่าเรื่องเงียบ จึงทำหนังสือเพื่อร้องขอความเห็นใจ โดยเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคาที่ผ่านมา ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ที่ศาลากลางจังหวัด โดยมีปลัดท่านหนึ่งรับเรื่องไว้ ต่อมาวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีหนังสือที่ นม ๐๐๐๘/๒๐๑๓๙ ถึงนายอำเภอปักธงชัย 
    โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว ระบุว่า “ตามหนังสือที่อ้างถึงเทศบาลเมืองเมืองปักมีความประสงค์ขอตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ชนิดสัตว์ (สุกร) ในพื้นที่หมู่ที่ ๘ ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทางคณะกรรมการพิจารณาแผนงานประกอบกิจการฆ่าสัตว์ระดับจังหวัด ได้พิจารณาที่ตั้ง และแบบแปลนโรงฆ่าสัตว์ มีความเหมาะสม และทางคณะกรรมการพิจารณาแผนงานประกอบกิจการฆ่าสัตว์ระดับอำเภอปักธงชัย ได้ทำบันทึกปากคำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ ดังกล่าวและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง พบประชาชนส่วนใหญ่ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ 
    ในการนี้ จังหวัดนครราชสีมา เห็นควรชะลอการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์เทศบาลเมืองเมืองปัก และให้เทศบาลเมืองเมืองปัก ประสานทำความเข้าใจกับประชาชน ในพื้นที่หมู่ที่ ๘ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผล กระทบโดยตรง ให้เห็นถึงประโยชน์และกระบวนการ ตลอดทั้งมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ไม่เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และให้คณะกรรมการพิจารณาแผนงานประกอบกิจการฆ่าสัตว์ ระดับอำเภอ ดำเนินการบันทึกปากคำ หากประชาชนในพื้นที่หมู่ ๘ ส่วนใหญ่เห็นด้วยแล้วจึงให้ดำเนินการตามขั้นตอน การขอตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ พ.ศ.๒๕๕๕ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์ และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.๒๕๓๕ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดตามลำดับต่อไป”
    นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า หลังจากมีคำสั่งออกมาแล้วนั้น เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ ทางเทศบาลเมืองเมืองปัก กลับประกาศโครงการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์ขึ้นท่ามกลางความสงสัยของชาวบ้าน ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีคำสั่งจากทางจังหวัดให้ชะลอการสร้างแล้ว เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ ซึ่งหลังจากนี้หากไม่มีหน่วยงานใดลงมากำกับดูแล และมีการเริ่มก่อสร้างทางราษฎรบ้านวังดู่ หมู่ที่ ๘ จะระดมมวลชนเพื่อคัดค้านต่อไป

 

อดีตปศุสัตว์จังหวัดมั่นใจระบบ
    ต่อมาวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ‘โคราชคนอีสาน’ สอบถามนายรังสรรค์ ระวังสำโรง อดีตปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ในฐานะที่เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนโดยตรง ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ โดยนายรังสรรค์ กล่าวว่า “กรณีร้องเรียนการจัดตั้งโรงฆ่าสัตว์นั้นมีมาตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๗ แล้ว เริ่มมีการทำประชาคม เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๗ ประชาชนทั้ง ๑๕ ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองเมืองปัก รวมทั้งชุมชนบ้านวังดู่ หมู่ที่ ๘ ต่างก็มาร่วมทำประชาคมครั้งนั้น โดยตนให้ความคิดเห็นว่า การจัดตั้งโรงฆ่าสัตว์แห่งนี้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยไม่ได้ไปขัดกับกฎหมายแต่อย่างใด อยู่ภายใต้การควบคุม ดูแล และตรวจสอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และเทศบาลเมืองเมืองปัก ทั้งยังพยายามชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการจัดตั้งโรงฆ่าสัตว์ (สุกร) เนื่องจากเป็นการจัดสร้างเป็นแบบระบบปิด ฉะนั้น เรื่องกลิ่น เสียง น้ำเสียนั้น ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะว่าทางคณะกรรมการผู้ตรวจสอบดูรูปแบบการก่อสร้างแล้ว และมีมติเห็นชอบว่าเป็นประโยชน์ต่อชุมชนจริง มีมาตรฐานเชื่อถือได้ ภายใต้การดูแลควบคุมของภาครัฐ เพราะที่ผ่านมาในเขตเทศบาลเมืองเมืองปักไม่มีโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานถูกต้องตามกฎหมาย”
    นายรังสรรค์ กล่าวต่อว่า การจัดสร้างโรงฆ่าสัตว์แห่งนี้ เป็นนโยบายของเทศบาลเมืองเมืองปัก เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นในครัวเรือน มีเนื้อหมูอนามัยไว้บริโภคในราคาย่อมเยา เป็นการทำประโยชน์และไม่แสวงหากำไร ทางเทศบาลเมืองเมืองปักนั้นก็เคยชี้แจงต่อสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาด้วยว่า ระบบควบคุมดูแลความสะอาดนั้นมีมาตรฐานแน่นอน โดยได้ศึกษาโครงสร้างองค์ประกอบต่างๆ อย่างดี ดังนั้น ตนจึงมีความเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยิ่ง เพื่อเป็นแนวทางและเป็นต้นแบบโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานต่อไป

 

สร้างมลภาวะนอภ.พร้อมสั่งปิด
    ด้านนายภูมิสิทธิ์ วังคีรี นายอำเภอปักธงชัย ชี้แจงเรื่องนี้ว่า หลังจากที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจากชาวบ้านคัดค้านการก่อสร้างและไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ความคืบหน้าขณะนี้หลังจากที่มีคำสั่งจังหวัดออกมาให้ชะลอการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์ และมีการร้องเรียนจากประชาชนหวั่นเกรงจะได้รับผลกระทบจากกลิ่น เสียง และสิ่งปฏิกูลที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงฆ่าสัตว์นั้น ล่าสุดมีคำสั่งให้ยกเลิกชะลอการจัดสร้างแล้ว โดยเทศบาลฯ สามารถก่อสร้างได้ อาศัยอำนาจกฎกระทรวงและเงื่อนไขการสร้างโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๕ ทางเทศบาลเมืองเมืองปักได้ขออนุญาตจากทางอำเภอปักธงชัยเรียบร้อยแล้ว และได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ เห็นว่าเป็นไปตามกฎระเบียบทั้งหมด โดยวัดระยะห่างการก่อสร้างอยู่ห่างชุมชน วัด และสถานศึกษา เกิน ๑๐๐ เมตร เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน เนื่องจากได้โรงฆ่าสัตว์แบบระบบปิด มีมาตรฐาน จากนี้ไปชาวบ้านจะได้มีเนื้อหมูอนามัยไว้บริโภค หรือจำหน่ายเพิ่มรายได้  
    “หากพบว่าการจัดตั้งโรงฆ่าสัตว์แห่งนี้ มีการบริหารจัดการที่ไม่มีคุณภาพเป็นไปตามที่กล่าวไว้ ส่งกลิ่นเหม็น เสียงดัง ปล่อยน้ำเสียหรือสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำของชุมชน นายอำเภอมีอำนาจสั่งให้ยุติการดำเนินกิจการได้ทันที ราษฎรในพื้นที่ไม่ต้องกังวล” นายอำเภอปักธงชัย กล่าวย้ำ
นายกฯ ยืนยันความโปร่งใส
    ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ นายมงคล ประยูรหงษ์ นายกเทศมนตรีเมืองเมืองปัก ชี้แจงกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า ตามระเบียบข้อกฎหมายนั้นทางเทศบาลเมืองเมืองปักจำเป็นต้องมีโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพ สะอาดถูกหลักอนามัย ที่ผ่านมาในเขตเทศบาลเมืองเมืองปักไม่มีโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานและถูกต้องตามกฎหมาย จึงจัดหาสถานที่ที่ทางเทศบาลฯ มีอยู่ ซึ่งเห็นว่าพื้นที่บ้านวังดู่ หมู่ที่ ๘ มีพื้นที่อยู่ในเขตของเทศบาลฯ จำนวน ๕๐ ไร่ ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย จึงทำการแบ่งเนื้อที่เพื่อเตรียมใช้สร้างเป็นโรงฆ่าสัตว์จำนวน ๕ ไร่ เพื่อชุมชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การจัดทำประชาคมโรงฆ่าสัตว์มีมาหลายครั้งแล้ว โดยเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๗ เป็นครั้งแรกของการทำประชาคม มีการเตรียมงานและต้องการที่จะชี้แจงถึงประโยชน์อย่างแท้จริง หากประชาชนบางกลุ่มไม่เห็นด้วย อีกทั้งยังเตรียม ไข่เน่ามาปา และหากมีกลุ่มคนเห็นชอบในการประชาคม ตนคิดว่าไม่ถูกต้องควรใช้เหตุและผลในการเสนอ 


สถานที่ตั้งห่างชุมชน ๒๐๐ ม.
    นายมงคล ชี้แจงอีกว่า ในส่วนของสถานที่จัดสร้างโรงฆ่าสัตว์แห่งนี้ ทางเทศบาลเมืองเมืองปักเห็นว่าชุมชนบ้านวังดู่ หมู่ ๘ เป็นพื้นที่ครอบครองของเทศบาลเมืองเมืองปัก และอยู่ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง เมื่อปี ๒๕๕๓ เกิดน้ำท่วมใหญ่อำเภอปักธงชัย ที่บริเวณแห่งนี้น้ำก็ไม่ท่วม ที่สำคัญคืออยู่ห่างจากบ้านหลังแรกในชุมชนบ้านวังดู่ หมู่ที่ ๘ ถึง ๒๐๐ เมตร ถือว่าไกลเกินกฎหมายกำหนด มีการตัดถนนใหม่ด้วย โดยไม่มีการลำเลียงสัตว์ผ่านในชุมชน ตนวางแผนและบริหารดูแลทุกกระบวนการ มีการฆ่าสัตว์โดยไม่ให้สัมผัสพื้น และมีบ่อบำบัดน้ำเสียที่ไม่กระทบต่อชุมชนแน่นอน สามารถตรวจสอบการทำงาน การเปิดประมูลได้ ไม่ปิดปัง โปร่งใส ชัดเจน อีกทั้งเคยนำชาวบ้านไปดูโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่ง ที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่บนเนื้อที่เพียง ๑ ไร่ ๓ งาน ทั้งยังติดชุมชน โรงเรียน แต่มีการบริหารจัดการที่ดี ประชาชนในพื้นที่ก็พอใจ ประชาชนในพื้นที่อยู่อย่างสงบสุข หลายครั้งที่มีคณะผู้มาตรวจสอบ รวมทั้งทหาร (คสช.) ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด 
    “ตนในฐานะผู้นำท้องถิ่นอยากให้ประชาชนมีเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานไว้บริโภค ได้โรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน มีการรับรองจากกรมปศุสัตว์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขอนามัยที่ดีของชาวปักธงชัย และไม่กลัวหากมีผู้ร้องเรียนไม่ให้จัดสร้างโรงฆ่าสัตว์แห่งนี้ เพราะตนยึดหลักกฎกติกาและความถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ” นายกเทศมนตรีเมืองเมืองปัก กล่าวย้ำ
งบจัดการบ่อขยะถูกชะลอไว้
    ส่วนกรณีการร้องเรียนเรื่องปัญหาบ่อขยะ ส่งกลิ่นเหม็นทั่วบริเวณชุมชนบ้านวังดู่ หมู่ที่ ๘ เนื่องจากผู้บริหารเทศบาลเมืองเมืองปักยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานั้น นายมงคล ประยูรหงส์ นายกเทศมนตรีเมืองเมืองปัก กล่าวในท้ายสุดว่า “บ่อขยะที่อยู่ในเขตชุมชนบ้านวังดู่ หมู่ที่ ๘ มีมาประมาณ ๓๐-๔๐ ปีแล้ว ทางคณะผู้บริหารไม่ได้นิ่งดูดาย และของบฯ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว และได้รับอนุมัติงบประมาณปี ๒๕๕๘ แต่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ร้องเรียนกรณีการจัดตั้งโรงฆ่าสัตว์ภายในชุมชน ทางกระทรวงฯ จึงชะลอการอนุมัติงบประมาณดังกล่าว และขอตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง คาดว่างบฯ ส่วนนี้จะมาถึงประมาณต้นปี ๒๕๕๙”  
    ล่าสุดนายกฤษฎา สัตยานุชิต ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนราษฎรชุมชนบ้านวังดู่ หมู่ที่ ๘ ในการร้องเรียนเรื่องดังกล่าว ยืนกรานกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “หากมีการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์ภายในชุมชนบ้านวังดู่ หมู่ที่ ๘ ตนจะยื่นหนังสือเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองนครราชสีมา เพื่อความผาสุกของประชาชนในชุมชนบ้านวังดู่ต่อไป แม้ว่าขณะนี้ชาวบ้านวังดู่ส่วนหนึ่งที่เคยออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านจะเงียบก็ตาม”


691 1350