26thApril

26thApril

26thApril

 

November 22,2014

บอร์ดบสย.วางยุทธศาสตร์ปี ๕๘ หนุนเอสเอ็มอี-พัฒนาองค์กร คาดปิดค้ำสินเชื่อ ๖๑,๕๐๐ ล.

   บอร์ด บสย. วาง ๓ เป้าหมายหลักขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็นเลิศเติบโตยั่งยืน พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ บริหารหนี้ด้อยคุณภาพ หนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเขตเศรษฐกิจพิเศษ สอดรับนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐ ประมาณการผลดำเนินงานปี ๒๕๕๗ ปิดยอดค้ำประกันสินเชื่อ ๖๑,๕๐๐ ล้าน 

  นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์

    นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยแนวทางการบริหารงาน  ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการ บสย. ชุดใหม่ ว่า “จะให้การสนับสนุนและเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพองค์กร บสย.อย่างเต็มที่ในทุกๆ ด้าน เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยเป้าหมายการยกระดับ บสย.ให้เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ ที่มีความพร้อมในการให้การสนับสนุน ช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) เข้าถึงแหล่งทุน ในฐานะที่ บสย.เป็นเครื่องมือของรัฐ และเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจ”
    นายญาณศักดิ์ เผยต่อไปว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปี ๒๕๕๘ กำหนดเป้าหมายการทำงานไว้ ๓ แนวทางหลักคือ ๑.ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพส่งเสริม SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐให้เข้าถึงแหล่งทุนในระบบ โดยมุ่งพัฒนาองค์กรสร้างการรับรู้ให้เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ยให้ได้ร้อยละ ๒๕ ของสินเชื่อใหม่ ภายในปี ๒๕๖๒ จากปัจจุบันมีสัดส่วนเฉลี่ยที่ร้อยละ ๒๐ และขยายฐานลูกค้า SMEs เพิ่มเป็น ๒๐๐,๐๐๐ ราย ภายในปี ๒๕๖๒ ขณะที่แนวทาง ๒. สร้างองค์กร บสย.ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการลูกหนี้ค้ำประกันที่ด้อยคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารเงินค่าธรรมเนียมการค้ำประกันที่เหมาะสม โดยเน้นความมั่นคงของเงินสำรองเพื่อการชดเชยการค้ำประกัน และ ๓. มุ่งเน้นการบริหาร ที่ก่อเกิดประสิทธิภาพองค์กร อาทิ การลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบบริหารความเสี่ยง ระบบการบริหารหนี้ การบริหารเงินลงทุน และการลดกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสงค์และข้อจำกัดของ บสย. เพื่อให้เข้าถึงการค้ำประกันสินเชื่อ
    “ทั้งนี้ คณะกรรมการ บสย. จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรม เทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ การค้ำประกันให้ SMEs ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีปัญหาเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอาจต้องปรับโครงสร้างหนี้ แต่ยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ” ประธานกรรมการ บสย. กล่าว 


    ขณะที่พันเอกประเสริฐ ชูแสง กรรมการและประธานกรรมการบริหาร กล่าวเสริมว่า ในปี ๒๕๕๘ จะร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน ขับเคลื่อน SMEs เข้าถึงแหล่งทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ อาทิ โครงการความร่วมมือกับสภาอุตสากรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) ในโครงการความร่วมมือกับ ๔ หน่วยงาน เพื่อวางแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการลดปัญหาและอุปสรรคการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาและอุปสรรคในกลุ่มผู้ขอสินเชื่อและผู้ให้สินเชื่อ เพื่อหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ SMEs โดยได้นำเสนอร่างข้อเสนอการขับเคลื่อน SMEs ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ผลักดันการแก้ไขนิยาม SMEs ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสนับสนุนการคัดเลือก National Champion ของ SMEs เพื่อคัดกรอง SMEs ที่มีศักยภาพ ให้ได้รับเงินกู้ในโครงการ Policy Loan และให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสม
    พันเอกประเสริฐ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมุ่งประสานการทำงานร่วมกัน ตามกรอบความร่วมมือระหว่าง บสย.กับหน่วยงานพันธมิตร ตลอดทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่การส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และในกลุ่มสถาบันการเงิน ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs อาทิ ความร่วมมือระหว่าง บสย. และสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ในการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม เทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ พร้อมทั้งความร่วมมือในระดับสากล อาทิ ความร่วมมือกับสถาบันค้ำประกันสินเชื่อระดับโลกกับ Korean Technology Finance Corporation (KOTECX) เกาหลี ซึ่งในปี ๒๕๕๘  โครงการความร่วมมือเหล่านี้จะมีมากขึ้น 
    ด้านนายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป กล่าวในท้ายสุดว่า “ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้ และการคาดการณ์ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) ที่อยู่เพียงร้อยละ ๑.๕  ทำให้ บสย.ต้องปรับแผนและกลยุทธ์แบบเชิงรุกมากขึ้น คาดว่าผลการดำเนินงาน บสย. ในปี ๒๕๕๗ จะสามารถปิดยอดค้ำประกันสินเชื่อที่ ๖๑,๕๐๐ ล้านบาท และมีผลกำไร ๓๖๓ ล้านบาท  ขณะที่ NPG อยู่ที่ร้อยละ ๕.๒๖ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔-๒๕๕๗ บสย. มีภาระค้ำประกันคงเหลือที่ ๒๖๑,๗๒๖ ล้านบาท จากยอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อสะสมเท่ากับ ๓๙๑,๙๓๖ ล้านบาท สำหรับแผนการดำเนินงานในปี ๒๕๕๘ ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อรวม ๘๐,๐๐๐ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งเป้าขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่และผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ จำนวน ๒๗,๑๒๖ ราย โดยมีสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ยปี ๒๕๕๘-๒๕๖๒ อยู่ที่ร้อยละ ๒๕ ของสินเชื่อ SMEs ที่มีการอนุมัติใหม่”


682 1342