29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 27,2014

‘พีซีเอส’ฟังความเห็นปชช. ขยายชิ้นส่วนเหล็ก ๕๐๐ ล. หวั่นน้ำเสีย-ฝุ่นฟุ้งนาข้าว

   ทุนใหญ่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ๖ ตำบล ๓ อำเภอ ขยายกำลังผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ ๓๘๔ ตัน/วัน โดยใช้เงินลงทุน ๕๐๐ ล้านบาท ประชาชนและผู้นำชุมชนหวั่น! ก่อมลพิษ ทั้งน้ำเสีย และฝุ่นละออง หลังร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะไม่สามารถทำนาข้าวได้ ไล่เอาเงินฟาดหัวผู้รับฟังและสื่อมวลชนอุตลุด

    เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๓๐ ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลเมืองใหม่โคกกรวด ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายสมคิด ตั้งประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอ โครงการและขอบเขตการศึกษาโครงการโรงงานผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ ของบริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน (ไทยแลนด์) จำกัด โดยมีประชาชนที่อยู่ในรัศมี ๕ กิโลเมตรของที่ตั้งโครงการฯ ในเขต ต.โคกกรวด, ต.ขามทะเลสอ และต.โป่งแดง อ.ขามทะเลสอ, ต.นากลาง, ต.กุดจิก และต.โค้งยาง อ.สูงเนิน พร้อมทั้งกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสถานศึกษา เข้าร่วมประชุมกว่า ๒๗๕ คน 
 

อุตสาหกรรมสีเขียวอยู่ร่วมชุมชน
    นายสมคิด ตั้งประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเปิดการประชุมว่า “ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งมลพิษทางเสียง น้ำ อากาศ ของเสีย การคมนาคม การชีวอนามัยและความปลอดภัย มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และชุมชนโดยรอบ ดังจะเห็นได้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมปัจจุบันให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม นั่นคือ อุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งผู้ประกอบการต้องดำเนินกิจการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมโดยรอบอย่างมีส่วนร่วม และไม่กระทบกับวิถีชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ตั้งโครงการด้วย ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในปัจจุบันที่มุ่งให้ความสำคัญเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ การจัดการขยะ รวมถึงกากอุตสาหกรรม โดยให้ผู้ประกอบการร่วมสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กิจการหรือโรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น การประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่ประชาชนจะได้สะท้อนปัญหาและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมา” 


นายบัลลังก์ รุ่งโรจน์กิติยศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน (ไทยแลนด์) จำกัด

‘พี.ซี.เอส.’ขยายฐานผลิตเหล็ก
    นายบัลลังก์ รุ่งโรจน์กิติยศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า บจก.พี.ซี.เอส.แมชีน (ไทยแลนด์) เป็นบริษัทในเครือ พี.ซี.เอส. กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินกิจการผลิตชิ้นส่วนเหล็กสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่างๆ โดย พี.ซี.เอส. กรุ๊ป ได้เริ่มประกอบกิจการผลิตมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ เป็นต้นมา ในพื้นที่จัดสรรที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม ของบริษัท พี.ซี.เอส. เอสเตท จำกัด โดยโครงการโรงงานผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ ของ บจก.พี.ซี.เอส. แมชีน (ไทยแลนด์) ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา ปัจจุบันมีกำลังการผลิต ๔๘ ตัน/วัน และมีความต้องการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นรวมเป็น ๓๘๔ ตัน/วัน (เพิ่มขึ้น ๘ เท่าตัว) ใช้เงินลงทุน ๕๐๐ ล้านบาท การดำเนินโครงการดังกล่าวเข้าข่ายตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท และขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๖ กำหนดให้อุตสาหกรรมเหล็ก หรือเหล็กกล้า ที่มีกำลังการผลิตแต่ละโครงการ/กิจการ หรือทุกโครงการ/กิจการ รวมกันตั้งแต่ ๑๐๐ ตัน/วันขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) เสนอต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยบริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม คือ บริษัท เทคนิคสิ่งแวดล้อมไทย จำกัด ดำเนินการจัดทำรายงาน EIA ในครั้งนี้  

 

ติดตั้งเตาหลอมขนาดใหญ่ ๖ ตัน 
    ต่อมาบจก.พี.ซี.เอส.แมชีน (ไทยแลนด์) พร้อมด้วยนางสาววันวิสา ศรัพัฒนกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และนายสุทินธ์ โพธิ์เปี้ยศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วม จาก บจก.เทคนิคสิ่งแวดล้อมไทย นำเสนอรายละเอียดร่างข้อเสนอโครงการและขอบเขตการศึกษาโครงการโรงงานผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ ของ บจก.พี.ซี.เอส.แมชีน (ไทยแลนด์) โดยระบุว่า โครงการฯ ตั้งอยู่เลขที่ ๒/๑๑ หมู่ที่ ๓ ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา ขนาดพื้นที่โครงการประมาณ ๒๐ ไร่ ภายในพื้นที่จัดสรรที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมของบริษัท พี.ซี.เอส. เอสเตท เดิมติดตั้งเตาหลอมเหล็ก ขนาด ๒ ตัน จำนวน ๑ เตา มีความสามารถในการผลิตประมาณ ๔๘ ตัน/วัน ได้เตรียมติดตั้งเครื่องจักรในส่วนขยาย โดยจะเพิ่มการติดตั้งเตาหลอมเหล็ก ขนาด ๖ ตัน จำนวน ๓ เตา ภายในอาคารผลิตปัจจุบันเท่านั้น โดยมิได้ก่อสร้างอาคารหรือเพิ่มพื้นที่โรงงานแต่อย่างใด ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตของโครงการที่พัฒนาครั้งนี้มีกำลังการผลิตสูงสุดรวมเป็น ๓๘๔ ตัน/วัน โดยวัตถุดิบและสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต มีแหล่งที่มาจากทั้งภายในและต่างประเทศ ดังนี้ ๑) วัตถุดิบหลักที่ใช้ในกระบวนการหลอมเหล็ก คือ เศษเหล็กหมุนเวียน สำหรับสารเคมีแต่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำเหล็ก ได้แก่ เหล็กดิบ สารเพิ่มคาร์บอน สารประกอบซิลิกอน แมงกานีส ทองแดง ฟอสฟอรัส โครเมียม และสังกะสี ๒) วัตถุดิบหลักใช้ในการทำแบบทราย ได้แก่ ทราย เบนโทไนท์ และเรซิน ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของโครงการ คือ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องจักรกล เช่น ดุมล้อหน้า เพลา ข้อเหวี่ยง เป็นต้น 

 

ตรวจสอบคุณภาพถึงขั้นตอนผลิต
    สำหรับกระบวนการผลิตของโครงการ เริ่มจากการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ โดยเศษเหล็กที่ใช้ในกระบวนการผลิต ได้แก่ เศษเหล็กกล้า (Steel scrap) และเศษเหล็กหมุนเวียนจากก้านเหล็ก/ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน (Return scrap) ก่อนที่จะเตรียมแบบหล่อ เพื่อใช้หล่อเหล็กหรือขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เหล็กหล่อ มีวัตถุดิบและสารเคมีที่ใช้ในการสร้างแบบ คือ ทราย และเบนโทไนท์ นำมาผสมกันในเครื่องผสมทรายแบบอัตโนมัติ ตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้สำหรับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท ต่อมาเตรียมวัตถุดิบและสารเคมีที่ใช้ในการเตรียมไส้แบบ คือ ทรายปั้นไส้แบบสำเร็จรูปที่ทำการผสมเรซินแล้ว จะถูกนำมาอัดแบบที่เครื่องปั้นแบบ จึงสามารถนำไปประกอบกับแบบหล่อก่อนนำไปรองรับน้ำเหล็ก
    จากนั้นมาถึงขั้นตอนการหลอมเหล็กที่สำคัญ โดยเศษเหล็กที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วจะถูกส่งมายังส่วนการหลอมเหล็กโดยใช้แม่เหล็กดูด แม่เหล็กดูดเหล็กเพื่อป้อนเข้าสู่เตาหลอมแบบเหนี่ยวนำไฟฟ้า การทำงานของเตาหลอมใช้หลักการเหนี่ยวนำของแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านขดลวดที่พันอยู่รอบๆ ผนังเตา โดยสนามแม่เหล็กทำให้เกิดความต่างศักย์และปล่อยกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านเศษเหล็กที่บรรจุอยู่ภายในเตาหลอม ความร้อนที่เกิดจากความต้านทานภายในเหล็กจะก่อให้เกิดการหลอมละลายที่อุณหภูมิประมาณ ๑,๓๐๐-๑,๔๐๐ องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาการหลอมประมาณ ๔๕-๖๐ นาที ต่อการหลอม ๑ รอบ ในระหว่างการหลอมจะทำการหล่อเย็นด้วยน้ำ เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิและความร้อนของขดลวดบริเวณผนังเตาหลอม ให้อยู่ในค่าที่ควบคุมไม่เกิน ๑,๖๐๐ องศาเซลเซียส ปัจจุบันมีเตาหลอมขนาด ๒ ตัน จำนวน ๑ เตา ภายหลังขยายกำลังการผลิตจะเพิ่มเตาหลอมขนาด ๖ ตัน จำนวน ๓ เตา 
     เมื่อเหล็กภายในเตาหลอมเกิดการหลอมละลายกลายเป็นน้ำเหล็กทั้งหมด จะทำการเลื่อนเปิดฝาเตาหลอมโดยใช้ระบบไฮดรอลิก เติมลงไปในเตาหลอมตามอัตราส่วนที่กำหนด จากนั้นเมื่อทำการหลอมต่อไปกระทั่งได้เป็นน้ำเหล็ก สัดส่วนประมาณ ๔ ใน ๕ ส่วนของเตา จึงทำการเก็บตัวอย่างน้ำเหล็กไปทำการตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีในห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์หาองค์ประกอบของค่าคาร์บอน ซิลิกอน แมงกานีส ฟอสฟอรัส ซัลเฟอร์ และโครเมียม กรณีที่ผลการทดสอบพบว่า น้ำเหล็กมีองค์ประกอบทางเคมีไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด จะทำการเติมวัตถุดิบเพื่อใช้ในการปรับแต่งสภาพต่างๆ ได้แก่ เหล็กดิบ สารเพิ่มคาร์บอน สารประกอบ ซิลิกอน แมงกานีส ทองแอง ฟอสฟอรัส โครเมียม และสังกะสี หลังจากนั้นจึงทำการกำจัดสิ่งเจือปนออกจากน้ำเหล็ก โดยเติมสารกำจัดกากขี้เหล็ก ซึ่งเป็นสารที่ไปจับกากขี้เหล็กให้ลอยตัวขึ้นมาบริเวณผิวด้านบนของน้ำเหล็ก จากนั้นจะถูกกวาดออกเพื่อนำไปกำจัดโดยหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป 
    วิศวกรของบจก.พี.ซี.เอส.แมชีน (ไทยแลนด์) กล่าวถึงขั้นตอนการผลิตสุดท้ายว่า น้ำเหล็กที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจะถูกเทลงสู่เบ้ารับน้ำเหล็ก ซึ่งในขั้นตอนนี้จะปรับอุณหภูมิเบ้ารับน้ำเหล็กโดยใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิง เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนของน้ำเหล็กและป้องกันการแตกร้าวของเบ้ารับน้ำเหล็ก จากนั้นจะถูกเคลื่อนย้ายมาตามรางเลื่อนเพื่อเตรียมเทลงแบบแม่พิมพ์ทรายเพื่อให้ได้ชิ้นงานตามที่ต้องการ ชิ้นงานที่เทน้ำเหล็กแล้วจะถูกปล่อยให้เย็นตัวลงตามธรรมชาติที่หน่วยระบายความร้อน ใช้เวลาประมาณ ๖๐ นาที แล้วจึงลำเลียงต่อไปยังหน่วยแยกรื้อชิ้นงานออกจากแบบ โดยชิ้นงานที่เย็นตัวลงแล้ว จะถูกรื้อแบบทรายออกโดยใช้ระบบสายพานเขย่าให้แบบทรายแตกออก จากนั้นชิ้นงานจะถูกตรวจสอบทางกายภาพ ได้แก่ ขนาด และรูปทรงของชิ้นงาน ก่อนบรรจุในลังรอส่งลูกค้าต่อไป สำหรับทรายที่ผ่านการรื้อแบบจะถูกส่งไปคัดแยกสิ่งปลอมปนออก เพื่อนำกลับไปใช้ในกระบวนการเตรียมแม่พิมพ์และไส้ทรายต่อไป 


ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ๑๗.๓ เมกะวัตต์
    ในส่วนของระบบสาธารณูปโภคของโครงการ กิจกรรมการใช้น้ำจากการอุปโภค-บริโภคของพนักงาน ภายหลังขยายกำลังการผลิต ๓๘.๑ ลบ.ม./วัน, น้ำใช้ในกระบวนการผลิต ๒.๘ ลบ.ม./วัน, น้ำล้างย้อนระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ ๒๔ ลบ.ม./วัน และน้ำรดต้นไม้ ๘.๘ ลบ.ม./วัน ขณะที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ปัจจุบันมีปริมาณการใช้ ๑๔๔ กก./วัน ซึ่งภายหลังขยายกำลังการผลิตอยู่ที่ ๕๐๐ กก./วัน และปริมาณการใช้ไฟฟ้าปัจจุบัน ๒ เมกะวัตต์ ภายหลังขยายกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้น ๑๗.๓ เมกะวัตต์  


นางสาวจินตนา ทุมพงษ์

ปชช.-ผู้นำชุมชนหวั่นก่อมลพิษ
    ทั้งนี้ ภายหลังการนำเสนอรายละเอียดโครงการฯ ในข้างต้น ประชาชนในพื้นที่และผู้นำชุมชนหลายหมู่บ้าน ต่างแสดงความกังวลถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับประชาชนและชุมโดยรอบ ทั้งในระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการผลิต ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางเสียง ทางน้ำ ทางอากาศ กากของเสีย รวมถึงการคมนาคม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยเฉพาะปัญหาการปล่อยน้ำเสียของบริษัท พี.ซี.เอส. เอสเตท ก่อนหน้านี้ ซึ่งนางสาวจินตนา ทุมพงษ์ ราษฎรบ้านเลขที่ ๑๘๕ หมู่ที่ ๒ ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา กล่าวว่า “ได้ส่งผล กระทบไม่สามารถทำเกษตรกรรมหรือทำนาบนพื้นที่กว่า ๑๐ ไร่ได้ เคยร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ให้มาตรวจสอบคุณภาพน้ำ แต่ก็ไม่รับการแก้ไขปัญหาและป้องกันอย่างจริงจังเป็นเวลากว่า ๑ ปีแล้ว ทั้งที่น้ำที่คาดว่าจะปล่อยออกมาจากโรงงานแห่งนี้มองด้วยตาเปล่าบางครั้งพบคราบน้ำมันลอยมา แต่ผลการตรวจสอบกลับไม่เกินค่ามาตรฐาน” 
    ส่วนผู้นำชุมชนรายหนึ่ง แสงความเป็นห่วงว่า “หากไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ดีน้ำเสียอาจไหลลงสู่ลำน้ำสาธารณะ ทั้งห้วยมะเกลือเก่า และลำตะคอง ส่งผลกระทบในวงกว้างตามมา ทั้งยังกลัวมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง และการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ  อาจจะเกิดผล กระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในภายหลัง เช่น กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วหมู่บ้านคลิตี้ล่าง”    
    อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ ๑๒.๓๐ น. บริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน (ไทยแลนด์) จำกัด ได้แจกเงินให้กับประชาชนที่เข้าร่วมประชุมคนละ ๓๐๐ บาท รวมถึงสื่อมวลชนที่มาทำข่าวคนละ ๕๐๐ บาท โดยระบุว่าเป็นค่าพาหนะสำหรับเดินทางมาประชุม แต่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสานปฏิเสธที่จะรับเงินดังกล่าว และฉบับหน้า ‘โคราชคนอีสาน’ จะนำเสนอคำชี้แจงของบริษัท


694 1345